แม้ประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดระบาดของโรคโควิด – 19 มานานกว่า 2 ปี และปีที่ผ่านมานับเป็นปีที่สาหัสที่สุด แต่ไม่ว่าเกิดวิกฤตครั้งใด ความมีน้ำใจและความเมตตาของคนในสังคมไทยกลับยิ่งส่องสว่างให้ประเทศผ่านพ้นทุกสถานการณ์ไปด้วยดีทุกครั้ง
ในโอกาสที่ HELLO! Thailand จัดทำนิตยสารฉบับพิเศษ ‘H! LIST 2021’ ซึ่งนอกจากรวบรวมข้อมูลของเซเลบริตี้ไทย ผู้บริหาร นักธุรกิจ และผู้มีชื่อเสียงแวดวงสังคมกว่า 550 ท่าน ยังเป็นปีแรกที่มีการจัดทำ ‘H! LIST KINDNESS 2021’ เพื่อนำเสนอรายชื่อเซเลบริตี้ที่อุทิศตนเพื่อสังคมและทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม โดยมีกำหนดวางจำหน่ายในเดือนธันวาคมนี้ และจะมีการจัดงานเปิดตัวนิตยสารอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ภายใต้ชื่องาน ‘H! List 2021 Charity Dinner: La Casa of Kindness’ นำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการจัดงานมอบให้แก่โครงการ ‘เข็มวันอานันทมหิดล’ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสมทบทุนโครงการวิจัย และพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยศูนย์วิจัยวัคซีน (Chula VRC)
เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องให้กับงานที่จัดขึ้นเร็ว ๆ นี้ HELLO! จัดทำคลิปวิดีโอภายใต้แคมเปญ I’m #Kindness โดยได้รับเกียรติจากเซเลบริตี้ใจบุญส่วนหนึ่งในประเทศไทยมาร่วมส่งต่อเรื่องราวการช่วยเหลือสังคมในแง่มุมต่าง ๆ พร้อมนิยามคำว่า ‘Kindness’ ในแบบฉบับของตัวเอง ภายใต้บรรยากาศสบาย ๆ ของ ‘ศรีเวียง เฮอริเทจ เฮ้าส์’ (Sriwiang Heritage House) บ้านสไตล์โคโลเนียลที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 พร้อมกับจิบชาขาวผสมชาดอกไม้นานาพันธุ์ที่เบลนด์ขึ้นเป็นพิเศษสำหรับบ้านศรีเวียงโดยเฉพาะจาก POET TEA

ณัฐเศรษฐ์ พูนทรัพย์มณี
ในการระบาดของโรคโควิด – 19 ระลอกแรกเมื่อปี พ.ศ. 2563 สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกเผชิญคือการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ซึ่งเปรียบเสมือนโล่ในการป้องกันเชื้อไวรัส ‘คุณท็อป – ณัฐเศรษฐ์ พูนทรัพย์มณี’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไอพีดี แพคเกจจิ้ง จำกัด ตัดสินใจซื้อผ้าที่ได้มาตรฐานที่สุดที่หาได้ในขณะนั้นมาผลิตเป็นหน้ากาก เพื่อให้พนักงานในบริษัทมีใช้เพียงพอ และยังเผื่อแผ่ไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ขาดแคลน ส่วนระลอกล่าสุดคุณท็อปสวนกระแสสภาพเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดรับสมัครพนักงานหลายอัตรา เพื่อให้คนตกงานมีรายได้ในการเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัว
คุณท็อปได้เล่าถึงความประทับใจที่ได้จากการได้ช่วยเหลือสังคมว่า “ทั้งในช่วงที่ขาดแคลนหน้ากากและเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ ต้องอาศัยแรงกายและแรงใจจากทีมงานเป็นอย่างมากในการจัดทำหน้ากาก รวมถึงทำระบบรับพนักงาน และดูแลคนที่เข้ามาทำงานใหม่ แต่ทุกคนก็ร่วมมือร่วมใจทำสิ่งนี้ไปด้วยกัน ทำให้รู้สึกประทับใจและภูมิใจในทีมงานมาก” คุณท็อปเล่า ก่อนให้นิยาม Kindness ว่า “เป็นสิ่งที่ต้องออกมาจากจิตใจ ช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน”

ศรินญา มหาดำรงค์กุล
ด้าน ‘คุณริน – ศรินญา มหาดำรงค์กุล’ ทายาทศรีทองพาณิชย์ ผู้จัดจำหน่ายแบรนด์นาฬิกาชั้นนำมากมายในประเทศไทย รวมถึงธุรกิจโรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพ รัชดา, โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา และลิฟ โฮเทล ภูเก็ต จากความชื่นชอบการทำกิจกรรมกลางแจ้งรวมไปถึงการดำน้ำ ทำให้คุณรินมีโอกาสใกล้ชิดกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังรับรู้ถึงปัญหาของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลไทยที่มักเจ็บป่วยจากขยะและสภาพแวดล้อมที่ถูกทำลาย จึงร่วมกับแบรนด์นาฬิกาชั้นเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร จ.ภูเก็ต และทำขาเทียมให้แก่เต่าทะเล เป็นต้น
หลังจากเล่าถึงกิจกรรมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเลหลายอย่างอย่าง คุณริน ได้ให้นิยาม Kindness ว่า “เป็นการมองเห็นคนอื่น หรือสิ่งอื่น นอกจากเหนือตัวเอง” พร้อมเผยว่าหลังจากมุ่งรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลมาหลายปี อนาคตจึงอยากให้ความสำคัญกับทรัพยากรป่าในประเทศไทยบ้าง เพราะนอกจากดำน้ำส่วนตัวยังชื่นชอบเดินป่า ปีนเขา จึงอยากอนุรักษ์ป่าในประเทศไทยให้คงความสวยงามแบบนี้ไปอีกนาน ๆ

ดิฐวัฒน์ อิสสระ
แม้ไม่ได้มุ่งไปที่ประโยชน์ให้สังคมในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษแต่ ‘คุณปลาทู – ดิฐวัฒน์ อิสสระ’ กรรมการผู้จัดการบริษัท ร่วมอิสสระ จำกัด เป็นอีกหนึ่งเซเลบริตี้ใจบุญที่มักช่วยเหลือสังคมในหลาย ๆ ด้านอยู่เสมอ และยังหยิบยื่นน้ำใจสร้างความสุขให้แก่คนรอบข้างด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ตัวเองสามารถทำได้ อย่างการอุดหนุนร้านบะหมี่ของคุณลุงใกล้บ้าน ที่กิจการเงียบเหงาลงจากพิษโควิด – 19 มาเลี้ยงพนักงานในบริษัท เป็นต้น
“ยิ่งเราให้ความรักความผูกพันกับสังคมมากเท่าไร เชื่อว่าชีวิตของเราก็จะดีขึ้น คนอื่นแฮปปี้กับสิ่งที่เราทำ เราก็แฮปปี้” คุณปลาทูกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการช่วยเหลือสังคมและการส่งต่อน้ำใจให้แก่คนรอบตัว ก่อนนิยาม Kindness ว่าเป็นการ “อยากให้อะไรดี ๆ กับคนอื่น โดยไม่หวังอะไรกลับคืนมา”

เพลินจันทร์ วิญญรัตน์
‘คุณมุก – เพลินจันทร์ วิญญรัตน์’ เจ้าของแบรนด์สิ่งทอ Mook V นอกจากให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้วยการนำขยะ อาทิ แหจับปลาจากชายทะเล มาเปลี่ยนเป็นเส้นใยถักทอเป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม คุณมุกยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุมชนอย่างการให้ความรู้และสร้างบันดาลใจให้ชาวบ้านและนักเรียนกว่า 13 โรงเรียนบนเกาะลันตา จ.กระบี่ นำขยะมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ ซึ่งเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมทั้งด้านความยั่งยืนและทำให้ชาวบ้านมีอาชีพและรายได้
“ภูมิใจค่ะ มันเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราทำได้ไม่ยากแล้วก็เต็มใจที่จะทำ คือการแบ่งปันความรู้ให้เขา และเขาสามารถนำไปสานต่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง” คุณมุกเล่าถึงความรู้สึกยามได้เห็นชาวบ้านมีรายได้และชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมกับนิยาม Kindness ว่า “เป็นการทำอะไรด้วยความเต็มใจและสบายใจ แล้วผลที่มาก็จะเป็นความภูมิใจของเราเอง”

มลชยา เตชะไพบูลย์
อีกหนึ่งสาวสวยที่ช่วยเหลือสังคมในหลาย ๆ ด้านมาโดยตลอด ‘คุณจ๋า – มลชยา เตชะไพบูลย์’ ซีอีโอมูลนิธิ Make A Wish Thailand เล่าว่า ได้รับการปลูกฝังให้อุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน ดังนั้นพอถึงเวลาที่ไม่ต้องตะเกียกตะกายทำงานมาก มีเวลาพอสมควร จึงเริ่มมาช่วยสังคมมากขึ้น เริ่มจากการสอนหนังสือให้กับเด็กที่มีพัฒนาการช้า จนเริ่มมาทำมูลนิธิ Make A Wish Thailand ซึ่งเป็นการช่วยสานฝันให้กับเด็กที่เป็นโรคร้ายแรง แล้วจึงมาเป็นบอร์ด ‘มูลนิธิรักษ์ไทย’ เป็นมูลนิธิที่ทำงานทั้งในเรื่องเด็ก ผู้หญิง โรคติดต่อ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติธรรมชาติ
“จ๋าอยากเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกว่า ถ้าเรามีโอกาสก็ควรทำเพื่อสังคมบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำแล้วสบายใจ หลายอย่างที่ทำเราไม่ได้ผลตอบแทน แต่ถ้าทำแล้วเราสบายใจ มันก็จะทำให้เรามีกำลังใจที่จะทำมากขึ้น” คุณจ๋าเผยถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากช่วยเหลือสังคม ส่วนนิยาม Kindness คุณจ๋า บอกว่า “เริ่มจากสิ่งง่าย ๆ คือเข้าใจ และรับในสิ่งที่คนอื่นเป็น สิ่งที่สำคัญคือความจริงใจ รวมถึงการสละเวลาและความสามารถเพื่อทำให้ชีวิตผู้อื่นดีขึ้น”

นพ.พัชร อ่องจริต
ถัดมาที่ ‘นพ.พัชร อ่องจริต’ ศัลยแพทย์ด้านหัวใจ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มองเห็นความสำคัญของเวลาที่ส่งผลต่อคุณภาพในการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้แก่คนไข้ จนก่อเกิดเป็นโครงการ ‘หัวใจติดปีก’ ที่นำทีมแพทย์และพยาบาลบินข้ามจังหวัดเพื่อนำหัวใจกลับมาผ่าตัดเปลี่ยนให้ผู้ป่วยได้อย่างมทันท่วงที นอกจากนี้ในช่วงโควิด – 19 ที่ผ่านมา คุณหมอพัชรยังร่วมกับภรรยา ‘คุณก่อน – วิรัชฎา พินิจอักษร’ ทำข้าวกล่องส่งให้ทีมแพทย์ พยาบาล ภายใต้โครงการ ‘ขอบคุณ…ที่สู้เพื่อเรา’
“Kindness ในนิยามของผมคือการอยากให้คนอื่นมีความสุข หรือพ้นทุกข์ ซึ่งความสุขของคนไข้ที่เกิดจากหลุดพ้นจากความเจ็บป่วย ก็เป็นกำลังใจให้เราอยากทำหน้าที่ของเราต่อไปด้วย” คุณหมอพัชรกล่าว นอกจากนี้ยังแบ่งปันความสุขที่ได้จากการส่งข้าวกล่องสุดอร่อยไปให้แพทย์และพยาบาลที่ทำงานอย่างหนักในการต่อสู้โรคระบาดว่า “เรารู้สึกว่าเขาไปอยู่ตรงนั้นแทนเรา เราอยากขอบคุณเขา เวลาเราไปช่วยเขาแล้วเขาได้สิ่งดี ๆ กลับมา เราก็รู้สึกมีความสุขที่ได้มีส่วนช่วยแบ่งเบา”

ธีระ ฉันทสวัสดิ์
ปิดท้ายที่ดีไซเนอร์มากฝีมือ ‘คุณต่าย – ธีระ ฉันทสวัสดิ์’ ที่หลังจากรู้สึกอิ่มตัวจากการทำธุรกิจของตัวเอง ได้ผันตัวมาเป็นวิทยากรให้ความรู้และออกแบบผ้าไทยแก่ชาวบ้าน ซึ่งนอกจากเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไทยแล้ว ยังช่วยยกระดับให้ผ้าไทยมีความทันสมัย โดดเด่น และเข้าถึงผู้คนเป็นจำนวนมาก นำมาสู่การสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มทอผ้าทุกภูมิภาคทั่วประเทศให้นิยาม Kindness สั้น ๆ ว่าคือ “การแบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”
จุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาอุทิศตนเพื่อทำงานด้านผ้าไทย ทั้งที่เดินบนเส้นทางดีไซเนอร์จนมีห้องเสื้อเป็นของตัวเองและกำลังมีชื่อเสียง คุณต่าย เล่าว่า เกิดขึ้นจากวันหนึ่งมีความรู้สึกว่าเรามีความรู้อยู่เยอะมาก ทำไมถึงไม่เอาไปช่วยคนอื่นให้ประโยชน์ จึงเปรย ๆ ลงในโซเชียลว่าอยากนำความรู้ที่ตัวเองมีไปพัฒนาผ้าไทย ปรากฏว่ามีคนให้การสนับสนุนรวมถึงให้ช่องทางที่เราสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้ตามความตั้งใจ หลังจากนั้นจึงลงพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ นำผ้ามาคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ขายได้ ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของตัวเองมาตลอดว่า ออกแบบอย่างไรก็ได้ให้ชาวบ้านเขาขายของได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น.
