‘สุทธิมา สุจริตกุล’ ทายาทสุจริตกุลสาย ‘บ้านมนังคศิลา’ ผู้ตั้งใจผลักดันศิลปินก้าวสู่ระดับโลก
บุตรสาวของ ‘คุณติรวัฒน์ สุจริตกุล’ และ ‘คุณพิตราภรณ์ สังขะทรัพย์’ จุนโกะ – สุทธิมา สุจริตกุล เป็นลูกหลานของตระกูล ‘สุจริตกุล’ สายบ้านมนังคศิลา ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกผู้สืบเชื้อสายมาจาก ‘พระยาอุดมราชภักดี’ (โถ สุจริตกุล) อดีตอธิบดีกรมชาวที่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

คุณจุนโกะเดินทางไปศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศตั้งแต่วัยเยาว์ เธอยอมรับว่าตนเองอาจจะไม่ได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของครอบครัวเท่ากับลูกหลานท่านอื่น ๆ แต่ด้วยเส้นทางการทำงานสายศิลปะร่วมสมัยที่แกลเลอรี่ Nova Contemporary ซึ่งเธอได้ก่อตั้งขึ้น ทำให้ได้ศึกษาเรื่องราวของบรรพบุรุษโดยบังเอิญ
“โกะเริ่มมาคุ้นเคยกับเรื่องราวของตระกูลช่วงที่กลับมาอยู่ประเทศไทย แต่ความบังเอิญที่ทำให้ได้รู้เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น คือตอนที่จัดนิทรรศการ Oblivion ร่วมกับคุณอริญชย์ รุ่งแจ้ง (ศิลปินที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมจัดแสดงในงาน Venice Biennale ครั้งที่55 (2013)) ในระหว่างเก็บข้อมูลคุณอริญชย์ได้ทำการค้นคว้าถึงต้นตระกูลของโกะ และขอดูหนังสือซึ่งรัชกาลที่ 6 มีพระราชหัตถเลขาถึงคุณทวดชาย (พระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล)) เกี่ยวกับเรื่องการจัดการพระบรมศพ รายละเอียดในนิทรรศการนี้ทำให้โกะได้เรียนรู้ถึงประวัติครอบครัวตัวเองมากยิ่งขึ้น”

Nova Contemporary เป็นแกลเลอรี่จัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยที่คุณจุนโกะก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559 ด้วยหวังว่าเป็นพื้นที่และเป็นตัวแทนให้กับศิลปินรุ่นใหม่ในประเทศไทยและแถบเอเชีย ได้เผยแพร่ผลงานของตนไปยังต่างประเทศ แกลเลอรี่ที่ตั้งอยู่ในคอนโดมิเนียมบ้านสมถวิล ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสมถวิล ราชดำริ ก่อตั้งโดยคุณสมถวิล สังขะทรัพย์ คุณยายของเธอ กำลังจะครบรอบ 7 ปีอันน่าภูมิใจ
“โกะทำงานศิลปะมาเป็นสิบปีแล้ว ตั้งแต่เรียนที่อังกฤษ และทำงานต่อที่อเมริกา ตอนนี้แกลเลอรี่เราดูแลศิลปินในสังกัดประมาณสิบกว่าคน การจัดนิทรรศการแต่ละครั้งของเราจุดประสงค์หลักคืออยากให้ผลงานของศิลปินไทยได้ไปจัดแสดงในต่างประเทศ หรืออยู่ในคอลเลกชั่นของพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ อย่างเช่นในเดือนมีนาคมนี้ เราจะเป็นแกลเลอรี่จากประเทศไทยเพียงแห่งเดียวที่ได้ไปจัดแสดงใน Art Basel ณ ประเทศฮ่องกง โดยนำผลงานของกวิตา วัฒนะชยังกูร ที่นับว่าเป็นศิลปินหญิงไทยรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองไปจัดแสดง โดยผลงานศิลปะที่เราเลือกนำไปจัดแสดงไม่ได้มีเพียงแค่ความสวยงามเท่านั้น จริงอยู่ที่ aesthetic หรือความงามเป็นเรื่องสำคัญ โกะให้ความสำคัญเรื่องเนื้อหา และ historical context เช่นกัน คือผลงานชิ้นนั้นพูดอะไรกับเหตุการณ์ปัจจุบัน กับสังคมนี้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญพอ ๆ กับเรื่องของความงาม” คุณจุนโกะกล่าว
หนึ่งในความภูมิใจของคุณจุนโกะ คือ Tate Modern ประเทศอังกฤษ พิพิธภัณฑ์ที่มีความสำคัญในวงการศิลปะและต่อตัวเธอเอง ได้สะสมผลงาน Moe Satt ศิลปินชาวพม่าที่เธอดูแล นอกจากนี้ผลงานในนิทรรศการ Oblivion ของคุณอริญชย์ รุ่งแจ้ง ก็ได้เข้าไปอยู่ในคอลเลกชั่นของพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวหลากหลายแห่งในประเทศไทย เช่นเดียวกับผลงานของแพร พู่พิทยาสถาพร และลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล ที่อยู่ในคอลเลกชั่นของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยของประเทศไทย
“อย่างไรก็ตามโกะก็สนับสนุนให้ศิลปินของแกลเลอรี่ได้นำผลงานไปจัดแสดงในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย เช่น นิทรรศการของ ธาดาเฮงทรัพย์กูล ที่ Maielie จังหวัดขอนแก่น นอกจากนั้นแล้วยังสนับสนุนให้ สะรุจ ศุภสุทธิเวช ได้ไปเป็นArtist Residency ที่กรุงเบอร์ลิน และอีกหนึ่งโปรเจกต์ ล่าสุดที่เราอยากกล่าวถึง คือ Soho House Bangkok ซึ่งได้คัดเลือกและสะสมงานของศิลปินจาก Nova Contemporary”

การมาเยือนพระราชวังพญาไทในครั้งนี้ เธอได้เล่าถึงส่วนหนึ่งในแรงบันดาลใจของการทำงานที่พยายามเชื่อมโยงโลกตะวันออกไปสู่สากล และนำความเป็นสากลกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับงานศิลปะ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
“อาจกล่าวได้ว่า การที่รัชกาลที่ 6 เป็นผู้ที่ Westernize ประเทศไทย นำเอาความศิวิไลซ์ ศิลปะ และความเป็นสากลเข้ามาสู่ประเทศเรา เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับโกะ เพราะการนำวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาผสมผสานในวัฒนธรรมไทย เป็นการริเริ่มในสิ่งที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อน และนำมาพัฒนาบ้านเมืองของเราให้ดีขึ้น เช่น ผลงานของพระองค์ที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งอนันตสมาคม หรือแม้แต่วังพญาไท เป็นสิ่งที่เราชื่นชม ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืม root รากเหง้าของตนเอง ตรงนี้เป็นสิ่งที่โกะอยากต่อยอดต่อไปในยุคนี้ ในรูปแบบร่วมสมัย คือเพื่อให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ละเลยรากเหง้าของตนเองผ่านการชมและเรียนรู้จากผลงานศิลปะร่วมสมัย”
ถึงจะเติบโตในต่างประเทศ แต่เธอก็ได้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความเป็นไทยเสมอ การทำงานด้านศิลปะเปิดโอกาสให้เธอพบปะกับผู้คนที่หลากหลาย ต่างมุมมอง การทำงานของเธอจึงไม่ได้ยึดติดกับกรอบความคิดใดความคิดหนึ่ง แต่คำนึงถึงความสามารถและความตั้งใจของคน ๆ นั้นมากกว่า
สำหรับโกะแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีนามสกุลใด หากตั้งใจทำงาน หรือทำในสิ่งที่รักให้ออกมาดี ก็จะเกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว และถ้าหากยิ่งมีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี ได้เห็นโลกในมุมมองที่หลากหลาย และสามารถนำเอาสิ่งเหล่านี้มาทำให้บ้านเมืองเราดีขึ้น ไม่ว่าจะทางใดก็ตามนั่นยิ่งเป็นสิ่งที่ดี”
คุณจุนโกะ – สุทธิมา สุจริตกุล

หนึ่งในความผูกพันของตระกูลถูกถ่ายทอดผ่านงานศิลปะอย่างเข็มกลัดลงยา ซึ่งคุณจุนโกะติดประดับบนชุดราตรีสีเทาของคุณไข่-สมชาย แก้วทอง “เข็มกลัดชิ้นนี้ออกแบบโดย ม.ล.รจนาธร ณ สงขลา ด้านบนถอดแบบจากลายพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนด้านล่างทำเป็นลายนาคพันแตง ซึ่งเป็นตราประจำตระกูลสุจริตกุล” คุณจุนโกะอธิบาย ตรานาคพันแตงนี้สืบเนื่องจากชื่อของต้นตระกูลทั้งสองท่านคือ ท้าวสุจริตธำรง (เดิมชื่อ นาค) และหลวงอาสาสำแดง (เดิมชื่อแตง)
READ MORE: เปิดประวัติ 6 ‘นามสกุลพระราชทาน’ จากล้นเกล้า ‘รัชกาลที่ 6’