Home > Celebrity > Exclusive Interviews > เปิดบทบาท ‘บุษกร ศรีสวัสดิ์’ จากคุณครูสู่หลังบ้านบก.ทท.

ที่ผ่านมาเรามักพบเห็นบรรดาแม่บ้านเหล่าทัพในพิธีการสำคัญ ๆ ระดับประเทศ รวมถึงการออกร้านในงานการกุศลต่าง ๆ แต่ตลอดกว่า 1 ปี ‘สมาคมแม่บ้านกองบัญชาการกองทัพไทย’ ที่มี ‘คุณอุ๊ – บุษกร ศรีสวัสดิ์’ นั่งเป็นนายกสมาคมฯ ในฐานะภริยา ‘พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์’ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) กลายเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพาประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตต่าง ๆ ตั้งแต่โรคระบาดจนถึงสถานการณ์อุทกภัยล่าสุด

ครั้งนี้ HELLO! มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณอุ๊ ที่เล่าถึงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากมารับตำแหน่งหมายเลขหนึ่งของหลังบ้านกองบัญชาการกองทัพไทย รวมถึงบทบาทของสมาคมฯ ทั้งในยามปกติและยามที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตินานัปการ

จากคุณครูสู่การเป็นหมายเลขหนึ่งหลังบ้านกองบัญชาการกองทัพไทย

เริ่มแรก คุณอุ๊ เล่าถึงงานในสมาคมแม่บ้านกองบัญชาการกองทัพไทยว่า เป็นการย้ายตามท่านผบ.ทสส.ที่ย้ายจากกองทัพบกเข้ามารับตำแหน่งเสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ทำให้มีโอกาสเข้ามาช่วยงานในสมาคมแม่บ้านฯ ตามวาระงานที่เป็นภารกิจของภรรยาเสธ. แต่ขณะนั้นยังทำงานประจำเป็นหลัก คือการเป็นคุณครูซึ่งเป็นอาชีพที่ทำมาตลอดชีวิต เพิ่งขยับขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนได้เพียง 2 ปี พล.อ.เฉลิมพลได้รับการแต่งตั้งเป็นผบ.ทสส. จึงตัดสินใจลาออกมารับตำแหน่งนายกสมาคมแม่บ้านฯ เต็มตัวตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 เพราะถือว่าหน้าที่ตรงนี้เป็นภารกิจหลัก

ภารกิจส่วนหนึ่งของสมาคมแม่บ้านฯ คือการดูแลครอบครัวกำลังพล รวมถึงเยี่ยมเยียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถนำประสบการณ์ด้านการเป็นครูและผู้บริหารการศึกษามาประยุกต์ใช้ ในการประเมินว่าโรงเรียนต้องการการสนับสนุนด้านไหน แต่ก่อนลงพื้นที่ทุกครั้งจะมีเจ้าหน้าที่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศลงไปสำรวจก่อนว่าความต้องการของโรงเรียนมีอะไรบ้าง แล้วสมาคมแม่บ้านฯ จึงหาผู้สนับสนุนซึ่งอาจเป็นภาคเอกชน หรือหน่วยงานภายในกองทัพไทย

บทบาทและภารกิจของสมาคมแม่บ้านบก.ทท.

สำหรับบทบาทของสมาคมแม่บ้านฯ นายกสมาคมฯ เผยว่า ตามระเบียบการจัดตั้งสมาคมฯ อย่างแรกคือ ทำภารกิจด้านการถวายความจงรักภักดีสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น การจัดคนไปร่วมกิจกรรมถวายพระพร หรือวางพวงมาลาเนื่องในโอกาสสำคัญต่าง ๆ รวมไปถึงการออกร้านในงานกาชาด และงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เปิดรับบริจาคจากภาคเอกชนและหน่วยงานภายในเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวาย

ส่วนที่ภารกิจที่เกี่ยวกับกำลังพลซึ่งตอนนี้มีครอบครัวของกำลังพลที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด – 19 ทางสมาคมแม่บ้านฯ มีการจัดถังห่วงใยมอบให้แก่ครอบครัวกำลังพล โดยในนั้นบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง ยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถใช้ในการกักตัว 14 วันได้อย่างเพียงพอโดยไม่ต้องออกจากบ้าน และหากมีหน่วยงานภายนอกมาบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่าง เครื่องวัดออกซิเจน, ชุดตรวจโควิด – 19 ด้วยตัวเอง (Antigen Test Kit) หรือยาฟ้าทะลายโจร จะมอบให้สำนักการแพทย์เป็นผู้พิจารณาว่าส่วนไหนมีความจำเป็นต้องใช้ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ขยายความช่วยเหลือสู่ประชาชนทั่วไป

แม้ภารกิจหลักของสมาคมแม่บ้านฯ คือครอบครัวของกำลังพล แต่เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติโรคระบาด สมาคมแม่บ้านฯ ยังขยายความช่วยเหลือไปยังประชาชนทั่วไป คุณอุ๊ กล่าวว่า การไปช่วยประชาชนข้างนอกเป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายมาจากท่านผบ.ทสส. ว่าให้ทางสมาคมฯ รับบริจาคสิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภค ยาและเวชภัณฑ์ เพื่อมอบให้กรมกิจการพลเรือนทหารนำไปช่วยเหลือชุมชน ซึ่งทำมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเป็นอย่างดี และบางส่วนท่านผบ.ทสส.ก็สนับสนุนงบประมาณมาในการจัดซื้อสิ่งที่ต้องการเร่งด่วนแต่ยังไม่มีผู้บริจาค ซึ่งทุกวันนี้มีผู้ประสบภัยน้ำท่วมเพิ่มขึ้นมา ช่วงนี้จึงมีการดำเนินการทั้ง 2 ส่วน

กิจกรรมจิตอาสาเพื่อประชาชน

สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยภายใต้กิจกรรมจิตอาสาเพื่อประชาชน หลังบ้านบก.ทท. เล่าว่า นอกจากมอบถุงยังชีพซึ่งประกอบไปด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค ยา และเวชภัณฑ์ต่าง ๆ สมาคมแม่บ้านฯ ยังมอบของสดให้กรมกิจการพลเรือนนำไปประกอบอาหารปรุงสุกในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อให้ประชาชนได้รับประทานอาหารที่ยังร้อน ๆ อย่างเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา ไปลงพื้นที่ที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาที่ 15 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ตรงนั้น นำรถครัวสนามมาจอดตรงริมฟุตบาทเพื่อประกอบอาหารกันตรงนั้น ซึ่งชาวบ้านก็จะส่งผู้แทนแต่ละหมู่บ้านมารับไปตามจำนวนที่เขาแจ้งไว้ล่วงหน้า

สถานการณ์อุทกภัยจากการลงพื้นที่จริง

คุณอุ๊ ยังเล่าถึงสถานการณ์น้ำท่วมจากการมีโอกาสได้ลงพื้นที่ด้วยตัวเองว่า พอไปลงหน้างานจริง ๆ ขนาดเรามีของไปไม่ใช่ว่าจะแจกง่าย ๆ เพราะน้ำท่วมสูง บางช่วงลึกถึง 3 เมตร ไม่สามารถเดินเข้าไปได้ต้องใช้เรือ ปัญหาคือพื้นน้ำมันเป็นพื้นเดียวกันหมดไม่รู้ว่าตรงไหนลึกตรงไหนตื้น บางส่วนที่โผล่ขึ้นมา เช่น เสาบ้านของประชาชน ก็จะโผล่มาแค่ประมาณแค่คืบเดียว รวมไปถึงสายไฟต่าง ๆ ที่ห่างจากพื้นน้ำไม่เท่าไหร่ ทำให้การนำเรือเข้าไปค่อนข้างลำบาก และอันตรายเป็นอย่างยิ่ง แต่ทำให้ได้เห็นจริง ๆ ว่าชาวบ้านเขาประสบปัญหาอะไรบ้าง

เลือกพื้นที่ที่การช่วยเหลือเข้าไม่ถึง

ในการเลือกพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ นายกสมาคมแม่บ้านบก.ทท. เผยว่า เราจะให้กองทหารไปสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปช่วย เพราะเราเน้นทำเสริมหน่วยงานต่าง ๆ บางแห่งมีภาครัฐหรือเอกชนที่คอยดูแลอยู่แล้ว แต่ยังมีส่วนที่ยังล่าช้า เข้าไม่ถึง เราก็จะเข้าไป ซึ่งท่านผบ.ทสส.ได้ให้ภารกิจสมาคมแม่บ้านฯ ในการช่วยเหลือประชาชนจนกว่าสถานการณ์ปกติทั้งโควิด – 19 และน้ำท่วม แต่เราไม่ได้ลงพื้นที่ทุกวัน เพราะการลงพื้นที่บางครั้งก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่

“ภารกิจหลักจริง ๆ ของสมาคมแม่บ้านฯ คือหาของสนับสนุน มีแค่บางครั้งเท่านั้นที่ลงพื้นที่เพื่อดูสถานการณ์และฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านว่าเขาต้องการอะไรบ้าง อย่างวันที่ลงไปด้วยตัวเองชาวบ้านก็แจ้งมาว่าถ้าเป็นไปได้ก็อยากได้การสนับสนุนเรื่องห้องสุขา ซึ่งได้นำเรื่องปรึกษาท่านผบ.สส. เรียบร้อยเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนในครั้งต่อ ๆ ไป รวมไปถึงการจัดประเภทยาให้ตรงกับแต่ละสถานการณ์ เพราะสถานการณ์โควิด – 19 ชาวบ้านต้องการยาแบบหนึ่ง น้ำท่วมก็ต้องการยาอีกแบบหนึ่ง เช่น ยาแก้ท้องร่วง และยาแก้เชื้อรา เป็นต้น”

เปิดรับความช่วยเหลือจากทุกองค์กร

สำหรับผู้อยากร่วมสนับสนุนภารกิจของสมาคมแม่บ้านบก.ทท. คุณอุ๊ บอกว่า เนื่องจากสมาคมฯ ยังยื่นจดทะเบียนเป็นสมาคมเพื่อสาธารณกุศลไม่แล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถออกใบลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไขของหน่วยงานใหญ่บางแห่งได้ แต่หากอยากร่วมสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภค สิ่งของจำเป็น ยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ สามารถมาติดต่อได้โดยตรงที่สมาคมแม่บ้านฯ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเดียวกับบก.ทท. ในศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ หรือติดต่อที่ พันเอกหญิง สุรพีย์ มาสมบูรณ์ ผู้ช่วยเลขานุการสมาคมแม่บ้านฯ เบอร์โทรศัพท์ 08-9123-4048

ปรับตัวลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือตามสถานการณ์จริง

ในฐานะนายกสมาคมแม่บ้านฯ คุณอุ๊ เล่าถึงการปรับตัวว่า แต่เดิมโรงเรียนที่ทำงานอยู่เป็นโรงเรียนระดับประถม การดูแลเด็กก็เป็นแบบหนึ่ง แต่พอมาอยู่องค์กรใหญ่ขอบข่ายการช่วยเหลือดูแลกว้างขวางมากขึ้น ก็ต้องศึกษาจากข้อมูลที่มีอยู่แล้วว่าที่ผ่านมามีการทำอะไรบ้าง เช่น เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง หรือให้ทุนการศึกษา ซึ่งบางครั้งก็ต้องลงพื้นที่ไปดูว่าเพียงพอหรือไม่ ต้องการเพิ่มเติมหรือเปล่า เพราะค่าครองชีพเองก็เปลี่ยนแปลงไป อย่างเรื่องทุนการศึกษาที่แต่เดิมมอบกันปีละครั้ง  ถ้าเป็นไปได้อยากทำโครงการให้มีความต่อเนื่องให้เห็นผลระยะยาว เช่น ให้ทุนตั้งชั้นประถมศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษา หรือชั้นมัธยมศึกษาจนจบระดับอุดมศึกษา แต่ต้องศึกษาข้อมูลก่อน

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมแม่บ้านบก.ทท. เผยว่า นอกจากได้รับการสนับสนุนจากท่านผบ.ทสส.อย่างเต็มที่แล้ว ปัจจุบันลูกสาวเพียงคนเดียวก็เติบโตมีหน้าที่การงานเป็นของตัวเองเรียบร้อย จึงพร้อมทุ่มเทช่วยเหลือครอบครัวกำลังพลและประชาชนในวิกฤตต่าง ๆ ในฐานะหมายเลขหนึ่งของหลังบ้านกองบัญชาการกองทัพไทยอย่างเต็มกำลัง

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.