Home > Celebrity > Exclusive Interviews > สัมผัสชีวิตบทใหม่ของเจ้าของบ้านจักรพงษ์ จาก ‘ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์’

ลมที่พัดพาเอาความสดชื่นจากแม่น้ำเจ้าพระยามายัง บ้านจักรพงษ์ ทำให้อากาศยามบ่ายคลายความร้อนลงได้บ้าง แต่ไม่เพียงพอที่จะทำให้สุภาพสตรีเบื้องหน้ากล้องยิ้มอยู่ได้นาน ช่างภาพสาวของเราจึงต้องรัวชัตเตอร์เพื่อให้การถ่ายภาพสุดท้ายจบลงอย่างรวดเร็วที่สุด หลังจากเสร็จสิ้น ‘ ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ‘ จึงรีบขอตัวไปเปลี่ยนชุดพร้อมกับพูดติดตลกว่า “ตัวเราจะละลายแล้ว” 

บ้านจักรพงษ์ เป็นอาคารสไตล์โคโลเนียลที่ออกแบบโดยมาริโอ ตามาโย สถาปนิกที่ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม ต่อมาได้เติมเฉลียงชั้นบนโดยเอ็ดเวิร์ด ฮีย์ลี สถาปนิกชาวอังกฤษที่มาใช้ชีวิตในไทยและเป็นพระสหายสนิทของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ บ้านซึ่งได้ผ่านกาลเวลามานานจนเมื่อ 35 ปีก่อน 

 บ้านจักรพงษ์
‘ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์’

“ครั้งนั้นเป็นการรีโนเวทครั้งใหญ่ ใช้เวลานานสองปี และเป็นเหตุให้คิดทำโรงแรม เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก เลยคิดว่าถ้าต้องคอยดูแลตลอดเวลา ก็อยากให้มีรายได้เพื่อเลี้ยงตัว จึงทำเป็นบูติกโฮเต็ล ชื่อจักรพงษ์วิลล่า โดยเป็นหนึ่งในบูติกโฮเต็ลยุคแรกๆของกรุงเทพฯ” 

จักรพงษ์วิลล่า

“ด้วยความที่โตมากับบ้านโคโลเนียล ก็จะชอบเรือนไทยมาก ตอนเด็กๆอยากอยู่เรือนไทย เพราะเป็นสถาปัตยกรรมที่สุดยอด พอโตขึ้นก็เลยซื้อเรือนไทยเก่าจากอยุธยามาปรุงใหม่ที่นี่ อีกอย่างที่อยากได้ก็คืออาคารริมน้ำ สมัยเด็กไม่ค่อยได้นั่งรับประทานข้าวริมน้ำ จึงสร้างเป็นศาลาริมน้ำให้สามารถรับประทานข้าวริมน้ำชมวิวพระอาทิตย์ตกที่วัดอรุณ และแม่น้ำเจ้าพระยาได้”

“ซึ่งพอโควิด-19 มาเราประสบปัญหาขาดทุนเหมือนทุกคน ก็คุยกันว่าจะลดเงินเดือนครึ่งหนึ่ง แต่คนที่เงินเดือนน้อยอย่างพนักงานเสิร์ฟ อยู่ไม่ได้หรอก เลยกัดฟันจ่ายเต็มไปก่อน ก็หวังว่าจะดีขึ้น แล้วพยายามทำอาหารกล่อง Delivery ข้าวซอยไก่ที่นี่ขึ้นชื่อมาก ข้าวคลุกกะปิ พะแนงไก่ก็อร่อยค่ะ” 

บรรณาธิการคนเก่ง

การกลับมาตุภูมิหนนี้นับว่าเป็นโชคของคุณหญิงเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงทั้งที่อังกฤษและไทย เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับคุณไพศาล (เปี่ยมเมตตาวัฒน์) บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ริเวอร์บุคส์เกษียณอายุพอดี คุณหญิงจึงต้องกลับมาคุมงานแทน

“ตอนหลังเราหันมาออกหนังสือสองภาษา ทั้งฉบับภาษาไทยกับอังกฤษ เพราะเห็นว่าต้องมุ่งตลาดคนไทยมากขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ตอนแรกในการทำริเวอร์บุคส์คือ อยากให้ชาวต่างชาติรู้จักเมืองไทยว่ามีอะไรมากกว่าอาหาร ทะเล และผู้หญิง ก็จะเน้นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตอนนี้เราพิมพ์มา 200 กว่าเรื่องแล้ว 

“เรามีความทรงจำเกี่ยวกับพ่อไม่มากนัก เพราะท่านสิ้นตอนเราอายุแค่ 7 ขวบเอง ตอนเย็นที่นี่พ่อกับแม่มักมีรีเซปชั่น เราก็เข้านอนกับพี่เลี้ยง ที่อังกฤษก็เหมือนกัน พ่อไม่ชอบอยู่คนเดียว จึงมีคนมาพักที่บ้านบ่อย หรือไม่ก็มีคนมารับประทานข้าวที่บ้านด้วยทุกวัน ก็เลยไม่ได้สนิทกับพ่อมาก จะรู้จักพ่อจากงานเขียนมากกว่า เวลาอ่านเรื่องของพ่อก็จะเศร้า ตอนท่านเขียนถึงทูลกระหม่อมปู่ทิวงคตที่สิงคโปร์ ก็เศร้ามาก อ่านทีไรน้ำตาคลอ เรื่อง ‘เจ้าชีวิต’ ที่พ่ออุทิศให้ตัวดิฉันเอง ก็น่ารักมากตรงนั้น ซาบซึ้ง”  

นอกจากนี้ทางสำนักพิมพ์ยังพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับเจ้านาย อย่างหนังสือ ‘เสาวภา’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงสวรรคต ก็ทำยอดขายดีมาก เพราะมีรูปถ่ายสิ่งของที่เกี่ยวกับพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ เข็มขัด ถ้วยโถโอชาม 

“เป็นเพราะโควิด-19 ปีนี้เราก็เลยตัดสินใจที่จะพิมพ์หนังสือภาษาไทยมากหน่อย และสามีก็เขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทหารไทยเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ไปร่วมสงคราม สงครามใกล้จบแล้ว นวนิยายของเขาสนุกมาก ชื่อไทยว่า ‘2461 ทหารสยามผจญภัยในแดนฝรั่งเศส’ ก็ใกล้เสร็จแล้วค่ะ”

ท่านยังเผยอีกว่า ได้ให้คุณก้อง ฤทธิ์ดี นักเขียน และนักวิจารณ์หนังแปลหนังสือของวีรพร นิติประภา เจ้าของรางวัลซีไรต์สองสมัย ทั้งเรื่อง ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ และ ‘ทะเลสาบน้ำตา’ ซึ่งฉบับภาษาอังกฤษน่าจะสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงวรรณกรรมไทยในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอีก “ชอบงานของวีรพรมาก ชอบตั้งแต่ ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ แล้ว เขาเขียนดีมาก อ่านแล้วเศร้ามาก สำนวนภาษาไทยดีอยู่แล้ว สำนวนภาษาอังกฤษของก้องก็ดีมาก ภาษาสุดยอด ชอบมากเลย”

กำลังใจจากครอบครัว 

“ลูกชายเป็นกำลังใจให้มากค่ะ” คุณหญิงนริศรา ตอบคำถามของเราที่ถามว่า ทุกวันนี้ท่านได้กำลังใจในการใช้ชีวิตจากที่ไหน 

“ลูกทั้งสองคนเป็นเด็กดีมาก โชคดีจริงๆ ที่ผ่านมาเลี้ยงเขามาแบบฝรั่งบ้าง แต่ปัญหาของเด็กฝรั่งคือไม่ค่อยนับถือผู้ใหญ่ ตรงกันข้ามเล็กเป็นคนที่เรียบร้อยมาก รู้จักอะไรควรอะไรไม่ควร รู้จักหน้าที่ กตัญญูต่อพ่อแม่ ซึ่งเราว่าดี เพราะลูกของลูกเลี้ยงสมัยแต่งงานครั้งแรกเขาไม่นับถือพ่อแม่เลย ขณะที่ลูกเราไม่เคยขึ้นเสียง เขาสุภาพตลอดแม้จะไม่เห็นตรงกัน จะเห็นได้ว่าให้สุภาพไว้ก่อนดีกว่า การเป็นคนสุภาพไม่ได้เสียหายหรือไม่ลดทอนความสามารถของตัวเองเลย

“กู้หน้าตาเหมือนเรากับกี้มาก แล้วทั้งเล็กกับกู้ก็เข้ากันได้ดีมาก ฮาน่า (ทัศนาวลัย จักรพงษ์) ก็น่ารักมาก เล็กเป็นพ่อที่ดีมากเลย รักลูกมาก บางทีจะได้ยินเขาใช้คำพูดที่เราเคยพูดกับเขาสมัยเด็กๆ เช่น  ถ้าทำแบบนี้ต่อไปจะเป็นเรื่องนะ เดี๋ยวต้องไปที่ห้องนะ อย่างโน้นอย่างนี้นะ รู้สึกสะใจมาก ที่เขาได้คำพูดจากเราไป…ไชโย!!!”

เพราะความสำเร็จในทุกบทบาทที่ท่านได้รับ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของการเป็นลูก เป็นแม่ เป็นย่า เป็นบรรณาธิการ และเป็นนักธุรกิจ ท่านสามารถสวมหมวกต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างไม่มีที่ติ เราจึงอยากถามว่าท่านคิดว่าตัวเองเป็นผู้หญิงที่โชคดีไหม คุณหญิงยิ้มน้อยๆ และกล่าวตอบทันทีว่า 

“จะว่าไปเราเป็นผู้หญิงที่โชคดีนะ เราไม่บ่นหรอก หรือคุณว่าไง…เราเองก็คิดว่าโชคดีที่เราไม่ใช่คนขี้เบื่อ อะไรที่ชีวิตโยนมาเราก็รับได้หมด แล้วจัดการ นอกจากนี้การที่เราขาดพ่อแม่ตอนเด็กๆ ทำให้เรามีความอดทน ซึ่งการทำสำนักพิมพ์ต้องใช้ความอดทน ต้องละเอียด และกัดไม่ปล่อย แต่ก็ต้องทำใจให้ได้เมื่อเจอข้อผิดพลาด อย่าเป็นเพอร์เฟกชั่นนิสต์มากเกินไป ถ้าเรารู้ว่าเราทำเต็มที่แล้วก็ต้องปล่อยวาง เพราะเราทำดีที่สุดแล้ว อย่าไปเครียด”


สามารถติดตามได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 16 ฉบับที่ 03

ประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2564

หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่  www.ookbee.com www.shop.burdathailand.com

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.