ในช่วงหลายปีมานี้การทำ สวนดาดฟ้า เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะคนเมืองซึ่งสถานที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่กลายเป็นคอนโดมิเนียมและตึกสูง หลายคนจึงมีความพยายามปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมไปถึงปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานภายใต้พื้นที่ที่จำกัด เช่นเดียวกับเซเลบริตี้สาวสวยอย่าง ‘คุณแพร-อมตา จิตเสนีย์’ หรือ ‘แพรี่พาย’ อดีตเมคอัพ อาร์ติสท์ชื่อดัง ที่หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับผ้าไทยและการเกษตร โดยช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์คุณแพรได้เนรมิตดาดฟ้าคอนโดมิเนียมให้กลายเป็นสวนที่มีทั้งพืชสวนครัว ดอกไม้ และพืชให้สีนานาพรรณภาในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน HELLO! จึงไม่พลาดนำแนวคิดทำ สวนดาดฟ้า ของคุณแพรมาแบ่งปันให้ติดตามกัน

จุดเริ่มต้นของการเนรมิตคอนโดฯ ให้กลายเป็นสวนลอยฟ้า
คุณแพรเท้าความถึงการทำสวนบนดาดฟ้าซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์ว่า “พื้นที่ที่ใช้ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ตลอดจนพืชผักนานาชนิด ๆ เป็นพื้นที่คอนโดมิเนียมของครอบครัว เป็นคอนโดฯ ที่เราอยากมีมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ค่อย ๆ สะสมที่ดินและออกแบบมาเรื่อย ๆ โดยคุณพ่อคุณแม่อยากมีพื้นที่ที่เป็นสกายการ์เด้นตั้งแต่ช่วงที่วางโครงสร้างตึกแล้ว แต่ก่อนจะย้ายเข้ามาอยู่คอนโดฯ ตอนแรกไม่อยากมาเพราะรู้สึกว่าบ้านเป็นที่ที่ต้องมีพื้น มีหญ้า หรือมีพื้นดินให้เดิน สามารถคลุกคลีกับต้นไม้ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงยกหน้าที่ให้แพรปลูกต้นไม้บนดาดฟ้า ซึ่งตอนนั้นเราเองคิดในใจว่าจะใช่เหรอ จะรอดไหม เพราะแพรอยากได้สวนที่มีโครงเลื้อย ดอกไม้กินได้ และพืชท้องถิ่นในเมืองไทยไว้ทำใช้ประโยชน์ในอนาคตด้วย”
ปัญหาของการทำสวนบนดาดฟ้า
“เดือนแรกคือความแห้งแล้งเพราะตรงกับหน้าร้อนพอดีและดาดฟ้ามันร้อนมาก ตอนนั้นรู้สึกว่าความหวังคือศูนย์ อย่างเรื่องขนดินโชคดีที่สามารถขนขึ้นลิฟต์มาได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพื้นที่ที่ต้องออกแบบ เช่น ระดับความสูงของต้นไม้ที่ปลูกได้ แม้ว่าปลูกบนดาดฟ้าแต่ไม้ยืนต้นบางชนิดก็ยังพอปลูกได้อย่างต้นกระดังงาที่แพรปลูกอยู่ ดังนั้นเราต้องมาดูว่าต้นไม้ขนาดกลาง ๆ ที่ปลูกได้มีอะไรบ้าง แต่ต้นสูง ๆ ต้องยกเลิกหมด หรือกล้วยก็เป็นต้นไม้อีกหนึ่งชนิดที่อยากปลูก แต่ต้องดูเรื่องของแรงลมด้วย สิ่งหนึ่งที่แพรทำคือการทดลองว่ามีพืชอะไรเหมาะกับการปลูกบนดาดฟ้าบ้าง เพราะเราเองก็ไม่รู้อะไรเลย จึงต้องทดลองก่อน เหมือนกับตอนที่เป็นเมคอัพ อาร์ติสท์ก็ต้องลองแต่งหน้าดูหลาย ๆ ลุค ติดนู่นติดนี่ หรือแม้แต่ตอนทำผ้าไทย การสกัดสีน้ำ แพรก็จะมีการหาข้อมูลและทดลองเสมอ”

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนลงมือปลูกต้นไม้
“อย่างแรกต้องดู ‘สภาพพื้นที่’ ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้าหรือระเบียงบ้าน ต้องดูความเหมาะสมของสถานที่และสภาพแวดล้อม อย่างที่คอนโดฯ ต้องเป็นพืชที่เน้นการรับแสงแบบเต็มวัน เนื่องจากดาดฟ้าที่คอนโดฯ ไม่มีร่มเลย แม้ว่าอาจมีบางส่วนที่ได้ร่มจากตึกรอบ ๆ อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่คืออยู่กลางแจ้ง สองคือ ‘แหล่งน้ำ’ เพราะต้นไม้ต้องการน้ำเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องดูว่าพื้นที่มีน้ำมากน้อยขนาดไหน เวลาฝนตกก็ต้องมีที่ระบาย สามคือ ‘อุปกรณ์’ เช่น โครงสำหรับให้ต้นไม้เลื้อย หรือกระบะปลูกต้นไม้ เป็นต้น
สุดท้ายคือ ‘พืชที่จะปลูกมีอะไรบ้าง’ อย่างที่บอกไปแล้วว่าต้นไม้ที่ปลูกต้องไม่สูงมาก ตอนแพรเริ่มปลูกแรก ๆ ก็เริ่มจากพืชผักสวนครัวที่ใช้ในครัวเรือนเป็นประจำและปลูกง่ายอย่างกระเพรา แล้วค่อย ๆ ขยับไปปลูกผักบุ้ง ข้าวโพด น้ำเต้า ฟักทอง แตงกวา และกระเทียม เพิ่มความยากไปเรื่อย ๆ ซึ่งพืชแต่ละชนิดก็มีอายุการโตที่แตกต่างกัน ดังนั้นต้องวางแผนว่าจะแบ่งพื้นที่ในการปลูกอย่างไร สำหรับแพรมีกระบะที่ความลึกราว 20 เซนติเมตร ยาวกว่า 10 เมตร แต่แพรปลูกแบบผสมผสานคือปลูกทุกอย่างรวมกัน แต่ให้มีสเปซพอให้ถ่ายรูปสวย”

ใช้หลักธรรมชาติเกื้อธรรมชาติ
“หลังจากแพรมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสได้อยู่กับเกษตรกรอินทรีย์ ใช้ชีวิตอยู่ตามป่า ตามดอย ทำให้เห็นรูปแบบการเกษตรที่หลากหลาย และค่อย ๆ ซึมซับความรู้ทั้งการปรุงดิน การกำจัดวัชพืช แม้กระทั่งศัตรูพืช เราจึงไม่ได้ไปซีเรียสกับตรงนั้นมาก เพราะเราหยิบระบบของ ‘ธรรมชาติเกื้อธรรมชาติ’ เข้ามาผสมผสาน เรื่องดิน ปุ๋ย หรือการปรุงดิน เป็นเรื่องที่เพื่อน ๆ ถามแพรค่อนข้างเยอะ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าดินก็คือการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์
เพราะฉะนั้นการที่เราอยากให้พืชผักเราแข็งแรงบางทีมันไม่เกี่ยวกับการอัดปุ๋ย หรือปรุงดินมากเกินไป เปรียบเหมือนเวลาที่เราเลี้ยงเด็ก ถ้าเราให้สารอาหารเยอะเกินไป เขาก็จะกลายเป็นโรคอ้วนและมีโรคอย่างอื่นเขามาแทรกซ้อน แต่แพรจะใช้วิธีการปลูกพืชตระกูลถั่วหรือปอเทือง เพื่อให้พืชตระกูลถั่วดูดไนโตรเจนจากอากาศเข้าไปในดินเอง โดยที่เราไม่ต้องเติมปุ๋ย หรือการกำจัดเพลี้ยซึ่งมีสาเหตุมาจากมด แพรก็จะหาสูตรน้ำหมักโบราณอย่างน้ำส้มรมควันมาใช้ หรือเลี้ยงเต่าทอง เป็นการสร้างระบบนิเวศให้ธรรมชาติเกื้อกูลกันและกัน”

การแบ่งพื้นที่ฉบับแพรี่พาย
“คอนโดมิเนียมที่แพรอยู่มีประมาณ 8 ชั้น พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ แต่ส่วนที่นำมาทำเป็นรูฟท็อปการ์เด้นมีประมาณ 600 ตารางวา โดยตอนนี้มีกระบะในการปลูกต้นไม้ที่ลึก 20 เซนติเมตร ยาว 10 เมตรอยู่ 6 แปลง แล้วแบ่งการปลูกตามความชอบของตัวเองคือ แปลงแรกปลูกพวกคราม ดาวเรือง แปลงที่สอง เป็นเกษตรแบบผสมพวกข้าวโพด แปลงที่สาม เป็นไม้เลื้อย เช่น ฟักทอง น้ำเต้า แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วพู แปลงที่สี่ เป็นสมุนไพรไทยพื้นบ้านอย่างกระเพรา ใบแมงลัก ฟ้าทะลายโจร ผักใบเตย ผักพลู โรสแมรี่ มิ้นต์ อีกแปลงเป็นพวกข่า ขมิ้น กระชาย มะกรูด ตะไคร้”

การใช้ประโยชน์จากผลผลิต
“ผลผลิตที่ได้ตอนนี้เอาไว้บริโภคเป็นหลักภายในครอบครัวซึ่งมีกว่า 15 คน แต่อย่างพวกกระเพราที่ปลูกไว้เยอะเหมือนเป็นทุ่งลาเวนเดอร์เลย ก็นำไปบริจาคให้กับผู้ติดเชื้อโควิด – 19 ในค่ายต่าง ๆ รวมถึงแบ่งไปให้คนที่ทำอาหารกล่องบริจาคตามโรงพยาบาลด้วย ตอนนี้เราทำแค่นี้ก่อน แต่ในอนาคตแพรอยากเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้ให้เป็น ‘กรีน คอมมูนิตี้’ หรือ ‘เออเบิร์น ฟาร์มมิ่ง’ ที่มีการเลี้ยงสัตว์อย่างเลี้ยงผึ้ง หรือเลี้ยงไก่ด้วย เพราะอย่างที่ฮ่องกง นิวยอร์ก ก็มีการเปลี่ยนพื้นที่ดาดฟ้าตึกให้เป็นกรีน คอมมูนิตี้เช่กัน เพราะฉะนั้นที่นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของเออเบิร์น ฟาร์มมิ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งในอนาคตหากทำตึกเรียบร้อย มีผู้เช่าเข้ามาอยู่ เราก็อยากเอาขยะในครัวเรือนมาทำเป็นปุ๋ย หรือเป็นพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องการเกษตร นอกจากนี้ยังมีพวกพืชให้สีซึ่งสามารถนำมาทำเป็นสีน้ำ หรือย้อมผ้าได้ เป็นคอมมูนิตี้เล็ก ๆ ที่สามารถต่อยอดทำได้หลายอย่าง แต่สุดท้ายแล้วเราอยากเริ่มจากตัวเราก่อนแล้วค่อย ๆ ขยายไปในอนาคตที่อาจกลายเป็นกรีน คอมมูนิตี้, เออเบิร์น ฟาร์มมิ่ง หรือศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรที่อยู่ใจกลางกรุงเทพฯ”

“มันยากลำบากมากกับการที่กว่าจะเพาะเห็ด ปลูกต้นไม้ ปลูกผักให้ตัวเองกินได้ ครอบครัวกินได้ มันต้องอาศัยความอดทน ต้องคลุกคลีกับเขาตั้งแต่เช้า แต่ก็ทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการของมัน และรู้จักหันกลับมาที่รากเหง้าของตัวเอง ซึ่งมันสอนเรื่องธรรมะไปในตัวด้วย รวมถึงเป็นพื้นที่ที่ทำให้เรามีกิจกรรมกับคนในครอบครัว”
สำหรับใครที่อยากเริ่มเนรมิตดาดฟ้าหรือหรือระเบียงบ้านให้กลายเป็นสวน คุณแพรให้กำลังใจเป็นการปิดท้ายว่า “แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องการเกษตรมาก่อน แต่เราต้องอาศัยความอดทนเยอะมาก และต้องแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุดแบบวันต่อวันว่าทำไมวันนี้ใบเหลือง ทำไมวันนี้น้ำเยอะ สุดท้ายแพรมองว่ามันต้องใส่ใจ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแพรเป็นคนทุ่มร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้วไม่ว่าจะทำเมคอัพ ผ้าไทย เรื่องค่าย ซึ่งหลัง ๆ พอแตงกวาออกลูกเยอะแพรก็ลองเอาลูกที่ไม่สวยมาทำเป็นเฟซโทนเนอร์ หรือนำมะกรูดมาทำเป็นที่หมักผมสูตรโบราณ เอาวัฒนธรรมไทยและความรู้กลับมาใช้ แต่ใช้ให้มันเท่ทันสมัยและเข้ากับปัจจุบัน”
Courtesy Photo : pearypie