Home > Celebrity > Exclusive Interviews > หลังบ้านกองทัพไทยคนขยัน ‘ก๊องส์-กรองกาญจน์ ชมะนันทน์’ กับภาระกิจช่วยเหลือสังคมที่น่ายกย่อง!

ในช่วงเวลาอันยากลำบากสำหรับคนทั้งโลก ยังมีสุภาพสตรีผู้หนึ่งที่ไม่อาจหยุดอยู่กับบ้านเหมือนคนทั่วไปได้ เพราะในฐานะรองเลขานุการสมาคมแม่บ้านกองบัญชาการกองทัพไทย อย่าง ‘คุณก๊องส์-กรองกาญจน์ ชมะนันทน์’ ผู้รับผิดชอบเรื่องการจัดหาทุนและกิจกรรมพิเศษให้กับสมาคมฯ ซึ่งแม้ในช่วงเวลายากลำบากนี้ เธอก็ยังคงมุ่งมั่นทำหน้าที่ดังกล่าวอย่างเต็มกำลังความสามารถมาโดยตลอด 

“ทุกคนจะเห็นเราในโซเชียลมีเดีย หน้าเฟสบุ๊กของก๊องส์จะเป็นเรื่องกิจกรรมสาธารณกุศลเต็มไปหมดเลย เรามีหน้าที่เป็นสะพานบุญให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่มองหาที่ทำบุญ ก็จะคอยแนะนำว่าควรทำที่ไหนบ้าง เพราะก๊องส์จะศึกษาให้ละเอียดก่อน และดูว่ามีความจำเป็นจริงๆ สำหรับเรื่องโควิด ก๊องส์ร่วมทำบุญกับเพื่อนๆ มาตั้งแต่ปีที่แล้วค่ะ โดยจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่ขาดแคลน และส่งอาหารให้บุคลากรทางการแพทย์ แล้วก็ทำต่อเนื่องมาเรื่อยๆตามสถานการณ์”

‘คุณก๊องส์-กรองกาญจน์ ชมะนันทน์’

จากเครื่อง High-Flow ถึงห้อง ICU ความดันลบ

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา คุณก๊องส์และเพื่อนๆ ร่วมสมทบทุนบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมถึงเครื่องช่วยหายใจแรงดันสูง High-Flow ให้กับราชวิทยาลัย โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลบางกรวย โรงพยาบาลบางใหญ่ สถาบันราชานุกูล เป็นต้น มาโดยตลอด  

“ไม่ว่าที่ไหนขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือเครื่อง High-Flow เราไปบริจาคหมดเลยค่ะ จนกระทั่งเดือนมี.ค. – เม.ย.นี้ เกิดมีคลัสเตอร์ใหม่ ทำให้อัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น มีรุ่นน้องเตรียมอุดมฯ ด.ร.จุฑาทอง มาชวนไปบริจาคที่โรงพยาบาลวชิระ พอก๊องส์ได้คุยกับคณบดี และอาจารย์แพทย์หลายท่านแล้วสัมผัสได้ว่า วชิรพยาบาลเป็นโรงพยาบาลที่บุคลากรมีจิตสาธารณะ ไม่เลือกรักษาคนไข้ที่ฐานะ ซึ่งก๊องส์คิดว่าเราน่าจะสนับสนุน มีโอกาสได้ Zoom Meeting กับคณะผู้บริหารของวชิรพยาบาลเลยเรียนถามท่านอธิการบดีว่าต้องการอะไรอีกบ้าง ท่านบอกว่าอยากทำหอผู้ป่วยวิกฤติชนิดความดันลบ (Negative Pressure ICU) ซึ่งถ้าจะทำทั้งตึก 54 เตียงคงใช้เวลาหาทุนนานเป็นปี

“ก๊องส์เลยเรียนท่านว่า ขออนุญาตทำเป็นโครงการระดมทุนแบบเร่งด่วนได้ไหม ซึ่งท่านก็อนุญาตให้จัดทำโครงการนี้ ต้องยอมรับนะคะว่า คณะผู้บริหารของวชิระมีวิสัยทัศน์และเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ได้ดี ถ้าไม่อย่างนั้นจะไม่มีเตียง ICU รักษาผู้ป่วยโควิดในช่วงแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นเลยค่ะ

“น้องอุ๊-จุฬาลักษณ์ ผลภิภม ซึ่งก๊องส์ชวนมาช่วยกันเป็นคนคิดชื่อโครงการนี้ว่า ‘เตียงต่อชีวิต’ ซึ่งการปรับปรุงอาคารสูติกรรมใช้เงิน 20 กว่าล้านบาท บวกกับอุปกรณ์ทางการแพทย์อีก รวมเบ็ดเสร็จราว 50 กว่าล้านบาท แต่เงินบริจาคก็ไหลมาเรื่อยเป็น 100 กว่าล้านบาท ภายในระยะเวลาแค่เดือนกว่าๆ”

โครงการนี้จะสำเร็จไม่ได้หากไม่มีพี่ๆ ที่เคารพของคุณก๊องส์มาช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคุณเล็ก (จันทนา ปางพุฒิพงศ์ เซลบี้) เป็นเรี่ยวแรงหลักชวน คุณณัฐธยาน์ ปางพุฒิพงศ์ คุณวรรณา จิรกิตติ คุณกฤษณ์ รัตนรักษ์ ม.ล.ภูมิใจ ชุมพล คุณนิติ สว่างวัฒนไพบูลย์ ซึ่งแต่ละท่านก็มีเครือข่ายคนใจบุญทำให้ระดมทุนได้อย่างรวดเร็วทันใจ และช่วยกันอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย 

นอกจากนี้ยังมีหลวงปู่อว้าน เขมโก แห่งวัดนาคนิมิต คุณชูชาติ เพ็ชรอำไพ มูลนิธิครอบครัวตั้งคารวคุณ คุณอมรรัตน์ และคุณจิราภรณ์ อังคเศกวิไล แห่งบริษัท เยเนอรัลแคนดี้ จำกัด ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท คุณชนะพันธ์ุ – คุณยุพเรศ พิริยะพันธุ์ แห่ง TQR คุณสิริโสภา จุลเสวก คุณพลพัฒน์ อัศวะประภา คุณกฤช สายอุบล คุณพรเดช จันทวานิช คุณรับขวัญ บุนนาค คุณพรนภา นิวาตวงศ์ คุณเอกภัทร พรประภา คุณอัญมนท์ ทวียนต์ชัย แห่งบริษัท สี่แสง การโยธา (1979) จำกัด เป็นต้น

“หลังจากทำโครงการนี้เสร็จแล้ว มีเพื่อนๆ ที่พอรู้เข้าอยากทำบุญอีก ก๊องส์เลยถามไปที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลวัดไร่ขิง ว่าต้องการตู้ความดันลบไหม ทุกที่ก็บอกว่าต้องการมาก เพราะมีคนไข้นอนรอนอกห้องฉุกเฉินหลายสิบราย ถ้ามีตู้ความดันลบมาตั้งก็จะปลอดภัยกับทุกฝ่าย และโชคดีที่ทางนายกสมาคมศิษย์เซนต์โยเซฟโดย คุณเมตตา ตันติสัจจธรรม และ ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน คุณอรนารถ เชิดบุญชาติ คุณพธู หลิมประเสริฐศิริ คุณประหยัด เลี่ยวไพรัตน์ และสายงานการเงินและบัญชี CPN รวมทั้งเพื่อนๆ ที่โรงเรียนราชินีบริจาคมาให้ทั้งหมดเลยค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงพยาบาลที่รู้จักกันอยู่แล้ว และขอความช่วยเหลือมา หรือเวลาก๊องส์ไปบริจาคเงินก็จะถามเขาว่าขาดอะไรอีกไหม บางทีเขาก็แนะนำให้บริจาคโรงพยาบาลอื่นที่ขาดแคลนด้วย”

ไม่อาจห้ามความเศร้าให้มาเยือน  

นอกจากการช่วยเหลือชุมชนและคลัสเตอร์ต่างๆแล้ว ยังมีคนมาขอความช่วยเหลือจากคุณก๊องส์ให้หาเตียงแก่ผู้ป่วยด้วยเช่นกัน และเคสที่ทำให้เธอรู้สึกสะเทือนใจ ก็เมื่อเพื่อนของผู้ป่วยโควิดที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลบุษราคัม โทร.มาฝากฝังให้ช่วยเหลืออาม่าวัยเกือบ 90 ปีผู้เป็นมารดาและเป็นผู้ป่วยซึ่งมีโรคประจำตัวและนอนติดเตียงอยู่ให้ได้รับการรักษาโดยด่วน

“ลูกสาวของอาม่าโทร.มาร้องไห้กับก๊องส์ว่า พี่ช่วยแม่หนูด้วย หนูอยู่ข้างใน ออกไปไม่ได้อยู่กันสองคนแม่ลูก มีพี่เลี้ยงมาช่วยอีกคน ก๊องส์วางหูเสร็จก็บอกเลขาเลยว่าเคสนี้ขอด่วนเลยนะ แล้วก็โทร.หาคนดูแลอาม่า เขาบอกว่ารอมาสองวันแล้ว ยังไม่มีใครมาตรวจ อส.ก็เข้าไปเยี่ยม บอกว่าเจ้าหน้าที่รับเรื่องแล้ว และกำลังหาเตียงให้ แต่การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยต้องมีการวางแผน จนสองวันต่อมาสามารถหาเตียงได้แล้ว วันนั้นเวลา 10 โมงเช้าเจ้าหน้าที่กำลังจะไปรับตัวอาม่าอยู่พอดี ปรากฏว่าคนดูแลโทร.มาบอกว่าอาม่าจากโลกนี้ไปแล้ว     

ก๊องส์สงสารลูกสาวอาม่ามากเพราะเขาเองก็ป่วย แต่ก็พยายามคิดอย่างที่หมอคิด เราช่วยคนอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว ถ้าเราเก็บมาเป็นอารมณ์ จะบั่นทอนจิตใจเราเอง” คุณก๊องส์พูดด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา

อีกเคสหนึ่ง เป็นคนรถของเพื่อนคุณก๊องส์ติดโควิด ในช่วงที่วิธีการจัดการของภาครัฐยังค่อนข้างสับสนอยู่ เพื่อนคุณก๊องส์โทร.หาเธอเพื่อขอให้ช่วยหาเตียงให้คนรถ “บ้านเขาคนอยู่กันเยอะมาก และอาจไม่ได้กว้างขวางพอ แล้วยังหาเตียงให้คนรถไม่ได้ เราก็ถามเขาว่าโรงพยาบาลต้นสิทธิ์อยู่ที่ไหน ใช้บัตรอะไร มีสิทธิรักษาที่ไหน น้ำเสียงเขาขาดเป็นห้วงๆเหมือนคนจะจมน้ำ ตอนนั้นเบอร์ 1330, 1668 เริ่มเต็ม แต่เบอร์ที่ใช้แล้วได้ผลทุกครั้งคือ 191 (หัวเราะ) เขาก็แข็งขันกันมาก และมีการจัดการที่ดี ก็ได้ประสานไปทางโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งมีเตียงว่างอยู่ เขาก็ได้ไปรักษาตัวจนหาย บางเคสที่มีคนฝากมาให้ช่วยพอส่งยาหรือเอาเข้าระบบการรักษาได้ พวกเขาชอบถามก๊องส์ว่า คุณเป็นใคร มาช่วยเขาทำไม ได้อะไร ก็บอกว่าเราทำไปไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน เขาคงไม่คิดว่าจะมีคนเสียเวลาทั้งวันไม่ได้หยุด เพื่อช่วยชีวิตเขา เขาก็ขอบคุณแล้วขอบคุณอีก บางคนบอกว่าชั่วชีวิตนี้จะไม่ลืมบุญคุณเราเลย”                  

แต่สิ่งที่คุณก๊องส์ย้ำนักย้ำหนาก็คือ เธอจะไม่ใช้วิธีลัดคิวยัดเยียดคนไข้ เพราะเป็นการกดดันแพทย์ให้เครียดเปล่าๆ “ไม่อยากให้แพทย์และพยาบาลเสียเวลากับเรื่องนี้เลย เพราะการทำแบบนั้นทำให้คนที่เขาอยู่ในระบบแล้ว และรอคิวอยู่ อาจตายได้เหมือนกัน เพราะโดยมารยาทแล้วคุณต้องตามคิว ก๊องส์ไม่เคยแซงคิว เพราะในเมื่อเราจะช่วยคนก็ต้องทำตามระบบ ไม่ใช่ว่าช่วยเพื่อให้ตัวเองได้หน้า”

สุภาพสตรีที่งามพร้อมอย่างคุณก๊องส์กล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอยังคงลุกขึ้นมาช่วยเหลือสังคมทุกวี่วันแบบนี้ว่า 

“ก๊องส์คิดว่าคุณค่าของผู้หญิงไม่ได้มีแต่ความสวยหรือความเก่ง แต่ต้องมีจิตใจที่อยากทำเพื่อคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนด้วย สังคมก็จะมีความสงบสุข และมีการพี่งพาอาศัยกัน โดยเราต้องทำเป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลังเห็นค่ะ”


พบกับทั้ง 2 บทบาทของ ‘ก๊องส์-กรองกาญจน์ ชมะนันทน์’ และเรื่องราวสุดสะเทือนใจ

ระหว่างช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด – 19 เฉพาะในนิตยสาร HELLO! ‘ฉบับเดือนกันยายน 2564′ วางแผงแล้ววันนี้⁠

? ติดต่อสั่งซื้อโทร 0 2676 8999 ต่อ 217 หรือ 084 079 5678⁠
? สั่งซื้อออนไลน์ที่⁠
shop.burdathailand.com หรือ Line ID: @hellomagazineth

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.