Home > Celebrity > Exclusive Interviews > ‘ครูปาน – สมนึก คลังนอก’ จากสามเณร สู่ศิลปินแนวโมเดิร์นพอร์เทรตที่ขายดีทั่วโลก

ในคอลัมน์ Power of Art ของนิตยสาร HELLO! VOL.18 NO.5 ครูปาน – สมนึก คลังนอก ได้เปิดบ้านหลังใหม่ที่รีโนเวตจากบ้านเก่าในเมืองนนท์ให้ HELLO! เยี่ยมชม พร้อมย้อนเล่าเรื่องราวชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก จวบจนเป็นศิลปินแนวโมเดิร์นพอร์เทรตที่ขายดีทั่วโลก

ครูปาน
ครูปาน – สมนึก คลังนอก

จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นบ้านเกิดของครูปาน “ชอบมีคนถามว่าเกิดบุรีรัมย์แล้วพูดเขมรได้ไหม เราจะบอกว่าเสียดายพูดไม่ได้ เพราะอำเภออยู่ค่อนมาทางโคราชกับขอนแก่น พูดได้แค่ภาษาอีสาน” ครูปานเกริ่นนำร่อง ก่อนเล่าอีกว่า “ผมเป็นลูกชาวนาฐานะยากจน และเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้องห้าคน พี่คนรองเป็นผู้ชายแต่เสียไปตั้งแต่อายุแค่สองขวบ ตอนแรกแม่คิดว่าเป็นเพราะโรคตานขโมย แต่พอผมกับแป้งวางแผนมีลูกไปตรวจเลือด ปรากฏว่าผมเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย พี่ชายผมก็คงเสียด้วยโรคนี้ แล้วหลังจากนั้นก็มีแต่พี่สาว จนผมเกิด พ่อกับแม่เลยตั้งชื่อว่า “สมนึก” เพราะสมใจนึกที่รอลูกชายมานาน”

สมัยเด็กครูปานช่วยครอบครัวเลี้ยงควายทำนาตามปกติ เนื่องจากทางบ้านไม่มีกำลังส่งเสียเล่าเรียน เมื่อครูปานจบ ป.6 ครูใหญ่ซึ่งเคยบวชมาก่อน แนะนำเด็กเรียนดีแต่ไม่มีทุนให้ไปบวชเรียนตามวัดต่าง ๆ คุณแม่จึงให้บวชเพื่อจะได้เรียนหนังสือต่อ เขาไปบวชที่มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย

ต้นหางนกยูงสีทองขนาดยักษ์ที่ยืนต้นมานานหลายสิบปี ภายในบ้านเก่าในเมืองนนท์ แต่เป็นบ้านใหม่ของครูปาน

เริ่มเข้าสู่เส้นทางศิลปะ

ตั้งแต่ครูปานเข้าเรียนมหามกุฎฯ ทางโรงเรียนก็มีการประกวดวาดภาพ เขาจึงเข้าประกวด แล้วได้ที่หนึ่ง ถือเป็นการเบิกฤกษ์สำหรับเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งเลยทีเดียว “ผมชอบวาดรูปตั้งแต่เด็กแล้วครับ แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง อาจเป็นเพราะมีเพื่อนที่เก่งกว่าเยอะ ตอนนั้นก็ดรออิ้งด้วยดินสอเล่นแสงเงาเป็นภาพเหมือนส่งประกวด พอได้ที่หนึ่งมาก็ดีใจ ก็เลยฝึก ๆ แล้วก็ฝึก เข้าห้องสมุดอ่านหนังสือศิลปะทุกเล่ม เวลาเรียนเบื่อ ๆ ก็วาดครู วาดเพื่อน วาดตา วาดจมูก วาดปาก วาดทุกอย่าง เต็มหนังสือไปหมดเลย และทุกคนจะอยากให้วาดรูปเหมือนให้ เพราะเหมือน”

บุคคลสำคัญท่านหนึ่งคือ ‘หม่อมราชวงศ์หญิงทัศนีย์ สุทัศนีย์’ ที่มาทำบุญที่โรงเรียนเป็นประจำ และช่วยพัฒนาโรงเรียนอย่างแข็งขัน เพราะท่านเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนฝรั่งเศสเดียวกับท่านเจ้าคุณสมเด็จวัดมกุฎฯ พระอาจารย์ของครูปานจึงวานให้ช่วยวาดรูปเหมือนเป็นการตอบแทนพระคุณของคุณหญิง

“พอคุณหญิงเห็นรูปก็นิมนต์มาถามว่า รู้จักศิลปินคนไหนบ้าง เราก็เล่าให้ฟังเป็นฉาก ๆ คุณหญิงก็อึ้ง เราเองก็ประหลาดใจตัวเองเหมือนกัน คุณหญิงบอกว่าถ้าเณรสนใจมากขนาดนี้ จะหาครูมาสอนศิลปะเณรเป็นเรื่องเป็นราว อยากให้เณรวาดรูปเก่ง เราก็ตั้งชมรมศิลปะขึ้นในโรงเรียน แล้วคุณหญิงก็ส่งครูจากโรงเรียนในวังมาสอนศิลปะไทย ครูชมใหญ่ว่าเก่ง แต่เราไม่เอนจอยเลย ก็บอกครูครับผมไม่ถนัด ครูเลยให้วาดภาพเหมือนให้ดู เราก็วาดให้ ครูเห็นแล้วก็บอกท่านไปทางเรียลลิสติกเลย แล้วก็ขนหนังสือศิลปะมาให้ และไม่มาสอนอีกเลย”

ภาพเหมือน หม่อมราชวงศ์หญิงทัศนีย์ สุทัศนีย์

หลังรู้ตัวว่าอยากเรียนวาดรูปเป็นเรื่องเป็นราว ครูปานอยากจะสึกมาสอบเข้าศิลปากร แต่ปรากฏว่าพ่อเสีย เลยตัดสินใจบวชต่อ เพราะไม่อยากเป็นภาระของครอบครัว กระทั่งคุณหญิงทัศนีย์พาไปหา ม.ล.จิราธร จิรประวัติ หรือครูโต ท่านกล่าวแก่ครูปานว่า ‘พี่อยากสอนลูกพระพุทธเจ้า’ ทุกวันอาทิตย์ครูปานต้องนั่งรถเมล์จากอยุธยาไปพรอเมอนาร์ดที่ปาร์คนายเลิศ เพื่อศึกษาผลงานของศิลปินระดับโลกตามที่ครูโตให้โจทย์ไว้

“ให้เราศึกษาว่าใช้สีอะไร สีนี้ผสมยังไง ไม่ใช่แค่บีบจากหลอด อย่างรูปผลส้ม ก็ต้องมีสีเหลือง ข้างล่างเป็นสีน้ำตาล ใส่สีฟ้าสีเทาเข้ามานิดหนึ่ง พอครูโตสอน ครูปานก็จับทางได้ถูก จนเพื่อนนักเรียนด้วยกัน อย่างพี่เหมี่ยว (ปวันรัตน์ นาคสุริยะ) พี่ปุ๊ย (ผอูน จันทรศิริ) พี่พล (ตัณฑเสถียร) พี่ทิปปี้ (สุพรทิพย์ ช่วงรังษี) ทุกคนจะแซวว่าน้องเณรเอาเครื่องก็อปปี้มาด้วยเหรอ เพราะวาดเหมือนมาก” ครูปานหัวเราะส่งท้ายประโยค

ครูปานเรียนกับครูโตตั้งแต่อายุ 19 ปี จนกระทั่งบวชเป็นพระ และจบเอกอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ถึงตรงนี้เขาต้องไปทำงานรับใช้ศาสนาเป็นเวลาหนึ่งปีตามเงื่อนไขของมหามกุฎฯที่วัดหนองเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ผลงานที่ครูปานภูมิใจคือการสอนภาษาอังกฤษให้อายุ จือปา แห่งกาแฟอาข่าอาม่า ซึ่งทุกวันนี้มีชื่อเสียงในแวดวงกาแฟระดับโลกไปแล้ว หลังจากหนึ่งปีผ่านไปครูปานก็สึกจากร่มกาสาวพัสตร์เพื่อออกมาดูแลครอบครัว

ครูปาน

ผจญโลก

วันแรกที่สึกออกมา ครูกมล ธิโสภา อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งเป็นจิตอาสาสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียน ท่านมีลูกชายเป็นลูกเรือการบินไทย และเห็นแววดีในตัวครูปาน จึงพาเขาไปสอบ TOEIC ได้คะแนนเกือบ 700 ซึ่งจัดว่าสูงพอใช้ เพื่อจะได้สมัครเข้าทำงานการบินไทย แต่ไม่มีตำแหน่ง จึงลงตัวที่แผนก Passenger Service

“ทำงานอยู่ประมาณสองเดือน รู้สึกไม่แฮปปี้เลยไม่มีเวลาดูแลบ้านให้คุณหญิง ได้หยุดอาทิตย์ละวันก็นอนทั้งวัน โทร.หาครูโตบอกว่า ไม่ชอบงานนี้เลยเพราะไม่ได้วาดรูป อยากวาดรูปมาก อยากไปหา ครูโตบอกว่างั้นมาช่วยพี่สอนไหมล่ะ ผมรีบรับคำทันทีก็มีหน้าที่สอนเด็ก เพราะเราชอบเล่นกับเด็กอยู่แล้ว”

แม้รู้สึกว่าชีวิตแฮปปี้ แต่เนื่องจากกลับบ้านดึกมาก ไม่มีเวลาทำความสะอาดบ้านให้คุณหญิง ครูปานจึงตัดสินใจย้ายออกจากบ้านคุณหญิงเช่าห้องเล็ก ๆ แถวจรัญฯ อยู่ และวาดภาพประกอบให้กับนิตยสาร MARS, Marie Claire, ELLE Décor และพลอยแกมเพชร เป็นรายได้เลี้ยงตัว

จนวันหนึ่งครูโตจัดแสดงผลงานภาพวาดดอกไม้ด้วยสีน้ำให้ครูปาน “ครูโตบอกว่าอย่าเพิ่งหาสไตล์ ให้วาดอะไรที่สามารถเป็นของตกแต่งบ้านได้สวย เพราะหาคนวาดภาพดอกไม้สวยแบบโมเดิร์นยากมาก เราก็วาดดอกไม้หนึ่งดอกพื้นหลังโล่งๆ คนก็ชอบ ได้ทีหนึ่ง 1 – 2 แสนบาท ซึ่งถือว่าเยอะนะสำหรับคนเพิ่งทำงาน”

มัณฑนากรระดับโลกชื่อคริสเตียน ลีแยร์ก มองหาคนที่จะวาดภาพตึกโบราณของจีนและคนพายเรือ ขนาด 7 เมตร ครูปานไม่รีรอที่จะรับงาน แต่เนื่องจากห้องเช่าเล็กเนื้อที่ไม่พอให้ตั้งแคนวาส จึงขออนุญาตครูโตใช้มุมหนึ่งของวังบ้านหม้อเป็นที่วาดรูปนี้ ซึ่งใช้เวลาวาดนานหนึ่งเดือนเต็ม ๆ ปรากฏว่าลูกค้าที่นิวยอร์กชอบมาก และว่าจ้างให้วาดรูปนี้เพิ่มอีกรูปหนึ่ง ด้วยความเกรงใจครูโต เขาจึงมองหาคอนโดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่หาเท่าไรก็ไม่ถูกใจ จนวันหนึ่งคุณโลเล (ทวีศักดิ์ ศรีทองดี) ศิลปินชื่อดังบอกว่า เพื่อนจะขายคอนโดเก่า ครูปานจึงไปดู ปรากฏว่าแม้สภาพโทรมมาก แต่พอเปิดหน้าต่างออกไปเห็นวิวพระที่นั่งอนันตสมาคมในระดับสายตาพอดี พลางคิดว่าตกกลางคืนต้องสวยมาก ดูสเปซแล้วสามารถวางรูปใหญ่ได้ ก็เลยซื้อ

ครูปาน

ตอนนั้นชื่อของครูปานเป็นที่รู้จัก และเริ่มมีแฟนคลับแล้ว เพื่อนที่สิงคโปร์โทร.มาบอกว่าจะทำแกลเลอรี่ และกำลังหาศิลปินอยู่ ครูปานจึงเอาไปแสดงในงาน Affordable Art Fair ที่สิงคโปร์ 30 ชิ้น “ตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่าจะขายได้ไหม เพราะไม่มีชาวต่างชาติคนไหนรู้จักเราเลย แต่ปรากฏว่าผ่านไปสามวัน รูปขายหมดเกลี้ยง คนก็ตกใจว่าทำไมแกลเลอรี่นี้ขายดีมาก หนังสือพิมพ์ Straits Times ของสิงคโปร์เขียนเลยว่า ต้องไปบูธของศิลปินไทยที่ชื่อ สมนึก ปาน คลังนอก นะ เพราะทำสถิติขายรูปใน VIP night ได้เยอะสุด จำได้ว่านั่งอยู่ในร้านกาแฟไซเซงฮวด อ่านบทความด้วยความตื่นเต้นจนเก้าอี้ล้มเลย ขำกันจะตาย (หัวเราะ)”

จากนั้นเขาก็ได้ไปแสดงงานที่ฮ่องกง อัมสเตอร์ดัมสิงคโปร์อีกสิบกว่าหน จนเจ้าของงาน Affordable Art Fair มาบอกว่า ฉันชอบงานยูมากเลย ช่วยไปแสดงที่นิวยอร์กด้วยได้ไหม ซึ่งเป็นความฝันของครูปานเลย เพราะนิวยอร์กเป็น vibe ที่ดีที่สุดในการขายงานศิลปะ

ครูปานนิยามสไตล์งานของตนเองว่า Modern Portrait “ด้วยความที่เรารักษาศีล 227 ข้อมานานทำให้รู้สึกว่าฉันไม่มีสไตล์เลย ก็มาคิดว่าวันนี้ฉันลองวาดอะไรที่ไม่คิดจะวาดดีกว่า รูปคนนี่แหละ แต่วาดตาให้โตขึ้น หน้าผากสูงขึ้น ผมจากที่เคยสลวยเรียงเส้นก็ทำให้เป็นฟอร์ม ตรงลงมาแล้วเป็นลูกตุ้มกลม ๆ แขนยาว ขายาว มือยาว มันอาจผิดส่วน แต่เป็นสัดส่วนที่เราคิดมาแล้วว่าชอบ ตั้งชื่อว่าหญิงตุ้ม พอวาดปุ๊บก็เขียนไว้เลยว่า Love at first sight ฉันเจอตัวเองแล้ว แล้วจากนั้นก็กลายเป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้

แล้วรูปนกที่อยู่บนหัวของหญิงตุ้มเล่าหมายความว่าอย่างไร เราถามต่อ “เมื่อก่อนไม่มีนก แต่อยู่มาวันหนึ่งมองรูปตัวเองแล้วรู้สึกว่าทำไมรูปนี้เหงาจังเลย ไหนลองเติมนกสิ พอเติมเข้าไปโอ้โห…มันหายเหงา ก็เลยให้นกเป็นเครื่องหมายแทนคำว่าเพื่อน แล้วก็ไม่ใช่ดอกไม้ด้วยนะครับ เพราะดอกไม้เคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่เหมือนนกหรือผีเสื้อ นกมีอิสระที่จะบินไปไหนก็ได้ แล้วจะกลับมาเกาะไหล่เราก็เชิญตามสบาย”

ครูปาน

งานของครูปานนอกจากจะเป็นภาพวาดที่สวยงามแล้ว ยังมีคำบรรยายที่แฝงความหมายเอาไว้อย่างแยกไม่ออกอีกด้วย “มีภาพหนึ่งที่เป็นเด็กผู้หญิงชื่อโคคูนตัวเล็ก ๆ มองบอนไซ แล้วเราเขียนว่า ชีวิตมันเล็กนิดเดียวปัญหาจะใหญ่ไปได้ยังไง ซึ่งเป็นข้อคิดที่สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายกองค์ก่อนท่านนิพนธ์ไว้ในหนังสือ แล้วผมชอบมาก ก็เลยเอาข้อความนี้มาวาดภาพนี้ ปรากฏว่าตรงใจผู้ชมมาก ทำให้มองโลกในแง่ดีมากขึ้น ครูปานไม่เคยพูดอะไรแง่ลบ เพราะไม่มีประโยชน์ ครูปานไม่เคยคิดว่าตัวเองต่ำต้อยยากจน แต่กลับมองว่าชีวิตสอนเราหมด ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า อะไรที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นประสบการณ์แบบไหนมากกว่า”

แม้จะเติบโตจากท้องไร่ท้องนา แต่มาวันนี้ครูปานมาถึงจุดที่พร้อมทุกอย่าง เขามีวิธีคิดอย่างไร

ครูปานโชคดีที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองด้อยค่าเลย มีความสุขแบบเรียบง่าย เพราะการบวชทำให้เรามีความสุขง่ายเงื่อนไขน้อย เข้าใจความเปลี่ยนแปลง สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ เพราะชีวิตไม่ได้ยิ่งใหญ่ ไม่มีทุกข์อะไรที่ใหญ่เกินไป ไม่มีสุขอะไรที่ล้นเกิน จะร่ำรวยหรือใหญ่โตแค่ไหน ก็หนีการเกิดแก่เจ็บตายไม่ได้ เรามีบุญแค่ไหนที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้มีโอกาสทำความดีทำบุญ”

ครูปาน – สมนึก คลังนอก

ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ใน HELLO! VOL.18 NO.5 วางแผงแล้ววันนี้!

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.