Home > Lifestyle > Home & Living > เปิดบ้านย่านสาทรย้อนชีวิต ‘คุณทองพูล’ หญิงแกร่งหัวเรือใหญ่ ‘หวั่งหลี’ กลุ่มพูลผล

เส้นทางชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่เกิดมาในยุคที่ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้านอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน แต่เมื่อชีวิตหักเหให้ต้องสูญเสียสามีที่เคยเป็นเสาหลักของครอบครัวที่มีสมาชิกวัยเยาว์ให้ต้องเลี้ยงดูมากถึงสิบสามคน โดยเหลือเงินในบัญชีเงินฝากเพียง 4,000 บาท ซึ่งในห้วงเวลานั้นเพียงพอสำหรับซื้อรถยนต์มือสองคันเล็ก ๆ ได้คันหนึ่งเท่านั้น แม้จะเศร้าโศก แต่ชีวิตที่เหลืออยู่ก็ยังต้องดำเนินต่อไป ‘คุณทองพูล หวั่งหลี’ คือผู้หญิงคนนั้น ผู้ต้องรับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวต่อจาก ‘นายตันชิวเม้ง’ สามีผู้ล่วงลับ

หวั่งหลี
คุณตันชิวเม้ง และคุณทองพูล หวั่งหลี

จากธุรกิจปล่อยเงินกู้เล็ก ๆ ทำให้ท่านเป็นแลนด์ลอร์ดที่มีที่ดินแปลงงาม ๆ อยู่ในมือหลายแปลง ท่านตัดสินใจริเริ่มธุรกิจผลิตผลการเกษตรหลายอย่างที่ยังคงหยัดยืนอยู่ในประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้ และแตกแขนงไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจก่อสร้างธุรกิจคลังสินค้า และยังก่อตั้งมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี เพื่อมอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนยากจน ทำนุบำรุงศาสนา ตลอดจนให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงวิกฤติโควิด-19

หวั่งหลี
คุณเพชร – คุณพิมพ์ประไพ – คุณเขม – คุณอภิชาต

แม้วันนี้คุณทองพูลจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่เรายังได้พบกับหลานชายหญิงของท่านและนายตันชิวเม้ง ณ บ้านทองพูล ในย่านสาทร ที่ยังคงเป็นศูนย์กลางของครอบครัวหวั่งหลี สายคุณทองพูล คุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร หรือ ‘คุณอ้อย’ หลานคุณยายทองพูล ได้นำบรรดาลูกพี่ลูกน้องอีกสามคน คือ คุณเพชร, คุณอภิชาต หรือ ‘จอม’ และ คุณเขม หวั่งหลี มาเล่าถึงที่มาของครอบครัวที่คุณทองพูลเป็นหัวเรือใหญ่ และนำพานาวาชีวิตของลูกหลานหวั่งหลีสืบทอดต่อมาจนถึงรุ่นที่ 6 และเป็นหนึ่งในตระกูลเจ้าสัวที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานตระกูลหนึ่งของไทย

“คุณยายเป็นลูกสาวตระกูลล่ำซำ ผู้ก่อตั้งธนาคารกสิกรไทย” คุณอ้อย-พิมพ์ประไพ เท้าความถึงที่มาของตระกูลหวั่งหลีในสายกลุ่มพูลผล “ชีวิตท่านเหมือนซินเดอเรลล่า ตอนท่านอายุสิบเก้าระหว่างที่กำลังวิ่งเล่นอยู่ในสวนผักหลังบ้านที่เจริญกรุง จู่ ๆ ท่านก็ถูกเรียกไปบอกว่าจะให้แต่งงานกับคุณชายรองของตระกูลหวั่งหลี ตอนนั้นคุณตา หรือคุณตันชิวเม้ง หวั่งหลี คนนอกเรียก ‘ยี่เสี่ย’ ได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการในเมืองไทย ร่วมกับ ‘ซาเสี่ย’ ผู้เป็นน้องชาย หรือคุณตันซิวติ่ง หลังจากแต่งงานคุณยายก็ย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านหวั่งหลีที่ฝั่งธน คุณยายมีลูก 9 คน ท่านดูแลอาหารการกินทั้งบ้านและบ่าวไพร่อีกหลายสิบคน ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาคุณตาได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมหอการค้าจีน และได้ถูกลอบสังหารในวันประกาศยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี”

หวั่งหลี
คุณพิมพ์ประไพ กับเครื่องลายครามที่เป็นของเหลือจากสำเภาพิศาลบุตร ที่ตกทอดมาจากสายพระพิศาลผลพานิช (จีนสือ)

2488 จุดเริ่มต้นชีวิตแม่เลี้ยงเดี่ยว

ในเวลาที่สูญเสียสามีนั้น คุณทองพูลหรือที่คนใกล้ชิดเรียกขานท่านว่า ‘นาย’ มีอายุ 40 ปีพอดี นับเป็นครั้งแรกที่ท่านจะต้องเผชิญความเป็นจริงของโลก “ตอนที่คุณตายังอยู่ คุณยายเปิดร้านค้าเล็ก ๆ ตรงวงเวียนโอเดียนขายเครื่องแต่งตัวและเครื่องประทินผิวจากฮ่องกง สิงคโปร์ พอสิ้นคุณตา คุณยายพบว่าตนเองมีเงินในบัญชีเหลืออยู่แค่ 4,000 บาท ซึ่งไม่พอสำหรับเลี้ยงลูกตัวเอง 9 คน กับลูกของคุณยายเมืองจีนอีก 4 คน

“ทีนี้คุณยายก็เลยต้องเริ่มต้นทำธุรกิจอย่างจริงจัง และตั้งกฎเกณฑ์ระเบียบวินัยของครอบครัวที่เข้มงวดมาก เน้นวินัยทางการเงิน ห้ามสุรุ่ยสุร่ายใช้เงินเกินรายได้ ห้ามเล่นการพนัน ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งเป็นข้อห้ามตั้งแต่สมัยที่คุณตายังมีชีวิตอยู่ และคุณยายห้ามไม่ให้ลูกหลานเล่นการเมือง และอย่ารักเงินมากกว่าชื่อเสียง และเกียรติยศของตัว เพราะถึงแม้จะมีเงินแต่ชื่อเสียงไม่ดีก็ไม่มีประโยชน์”

หวั่งหลี
คุณทองพูล และลูกหลานด้านหน้าบ้านหวั่งหลีฝั่งธน


ปรัชญาชีวิตของตระกูล ‘หวั่งหลี’ ไม่ว่าสายไหนก็ตาม เชื่อว่าการหาเงินนั้นสำคัญก็จริง แต่การเก็บรักษาเงินสำคัญยิ่งกว่า ตระกูลหวั่งหลีจึงเป็นตระกูลที่มีนิสัยมัธยัสถ์ และค่อนข้างใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง หรือที่ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ‘เขียม’

หนึ่งในตัวอย่างความเขียมเล็ก ๆ ของคุณยายทองพูลที่รักของคุณอ้อย ก็คือเมื่อสมัยที่เธอยังเรียนอยู่โรงเรียนมาแตร์ฯ และต้องการนำดอกไม้ไปให้คุณครู คุณอ้อยซึ่งจะต้องมานอนค้างคืนบ้านคุณยายทุกคืนวันพุธ เห็นว่าคุณยายมีสวนกุหลาบขนาดใหญ่ คุณอ้อยจึงจัดการเด็ดดอกกุหลาบที่คุณยายดูแลอย่างดีไปให้ครู

หวั่งหลี
คุณทองพูล และลูก ๆ ของท่านเมื่อวัยเยาว์

สัปดาห์ถัดมาเมื่อเธอไปค้างคืนอีกคุณยายได้เรียกเธอไปอบรมยกใหญ่ คุณอ้อยเล่าด้วยนัยน์ตาเป็นประกายอย่างกับเรื่องเพิ่งเกิดเมื่อวานว่า “คุณยายบอกว่า กุหลาบนี้เป็นของฉัน ก่อนจะตัดเธอต้องมาขออนุญาตจากฉันเสียก่อน เพราะดอกไม้นี้ไม่ใช่ของเธอ ไม่อย่างนั้นเธอก็ต้องไปหาเอาเอง ซึ่งคุณยายสอนเสมอว่าเราต้องยืนบนลำแข้งของตัวเอง ไม่ให้โตมาเป็นเด็กที่ถูกสปอยล์ สมัยอ้อยยังเด็ก คุณยายมักจะสอนว่าถ้าเธอกินเหลาทุกวันเธอเจ๊งแน่ การออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านจึงเป็นเฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น อย่างเช่นวันเกิด ร้านไหนอร่อย คุณแม่ของอ้อย (ประไพ พิศาลบุตร) จะถามสูตรจากทางร้านและจดเก็บไว้ แล้วเอามาให้แม่ครัวทำ ทั้งบ้านคุณยายและบ้านคุณแม่ทำอาหารอร่อยรับประทานกันเอง เมนูเด็ดของบ้านเราคือ ปลากระป๋อง จุ๋ยก้วย ปลาอบเต้าซี่ ฯลฯ ทุกอย่างเราทำเองได้หมด”

รวมครอบครัวหวั่งหลีสายคุณตัวชิวเม้งและคุณทองพูล ด้านหน้าบ้านของท่าน

หลักชีวิตของลูกหลานตระกูลหวั่งหลีอีกอย่างก็คือ เรื่องการศึกษา ดังกลอนคู่ภาษาจีนที่ติดไว้ที่หน้าประตูบ้านหวั่งหลี ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากอักษร ‘ฮ้วง’ ซึ่งแปลว่าสำนักศึกษา และ ‘หลี’ ที่แปลว่า กำไรหรือผลผลิต ซึ่งภายหลังเพี้ยนเป็น ‘หวั่งหลี’ ที่ว่า ‘สำนักศึกษาประสาทวิชาสร้างความเจริญรุ่งเรืองที่กึกก้องดุจภุมราเชยผกาแรกผลิ (ช่วยให้พรรณพฤกษาเจริญงอกงามสืบไป) กำไรที่โปร่งใสบริสุทธิ์ ซื่อตรงดุจด้ายยืนเส้นที่ถักทอเป็นผืนผ้า รักษาชื่อเสียงให้ดี (ย่อมมี) ข้าวเต็มตะล่อมกองสะสมมากมาย’

“คุณยายส่งลูกทุกคนเรียนเมืองนอกหมด และสมัยนั้นการศึกษาต่างประเทศที่ถูกที่สุดก็คือฮ่องกง เพราะอยู่ไม่ไกลจากไทย แถมยังได้ภาษาจีนอีกด้วย คุณแม่และน้อง ๆ ไปพักที่บ้านอาม่าหรือไม่ก็เข้าโรงเรียนประจำ แล้วจากนั้นถึงส่งไปเรียนต่ออเมริกาหรือไม่ก็อังกฤษ คุณน้าทั้งหมดของอ้อยล้วนแต่จบมหาวิทยาลัยทั้งนั้น ยกเว้นคุณแม่ที่เป็นลูกคนโตต้องกลับมาช่วยคุณยายทำงาน”

โต๊ะลายอักษรจีน ‘ซิ่ว’ แปลว่า อายุยืนนานที่ปัจจุบันหาชมได้ยากมาก มาจากสำเภาพิศาลบุตร

นอกจาก ‘นาย’ จะให้การศึกษาที่ดีที่สุดแก่บรรดาลูก ๆ แล้ว ท่านยังมีวิสัยทัศน์ยาวไกล เริ่มจากปล่อยเงินกู้ เมื่อมีที่ดินหลุดจำนอง ท่านจะไม่ปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าแต่นำมาหาประโยชน์ อาทิ สร้างโกดังให้เช่า สร้างท่าเรือ สร้างโรงอัดปอ หรือโรงสี เพื่อหารายได้อีกทางหนึ่ง

“ครั้งหนึ่งทำโรงสีแล้วขาดทุน ท่านก็เลยเปลี่ยนเป็นโรงงานวุ้นเส้น ซึ่งเป็นที่มาของกลุ่มพูลผล” คุณอ้อยบอกกับเราและอธิบายต่ออีกว่า ‘นาย’ เป็นศรีภรรยาที่ค่อนข้างแหวกขนบของชาวจีนแต้จิ๋วเล็กน้อย เพราะหญิงชาวจีนแต้จิ๋วจะทำหน้าที่ ‘หลังบ้าน’ ดูแลลูก ๆ และสามีให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมีความอบอุ่น แต่เนื่องจาก ‘นาย’ เป็นชาวจีนแคะ ซึ่งถือขนบสืบทอดกันต่อมาว่าผู้ชายจีนแคะมีหน้าที่ร่ำเรียนอยู่กับตำรับตำรา เพื่อสอบจอหงวนให้ได้เข้ารับราชการ หรือไม่ก็เป็นนักปราชญ์ ส่วนผู้หญิงแคะมีหน้าที่ทำนา ซึ่งคล้ายคลึงกับหญิงไทยที่จะต้องทำงานไม่ว่าจะค้าขาย หรือทำนา ส่วนผู้ชายไทยนิยมเป็นขุนนางรับราชการ

ภายในอาณาบริเวณบ้านที่เชื่อมต่อกับบ้านคุณทองพูล ทำเป็นห้องจัดเลี้ยงยามที่ทายาทหวั่งหลีสายคุณทองพูลมารวมตัวกันเพื่อไหว้ทายาทรุ่นที่ 4 ที่ล่วงลับไปแล้ว


‘นาย’ จึงเป็นตัวอย่างของหญิงแกร่งที่สามารถริเริ่มธุรกิจหลายอย่าง ที่ปัจจุบันสามารถพิสูจน์ได้ว่าท่านมีวิสัยทัศน์ยาวไกล เพราะที่ดินแปลงต่าง ๆ ที่ ‘นาย’ สะสมไว้ นอกจากจะเป็นที่ดินสองฟากฝั่งถนนนราธิวาสราชนครินทร์แล้ว ยังมีที่ตั้งของตลาดรังสิต และฟิวเจอร์พาร์ครังสิตในปัจจุบันอีกด้วย.

บ้านหลังสุดท้ายในชีวิตที่คุณทองพูล หวั่งหลี ย้ายเข้ามาพำนัก เพื่อ พ.ศ. 2502

ติดตามการต่อยอดธุรกิจของ คุณพิมพ์ประไพ พิศาลบุตร – คุณเพชร – คุณอภิชาต และ คุณเขม หวั่งหลี ทายาทรุ่นที่ 5 ซึ่งปัจจุบันแบ่งหน้าที่กันดูแลธุรกิจและมูลนิธิต่าง ๆ ของกลุ่มพูลผล พบกับบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟทางนิตยสาร HELLO! VOL. 18 NO. 7 เท่านั้น วางแผงแล้ววันนี้!

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.