Home > Celebrity > Exclusive Interviews > ดีไซเนอร์สาวเจเนอเรชั่นที่ 3 แห่งห้องเสื้อ Noriko ‘จ๋า-ณิชา จิรกิติ’ กับผ้าไทยที่เธอหลงรัก

หญิงสาวคิ้วเข้มตาคม ผมบ๊อบทรงเก๋ที่หากใครบอกว่าเธอเป็นลูกครึ่งแขกอินเดียหรือเปอร์เซียล่ะก็ เราก็พร้อมเชื่อสนิทใจ แต่ความจริงแล้ว ‘คุณจ๋า-ณิชา จิรกิติ’ เธอกลับเป็นสาวไทยที่มีเชื้อสายจากแดนดินถิ่นอาทิตย์อุทัยอยู่ในตัว เพราะคุณยายเป็นชาวญี่ปุ่นแท้ๆ ความน่าประหลาดใจยังไม่หมดเท่านั้น เมื่อเธอบอกกับเราว่า “บ้านเราหลงรักผ้าไทยมานานแล้ว”

คุณจ๋าเติบโตมากับห้องเสื้อถึงสองรุ่น นั่นคือ ห้องเสื้อ Noriko ของคุณยายที่ฝากผลงานการออกแบบชุดไปงานสุดเก๋ไก๋เป็นที่ถูกใจแฟนคลับรุ่นใหญ่มานานกว่า 5 ทศวรรษ กับห้องเสื้อ Riko ของคุณแม่ที่เอาใจลูกค้ามากขึ้นด้วยเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ในทุกๆ วัน มาถึงรุ่นคุณจ๋า เป็นลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นแถมพ่วงดีกรีบัณฑิตจาก Bunka Fashion Graduate University จากญี่ปุ่น เธอจึงเปิดตัวแบรนด์ Nichเพื่อขยายกลุ่มลูกค้าในวัยใกล้เคียงกับตัวเอง นั่นคืออายุปลาย 20-30 ต้นๆ และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าด้วยการเมดทูออเดอร์

คุณจ๋าสวยสง่าในชุดผ้าไหมทอแบบ 4 เส้น สีกลีบบัวที่ได้จากการย้อมสีธรรมชาติ แม้จะเป็นผ้าไทยแต่เธอก็นำมาสวมใส่กับเครื่องประดับสไตล์อินเดียได้อย่างลงตัว

สาวสาวสามวัยในอินเฮาส์ โปรดักชั่นที่ลงมือทำเองทุกขั้นตอนจนสำเร็จเป็นเสื้อผ้าที่ถูกใจลูกค้า แม้ต่างคนต่างมีสไตล์ของตัวเองชัดเจน ทว่า สิ่งที่เชื่อมโยงความแตกต่างของสามเจเนอเรชั่นเข้าไว้ด้วยกันก็คือความหลงใหลในผ้าไทยเหมือนกัน

“คุณยายจ๋าเป็นคนญี่ปุ่น แต่งงานแล้วย้ายมาอยู่เมืองไทย ท่านชอบผ้าสวยๆ จึงสนใจและสะสมผ้าพื้นเมืองและผ้าไทยมาตลอด  ความที่ชอบแต่งตัว ท่านเลยออกแบบเอง ชุดของคุณยายจะโมเดิร์นไม่เหมือนใคร พอมารุ่นคุณแม่ก็ชอบและสะสมผ้าไทยเหมือนกัน แล้วก็ตัดเสื้อผ้าแบบเก๋ๆ มีลูกเล่นให้ใส่ได้บ่อยและง่ายขึ้นจ๋าโตมาก็เลยคุ้นเคยกับผ้าไทยในแบบของคุณยายกับคุณแม่และรู้สึกว่าผ้าไทยเล่นได้หลายอย่าง ใส่ได้หลายสไตล์ ไม่เคยคิดเลยว่าผ้าไทยเป็นเครื่องแต่งกายของผู้ใหญ่คนวัยล้าสมัย”

โดยไม่รู้ตัวคุณจ๋าประทับใจและมีผ้าไทยอยู่ในใจมานาน “สำหรับจ๋าผ้าไทยไม่ได้แค่สวยงามที่เนื้อผ้าเท่านั้น แต่จ๋าทึ่งในเรื่องราวและคาแรกเตอร์ของผ้าแต่ละผืน ตั้งแต่ที่มาที่ไป ลายทอ เทคนิคที่ใช้ทอ ประสบการณ์คนทอ กระทั่งสีที่ใช้ย้อม แต่ละท้องถิ่นต่างก็มีสิ่งเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองที่น่าอัศจรรย์ใจ นี่คือคุณค่าของผ้าไทยในความคิดของจ๋า”

คุณจ๋าสวมเดรสผ้ามัดหมี่สีดำปูชายกระโปรงด้วยผ้ามัดหมี่สีฟ้า ตกแต่งด้วยโบใหญ่ด้านหลัง ใส่กับโชคเกอร์สไตล์แขก ดูแล้วเข้ากับหน้าคมๆ ส่งให้เธอดูคล้ายกับเป็นรานีที่งามสง่าเลย

คุณจ๋าจึงสาวรุ่นใหม่ที่ชอบใส่ผ้าไทย ต่างจากเพื่อนฝูงในวัยเดียวกัน “จริงๆ แล้วผ้าไทยเหมาะกับคนทุกวัย ขึ้นอยู่กับการมิกซ์แอนด์แมตช์ในสไตล์การแต่งตัวของแต่ละคน ถึงจะเป็นผ้าผืนเดียวกัน ต่างคนใส่ ต่างวิธีการใช้ ต่างแอคเซสซอรีส์ที่ใส่ ก็ให้ลุคที่แตกต่างกันได้ ในสายตาจ๋าผ้าไทยใส่แล้วดูเท่และสง่าไปพร้อมๆ กัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ถ้าเป็นชุดออกงาน จ๋าชอบและมักเลือกผ้าไทยเสมอ เพราะใส่แล้วไม่ได้ดูหวานเกินไป เหมาะกับคาแรกเตอร์จ๋าที่ขอสวยเท่มากกว่า ที่สำคัญสิ่งที่หลายคนที่ไม่เคยใส่ผ้าไทยอาจไม่ทราบหรือมองข้ามไป ก็คือผ้าไทยใส่แล้วระบายอากาศได้ดี เหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา และยังช่วยเก็บรูปทรงของผู้สวมใส่ได้อีกด้วย” ว่าแล้วดีไซเนอร์สาวสวยก็เลยแบ่งปันเทคนิคการใช้ผ้าไทยของเธอ

“ในฐานะเป็นดีไซเนอร์ จ๋าแนะนำลูกค้าว่าผ้าชนิดไหนเหมาะกับเขาและช่วยส่งให้ความเป็นตัวเขาชัดเจนขึ้นมา ในขณะเดียวกันเราก็ต้องช่วยแก้ไขในจุดบกพร่องด้วย เช่น ถ้าผิวคล้ำก็ให้เลี่ยงผ้าไทยโทนสีเขียวตุ่นหรือเขียวขี้ม้าที่ทำให้ผิวดูเข้มขึ้นได้ หรือถ้าเป็นคนตัวใหญ่ก็แนะนำให้เลือกผ้าทอที่มีลายเล็ก ซึ่งจะช่วยพรางรูปร่างและเก็บทรงได้ดีกว่า

คุณจ๋าในเดรสทิ้งชายยาวทำจากผ้ามัดหมี่ที่ตัดต่อเป็นงานpatchwork ปูด้วยผ้ามัดหมี่สีเขียวที่ชายกระโปรง ทำให้ได้เห็นลวดลายความงามของผ้าได้อย่างเต็มที่

“ถ้าเลือกแบบที่โมเดิร์นและคัตติ้งที่เก๋ หรือใช้โทนสีฉูดฉาดผสมสีพื้น หรือโทนสีสว่างอย่างสีทองหรือสีชมพูกลีบบัว สีฟ้า จะช่วยให้ดูอ่อนเยาว์ ใส่แล้วไม่มีใครทักเรียกว่าป้าแน่นอน รวมถึงการนำผ้าไทยที่มีลายทอมามิกซ์กับผ้าสีพื้นช่วยให้สวมใส่ได้ง่ายกว่าใส่ผ้าไทยทั้งชุด สำหรับเครื่องประดับก็ไม่มีกฎตายตัวว่าผ้าแบบนี้ต้องเครื่องประดับสไตล์นี้ ฉะนั้นคนใส่ก็เลือกได้ตามชอบ ต่อให้เป็นชุดเดิมแต่ใส่เครื่องประดับต่างแบบไป ใส่มากน้อยสลับกันไป ก็จะได้ลุคที่แตกต่างกัน นี่แหละค่ะคือการแต่งตัวให้สนุก มีเทคนิคง่ายๆ นิดเดียวว่าทุกอย่างต้องเหมาะและเข้ากับบุคลิกตัวเอง”

ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แห่งแบรนด์ Nich ยังย้ำอีกว่า “เพื่อให้สมกับคุณค่าที่สูงของผ้าไทย จึงคู่ควรกับการตัดเย็บที่ดีและประณีต การออกแบบชุดผ้าไทยของจ๋าเลยตั้งใจว่าจะนำมาใช้ทั้งผืน หรือไม่ก็ตัดออกให้น้อยที่สุด  ต้องนึกถึงใจคนทอว่าเขาทุ่มเทใช้เวลาและความอดทนมากกว่าจะทอผ้าได้สักผืน ชุดไปงานที่ใช้ผ้าไทยของจ๋าจึงเป็นชุดยาวซะส่วนใหญ่ จะภูมิใจมากถ้าชุดที่เราออกแบบแล้วได้โชว์ความงามของลวดลายผ้าทอได้เต็มที่ เพราะจริงๆ แล้วผ้าแต่ละผืนที่ทอล้วนทำมาเพื่อให้ใช้เป็นผ้านุ่ง เป็นซิ่นหรือโจงกระเบน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปมีการนำผ้ามาตัดดัดแปลงเป็นชุดต่างๆ จึงต้องคำนวณการใช้ผ้าให้ดีว่าตัดแล้วเชิงผ้าและลวดลายจะอยู่ส่วนไหนของชุด ความชำนาญและประสบการณ์ของช่างเย็บจะช่วยให้ชุดผ้าไทยออกมาสวยงามต่างกันได้”

ว่าแล้วคุณจ๋าก็หวนนึกถึงเมื่อครั้งใส่ชุดผ้าไทยครั้งแรกของตัวเอง “มีคนเข้ามาทักว่าใส่ผ้าไทยด้วยเหรอ และก็ชมว่าสวยแปลกตาดี ยิ่งเราอายุน้อยและไม่ค่อยมีใครใส่ผ้าไทย เลยยิ่งเป็นที่สะดุดตา จ๋าจำได้ว่ามีชาวต่างชาติเข้ามาทักและถามว่านี่คือผ้าอะไร ตัดที่ไหน ทุกครั้งที่ได้ใส่ผ้าไทยเลยรู้สึกภูมิใจเหมือนได้ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้คนไทยได้เห็นคุณค่า และให้ชาวต่างชาติได้ร่วมชื่นชม”

 

……………………………………………………………………………………………………
สถานที่ถ่ายภาพ: SHANGRI-LA HOTEL, BANGKOK
MAKEUP ARTIST: นนทลี วงค์เป็ง, รัตนโชติ โพธิ์ขำ และ @opalfaye_makeupartist,
HAIR STYLIST: ณภาส์ณัฐ บวรทัตทวีรัตน์, ตุลยาภร นาคเงินทอง และพิชชานันท์ เวียนสันเทียะ
STYLIST:พิสิษฐ์ จีระธาดาพันธุ์
STYLIST ASSISTANT: ญาตา เจริญชินภัทร
PHOTOGRAPHER: วัชรสิทธิ์ วิชญาณรัตน์
PHOTOGRAPHER  ASSISTANT: ชิษณุพงศ์ ปั้นทรัพย์ และสมบูรณ์เกียรติ วงศ์หอม
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.