บุกอาณาจักรน้ำมันและเหมืองแร่ที่ใหญ่ที่สุดของสาวแกร่ง ‘เจี๊ยบ-พรทิพย์ เหลืองกำธร’
ไม่ง่ายนักที่จะเจอตัวนายหญิงแห่งอาณาจักรพี.ซี.สยาม กรุ๊ป ซึ่งคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมหนักแห่งภาคใต้ เพราะใน 7 วันต่อสัปดาห์ นายหญิงอาจไปตรวจงานที่โรงไฟฟ้าชีวภาพ ลุยอยู่ในสวนปาล์ม คุมคลังน้ำมัน หรืออาจไปบู๊อยู่แถวกองแร่ยิปซัมสีเทาสูงเป็นภูเขา ทว่าเมื่อนายหญิงปรากฏตัวต่อหน้า ก็ให้แปลกใจว่าเป็นผู้หญิงร่างบางนางหนึ่ง ซึ่งชื่อสมกับตัวว่า ‘เจี๊ยบ’ หรือ คุณพรทิพย์ เหลืองกำธร ผู้ซึ่งต่อมาในภายหลัง คณะ HELLO! ที่ลงใต้ไปสุราษฎร์ธานีแจ้งใจว่า เธอหาใช่ลูกเจี๊ยบ หากเป็นนายหญิงที่เฉียบ เนี้ยบ ฉับไว ซึ่งยอมเปิดทางให้ HELLO! ไปขุดอาณาจักรแร่ คุ้ยแนวคิดชีวิต และงานเป็นครั้งแรกแบบเอ็กซ์คลูซีฟ

หญิงแกร่งในอุตสาหกรรมหนัก
คุณเจี๊ยบในวัย 40 กะรัตก้าวฉับๆ จนเกือบจะวิ่งไปบนลานซีเมนต์สีเทา เข้ากับท้องฟ้าครึ้มเมฆฝน เธอชี้ให้ดูทะลายปาล์มกลิ้งหลุนๆ จากท้ายรถบรรทุกพ่วงคันยักษ์จนเต็มลาน จากทะลายสู่ผล จากผลสู่น้ำมัน และจากน้ำเสียในโรงสกัดก็ไปสู่โรงไฟฟ้าพลังชีวภาพ กากตะกอนน้ำมันนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพาะปลูกผักปลอดสารพิษ ไม่มีของเหลือทิ้งสักนิด แม้แต่ของเสียก็ยังแปรเป็นมูลค่าได้ตามสไตล์ธุรกิจ Zero Waste เธออธิบายทุกกระบวนการผลิตธุรกิจน้ำมันปาล์ม และโรงไฟฟ้าเป็นฉากๆ แต่หากไปถามสมัยเธออายุ 26 ปี คุณเจี๊ยบจะหันมาตอบว่า “ไม่รู้เรื่องงานเลย” คำนี้เธอพูดเอง “แม้ว่าเราจะโตมากับการเห็นคุณพ่อคุณแม่ทำงานก็ตาม”
นายหญิงขยายความประโยคเมื่อสักครู่นี้ว่า “เจี๊ยบไม่ได้ตั้งใจว่าจะเข้ามาทำงานนี้ ไม่ได้มีแพสชั่นเลยนะคะ แต่ธุรกิจของครอบครัว ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ เดิมทีคุณพ่อและคุณแม่ทำงานด้วยกัน คุณพ่อเป็นฝ่ายวางกลยุทธ์ ส่วนคุณแม่ดูแลบริหารจัดการพนักงาน แต่ตอนหลังคุณแม่วางมือ เจี๊ยบเลยเข้ามาแทนที่คุณแม่ค่ะ”
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นจากคุณพ่อ (คุณพรชัย เหลืองกำธร) ซึ่งกำเงิน 200 กว่าบาท เดินทางจากประจวบคีรี ขันธ์มาแสวงโชคที่สุราษฎร์ธานีเมื่อ พ.ศ. 2512 กระทั่งได้เข้าสู่ธุรกิจค้าน้ำมัน และได้พบกับคุณแม่ (คุณปรียานุช เหลืองกำธร) ผู้กลายเป็นแม่ของลูกในเวลาต่อมา “คุณพ่อคุณแม่เริ่มทำธุรกิจค้าน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยกัน แล้วเห็นว่าแร่ดีบุกได้กำไรดีที่จังหวัดพังงา ท่านก็ไปขายน้ำมันให้กับเรือขุดแร่และเริ่มรับซื้อแร่ดีบุกจากเรือขุดแร่ไปด้วย ผ่านไประยะหนึ่ง ก็หมดยุคทองของเหมืองแร่ ท่านเลยย้ายกลับมาอยู่ที่สุราษฎร์ธานีและทำธุรกิจน้ำมันปิโตรเลียม เริ่มจากทำปั๊มน้ำมันเล็กๆ ก่อนนะคะ”
“ตอนหลังก็ขยายมาค้าน้ำมันแบบขายส่ง มีคลังน้ำมัน ท่าเทียบเรือ และเรือขนส่งน้ำมันของเราเองค่ะ” ไม่ไกลจากลานกองแร่คือคลังน้ำมัน ซึ่งเวลานั้นเรือน้ำมันแล่นเข้ามาเทียบท่า ลำเลียงของเหลวสีอำพันใสผ่านท่อไปเก็บในแท็งก์ปูนขนาดเล็กใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่ว “หลังจากนั้นคุณพ่อก็คิดว่าในเมื่อธุรกิจเราขยายมากขึ้นแล้ว ก็ควรทำธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า” นั่นคือที่มาของ พี.ซี.ทาวเวอร์ อาคารสูงหนึ่งเดียวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งสูงใหญ่ขนาดที่มองเห็นได้ระยะไกล จนกลายเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดไปโดยปริยาย
“ด้วยความที่เรามีสวนปาล์มเองด้วย ท่านเลยมองเห็นโอกาสว่าในเมื่อเรามีวัตถุดิบของเราเอง ก็ควรทำโรงสกัดน้ำมันปาล์ม เลยเริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันปาล์ม ปั้มน้ำมัน และธุรกิจเสริมเป็นลานรับซื้อปาล์มควบคู่ไปด้วย ซึ่งนำน้ำเสียจากโรงสกัดน้ำมันปาล์มไปทำโรงไฟฟ้าชีวภาพ นำสินทรัพย์ที่มีไปต่อยอดค่ะ” คุณเจี๊ยบเล่าธุรกิจทั้ง 5 อย่างจบ ก็พอดีฝนตกตอนบ่ายสองโมงตรง เวลาประจำของฤดูฝนในภาคใต้
ธุรกิจเติบโตด้วยปัญหาที่ท้าทาย
ปัญหาหนึ่งแก้ได้ก็มีปัญหาอีกเป็นร้อยรอให้สะสาง ช่วงชีวิตในวัย 30 ปีของเธอเรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่มีแต่เรื่องท้าทายทุกวัน แต่แปลกที่เธอมองย้อนกลับไปแล้วบอกว่า ออกจะรักและเอ็นดูปัญหา “เจี๊ยบมองว่าปัญหาคือตัวพิสูจน์ความสามารถของเรา ปัญหาคือโอกาสในการสร้างพื้นที่และสร้างความแตกต่างในการทำธุรกิจ ปัญหาทำให้เรารู้จักยอมรับความจริงว่าเรามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มีปัญหาเจี๊ยบคงไม่ได้รับความไว้วางใจจากครอบครัว ทีมงาน และลูกค้าอย่างทุกวันนี้นะคะ”
ปัญหายังทำให้เธอค้นพบข้อดีอีกหลายอย่างในตัวเอง “เมื่อเราทำงานที่ไม่รู้ เราเลยต้องฟังคนอื่นมากขึ้นค่ะ” อดีตคุณหนูเอาแต่ใจบอก “เรานำข้อมูลที่ได้มาคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจแล้วทำเลย จะเรียกว่าเอาความเอาแต่ใจมาบริหารก็ได้ เพราะเจี๊ยบเป็นคนไวอยู่แล้ว ยิ่งทำธุรกิจน้ำมันยิ่งต้องไว เพราะมีคู่แข่งเยอะ และราคาน้ำมันปรับวันละหลายรอบค่ะ ฉะนั้นในการทำงานคุณต้องมีแค่ yes หรือ no ให้เจี๊ยบเท่านั้น ถ้ามัวช้า จะยิ่งทำให้เราห่างไกลจากเป้าหมายหรือไม่ถึงเป้าหมายเลยด้วยซ้ำ และเจี๊ยบคงทำงานด้วยสัญชาตญาณเอาตัวรอดด้วยมั้งคะ เราอยู่โรงเรียนประจำมาตั้งแต่เด็ก อยู่ห่างจากคุณพ่อคุณแม่ ท่านไม่สามารถมาดูแลเราได้ตลอดเวลา เราเลยต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ตัดสินใจเองค่ะ”
ส่วนพนักงานหลายร้อยชีวิตก็ได้พบเช่นกันว่า สไตล์การทำงานของผู้บริหารเจเนอเรชั่น 2 แห่ง พี.ซี. กรุ๊ปนั้นฉีกแนวไปจากยุคแรกอย่างสิ้นเชิง “ยุคคุณพ่อจะแยกหน้าที่ของแต่ละคนไปเลย คนนี้ทำเอกสาร คนนั้นคุยกับลูกค้า แต่เจี๊ยบบอกว่า ทุกคนต้องทำงานทุกอย่างให้ได้ คุณต้องออกเอกสาร คุยกับลูกค้า ต้องแจ้งหนี้ ต้องทำได้หมด เจี๊ยบเอาแนวคิดของร้านสะดวกซื้อ มาใช้สมัยที่เจี๊ยบเป็นผู้จัดการร้านในปั๊มของที่บ้าน ตอนนั้นทำงานที่ออฟฟิศจนถึงเที่ยงคืนกว่า แล้วตี 5 ก็ตื่นมาเข้าร้าน วนไปแบบนี้เกือบ 3 เดือน แต่ได้เรียนรู้ระบบการทำงานแบบมืออาชีพเลยค่ะ”
“สไตล์การทำงานของคุณพ่อเป็นแบบ conservative รักลูกน้อง แต่เจี๊ยบจะเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานมากขึ้น งานก็รันไปได้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น บางทีพนักงานอาจจะยังปรับตัวไม่ได้ แต่เราก็ต้องพยายามบอกเขาว่าโลกเปลี่ยนไปไกลแล้ว เราต้องเปลี่ยนไปตามโลกด้วย เจี๊ยบยอมรับว่าไม่ได้เป็นผู้บริหารที่ทุกคนรักและไม่ใช่ที่รักของทุกคน เรื่องตัดสินใจก็ตัดสินใจเลย ทำเลยทันที เจี๊ยบไม่อ่อนหวาน ไม่ได้พูดจาไพเราะ แต่เราตรงไปตรงมามาก เป็นคนชัดเจน มีปัญหาก็เรียกมาคุยกัน เพราะเราลงเรือลำเดียวกันแล้ว เวลาทำผิดก็คิดใหม่ ทำใหม่ ไม่มัวมานั่งเสียใจเพราะมันเสียเวลาค่ะ”
จากเด็กคาบเส้นสู่การเป็นบัณฑิตกฎหมาย
ถามว่ามูลค่าธุรกิจในเครือเป็นเท่าไร คุณเจี๊ยบตอบได้เร็วๆ จากข้อมูลในสมาร์ทโฟนที่เปิดคำนวณสดๆ ตอนรับมื้อค่ำว่านี่คือผลงานของเธอ คนที่ถูกปรารภว่าเป็นลูกคุณหนู แต่เธอสามารถผันตัวจากเด็กคาบเส้น สู่บัณฑิตกฎหมายและฟื้นฟูธุรกิจจนเติบโต ปรับเปลี่ยนองค์กรแบบ dual transformation ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่อนาคต “เจี๊ยบเป็นเด็กเรียนไม่เก่งเลยค่ะ” เธอสรุปก่อนแล้วค่อยขยายความว่า “ถ้าเจี๊ยบไม่ไปเรียนประจำ ชีวิตคงไม่เป็นอย่างทุกวันนี้นะคะ แต่ก่อนเจี๊ยบเอาแต่ใจมากๆ เราเป็นลูกสาวคนเดียวในพี่น้อง 4 คน เจี๊ยบเป็นลูกคนที่ 2 เอาแต่ใจชนิดที่อยากอะไรต้องได้ ดื้อมาก ไม่ฟังใคร คุณพ่อคุณแม่ก็เอือมระอาเหมือนกัน”
เป็นเด็กที่โหล่ในห้องแต่เอ็นทรานซ์เข้านิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ “เป็นดวงค่ะ” เธอว่า “เจี๊ยบก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเอ็นติดได้ยังไง ที่เลือกนิติฯ เพราะคุณแม่คิดว่าเราทำธุรกิจควรจะรู้กฎหมาย พอจบนิติศาสตร์ จุฬาฯ เจี๊ยบก็ไปต่อปริญญาโทด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศที่อังกฤษค่ะ”
การเป็นผู้หญิงในอุตสาหกรรมหนักอย่างการพัฒนาธุรกิจเหมืองแร่ “ไม่ต่างกันหรอกค่ะ” เธอส่ายหน้า “เจี๊ยบโตมากับการเห็นทั้งคุณพ่อและคุณแม่ทำงานด้วยกัน โดยที่คุณแม่เป็นต้นแบบของเจี๊ยบ ท่านสามารถดูแลลูกน้องเป็นร้อย และจัดการองค์กร ทำให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าไปได้ ในสายตาเจี๊ยบมองว่าคุณแม่ทำงานได้ทุกอย่าง ถ้างานไหนท่านทำไม่ได้ ก็จะมองหาคนช่วย เจี๊ยบเลยไม่เห็นว่าจะมีความแตกต่างในการทำงานไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงค่ะ”
สามารถติดตามได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 15 ฉบับที่ 10
ประจำวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน 2563
หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่ www.ookbee.com , www.shop.burdathailand.com