เมื่อราวยี่สิบปีก่อนใครที่ผ่านไปย่านวัดเกตในเมืองเชียงใหม่ คงจะสะดุดตาบ้านไม้สักขนาดใหญ่หลังหนึ่งที่อยู่ภายใต้ร่มไม้หนาทึบ ชวนให้หวนนึกถึงอดีตเมื่อครั้งเชียงใหม่ยังคงเป็นดินแดนล้านนา และเป็นแหล่งรวมไม้สักอันอุดมสมบูรณ์ ภาพอดีตเหล่านี้สะกิดความสนใจของแม่ลูกชาวกรุงคู่หนึ่งที่ตระเวนหาบ้านพักตากอากาศของครอบครัวไปทั่วจังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งมาพบบ้านไม้สักหลังนี้

“อาม่ากับคุณอาซึ่งเพิ่งจบสถาปัตย์จาก Harvard University มาเที่ยวเชียงใหม่ และมาเจอบ้านหลังนี้” คุณนิดา วงศ์พันเลิศ หรือแน็ตตี้ สาวน้อยวัย 25 ปี ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลวงศ์พันเลิศ เจ้าของลักชัวรีบูติกโฮเต็ลในนาม 137 Pillars House แห่งนี้ กับ 137 Pillars Suites & Residences ที่กรุงเทพฯ และกำลังจะมี 137 Pillars อีกแห่งที่ภูเก็ต ทั้งยังเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตด้ายเย็บผ้าอันดับ 1 ของประเทศไทย ในนามกังวาลเท็กซ์ไทล์ บอกกับเราด้วยน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำ
“จริงๆตอนนั้นธุรกิจเท็กซ์ไทล์ของเรากำลังขึ้นๆลงๆ ก็เลยคิดว่าหรือเราจะลองทำธุรกิจอย่างอื่นดูบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร เลยมาหาบ้านที่เชียงใหม่ เพราะเห็นว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ เนื่องจากมีทั้งวัฒนธรรมและมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติด้วย วัดก็เยอะ เป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเติบโต และเชียงใหม่กำลังปรับตัว แต่เขาก็ยังเก็บเสน่ห์เหล่านี้เอาไว้ ไม่ได้เปลี่ยนแบบก้าวกระโดด ผู้ใหญ่ก็เลยชอบที่นี่กัน

“นายหน้าหาตัวเลือกมาให้เรา 3 แปลง สองแปลงไม่น่าสนใจ ส่วนอีกแปลงเจ้าของเป็นฝรั่งไม่ให้เข้าไปดู แต่เห็นบ้านสีดำหลังหนึ่ง แล้วก็ต้นไม้ปกคลุมหนาทึบมาก อยู่บนที่ดินกว้างประมาณ 5-6 ไร่ เลยยังไม่ตัดสินใจซื้อ แต่ผ่านไปหนึ่งปีก็ยังไม่มีที่ถูกใจ และตอนหลังฝรั่งบอกว่ายูมาดูก็ได้ แต่ไม่ให้เข้าไปดูในบ้าน พอเดินเข้าไปทุกคนก็รู้สึกตรงกันว่าสงบมากแม้จะอยู่ในตัวเมืองก็ตาม เลยตัดสินใจซื้อ เขาบอกขายเฉพาะที่ดินในราคาร้อยล้านบาทเศษ ตอนนั้นเราคิดว่าเขาไม่ขายบ้านให้ก็ไม่เป็นไร เพราะแค่ที่ดินก็ใหญ่พออยู่แล้ว ฝรั่งบอกว่าเขาจะขอย้ายบ้านก่อน แต่นานเป็นปีก็ยังหาผู้รับเหมาไม่ได้ จนตอนหลังเขาเลยขายบ้านให้เราในราคาถูก เพราะไม้เก่ามากและใกล้จะพังมิพังแหล่”

ประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวเนื่องกับบ้านหลังนี้สามารถเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของประเทศไทย สมัยที่ไทยยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้มีค่าอย่างไม้สักทอง และดึงดูดให้ชาวตะวันตกเมื่อ 150 ปีที่แล้วหลั่งใหลสู่สยามประเทศ และยุคนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะเปิดประเทศให้โลกภายนอกรู้จัก และมีพระราชประสงค์ให้พระโอรสเรียนภาษาอังกฤษ จึงทรงมีพระบัญชาให้ทางบริษัท บอร์เนียว เทรดดิ้ง คอมปานี ซึ่งเป็นบริษัทของอังกฤษและเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยยุคนั้นเลยทีเดียว และได้สัมปทานไม้สักของไทยเป็นเวลานาน 100 ปี หาครูสอนภาษาอังกฤษสำหรับสมาชิกพระราชวงศ์ ขณะนั้นแหม่มแอนนา ที เลียวโนเวนส์สอนภาษาอังกฤษอยู่ที่อินเดีย

หลังจากแหม่มแอนนาหมดสัญญาก็เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อถวายการสอนภาษาอังกฤษพระโอรสโดยเซ็นต์สัญญา 4 ปี ในจำนวนพระโอรสมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรวมอยู่ด้วย ลูกชายของแหม่มแอนนาชื่อหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ก็เรียนภาษาอังกฤษพร้อมกับพระโอรสเช่นกัน ภายหลังเมื่อหมดสัญญาแล้ว แหม่มแอนนาก็เดินทางกลับบ้านเกิดพร้อมหลุยส์ เมื่อหลุยส์สำเร็จการศึกษาที่อังกฤษ จึงเดินทางมาทำงานกับบอร์เนียวที่เชียงใหม่ และสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นเพื่อเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท และเนื่องจากเวลานั้นไทยยังมีป่าไม้เป็นจำนวนมาก บ้านหลังนี้จึงสร้างตามสถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียลที่ใช้ไม้เป็นหลัก โดยดัดแปลงให้เข้ากับสภาพอากาศร้อนด้วยการเน้นให้มีพื้นที่โล่งแบบเรือนไทยโบราณ
“เมื่อบอร์เนียวหมดสัญญาสัมปทานกับไทย และไม่ได้ต่อสัญญา ทางบอร์เนียวจึงขายบ้านหลังนี้ให้กับวิลเลียม เบน ซึ่งเป็นผู้จัดการบริษัท เขามีลูก 4 คน คนโตเป็นผู้หญิง หลังจากวิลเลียมเสียชีวิต บ้านจึงตกเป็นของลูกคนโต และครอบครัวเราติดต่อผู้หญิงคนนี้ซึ่งอายุ 90 แล้ว และไม่ยอมขาย แต่ในที่สุดเมื่อขายแล้ว ลูกคนสุดท้องของวิลเลียมชื่อแจ็ค เบน กับลูกสาวเขาก็มาช่วยเราค้นประวัติของบ้านและเล่าเรื่องราวให้เราฟัง ทั้งยังเป็นคนนับจำนวนเสาให้เราทราบด้วย เพราะเขาถือว่ายิ่งมีฐานะมากเท่าไร บ้านยิ่งมีเสาเยอะเท่านั้น ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ และปรากฏว่าในบ้านมีข้าวของเยอะมาก ซึ่งเราได้นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของโรงแรมด้วย ต้องขอบคุณแจ็คกับลูกสาวของเขามากค่ะ”
การซ่อมแซมบ้านกินเวลายาวนานถึง 1 ปีครึ่ง ทั้งหมดใช้เวลาสร้างโรงแรม 4 ปี เพราะเสาอ่อนแอมาก ทำให้ไม่มีผู้รับเหมารายไหนกล้ารับงาน แต่สุดท้ายก็มาพบอาจารย์จุลพร จากม.ช. ผู้เชี่ยวชาญด้านการรีโนเวทบ้านเก่าโดยเฉพาะ จนภายหลังบ้าน 137 เสาก็ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม และด้วยประวัติอันยาวนานเหนือความคาดฝันของบ้าน 137 เสา ทำให้ครอบครัววงศ์พันเลิศตัดสินใจกระโจนเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม ด้วยความคิดว่า “ถ้าหากไม่ประสบความสำเร็จ ก็แบ่งกันไปคนละวิลลาก็แล้วกัน”

คุณแน็ตตี้พูดพลางหัวเราะเบาๆ ก่อนจะเล่าต่อว่า “ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ เพราะขายห้องแค่คืนละ 8,000++ บาท ด้วยความที่คิดว่าเราโนเนมในเรื่องการโรงแรม จนทุกวันนี้ค่าห้องขึ้นมาเป็น 20,000 ++บาท และนิตยสาร Travel&Leisure ยกให้เป็น Best Hotel&Resort in Southeast Asia สองปีซ้อน ซึ่งต้องบินไปรับรางวัลที่นิวยอร์ก ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นแค่โรงแรม แต่เป็นตัวแทนประเทศไทย ทั้งที่ก่อนเปิดเรากลัวว่าไม่สำเร็จ ครอบครัวเราจึงรู้สึกภูมิใจมากค่ะ”