‘คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล’ นั่งแท่นไอโอซีหญิงโอลิมปิก โตเกียว 2020 คนแรกของประวัติศาสตร์ไทย
ในฐานะไอโอซีหญิงประวัติศาสตร์คนแรกของไทย ครบ 4 ปี ‘คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล’ ยังคงทุ่มเทให้กับวงการกีฬาเกินร้อยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคุณหญิงปัทมาได้เผยถึงโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่ต้องฝ่าวิกฤติแข่งแบบ New Normal โดยจะเริ่มในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้
“หากต้องเลื่อนแข่งออกไป จะทำให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนเงินกว่าห้าแสนล้านบาท”
‘โอลิมปิกเกมส์’ ถือเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 4 ปี ซึ่งนักกีฬาทุกคนบนโลกใบนี้ต่างก็มีความใฝ่ฝันจะได้เข้าร่วมแข่งขันสักครั้งในชีวิต นับเป็นเกียรติยศที่หาไม่ได้จากที่ไหน โดยเริ่มจัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี 1896 ซึ่งประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาประเภทต่างๆครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ครั้งที่ 15 ปี ค.ศ.1952 และส่งเข้าร่วมตลอดทุกปีจนรวมทั้งหมดได้รับ 9 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน 16 เหรียญทองแดง จากกีฬายกน้ำหนัก มวยสากลสมัครเล่น และเทควันโด
‘คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล’ สตรีไทยคนแรกของไอโอซี
ในส่วนขององค์กรที่ดูแลรับผิดชอบจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ซึ่งในเวลานี้ มีทั้งโอลิมปิก ฤดูร้อน และ ฤดูหนาว รวมถึงโอลิมปิก เยาวชน หรือ ยูธ โอลิมปิก จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ซึ่งถือเป็นข่าวดีอย่างยิ่งที่มีคนไทยเข้าไปมีบทบาทสำคัญด้วย ก่อนหน้านี้ประเทศไทยมี ‘จอมพลประภาส จารุเสถียร’ เข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการของไอโอซี ในช่วงปี 1971 – 1974 ต่อมาเป็น ‘พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์’ ในปี 1974 – 1989 และ ‘ดร.ณัฐ อินทรปาณ’ ในปี 1990 – 2018

ส่วนในปัจจุบัน ‘คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล’ ได้ทำหน้าที่ไอโอซีเมมเบอร์ ซึ่งถือเป็นคนไทยคนที่ 4 แต่นับได้ว่าเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ที่ได้เข้าไปบริหารงานในองค์กรกีฬาใหญ่ระดับโลกเช่นนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของพี่น้องชาวไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณหญิงปัทมาเป็นคนไทยคนเดียวที่ถูกเสนอชื่อเข้ามา และได้รับการรับรองด้วยมติเอกฉันท์จากสมาชิกกว่า 206 ประเทศ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกไอโอซี ประเภทบุคคล (Individual Member) ซึ่งเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติสูงสุด ในฐานะบุคลากรด้านกีฬาของโลก
H.R.H Frederik Crown Prince of Denmark , IOC of Denmark Mr.Alisher Usmanov ประธานสหพันธ์ฟันดาบ มหาเศรษฐีชาวรัสเซียและภริยา
เลี้ยงต้อนรับคุณหญิงปัทมาคุณหญิงปัทมา ยินดีกับ ดร.ราฟฟาเอลเล ชิยูลี่และตัวแทนประเทศอิตาลีที่ได้ชัยชนะได้จัดงานWinter Olympic Milano Cortina2026 H.R.H Prince Jigyel Wangchuck IOC Bhutan H.H.Tamin bin Hamad Al-Thani Emir of Qatar,Qatar’s IOC
ทั้งนี้ การคัดเลือกไอโอซีเมมเบอร์เข้ามาทำหน้าที่ ทางไอโอซีจะมีกระบวนการที่เข้มข้น ผ่านคณะกรรมการสรรหาหลายขั้นตอน โดยสัดส่วนจะแบ่งออกเป็น ไอโอซี ประเภทบุคคล 70 คน มีวาระทำงานถึงอายุ 70 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นราชวงศ์ ผู้ครองนคร ผู้บริหารระดับสูง นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และเอ็นจีโอ นอกนั้นเป็นผู้แทนสหพันธ์กีฬานานาชาติ 15 คน ผู้แทนจากคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ 15 คน และผู้แทนนักกีฬาที่เคยเข้าร่วมในกีฬาโอลิมปิก 15 คน อยู่ตามวาระที่กำหนด ซึ่งเรียกได้ว่า ใครได้มาทำหน้าที่นี้ ถือเป็นบุคคลระดับสุดยอดของโลกก็ว่าได้
ทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุด
ตลอดเวลาของการทำงานด้านกีฬามากว่า 15 ปี คุณหญิงปัทมาได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุด และได้รับการทาบทามโดยตรงจากไอโอซี สำหรับตำแหน่งไอโอซีเมมเบอร์ ตั้งแต่ช่วงต้นปีก่อนการประชุม แม้ปัจจุบัน คุณหญิงจะมีภารกิจรอบด้าน แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ไอโอซีเป็นองค์กรใหญ่ที่สุดด้านกีฬา หากจะเปรียบก็เหมือนสังคมโลกที่มีองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น คอยกำกับดูแลอยู่ อีกอย่างอยากทำประโยชน์ให้ประเทศด้วย จึงตอบตกลงไปหลังจากนั้นไม่นาน
เมื่อตอบรับแล้ว คุณหญิงได้รับเชิญไปเยี่ยมชมสำนักงานไอโอซี ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้พบและพูดคุยเป็นเวลานานกับ ‘โธมัส บาค’ ประธานไอโอซี ทำให้รู้ถึงขอบข่ายของงานที่ไอโอซีรับผิดชอบอยู่ ซึ่งถือว่าน่าสนใจมาก มีงานในหลายด้าน หลายมิติ ให้ไอโอซีเมมเบอร์ได้ทำ

ส่วนในช่วงปฏิญานตนเข้ารับตำแหน่ง การรับเหรียญตราสมาชิกคณะกรรมการไอโอซี คุณหญิงเผยว่า “รู้สึกปลาบปลื้ม ตื้นตัน และดีใจ ได้สัมผัสถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีการ และความรับผิดชอบที่มาพร้อมกับการได้รับเกียรติให้เป็นไอโอซีเมมเบอร์ และหวังว่าจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท อย่างสุดกำลังความสามารถ ประสานงานและสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการกีฬาไทย จะใช้ประโยชน์จากกีฬา และคุณค่าของโอลิมปิก ในการให้ความรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน โดยยึดถือปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณ เป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองและการค้า”
2 บทบาทใหญ่ และหน้าที่สำคัญในไอโอซี
‘คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล’ นั่งแท่น ‘ประธานคณะกรรมาธิการวัฒนธรรมและมรดกโอลิมปิก’ (Culture And Olympic Heritage) ช่วยขับเคลื่อนโอลิมปิก ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของวัฒนธรรมของชาติสมาชิก เพื่อส่งเสริมหลักปรัชญาโอลิมปิกออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั่วโลก และยังได้ร่วมเป็นหนึ่งใน ‘คณะกรรมาธิการกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ’ (Olympic Solidality) ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้เงินของกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ที่มีงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทในการพัฒนานักกีฬาสู่โอลิมปิกทุก 4 ปี
ดิฉันพร้อมช่วยงานไอโอซีทั้งสองคณะกรรมาธิการอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกระบวนการโอลิมปิก ให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งความรับผิดชอบของ ‘คณะกรรมาธิการด้านวัฒนธรรมและมรดกโอลิมปิก’ จะช่วยในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติด้านวัฒนธรรมของไอโอซี ช่วยให้เกิดการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน องค์กรที่ดูแลในเรื่องวัฒนธรรมภายในกระบวนการขับเคลื่อนโอลิมปิก เช่น สถานเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัย เพื่อให้งานด้านวัฒนธรรมส่งผลสู่วงกว้างได้มากยิ่งขึ้น และพิจารณาแนวทางต่างๆ เพื่อพัฒนากิจกรรมด้านวัฒนธรรมของกระบวนการขับเคลื่อนโอลิมปิกในอนาคต
ขณะที่การทำหน้าที่ใน ‘คณะกรรมาธิการกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศ’ นั้น ถือว่าเป็นกรรมาธิการที่มีความสำคัญมาก โดยจะดูแลงานด้านกองทุนสงเคราะห์โอลิมปิกระหว่างประเทศเป็นหลัก คอยให้ความช่วยเหลือแก่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ 206 ประเทศทั่วโลก และส่งเสริมคุณค่าโอลิมปิก บริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ของกองทุนสงเคราะห์ฯ เพื่อช่วยสนับสนุนส่งเสริมหลักการพื้นฐานของโอลิมเปียน ช่วยเหลือคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติประเทศต่างๆ ในการเตรียมนักกีฬา เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ พัฒนาความรู้และเทคนิคให้แก่ผู้ฝึกสอนและนักกีฬา ยกระดับความสามารถทางเทคนิคของนักกีฬาและผู้ฝึกสอน โดยร่วมมือกับคณะกรรมการโอลิมปิกแต่ละชาติ และสหพันธ์กีฬานานาชาติ รวมถึงการให้ทุนการศึกษา จัดอบรมผู้บริหารด้านกีฬา
นอกจากนี้ ยังจะส่งเสริมให้เกิดโปรแกรมความร่วมมือทั้งระดับทวิและพหุภาคีระหว่างกลุ่มของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติประเทศต่างๆ กระตุ้นให้รัฐบาลและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ให้รวมเรื่องกีฬาไว้ในความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา และให้การสนับสนุนแก่นักกีฬาที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย
เรียกได้ว่าตอนนี้ คุณหญิงปัทมาทุ่มเทให้กับวงการกีฬาโลกและวงการกีฬาไทยเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากตำแหน่งไอโอซีเมมเบอร์แล้ว ในเวลานี้คุณหญิงปัทมายังทำหน้าที่เป็น ‘คณะกรรมการบริหาร สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย’ หรือ ‘โอซีเอ รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก’ นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ที่ปรึกษาให้หลายสมาคมกีฬา ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ในขณะที่ ‘ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล’ ผู้เป็นสามี อดีตสมาชิกวุฒิสภา นักอุตสาหกรรมผลิตเหล็กและเหล็กกล้าระดับต้นของประเทศและอาเซียน และธุรกิจอุตสาหกรรมอีกหลายประเภท ปกติก็ช่วยเหลือกิจการด้านสังคมมานาน ช่วยเหลืองานด้านการศึกษา และปัจจุบันยังเข้ามาช่วยขับเคลื่อนวงการกีฬา โดยทำหน้าที่ที่ปรึกษาประธานสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือ โอซีเอ รองประธานกรรมาธิการประสานงานติดตามความพร้อมกีฬาเอเชียนเกมส์ หางโจว 2022 และ นาโกย่า 2026 ของโอซีเอ ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ในอีกทางหนึ่งด้วย
โอลิมปิก โตเกียว 2020 เดินหน้าฝ่าวิกฤติ Covid-19
ตลอดเวลาที่ผ่านมา คุณหญิงปัทมาได้สร้างประโยชน์ให้กับวงการกีฬาโลกและวงการกีฬาไทย เช่น การเชื่อมโยงสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยแห่งต่างๆ กับสหพันธ์กีฬานานาชาติให้ใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม อีกทั้งช่วยประสานงาน สร้างความร่วมมือกับสหพันธ์กีฬาระดับโลกมากมาย เช่น วอลเลย์บอล พายเรือ ฟันดาบ มวยสากล มวยไทย กีฬาทางอากาศ เป็นต้น เพื่อให้เดินหน้าทำงานร่วมกันได้
รวมถึงการดึงการประชุมใหญ่สมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ ‘สปอร์ต แอคคอร์ด 2018’ ซึ่งเป็นการประชุมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีผู้บริหารและบุคลากรทางการกีฬาจากสหพันธ์กีฬาขององค์กรสหพันธ์กีฬานาชาติที่สำคัญๆ รวมกว่า 1,500 คน มาจัดที่ประเทศไทย สร้างชื่อเสียงให้ประเทศมาแล้ว และยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างความมั่นใจให้กับประเทศไทย กับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ภายใต้ระบบบับเบิ้ล ที่อิมแพค อารีนา เมืองทองธานี ซึ่งได้รับคำชมจากทั่วโลก และเป็นต้นแบบให้กับการแข่งขันกีฬานานาชาติอีกหลายรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โธมัส บาค ประธานไอโอซี ได้เห็นการจัดการที่เป็นมืออาชีพของไทย จึงได้ขอให้สมาคมกีฬาแบดมินตันฯ สรุปรูปแบบ เพื่อนำไปปรับใช้ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อไป

ถือว่าตลอด 4 ปี คุณหญิงปัทมาทำหน้าที่ไอโอซีหญิงไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบเป็นอย่างมากและในโอกาสนี้ คุณหญิงปัทมาก็ยืนยันว่าพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติหน้าที่ไอโอซีในโอลิมปิก โตเกียว 2020 ที่ถูกเลื่อนมาจากปีก่อน ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งไอโอซีและเจ้าภาพญี่ปุ่นพร้อมผนึกกำลังจัดการแข่งขันตามแผนเดิม เพราะหากไม่จัดในปีนี้ ทาคาฮิเดะ คิยุชิ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันโนมุระ และอดีตคณะกรรมการบริหารธนาคารแห่งชาติของญี่ปุ่น ได้ระบุไว้ว่า เจ้าภาพอาจต้องเผชิญกับความเสียหายเป็นมูลค่าสูงถึง 1.81 ล้านล้านเยน หรือราว 516,000 ล้านบาท เลยทีเดียว
อีกประการหนึ่ง หากไม่จัดการแข่งขัน นักกีฬาจากทั่วโลกที่เหน็ดเหนื่อยผ่านการคัดเลือกจนได้โควต้า และมุ่งมั่นฝึกซ้อมกันมาเป็นแรมปี จะเสียสิทธิ์และเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น โอลิมปิก โตเกียว 2020 จึงต้องเดินหน้าฝ่าวิกฤติ เตรียมที่จะเปิดฉากในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ แม้จะต้องจัดการแข่งขันภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มงวด แบบ New Normal ก็ตาม