เสียงเรียก “ปู่จ๋า…ปู่จ๋า” ของเด็กหญิงวัยขี้อ้อนดังขึ้นพร้องรอยยิ้มของสมาชิกครอบครัว ภายบ้านสไตล์โคโลเนียลสีขาวหลังใหญ่ ที่ยืนหยัดอยู่คู่กรุงเทพฯ มายาวนานกว่า 130 ปี หรือ “บ้านพลางกูร” ตามชื่อสกุลของครอบครัวที่ครอบครองบ้านหลังนี้มายาวนานถึงรุ่นที่ 6 อบอุ่นด้วยความรักของ 3 เจนเนอเรชั่น คือคุณพ่อ นพ.พิลิปดา- ลูกชาย คุณนิกรเดช – ลูกสะใภ้ คุณภูมิจิต และ หลานสาว ด.ญ. ซีรีน พลางกูร เจ้าของเสียเจื้อยแจ้วที่ HELLO! ได้ยินเมื่อมาเยี่ยมเยือนและพูดคุยอัพเดทชีวิตในบ้านหลังใหญ่
คุณนิกรเดช หรือคุณแจ็คกี้ ขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ บอกกับเราว่า “บ้านหลังนี้แม้จะเป็นบ้านโบราณ สร้างขึ้นในสมัยรัชการที่ 5 แต่ทว่าสภาพยังคงงดงามแบบดั้งเดิม เนื่องจากได้รับการทำนุบำรุงอย่างต่อเนื่อง และมีโครงสร้างตัวอาคารแบบระบบผนังรับน้ำหนัก (wall bearing) ซึ่งเป็นการออกแบบโดยสถาปนิกฝั่งยุโรป บ้านมีลักษณะกึ่งปูนกึ่งไม้ ไม่มีเสาเข็ม และใช้ระบบการวางท่อนซุงไม้สักเป็นฐานของบ้าน เพื่อรับน้ำหนักและการบิดตัวของบ้านตามแรงสั่นสะเทือน บ้านจึงแข็งแรง จะเห็นว่าภายในบ้านไม่มีเสา แต่มีกำแพงอิฐหนา”

“คุณพ่อผดาสวัสดิ์ ไปเรียนปริญญาเอกทางกฏหมายที่ฝรั่งเศส แต่ติดสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้กลับเมืองไทยไม่ได้นานหลายปี ผมก็เลยพูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่อง แม้ว่าตอนนั้นผมจะยังเด็กอยู่มาก แต่ก็จำได้ว่าต้องปันอาหาร และมีทหารอยู่ในเมืองค่อนข้างมาก ตอนนั้นหมอที่ดูแลผมที่สวิสเป็นหมอเด็กที่น่ารักมาก ผมก็สนิทกับเขามาก ท่านน่ารักกับผมมาก ฉีดยาก็ไม่ทำให้ผมเจ็บ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเป็นหมอในปัจจุบัน”
ผมอยู่ที่สวิสจนถึง 11 ขวบ คุณพ่อก็พากลับเมืองไทยมาเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ โชคดีที่ผมไม่รู้สึกคัลเจอร์ช็อคอะไร เพราะคุณย่าดูแลผมดีมาก ก็รู้สึกอบอุ่น ”

คุณหมอยังบอกเราอีกว่า ท่านสนิทกับลูกชายหัวแก้วหัวแหวนมาก เนื่องจากแยกทางกับภรรยาตั้งแต่คุณแจ็คกี้อายุเพียง 4 ขวบ จากนั้นสองพ่อลูก ต่างก็มีกันและกันมาโดยตลอด
“ผมก็มีหน้าที่ดูแลลูกไป เราก็อายุขนาดนี้แล้ว ผมไม่คิดจะแต่งงานใหม่ สถานภาพเราเป็นอย่างนี้ ถ้ามีใครอีกคงไม่มีอะไรดี มีแต่เจ็บตัว อาจจะเหงาบ้างแต่ก็อยู่ได้ เพราะความเคยชิน… พอกี้อายุ 11 ผมก็ส่งไปเรียนต่างประเทศ ตอนแรกให้ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษอยู่พักหนึ่ง จนเลือกโรงเรียนได้แล้ว เลยย้ายไปสวิส ตอนแรกตั้งใจจะให้ไปเรียนที่ Institut Le Rosey แต่คุณพ่อผมไม่เห็นด้วย ท่านบอกว่าเดี๋ยวหลานจะสปอยล์ ให้ส่งไปโรงเรียน Institut Dr. Schmidt ที่เมืองโปเดใกล้ๆ เมืองโลซานน์ แต่กี้ก็ไปขาหักที่นั่น ในที่สุดก็เลยส่งเขาไปเรียนที่ Institut Le Rosey ที่เจนีวา”

ที่นี่เองที่คุณแจ็คกี้ได้พบเจอชีวิตที่แตกต่างไปจากชีวิตในเมืองไทย มีเพื่อนนักเรียนเป็นทั้งลูกมหาเศรษฐี เช่น โดดี้ อัลฟาแยด และเจ้าชายประเทศต่างๆ
“เพื่อนเขามีทั้งราชวงศ์ต่างๆ และตระกูลใหญ่ๆ ในยุโรป ส่วนอีกคนที่บ้านมีโรลส์รอยซ์ 3 คัน เป็นรถนั่ง 2 คัน อีกคันเอาไว้ขนบอดี้การ์ดกับกระเป๋า ส่วนผมก็ขับเบบี้เฟียตคันจิ๋วไปรับเขาช่วงหยุดเทอม แล้วก็ไปเที่ยวด้วยกัน เขาไม่มีปัญหาอะไร นอกจากจะเคยโทรมาถามว่า เพื่อนเอานาฬิกามาขอแลกกับมาม่าสามห่อ ผมก็บอกว่า ให้มาม่าเพื่อนไปเถอะ เดี๋ยวพ่อซื้อให้ใหม่อย่าไปเอานาฬิกาเค้า แต่ดีที่ลูกไม่ได้อยากได้ใคร่ดีของๆ คนอื่น เพื่อนนั่งโรลส์รอยซ์ เขานั่งเบเบี้เฟียต ก็ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกด้อยเลย” คุณหมอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
“ผมเฉยๆ กับเรื่องพวกนี้ครับ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องแข่งขันกับใครเรื่องวัตถุ บางคนอาจจะอยากมีอย่างนั้น แต่ผมมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่รู้สึกเห่อหรือว่าตื่นเต้น เพื่อนนั่งเฮลิคอปเตอร์มาโรงเรียนก็เป็นเรื่องธรรมดา” คุณแจ็คกี้พูดพลางหัวเราะ สมัยเรียนนอกจากเขาจะเป็นนักกีฬาของโรงเรียนแล้ว เขายังเป็นแชมป์สกีอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ทำให้เขาแขนขาหักจนเป็นเรื่องธรรมดา “สกีกับอุบัติเหตุเป็นของคู่กันครับ”
สิ่งที่เขาได้จากประเทศสวิสอีกอย่างก็คือ ความเป็นตัวของตัวเอง รักอิสระและความมีระเบียบ “ผมมองว่า ในโลกนี้มีคนอยู่สองประเภทคือ คนเจ้าระเบียบ กับคนชอบระเบียบ ซึ่งผมเป็นอย่างหลัง เพราะผมเห็นด้วยกับระเบียบถ้ามีความพอดี ที่โรงเรียนผมจะพยายามเลือกเพื่อนร่วมห้องที่ค่อนข้างมีระเบียบ ผมไม่ชอบคนไม่มีระเบียบ ผมก็จะเนี้ยบในแบบของผม เสื้อผ้าในตู้ของผมมักจะต้องไล่สีไล่ลาย ผมอาจจะละเอียดในเรื่องนี้ แต่ผมก็ไม่ใช่ซีเรียสไปกับทุกเรื่องในชีวิต ไม่ใช่คนที่ต้องมีมีแผนการทุกอย่างหรือคอนโทรลทุกอย่าง”
“ผมโชคดีครับ พ่อวางแผนให้แต่ไม่เคยบังคับ พ่อใช้วิธีให้เราเห็นคนที่จะเป็นแรงบันดาลใจ แบบอย่างที่ดี จนเราคิดเองได้ ว่าเราเหมาะหรือไม่เหมาะกับงานอะไร แต่ที่ได้รับการปลูกฝังมาแต่เด็กคือ ผมอยากเป็นข้าราชการ คนที่สนใจประวัติศาสตร์ จะทราบว่าในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองมีสมาชิกตระกูลพลางกูรหลายท่านร่วมในขบวนการเสรีไทยด้วย เจนเนอเรชั่นปู่ผมไปเรียนต่อเมืองนอกกันหมด และก็มีความรักเทิดทูนในสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุด พ่อสอนผมว่า ให้อยู่ในระบบราชการด้วยความภาคภูมิใจ”

และในวันนี้ที่คุณแจ็คกี้ได้เป็นคุณพ่อมือใหม่ เขาก็เตรียมตัวสปอยล์น้องซีรีนอย่างที่เขาเคยได้รับมาจากคุณหมอพิลิปดาเช่นกัน “ผมตั้งใจจะให้ลูกอย่างเต็มที่ ใครจะมองว่าสปอยล์หรือไม่ ผมไม่สนใจ การสปอยล์เป็นความสุขของพ่อแม่ และของลูกด้วย ตราบใดที่อยู่ในลิมิต และผมจะสอนให้ซีรีนเป็นคน อ่อนน้อม ถ่อมตน รู้จักการให้ สำคัญที่สุดต้องมีความนอบน้อม”
“ผมอยากให้เขาโตขึ้นมาอย่างมีความสุข มีความสงบ เหมือนชื่อเขาที่ผมตั้งให้ เพราะผมเชื่อว่า serenity หรือความสงบ ความสุขที่แท้จริงและถาวรนั้นไม่สามารถหาได้จากโลกภายนอกหรือความสุขทางวัตถุ แต่ความสุขที่แท้จริงจะมาจากความคิด ความรู้สึกที่เต็ม ที่พอ และที่พร้อมจะให้ ผมตั้งใจจะสอนสัจธรรมนี้ให้เขารู้ตั้งแต่เด็ก” คุณแจ็คกี้กล่าว
……………………………………………………………………..
ติดตามความอบอุ่นของครอบครัวพลางกูร กับบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟใน
HELLO! ปีที่ 13 ฉบับที่ 01 ที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ! หรือติดตามฉบับดิจิตอลได้ทาง