เปิดชีวิตสาวสวย ‘ปาจรีย์ ซูเมอร์ส-โรเจอร์’ เจ้าของแบรนด์จิวเวลรี่ไทยที่ได้วางขายในห้างดังระดับโลกกับความสำเร็จที่ถาโถมแบบไม่ทันตั้งตัว
ถ้าพูดถึงแบรนด์จิวเวลรี่ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ กระทั่งห้างดังอย่าง Barneys ที่นิวยอร์ก และ Harrods ที่ลอนดอน รวมทั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์สระดับไฮเอนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Net a Porter ทาบทามให้นำจิวเวลรี่เหล่านี้ไปวางขายทั้งในห้างและเว็บ ถือเป็นความสำเร็จแบบก้าวกระโดดของแบรนด์ที่เพิ่งเปิดมาได้เพียง 8 เดือน คงไม่พ้น แบรนด์น้องใหม่อย่าง Pacharee ของหญิงสาวลูกครึ่งไทย-อเมริกันที่เกิดและเติบโตในไทยอย่าง ‘คุณโซฟี่-ปาจรีย์ ซูเมอร์ส-โรเจอร์’ สาวเก่งผู้ไม่เคยศึกษางานศิลปะมาก่อน แต่อาศัยว่าเป็นคนมีรสนิยมและเปี่ยมไปด้วยสไตล์

“ฟี่เป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกันค่ะ คุณพ่อพี่ (มร.เจอรัลด์ โรเจอร์) เป็นผู้บุกเบิกเรื่องการเผาพลอยรวมถึงการเจียระไนพลอยแบบใหม่ในประเทศไทย คนรุ่นเก่าๆในวงการพลอยในไทยจะรู้จักคุณพ่อฟี่หมด ท่านจีเนียสมากค่ะ เรียนหมอที่อเมริกาแล้วสองปีสุดท้ายต้องเข้าแล็บ ท่านกลัวเลือด ก็เลยเปลี่ยนมาเรียนปรัชญาแทน ท่านต้องเรียนภาษากรีก ละติน เยอรมัน ฝรั่งเศส เลยพูดได้หลายภาษา แล้วก็ไปต่อโทที่ประเทศเยอรมัน ทำให้ท่านรักเยอรมันมาก คุณพ่อจะพาลูกๆไปเที่ยวเยอรมันบ่อย
“หลังเรียนจบคุณพ่อไปนิวยอร์กและมีโอกาสซื้อที่ดินในแมนฮัตตันเปิดโรงแรมเล็กๆ ทีนี้แขกญี่ปุ่นที่มาพักเอาเกมโกะมาเล่น ท่านก็เริ่มเรียนรู้จนกลายเป็นนักเลงโกะ เปิดชั้นล่างของโรงแรมเป็นโกะคลับ บังเอิญมีแขกคนหนึ่งทำฟาร์มมุกที่ญี่ปุ่น ท่านสนใจก็เลยบินไปดู แล้วก็ไปอินกับมุก ก็เลยขายโรงแรมแล้วไปทำฟาร์มมุกอยู่พักหนึ่ง จากนั้นท่านสนใจพลอย ก็ศึกษาเรื่อง Heat Treatment ท่านพัฒนาเตาเผาพลอยตอนอยู่ที่ญี่ปุ่น แล้วก็ย้ายมาเมืองไทยมาร่วมหุ้นกับมิสเตอร์โฮที่มีชื่อเสียงมากเรื่องอัญมณี แต่ทีนี้วิชั่นของคุณพ่อกับมิสเตอร์โฮไม่ไปทางเดียวกัน คุณพ่อก็เลยแยกตัวมาทำเอง”
ความคิดสร้างสรรค์ นำดีไซน์
“ฟี่จะได้จากคุณพ่อเรื่องการเปิดกว้างด้านความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เรามั่นใจว่าถึงจะชอบดีไซน์ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนดีไซน์ ครอบครัวฟี่ไม่มีใครทำอาชีพเหมือนคนอื่นเลย พี่ชายคนละแม่ทั้ง 6 คนรวมทั้งฟี่กับน้องสาวแม่เดียวกัน (เวร่า โรเจอร์) เวร่าเองก็เรียนโททางด้าน New Media ที่นิวยอร์กเหมือนกันค่ะ เวร่าเป็นคนที่ฟี่คิดว่ามีความสามารถทางด้านศิลปะมากกว่าฟี่ด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้เขาแต่งงานและติดตามสามีซึ่งทำงานที่อียูกับเลี้ยงลูกที่บรัสเซลส์ ฟี่กำลังจีบๆให้เขามาทำเสื้อผ้าเด็กด้วยกัน เพราะเขาเก่งเรื่องดีไซน์มาก มีหลายครั้งที่ฟี่ส่งดีไซน์ของตัวเองไปเช็คในเฟซบุคแช็ทให้เวร่ากับคุณแม่ (สุมาลี โรเจอร์) ช่วยดูด้วยค่ะ”

คุณฟี่พูดพลางหัวเราะเบาๆ เธอหันไปหยอกล้อน้องซูรี่ที่ขณะนี้อยู่ในอ้อมแขนของคุณยาย แม่หนูหัวเราะเอิ๊กอ๊ากอย่างร่าเริง ด้วยแขนขาเป็นปล้องแบบเด็กสมบูรณ์ ผมหยิกเป็นขอด และพวงแก้มขาวอมชมพู ทำให้หนูน้อยเป็นขวัญใจของทีมงานไปในบัดดล แม้กระทั่งในการถ่ายภาพซึ่งทีมงานไม่จำเป็นต้องบิลท์อารมณ์เลย เพราะแม่หนูเปิดปากหัวร่อร่า ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน เราไม่ได้เสียงร้องไห้ของหนูซูรี่เลยแม้แต่น้อย
คุณฟี่บอกเราว่าหลังจากเรียนอัสสัมชัญอินเตอร์จนจบมัธยมปลาย เธอก็สอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ ทันที เนื่องจากคุณแม่สุมาลีซึ่งใฝ่ฝันอยากเป็นครู และเรียนจบครุศาสตร์มหาบัณฑิต มีความเชื่อมั่นในระบบการศึกษา จึงผลักดันให้ลูกสาวเข้ารั้วจามจุรีจนได้ “คุณแม่จะเห็นต่างจากคุณพ่อ ฟี่ก็ได้แนวคิดมาจากทั้งคู่ ฟี่ยังเห็นความสำคัญของการศึกษา ขณะเดียวกันก็ได้เรื่องการเปิดกว้างทางความคิดสร้างสรรค์จากคุณพ่อด้วย”
สู่ Big Apple
หลังเรียนจบปริญญาตรีที่เมืองไทยแล้วคุณฟี่หญิงเหล็กก็พุ่งเป้าไปที่นิวยอร์กทันที ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจะเข้าเรียนที่ New York University ให้ได้ “เหตุผลที่อยากเรียน NYU เพราะฟี่ชัดเจนมากว่าเราอยากกลับไทยมาทำโฆษณา แต่โฆษณาที่สามารถคิด Big idea แล้วสื่อถึงคนต่างเชื้อชาติได้หมดเลยต้องทำยังไง ถ้าฟี่เรียนโฆษณาอย่างเดียวก็ไม่ได้รู้เรื่อง Sociology หรือ Cultural เสริม ก็เลยอยากดีไซน์คอร์สเอง แต่ตอนนั้น NYU เป็นมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวที่นักศึกษาสามารถดีไซน์คอร์สเองได้ และอีกโจทย์หนึ่งคือฟี่อยากใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์กด้วย
“ปีแรกไม่ได้ เพราะเขารับนักศึกษาจากทั่วโลกแค่ 50 คนเท่านั้นเอง ฟี่ก็เลยตัดสินใจบินไปทันที แล้วขอคุยกับมหาวิทยาลัยว่าฟี่ต้องทำยังไงถึงจะสอบได้ และเขาเปิดสอนคอร์สสั้นๆอะไรที่เราสามารถจ่ายเงินเรียนได้ฟี่สมัครหมดเลย จนอาจารย์ทุกคนที่นั่นจำหน้าฟี่ได้หมด พอปีที่สองก็เลยเข้าได้ เขาคงคิดว่ายัยนี่คงต้องได้แล้วละ เพราะลงทุนทำขนาดนี้” คนพูดหัวเราะขำตัวเอง
เป็นที่รู้จักภายใน 8 เดือน
“จริงๆแรงบันดาลใจในการทำ Pacharee เกิดก่อนที่เราจะไปอยู่ซูริคอีก” คุณโซฟี่บอกกับเราถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ที่มาจากชื่อจริงของเธออย่างอารมณ์ดี ก่อนจะกล่าวต่อ “มันเกิดจากการที่ฟี่ไปเดินงานโอท็อปกับคุณแม่ แล้วเห็นร้านหนึ่งไม่มีคนสนใจ เป็นร้านผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติจากบุรีรัมย์ ทำให้ฟี่ตกหลุมรักผ้าไทยตั้งแต่นั้น และคิดจะทำเสื้อผ้าโดยที่ไม่เคยเรียนดีไซน์หรือตัดเย็บมาก่อนเลย ทีแรกก็ไม่มั่นใจ ดูผ้าไว้สองปีเหมือนเราไม่กล้า เพราะไม่คิดว่าจะทำเป็นธุรกิจได้ กลับไทยก็ไปงานโอท็อปทุกครั้ง
“จนวันหนึ่งเพื่อนสนิทฟี่โทรมาบอกว่า ‘ฉันจองช่างภาพกับสตูดิโอให้แล้วนะ เธอมีเวลา 3 อาทิตย์ในการออกแบบ’ เป็นการมัดมือชก เขาบอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้เราก็คงไม่มีวันลงมือทำ ตอนนั้นมีงานโอท็อปพอดี ก็เลยไปซื้อผ้ามาทำเป็นคอลเลคชั่นจนเสร็จ เอามาแขวนไว้บนราว เรารู้สึกว่ามันสวยแต่ขาดอะไรบางอย่างไป ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นเครื่องประดับพวกจิวเวลรี่ งั้นทำจิวเวลรี่ก็แล้วกัน เพราะครอบครัวเราก็ทำจิวเวลรี่มาก่อน เลยไปเปิดเซฟเอาพลอยเอามุกที่คุณแม่สะสมไว้มานั่งดู ก็เจอมุกบารอคกับพลอยกาบาชอนเจียรหลังเบี้ยสีฟ้า เอามาทาบกับชุด แค่ 5 นาทีก็นึกภาพออกแล้วว่าเราควรเดินทองขึ้นไปบนมุกให้มันดูออร์แกนิค แล้วเรียกช่างทองประจำบ้านมาทำเลย 5 ชิ้น ช่างก็ไม่หลับไม่นอนเร่งทำจนเสร็จทันภายในเวลา 1 อาทิตย์ ซึ่งตอนถ่ายแบบลงอินสตาแกรม เราถ่ายภาพโคลสอัพจิวเวลรี่แค่ 5 นาทีสุดท้าย เพราะฟี่ไม่คิดจะโฟกัสที่จิวเวลรี่ แต่ตั้งใจโปรโมทเสื้อผ้ามากกว่า
https://www.instagram.com/p/BjboNFal4HK/
“หลังจากลง IG ไป ก็มีคนไทยและฝรั่งสนใจเสื้อผ้ามาก แต่พอลงรูปตุ้มหูมุกรุ่น ‘ดิน’ไปตูมเดียว ทุกอย่างเปลี่ยนเลย คน inbox มาสั่งค่ะๆๆๆจองค่ะๆๆๆ ขณะที่เสื้อผ้ามีแต่คนถามมาว่าไซส์จริงเป็นยังไง ของจริงเป็นยังไง โดยที่เราไม่คาดคิดเลยว่าจิวเวลรี่ที่เราคิดเร็วๆจะมีคนสนใจมากขนาดนี้ ก็เลยเห็นทิศทางว่าเราควรโฟกัสตรงไหน แต่ไม่ใช่ว่าทิ้งเสื้อผ้า เราก็ยังทำเสื้อผ้าอยู่ เพียงแต่เราจะโฟกัสจิวเวลรี่ก่อนปีหนึ่ง แล้วทำเสื้อแค่ปีละคอลเลคชั่นพอ ไม่ต้องทำเยอะ”
การลงภาพในอินสตาแกรมแค่ครั้งเดียว ก็เกิดแรงกระเพื่อมเป็นระลอกๆเหมือนก้อนหินที่ถูกโยนลงในน้ำ เพราะได้ถูกแชร์ต่อไปจนกลายเป็นกระแสในแวดวงจิวเวลรี่ดีไซน์ จนมีห้างดังในต่างประเทศให้ความสนใจ “เพื่อนที่นิวยอร์กที่ตามเรามีเพื่อนทำงานที่บาร์นีส์พอดี แล้วเขาก็เอาไปให้บายเออร์ที่นั่นดู เขาสนใจก็เลยเรียกไปคุย และเลือกจิวเวลรี่ของเราไปวางขายในห้าง และให้ออกแบบเพิ่ม เขาบอกว่าอยากให้เราทำเป็น Fine Jewelry ดีกว่า เพราะเป็นงานทำมือทั้งหมด ต้นทุนสูงเกินกว่าจะเป็นงาน Semi Fine Jewelry แต่ฟี่บอกเขาว่า ไม่เป็นไรถ้ายูจะซื้อแต่ Fine Jewelry เพราะเรายังคงทำงาน Semi Fine Jewelry อยู่ คือฟี่ไม่อยากทำจิวเวลรี่ให้คนกลุ่มเล็กๆกลุ่มเดียวใช้ ฟี่อยากให้คนเข้าถึงงานเรา ไม่จำเป็นต้องซื้อชิ้นเดียวจบ อยากให้คนสนุกกับจิวเวลรี่ของเรา
“ห้าง Harrods ที่นัดเจอเราฟี่ก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะซื้อแนวไหน ก็ต้องแล้วแต่ตลาดเขา ล่าสุด Net a Porter ก็ inbox มาในไอจีของแบรนด์ ขอนัดดูสินค้า เขาจะซื้อ ซึ่งเขาเป็นเว็บไซต์แพลตฟอร์มทางด้านลักชัวรีแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็งงเหมือนกันว่าบายเออร์เขาเห็นเราจากไหน ซึ่งฟี่คิดว่าเขาคงจะเห็นรูปที่ลูกค้าหรือแขกที่มาในงานอีเว้นท์ที่เราจัด เพื่อนบอกฟี่ฟีดฉันมีแต่งานเธอ นอกจากนี้บล็อกเกอร์ที่ค่อนข้างดังก็มาซื้อสินค้าเรา แล้วเขาก็โพสต์ ส่วนบล็อกเกอร์อีกคนไปเที่ยวซูริค เพราะตอนนี้ซูริคเป็นเมืองที่คนกำลังกล่างขวัญถึง แล้วเขาไปเจอวินโดว์ดิสเพลย์ร้านเรา เขาก็ถ่ายรูปไปโพสต์ นี่คือพลังของไอจีที่ทำให้แบรนด์เราขยายวงกว้างได้เร็ว”
“สำหรับเมืองไทยเรายังไม่มีหน้าร้าน แต่สามารถนัดดูสินค้าได้ ซึ่งฟี่มีผู้ช่วยสองคนที่จะนำสินค้าไปนำเสนอที่ไหนก็ได้ที่ลูกค้าสะดวก ที่ทำแบบนี้เพราะเราจะได้รู้จักลูกค้า จะได้นำฟีดแบคมาปรับปรุง ในอนาคตการแนะนำสินค้าเราก็จะง่ายขึ้น แล้วเหมือนลูกค้าก็ชอบที่จะได้เจอเรา และยังไม่มีแบรนด์ไหนทำแบบนี้เหมือนเรา”
ครอบครัวที่ลงตัว
แม้ว่าแบรนด์จะมีอายุเพียง 8 เดือน แต่ก็สามารถสร้างกระแสได้อย่างไม่น่าเชื่อ และเกินความคาดหวังของเธอกับสามีอย่างมาก “ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากสำหรับแบรนด์ที่เพิ่งลอนช์และทีมงานยังเล็ก ฟี่บอกสามีตลอดเวลาเลยว่า I am so overwhelm. มันหนัก แต่ไมได้หนักใจ แค่รู้สึกว่าเราจะทำยังไงดี จะทำได้ไหม แต่ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นแค่แว้บเดียว เพราะมีอย่างอื่นที่เราต้องทำต่อ อย่างเวลาฟี่โทรไปปรึกษาสามี เขาจะฟังแล้วไม่อ่อนไหวไปกับเรา แต่จะถามว่า So, then what’s next? What we need to do now? ฟี่จะชอบเรียกเขาว่ามิสเตอร์ไอซ์เบิร์ก เพราะเขาเป็นคนมีเหตุมีผลสูงมาก ไม่มีวันเสียละที่เขาจะมานั่งปลอบว่าไม่เป็นไรน่า ซึ่งฟี่มองว่าเป็นส่วนผสมที่ดี”
คุณฟี่บอกเราว่ามิสเตอร์ไอซ์เบิร์กของเธอนั้นไม่ค่อยโรแมนติกสักเท่าไร แถมยังฉลาดเป็นกรด สมกับเป็น Private Equity VP ผู้ดูแลเรื่องการเงินของแบรนด์ “คุณแม่จะพูดกับฟี่ตลอดว่า เธอเป็นคนที่โชคดีมาก ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตฟี่เป็นเรื่องดีหมด ฟี่แทบนึกถึงปัญหาในชีวิตแทบไม่ออกเลย แต่ฟี่จะนึกถึงตอนวัยรุ่นที่เรากำลังเรียนรู้เรื่องความถูกผิด บางทีเรานาอีฟกับบางเรื่อง เช่นเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องเพื่อน การเลือกคนเข้ามาในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้ และทำให้ทุกวันนี้ฟี่ให้ความสำคัญกับเพื่อน ครอบครัว และคนในชีวิตเรามากๆ เพราะคนเหล่านี้เป็นคนที่ซัพพอร์ทและเห็นเรามาตลอด มีประสบการณ์ดีๆด้วยกันตลอด เขามอบแต่สิ่งดีๆให้เรา บางทีเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนานพอกลับมาคุยมีแต่ความสบายใจ ดีใจกับเรา”
หญิงสาวเจ้าของชีวิตที่ลงตัวอย่างคุณโซฟี่กล่าวพร้อมรอยยิ้มกว้าง เราไม่สงสัยเลยว่าชีวิตของเธอประสบความสำเร็จได้อย่างไร นั่นเพราะทัศนคติที่มีต่อสิ่งรอบตัวของเธอต่างหาก ที่ทำให้เธอมีวันนี้ได้และจะมีตลอดไปด้วย
นิตยสาร HELLO! ปีที่ 14 ฉบับที่ 04 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562
หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่ www.ookbee.com , www.shop.burdathailand.com