เปิดวังวรดิศ ของ ‘ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล’ กับพันธะแห่งความจงรักและภักดีอย่างหาที่สุดมิได้
ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล วังวรดิศ ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์พระบิดาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยและทรงเป็นต้นราชสกุลดิศกุล แม้ทางเข้าจะกว้างเพียงแค่รถยนต์คันหนึ่งแล่นผ่านแต่ก็ยังคงทำหน้าที่นำผู้มาเยือนคนแล้วคนเล่าเข้าสู่อาณาบริเวณวังที่ซ่อนตัวอยู่หลังตึกแถวริมถนนหลานหลวง ไทรและโศกต้นใหญ่ยังคงแผ่กิ่งก้านสาขาเป็นต้นไม้ใหญ่เก่าแก่เคียงคู่วังให้ทั้งความร่มรื่นและเป็นที่พักพิงของเหล่านกนานาชนิด ภายในวังวรดิศยังคงจัดวางเครื่องเรือนทุกชิ้นไว้ในตำแหน่งเดิมเฉกเช่นเมื่อครั้งเจ้าของวังยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ไม่ว่าจะเป็นชุดเก้าอี้หวายถักฝีมือประณีตที่มุมรับแขกด้านนอกหรือเฟอร์นิเจอร์ฝังมุกในห้องรับแขกชั้นล่างที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แม้กาลเวลาจะล่วงมานานแต่ยังคงงดงามด้วยลวดลายแกะสลักที่อ่อนช้อยให้กลิ่นอายความเป็นจีน
เสียงทักทายต้อนรับจาก ‘คุณเหลน ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล’ ทายาทรุ่นที่ 4 ผู้สืบสายราชสกุลดิศกุลและผู้ทำหน้าที่ดำรงรักษาวังวรดิศดังขึ้นเบื้องหลังขณะที่เรากำลังเพลิดเพลินกับการเดินชมเครื่องเรือน รูปภาพ รูปปั้น ข้าวของเครื่องใช้ที่วางประดับตกแต่งอยู่ทุกชิ้นต่างเต็มไปด้วยเรื่องเล่าและที่มาอันถือเป็นประวัติศาสตร์บทหนึ่งของประเทศก็ว่าได้คุณเหลนที่เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจการบรรยายและพาคณะข้าราชการชมหอสมุดดำรงราชานุภาพจึงกล่าวขึ้นว่า
“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระมหากรุณาธิคุณ รับสั่งกับคุณพ่อ(ม.ร.ว. สังขดิศ ดิศกุล)เมื่อครั้งจำต้องปิดวังวรดิศเพื่อไปดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ‘คุณสังข์จะกลับมาอยู่เองไหวหรือลำพังแค่เปิดปิดหน้าต่างแต่ละวันก็คงใช้เวลาสิ้นเปลือง เพราะกว้างใหญ่เหลือเกินไม่ลองคิดเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ถวายพระเกียรติสมเด็จปู่หรือ’ คุณพ่อน้อมลงกราบแทบพระบาทด้วยความซาบซึ้งในพระเมตตา” เมื่อ ม.ร.ว.สังขดิศ เกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ. 2520 จึงกลับมาสานต่อแนวคำสอนที่ได้รับพระราชทานมาให้กลายเป็นจริง”
นับจากนั้นวังวรดิศจึงเป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนที่บริหารจัดการโดยหอจดหมายเหตุ กรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญในด้านนี้นั่นอาจเป็นพันธะและความผูกพันอันเกิดจากพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณที่ครอบครัวดิศกุลในเจเนอชั่นที่ 3 ได้รับจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แต่หากจะให้ถูกต้องจริงๆพระองค์และพระราชโอรสพระราชธิดาพระราชทานความห่วงใยแก่ราชสกุลดิศกุลมาตั้งแต่สมัยสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลแล้ว
นอกจากภารกิจในการรักษาวังวรดิศเหมือนหนึ่งชีวิตของตนเองแล้ว ม.ล.ปนัดดายังปวารณาตัวเป็นข้าราชการทำงานถวายเบื้องพระยุคลบาทและตอบแทนบุญคุณแผ่นดินตลอดไปดั่งที่บรรพบุรุษและคุณพ่อได้ถือปฏิบัติมา แม้ข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชคุณเหลนก็ยังทราบขณะปฏิบัติภารกิจของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าแล้วจึงย้อนความรู้สึกสุดโทมนัสในวันนั้นให้ฟังว่า

“ผมสังเกตเห็นท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หยิบมือถือออกมาดู แล้วก็ยื่นส่งให้กันหลายท่านอย่างผิดสังเกต ผมได้แต่สงสัยว่าเราพูดยาวไปไหม ทำให้คนฟังหมดความสนใจ จึงพยายามรวบรัดและพูดให้กระชับขึ้น เมื่อพูดจบลงมาจากบัลลังก์ เพื่อนข้าราชการก็เดินเข้ามาบอก “ในหลวง (รัชกาลที่ 9) สวรรคตแล้ว” สิ้นคำกล่าวนั้น ผมนิ่งอึ้งไปชั่วขณะ ทั้งเสียใจและตกใจได้แต่นึกในใจว่า “วันนี้มาถึงจริงๆ แล้วเหรอ”” จากนั้นบุคคลแรกที่เดินเข้ามาปลอบใจ ม.ล. ปนัดดา ก็คือคุณหญิงทรงสุดา ยอดมณี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่อีกท่านหนึ่งที่คุณเหลนเคารพรัก เพราะคุณหญิงและสามี (ดร.สุวิทย์ ยอดมณี) รู้จักและสนิทสนมกันดีกับคุณพ่อคุณแม่คุณเหลน โดยคุณหญิงทรงสุดาเป็นหนึ่งในสมาชิก สนช.และอยู่ในการประชุมครั้งนั้นด้วย คุณเหลนเผลอโอบกอดคุณหญิงด้วยความรู้สึกถึงการสูญเสียอันใหญ่หลวงร่วมกัน แล้วรำพึงกับท่านว่า “แล้วเราจะทำอย่างไรกันต่อไป”
ในห้วงแห่งความสูญเสียครั้งใหญ่ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ คุณเหลนอาสาขออุทิศตัวไปช่วยมอบถุงข้าวพอเพียงที่ประตูเทวาภิรมย์แก่ผู้ที่ได้มาถวายสักการะพระบรมศพเบื้องหน้าพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทุกครั้งที่ไปก็จะได้เห็นภาพประชาชนร่ำไห้ด้วยความโศกเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง ครั้งหนึ่งมีสตรีสูงวัยท่านหนึ่งก้มลงหมอบกราบหน้าพระบรมโกศแล้วไม่ลุกขึ้นสักที จนลูกหลานต้องเข้าไปช่วยพยุงออกมา จึงได้ทราบว่าที่ท่านก้มหน้าอยู่ด้วยกำลังร่ำไห้เสียใจอย่างหนักปานจะขาดใจ ‘ผมรู้ซึ้งและเข้าใจถึงความรู้สึกของคุณป้าท่านนั้น จึงพูดกับท่านว่า “ขอเป็นกำลังใจร่วมกัน ทั้งท่านและกระผม เราต้องก้าวเดินต่อไปให้ได้นะครับ’”

นอกเหนือจากความเศร้าสุดคณานับอย่างที่หัวใจไทยทุกดวงรู้สึกเช่นเดียวกันแล้ว ด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้แก่ราชสกุลดิศกุลเสมอมา ยิ่งทำให้ความเสียใจต่อการสวรรคตของพระองค์ยิ่งทบเท่าทวีคูณ ทว่า สิ่งหนึ่งที่ ม.ล. ปนัดดาคิดว่าจะช่วยบรรเทาความรู้สึกโทมนัสนี้ได้ ก็คือการน้อมนำพระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์มาเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
“ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่พสกนิกรไทยมาโดยตลอด คุณพ่อผมชอบเล่าว่า ทรงมีความเป็นครูบาอาจารย์ จะไม่เคยกริ้วหากใครทำอะไรไม่ถูกต้อง แต่จะพระราชทานสอนเสมอ อีกทั้งยังทรงตรงต่อเวลา มีความอ่อนน้อมถ่อมองค์ มีไมตรีจิตจึงเป็นที่รักของทุกคน ที่สำคัญทรงประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือยและฟุ้งเฟ้อ สอนให้ทุกคนรักและสามัคคีกัน สิ่งเหล่านี้ถ้าคนไทยสามารถยึดมั่นไว้ในหัวใจ พระองค์ก็จะไม่ได้เสด็จฯ จากพวกเราไปไหน จะยังประทับสถิตเสถียรให้ดวงใจคนไทยตราบนานแสนนาน แต่ถ้าเราไม่ถือปฏิบัติตามอย่างที่พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมายเพื่อดูแลทุกข์สุขของราษฎร เราได้แต่ปล่อยให้สิ่งดีๆ ที่พระองค์ทรงทำเป็นแบบอย่างไว้ได้ผ่านเลยไปตามกาลเวลาที่ล่วงไป ในที่สุดพระองค์ก็จะทรงจากไป”
น้ำเสียงตอนท้ายของ ม.ล. ปนัดดา สั่นเครือปนสะอื้นด้วยความรู้สึกโศกเศร้าที่จะคงสะเทือนใจเจ้าตัวไม่เสื่อมคลาย “พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างความเป็นคนไทยที่งดงาม ทำให้เราพสกนิกรทุกคนดีใจและภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย ได้อยู่ใต้ร่มพระบารมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ให้แก่วังวรดิศแห่งนี้ ตราบจนชีวิตพวกเราจะหาไม่ ก็จะลืมไม่ได้” ( ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล วังวรดิศ )
“พระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ให้แก่วังวรดิศแห่งนี้ ตราบจนชีวิตพวกเราจะหาไม่ก็จะลืมไม่ได้”