‘เจตน์ โศภิษฐ์พงศธร’ แวดวงสังคมรู้จักเขาในนามทายาทรุ่นที่สามของตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง ผู้เห็นคุณค่าของอาหารที่เติบโตในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ปลอดภัยจากสารเคมี ทุกวันนี้จึงเรียกได้ว่าคุณเจตน์คือเกษตรกรอินทรีย์แบบเต็มตัว โดยมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจภายใต้แบรนด์ Akasha Farm ซึ่งมีเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม แม้ว่าจะเพิ่งวางขายได้เพียงไม่นานและรายได้อาจยังไม่มาก แต่นับเป็นกำลังใจให้แก่เกษตรกรมือใหม่มากเลยทีเดียว
มีแรงบันดาลใจอะไรให้หันมาทำเรื่องเกษตร ?
“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครับ เพราะผมเห็นว่างานของพระองค์ท่านจะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรและการเกษตรอย่างมาก ทำให้เข้าใจว่าการเกษตรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศเรา เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรม คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ตั้งแต่ดั้งเดิม คือถ้าถามว่าประเทศไทยทำอะไรให้โลกได้ดีที่สุด คำตอบก็คือผลิตอาหารจากการเกษตร ก็เลยคิดว่านี่เป็นเรื่องที่เราน่าจะให้ความสนใจนะ เพราะใกล้ตัว ประกอบกับความชอบส่วนตัวที่มีมาตั้งแต่เด็ก ผมชอบต้นไม้ ชอบชีวิตกลางแจ้ง ดิน น้ำ อยู่ใกล้ธรรมชาติ คือลึกๆแล้วเราคงชอบ ตอนเรียนเตรียมอุดมก็เลือกเรียนแผนกเกษตร วิทย์ ชีวะ เกษตร ปลูกบวบปลูกถั่ว แต่ไม่ได้ชัดเจนมาก
จนกระทั่งเมื่อเกือบสิบปีก่อน ผมได้ไปฟังสัมมนา ไปเห็นตัวอย่างจากหลายแห่ง แต่แรงบันดาลใจมาเริ่มจากการเข้าฟังอาจารย์ยักษ์ (วิวัฒน์ ศัลยกำธร)”
ตรงไหนที่อาจารย์ยักษ์พูด แล้วเป็นจุดหักเหให้ลุกขึ้นมาทำ ?
“เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทำวิถีชีวิตให้อยู่ในสมดุลไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ให้พอเหมาะพอดีกับตน สังคมและสิ่งแวดล้อม จะได้ยั่งยืน มีน้ำใจ มีสติ ไตร่ตรองโดยใช้หลักคุณธรรม ทำอะไรให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ตอนนั้นพอได้ไปเข้าค่ายก็รู้สึกสนใจมาก ได้กลับมาดูสิ่งที่เรากำลังทำ ก็เห็นว่าน่าจะทำเรื่องการเกษตรมากขึ้น ได้ไปดูงานของคุณวริสร รักษ์พันธุ์ ที่ชุมพรคาบาน่า ก็น่าสนใจมาก เห็นพี่เขากับพนักงานของเขามีความสุข มีน้ำใจ ตอนนั้นผมทำโรงแรม Horseshoe Point อยู่ ก็เลยลองทำสวนผักขึ้นมา ทำเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ เอาเรื่องศิลปะมาใส่ ให้เพื่อนศิลปินสายสิ่งแวดล้อมที่ชื่อ พิณ สาเสาร์ ช่วยออกแบบแปลงผักให้เหมือนเป็นการเขียนภาพลงบนดิน เขาเรียกว่า Earth Art หรือ นิเวศน์ศิลป์ ให้พนักงานมาเข้าอบรมกับอาจารย์ยักษ์ แล้วไปช่วยกันปลูก แบ่งพื้นที่ให้แต่ละแผนกแข่งกันปลูกและดูแล
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสก็จะอยากไปดูงานเรื่องการเกษตร เมื่อมีช่วงว่างจากงานประจำที่ทำ พอเราไม่มีอะไรทำก็จะคิดถึงเรื่องการเกษตร ผมไปเที่ยวต่างประเทศกับภรรยาครั้งแรกก็ไปญี่ปุ่น ไปดูงานการเกษตร ไปเที่ยวตามท้องนา สวนผลไม้”
เริ่มจริงจังเมื่อไร ?
“เมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว ภายหลังว่างจากการเมือง ตอนนั้นผมเป็นที่ปรึกษากับโฆษกของกรุงเทพมหานครสมัยผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ พอว่างผมก็ไปลงเรียนกับค่ายต่างๆ ที่พยายามสร้าง Movement ของเกษตรอินทรีย์ และเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งดีมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันยังไม่ใช่การปฏิบัติจริง จนเจอคอร์สหนึ่งชื่อชาวนาอัจฉริยะ ซึ่งต้องไปอยู่จริง ต้องไปปลูกข้าวตั้งแต่ต้นจนเก็บเกี่ยว
เขาให้ทำอะไรบ้าง ?
“เขาให้ทำทุกอย่างเลยครับ ตัดหญ้าที่รกในแปลง ขับรถไถผลาญดิน รถไถเดินตามมาตีเลน ปาดหน้าดิน เพาะกล้าข้าว สูบน้ำเข้า แบกทุกอย่างเอง ตัดต้นกล้วยมาทำน้ำหมักจุลินทรีย์ ผสมปุ๋ย หมักปุ๋ย ทำเองหมดทุกอย่าง ไม่มีแรงงาน แต่มีเพื่อนนักเรียนก็ต้องรู้จักที่จะไปขอความช่วยเหลือกัน แล้วตอนนั้นเราก็ได้เรียนรู้ว่างานมันหนักนะ แบกของหนึ่งกระสอบขึ้นบ่าแล้วเดินไปในทางดินลื่นๆนี่ไม่ง่ายเลย ทำเกษตรอินทรีย์ต้องใช้เวลา ต้องอดทน เห็นวงจรธรรมชาติเช่น นกที่มากินข้าว หอยเชอรี่ ปูนา ต้องตื่นก่อนพระอาทิพย์ขึ้นเพื่อจะได้มีเวลาทำอะไรให้เยอะที่สุดก่อนที่จะร้อน ผมอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 3 เดือน นอนในกระต๊อบไม่มีไฟ ไม่มีห้องน้ำ ห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวม ตกกลางคืนก็มานั่งเรียนรวมกัน”
แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดว่าจะจริงจัง แค่อยากหาความรู้ อยากหาประสบการณ์
“ใช่ครับ พอดีก่อนหน้านั้นคุณแม่ (คุณอรุณี ศรีเฟื่องฟุ้ง) ยกที่ดินแถวอำเภอบางบ่อ 20 กว่าไร่ให้ แล้วบอกว่าให้ไปดูว่าทำอะไรได้บ้าง คือคุณพ่อ (คุณยืนยง โศภิษฐ์พงศธร) และคุณแม่ให้อิสระผมอยู่แล้วตั้งแต่ไหนแต่ไร ผมก็ไปดูที่ที่คุณแม่ให้ ซึ่งเป็นที่นาเก่ารถยนต์เข้าไปไม่ได้ ต้องไปทางเรือ อยู่ติดคลอง ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำการเกษตร เราก็ว่างอยู่ ก็เลยไปเรียนคอร์สนี้ 3 เดือนแล้วค่อยออกมาทำ แต่พอจบก็รู้ว่าลำบาก ทำเองไม่ได้ ต้องมีคนช่วย ก็ลงพื้นที่ใหม่ แล้วไปคุยกับคนแถวนั้น หาชาวนาที่เขาอยากทำนา ก็เริ่มจากตรงนั้น”
ตอนเริ่มต้นยากง่ายอย่างไรบ้าง ?
“ผมกลับไปที่ที่ดิน แล้วเดินไปหาคนที่ทำนาแถวนั้น แล้วบอกเขาว่าผมอยากมาทำนา แต่ทำเองไม่ไหว พอจะร่วมกันได้ไหม พวกเขาอยากจะเช่าที่ดินผมมากกว่า ผมเลยตกลงกับเขาว่า ที่ผมประมาณ 24ไร่ ผมให้เขาทำนา 20 ไร่ ไม่คิดค่าเช่า แต่ต้องมาช่วยผมทำนาในวิธีการของผม 3 ไร่ ก็ตกลง แล้วก็ทำ เราก็ทำแบบที่เราเรียนมาเราทำนาโยน เขาทำนาหว่าน เราทำเกษตรอินทรีย์ เขาทำเคมี ผลผลิตของเราก็ดี เขาเกี่ยวขายโรงสี เราเกี่ยวแล้วนวดเอง ตาก แล้วก็เก็บไว้กิน ตอนนั้นรู้สึกมั่นใจ ก็เลยไปขอเช่าที่ดินของกงสี (ครอบครัวคุณแม่) ที่รกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยขน์อะไรเพิ่มอีก คราวนี้จาก 20 กว่าไร ก็เป็น 200กว่าไร่ ผมก็ไปตกลงกับชาวนาว่า เราทำร่วมกัน ผมออกทุน เขาออกแรง ทำเกษตรอินทรีย์ ได้เงินมาหักทุนแล้วแบ่งกำไรกัน ผมไม่ได้คิดอะไรมาก ผมได้เอาเงินเก็บมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มีที่ให้เกษตรกรทำกินเพิ่ม ให้เขาได้ลองทำเกษตรอินทรีย์ ที่ดินรกร้างไม่ได้ทำประโยชน์ก็ได้เอามาใช้
แต่พอเอาเข้าจริง ก็ไม่เป็นอย่างที่คิด ด้วยความที่เราไม่รู้ ก้าวใหญ่เกินไป ไม่ระวัง ผมให้เขาติดต่อรถแบ็กโฮ รถดัน มาบุกเบิกที่ดิน เขาขอค่าจ้างเพราะต้องไปเผาต้นไม้กับวัชพืชก่อน ผมก็ยอม แต่ทำไปทำมา ผมหมดเงินไปเป็นล้าน ยังไม่ได้เริ่มปลูกอะไรเลย พอปลูกพวกเขาก็ไม่ยอมทำตามวิธีของผม ยังทำแบบเดิม โดยให้เหตุผลเต็มไปหมด เราก็ต้องยอม พอถึงเวลาเกี่ยวข้าว ราคาข้าวก็ตกมาก ซึ่งเป็นผลจากโครงการจำนำข้าว งานนั้นผมหมดเงินไปเยอะมากเลยครับ”
เคยแอบท้อบ้างไหม ?
“ผมอยากเลิกหลายครั้งเลยนะ เหมือนกับเราเคยคิดว่าเรารู้ เราทำเป็น มันไม่ยาก ทำงานอื่นๆมาแล้วตั้งเยอะ เรื่องการเกษตรแค่นี้ต้องทำได้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่ แต่ผมก็บอกตัวเองเสมอว่า ถ้าเราไม่ได้ลงมือทำ เราก็ไม่รู้หรอก ให้สู้ต่อไป ตอนนั้นคุณแม่ก็บอกว่าเลิกได้แล้ว แต่ผมขอสู้ต่อ และลองเปลี่ยนจากปลูกข้าว มาเลี้ยงปลานิลกับกุ้ง เพราะเห็นว่ามีคนแถวนั้นทำกันเยอะๆกว่าปลูกข้าว เราเริ่มมองหาอะไรที่เหมาะกับบริบทของพื้นที่ แล้วก็คิดว่าบางบ่อนี่ต้องปลาสลิดสิ ทำไมไม่เห็นมีใครเลี้ยงเลย แล้วก็พบว่าคนเลิกเลี้ยงเพราะปลาสลิดใช้เวลานานถึง 12 เดือน ปลานิลใช้เพียง 4 เดือน แล้วการแปรรูปปลาสลิดค่อนข้างยุ่งยาก
ตอนนั้นผมมีรุ่นน้องที่สนใจเรื่องนี้มาร่วมงานด้วย เขาชื่อ ธัณย์ชยา ภิรักษ์จิรบูรณ์ (ไนซ์) เขารู้ว่าผมท้อมากก็เลยเข้ามาช่วย พ่อเขาเคยเลี้ยงกุ้งมาก่อน ก็เข้ามาช่วยอีกแรง แล้วเขาก็ช่วยจนไปเจอคนพื้นที่ที่เป็นเหมือนปรมาจารย์เรื่องปลาสลิด อยากจะอนุรักษ์ให้ปลาสลิดยังคงอยู่ที่บางบ่อ อันนี้ก็คือที่มาว่า ทำไมวันนี้ผมจึงทำปลาสลิด”
ผลิตผลของ Akasha Farm มีอะไรบ้าง ?
เจตน์ : ตอนนี้มีมะนาว แล้วก็ไข่ไก่ที่เลี้ยงแบบ Free Range ปลาสลิดแดดเดียว กับแบบทอดกรอบเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งมีขายที่เบเกอรี่ช็อปในโปโลคลับ เป็นร้านแรกที่ไปวาง แล้วก็ไปได้ดี นอกจากนี้ยังไปขอคุณนันทินี (แทนเนอร์) รับซื้อไปใส่ในเมนูต่างๆที่ร้าน Provence แล้วกำลังจะลองไปขายที่วิลล่า พอร้านที่ขายของเราโทรมาสั่งเพิ่ม ผมจะดีใจมาก พอโทรไปบอกที่ฟาร์ม ทุกคนก็ดีใจ
พอจะบอกได้ไหมว่าเลี้ยงตัวได้ ?
“ยังไม่ได้ครับ”
อีกนานแค่ไหนกว่าจะถึงขั้นนั้น ?
“อีกนิดเดียวครับ ผมบอกตัวเองอย่างนี้มาตลอด”
แล้วเท่าที่ทำมาทั้งหมดนี้ จะยังทำต่อไปอีกไหม ?
“ผมก็ยังทำต่อ แต่ทุกอย่างมันไม่แน่ไม่นอนอยู่แล้ว ความตั้งใจเรามี และเราคิดว่าเป็นความตั้งใจที่ดี เราอยากทำให้มันสำเร็จให้มันอยู่ได้ ไม่ได้กะรวยหรืออะไรนะ แต่มันต้องมีกำไร เพราะเป็นปัจจัยแรกที่จะทำให้กิจกรรมที่เราทำนั้นคงอยู่ต่อไปได้ ถ้าไม่มีมันก็อยู่ไม่ได้ เท่าที่ผ่านมามันหนักกว่าที่คิด แต่ผมจะตัดใจลืมเรื่องเงินที่ลงทุนไป ทำเท่าที่พอจะทำได้ในแต่ละช่วงขณะ แล้วมีความสุขกับสิ่งที่เราทำ
เดี๋ยวนี้ผมยิ่งมีความสุขมากขึ้นอีก เพราะผมพาลูกไปสัมผัสบรรยากาศที่ฟาร์มด้วย แม้ว่าเขาจะเพิ่งขวบเศษยังไม่รู้เรื่องเท่าไร เขาชื่อธรรม ก็พาเขาไปเรื่อยๆ ไปใกล้ชิดสัตว์ ผมจับปลาช่อนขึ้นมาเขาก็จับหัวได้นะแต่ก็แค่นั้น แต่พอเป็น Machine ไปนั่งอยู่บนรถไถหรือว่าไปอยู่ในกองที่เขากำลังทำเครื่องกันอยู่ นัยน์ตาเขาจะเป็นประกายให้รู้ว่าชอบมาก หยิบสายยางหยิบอะไร”
ถึงวันนี้รู้สึกภูมิใจในผลงานของตัวเองไหม ?
“ภูมิใจครับ ภูมิใจทั้งๆที่ยังไม่สำเร็จ หรือบางทีก็สร้างความทุกข์ใจให้เรา ผมดีใจที่ได้ทำ และดีใจที่ยังคงทำอยู่ ผมเชื่อว่าวันหนึ่งจะสำเร็จ และจะเป็นความสำเร็จที่มีคุณค่าให้แก่ตัวเอง คนรอบข้างที่เกี่ยวข้อง และคนอื่นๆที่อาจจะสนใจเรื่องนี้ ผมดีใจที่ได้คุยเรื่องนี้กับ HELLO! ขอบคุณที่สนใจเรื่องนี้ครับ”
ยังมีโครงการอะไรในอนาคตที่อยากทำต่อ ?
“ที่ลองทำแล้วคิดว่าดีก็คือหญ้าเนเปียร์ ซึ่งเป็นหญ้าที่มีโปรตีนสูงเหมาะสำหรับเลี้ยงสัตว์ ให้วัว ให้ช้าง แม้แต่ปลาสลิด ปลานิล ผมก็เลี้ยงด้วยหญ้าเนเปียร์แต่ต้องเอามาบดแล้วผสมกับรำ ทำให้โตเร็ว”
ภรรยาช่วยอะไรไหม ?
“ช่วยเป็นกำลังใจครับ และก็ช่วยผมขายของ เราขายไม่ค่อยเป็น ไปสวนมะนาวที่ไร เขาจะเก็บมาใส่รถ พอไปทานข้าวเขาก็จะไปขายร้านข้าว กลับคอนโดกรุงเทพเขาก็ไปขายร้านน้ำหน้าคอนโด”
ยังจำวันแรกๆ ที่ทำนาท่ามกลางแดดร้อนๆ ได้บ้างไหม ?
“ต้องบอกว่าผมเป็นคนชอบชีวิต Outdoor อยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้นวันที่ไปทำนาจริงๆ ทั้งวัน มันสาหัสเหมือนกันนะ มันร้อนมาก แล้วบางกิจกรรมเราต้องรีบทำก่อนแดดร้อน และการทำนามันทำลายกรอบของชีวิตผมไปหลายอย่าง เรามาทำนาแทบจะไม่ต้องสีฟัน ไม่ต้องแต่งตัว ไม่ต้องหวีผม ลุกมายังไง ก็ไปได้เลย บางทีทำเพลินๆ ไม่หยุด พอกินข้าวปั๊บก็หลับเลย ซึ่งก็สนุกดี ชีวิตเราเรียบง่ายเท่านี้ก็พอ”