สัมผัสชีวิตศิลปิน ‘สุรเดช แก้วท่าไม้’ กับคำกล่าว “ถ้าเกิดใหม่ได้ ผมอยากเกิดเป็นศิลปินอีก”
“ตั้งแต่จำความได้ผมก็ชอบวาดรูปมาโดยตลอด” สุรเดช แก้วท่าไม้ หรือคุณเดช ย้อนความหลังถึงวัยเด็กของตนเองด้วยนัยน์ตาเป็นประกายระหว่างที่พาเราเดินชมบ้านสี่ชั้นอันร่มรื่นเย็นสบายในย่านฝั่งธน กับคุณโอ๋ (ปุสตี แก้วท่าไม้) ผู้เป็นภรรยา และคุณโอบ (สิปปกร แก้วท่าไม้) คุณเอื้อ (สิปปภาส แก้วท่าไม้) ลูกชายฝาแฝด ทั้งครอบครัวแก้วท่าไม้ที่วันนี้ คุณเอิง (อัญญา แก้วท่าไม้) ลูกสาวคนโตติดภารกิจจึงไม่ได้มาร่วมวงด้วย

“พ่อผมเป็นครูโรงเรียนประชาบาล วัดบางยาง ผมไม่ค่อยเห็นพ่อวาดรูป รู้แต่ว่าพ่อลายมือสวยมาก และจะสอนศิลปะด้วยวิธีการเล่าให้ฟัง เพื่อกระตุ้นจินตนาการแล้วพ่อก็ให้กระดาษใช้แล้วด้านหนึ่งกับสีที่เหลือ ๆ แก่ผมใช้ฝึกวาดรูป ไม่นานหลังจากนั้นผมไปเจอปฏิทินเล่มหนึ่งในลิ้นชักของพ่อ เป็นผลงานภาพวาดของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต แล้วเกิดความประทับใจมาก ผมจึงท่องชื่อนี้เอาไว้ พลางคิดว่าศิลปินผู้นี้นี่แหละ…ครูที่เราจะเจริญรอยตาม”
แม้คนทั่วไปจะมองว่าอาชีพศิลปินเป็นอาชีพไส้แห้ง แต่คุณพ่อของเขากลับคิดตรงกันข้าม ท่านส่งเสริมลูกชายคนนี้อย่างเต็มที่ ส่วนคุณแม่ก็ไม่คัดค้าน ผิดกับคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อน ๆ เขาที่ห้ามลูกเรียนศิลปะ เพราะกลัวว่า รายได้จะไม่พอเลี้ยงตัว เขาได้เข้าเรียนศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ตามด้วยเอกจิตรกรรม ที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรสมใจ
“ผมชอบศิลปะทุกสาขาเลย เพนต์ก็ชอบ ปั้นก็ชอบศิลปะไทยก็ชอบ ทำให้ตอนสอบรู้สึกสับสนเหมือนกันว่าจะเรียนสาขาไหนต่อดี ผมสอบติดเพาะช่าง สาขาศิลปะไทย กับคณะจิตรกรรมฯ ศิลปากร เลยตัดสินใจเลือกเรียนศิลปากร เพราะเรียนรวดเดียวจบปริญญาตรีเลยถ้าเรียนเพาะช่าง ต้องเรียนต่อหลายแห่งกว่าจะจบปริญญาตรี”

สนุกกับกิจกรรมจนเกือบเรียนไม่จบ
เมื่อเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ แล้ว คุณเดชก็สนุกกับการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาก ซึ่งเขาบอกว่าเป็นห้วงเวลาแห่งการค้นหาตัวเองที่แท้เทียวแม้ว่าปกติจะเป็นคนขี้อายก็ตาม “ตอนเด็ก ๆ ผมชอบร้องเพลง แต่ไม่กล้าร้องให้คนอื่นฟัง จะให้แสดงก็กลัวเวที แต่พอมาอยู่จิตรกรรมเขาสอนให้เราเป็นตัวของตัวเองมาก กล้าในสิ่งที่ควรกล้า และมุ่งเน้นให้ทุกคนมีอัตลักษณ์สูง ชีวิตนักเรียนศิลปะจึงเป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ได้ โดยมีศิลปะเป็นศาสนาที่เราศรัทธาเหมือนกันศิลปากรจึงเหมือนวัดที่เราบวช จำพรรษา ท่องมนต์และฝึกปฏิบัติด้วยกันตลอดเวลาห้าปี ทำให้ศิษย์เก่าทุกรุ่นทุกคนผูกพันกันมาก”
เมื่อเปี๊ยก โปสเตอร์ จะทำหนังเรื่อง ‘กลิ่นสีและกาวแป้ง’ และกำลังหานักแสดงที่เหมาะ ๆ อยู่ ซึ่งตัวละครนี้มีแม่เป็นชาวสวน และปากจัดหน่อย เพื่อนร่วมรุ่นที่ศิลปากรอย่างติ๊ก กลิ่นสี จึงแนะนำเขาแก่ผู้กำกับ ทำให้ได้เล่นบทนี้ จากนั้นเขาก็เล่นละครอีกหลายเรื่อง และได้ร้องเพลงประกอบหนังของท่านมุ้ย ตามคำชวนของพิเศษ สังข์สุวรรณ รุ่นพี่ที่คณะโบราณคดี ศิลปากร ทำให้เขาเริ่มแบ่งเวลาไม่ได้ จึงใช้เวลาเรียนนานกว่าเพื่อนครึ่งปี
เมื่อใกล้ทำวิทยานิพนธ์ มีชาวเยอรมันชื่อ Joachim Siegrist ติดต่อผ่านอาจารย์อิทธิพลตั้งโฉลก ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเขา บอกว่าชอบผลงานและจะให้ทุนไปดูงานศิลปะตามพิพิธภัณฑ์ในเยอรมนีเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยซื้ออุปกรณ์วาดภาพให้ด้วย เพื่อคัดลอกผลงานของศิลปินชั้นครูยุคโรแมนติกและผลงานของ Dante Gabriel Rosetti ศิลปินแนว Pre-Raphaelites ตัวเอ้
“ถ้ามองย้อนกลับไป งานผมอาจไม่โดดเด่นมากแต่เป็นงานที่น่าสนใจ ก็จะได้ติดบอร์ด ได้ A เพราะเป็นงานที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่เฉพาะตัว เป็นงานแนวหวานด้วยเส้นสายสีแสง และออกโทนเขียวโดยที่เราไม่รู้ตัวจนไม่อยากให้ซ้ำ ผมก็จะใช้สีที่สามเพิ่มเข้ามาจากคู่สีที่เป็นคู่กัดกันอย่างสีเขียวและสีม่วง เพื่อให้มีฮาร์โมนี เพื่อนผมบอกว่า เดชนายเกิดผิดยุค น่าจะไปเกิดในยุคโรแมนติก อิมเพรสชั่นนิสม์ Pre-Raphaelites หรือไม่ก็ Art Nouveau มากกว่า วัยเด็กผมเป็นเบ้าหลอมที่ทำให้ผมยังคงทำงานศิลปะจนถึงทุกวันนี้ สังเกตว่างานผมนอกจากจะมีต้นไม้แล้ว ยังมีสายน้ำและสายลม เพราะผมเกิดมากับน้ำ ชีวิตผมผูกพันกับสายน้ำ มีความเคลื่อนไหวของสายลม ภาษาดรออิ้งคือ เส้นมันวิ่งไหวต่อเนื่อง ซึ่งผมชอบ”

หลังจากแต่งงานกับคุณโอ๋ ภรรยาผู้ที่คุณเดชบรรยายว่า “ครั้งแรกที่ผมเห็นคุณโอ๋ ผมรู้สึกว่าเขาหน้าเหมือนนางรำในภาพของอาจารย์จักรพันธุ์มากเลย” คุณเดชกับคุณโอ๋ทำงานอินทีเรียร่วมกับคุณแม่ของภรรยา กระทั่งโชคชะตาพลิกผันอีกครั้งเมื่อเขาได้ขึ้นรถคันเดียวกับอาจารย์ประทีป สว่างสุข
“ท่านถามว่าตอนนี้สุรเดชทำอะไรอยู่ ผมบอกว่าทำงานวาดรูปผนังบ้านให้ลูกค้าวาดลวดลายบนเฟอร์นิเจอร์ ท่านฟังแล้วก็บอกว่ามีอาจารย์ท่านหนึ่งลาออก พอมีเวลามาช่วยอาจารย์สอนไหม เขาจึงได้เริ่มงานอาจารย์พิเศษเมื่อ พ.ศ. 2536 และจากนั้นฟ้าก็เปิดทางให้เขาได้เบอร์โทร.ของอาจารย์จักรพันธุ์ แต่กระนั้นก็ยังไม่กล้าโทร.ไปทันที เพราะอาจารย์จักรพันธุ์เขียนหนังสือโดยใช้นามปากกาว่า ศศิวิมล เขียนงานด้วยสำนวนแสบ ๆ คัน ๆ อย่างเช่นศศิวิมลสับแหลก จึงกลัวว่าหากโทร.ไปและท่านด่าเปิงจะทำอย่างไร จนถึงวันศิลป์ พีระศรี เขาจึงรวบรวมความกล้าโทร.หาท่าน”
“ปรากฏว่าท่านใจดีกับผมเกินคาดพอได้ยินว่าเราเป็นรุ่นน้องท่านที่ศิลปากรท่านรู้สึกเป็นกันเองทันที และอนุญาตให้ผมนำผลงานไปให้อาจารย์ช่วยวิจารณ์และแนะนำ ผมได้ความรู้จากท่านเยอะเลย จากนั้นประมาณหนึ่งเดือน อาจารย์ก็โทร. มาถามผมว่า สุรเดชอยากวาดภาพประกอบลงนิตยสารพลอยแกมเพชรไหม ผมทั้งตกใจและดีใจมาก ดีใจที่จะได้มีผลงานอยู่ในเล่มเดียวกับอาจารย์ที่เราเคารพรัก เริ่มจากเรื่องดอกแก้วการะบุหนิง ของ ดร.วินิตา ดิถียนต์ เป็นแนวลึกลับหน่อย ๆ เกี่ยวกับเจ้าหญิงบาหลี”
ผลงานของเขากลายเป็นที่รู้จักและมีแฟนคลับที่สะสมผลงานของเขา เขาได้วาดภาพประกอบอยู่นานทีเดียว จนกระทั่งนิตยสารปิดตัว เมื่อครั้งที่เขาเริ่มมีคุณเอิง คุณโอบและคุณเอื้อ เข้ามาในชีวิต เขาทุ่มเทเวลาว่างที่มีไปกับการสอนศิลปะให้ลูก “ผมกับโอ๋โชคดีที่ลูกชอบศิลปะ สอนแค่นิดหน่อยเขาก็ไปของเขาเอง ผมมีหน้าที่เก็บกระดาษที่เขาวาดซึ่งเยอะมาก แต่เสียดายที่ส่วนหนึ่งถูกนํ้าท่วมใหญ่ปี 54”
‘โอดิสเซีย’ นิทรรศการศิลปะครั้งล่าสุดของครอบครัวแก้วท่าไม้ จัดขึ้นที่หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา เมื่อเดือนมีนาคมที่ “ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราแสดงงานทั้งครอบครัวครั้งแรกคือเมื่อแปดปีก่อน โอบเอื้ออายุ 13 แสดงที่หอศิลป์วังหน้า”

ที่ผ่านมาคุณเดชเป็นศิลปินที่แทบไม่ส่งผลงานเข้าประกวดเวทีไหนเลย ถึงมีก็น้อยมาก เราจึงถามเขาว่าเพราะอะไร “รูปแบบงานของผมไม่ค่อยเหมาะกับการประกวด งานที่ส่งประกวดต้องแรงด้วยคอนเซปต์ ดูมีเรื่องราวอย่างที่คณะกรรมการต้องการ งานที่เป็นเรื่องราวของความรู้สึกอย่างของผม ไม่หนักแน่นพอสำหรับการประกวด ผมเลยคิดว่าเราอย่าไปเส้นทางนี้เลย อย่างมากก็แสดงงานกับเพื่อน ประกอบกับเราเป็นอาจารย์ทำให้ได้แสดงงานกลุ่มบ่อยอยู่แล้ว เพราะตลอดยี่สิบห้าปีในชีวิตการเป็นอาจารย์ต้องมีกิจกรรมนี้เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว”
คุณเดชยังกล่าวอีกว่า งานศิลปะต้องมี 3 เสา ดังนี้ คือ ฝีมือ ไอเดีย และรสนิยม จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้เพื่อให้งานมีความสมบูรณ์แบบน่าสนใจน่ามองมากยิ่งขึ้น และเมื่อมองย้อนกลับไปตอนที่เขายังอยู่เพียง ป.1เขาเห็นหน้าปกวารสารในห้องสมุดโรงเรียนที่คุณพ่อเขาเป็นครู เป็นรูปนักเรียนเพาะช่างนั่งอยู่กับขาหยั่งศิลปะเขาบอกคุณพ่อว่า โตขึ้นอยากเป็นแบบนี้
“เส้นทางชีวิตผมมีเส้นทางจิตรกรแค่เพียงเส้นเดียวแต่เป็นเส้นที่ยาวมาก ก็เดินทางไปเรื่อย ๆ อาจมีบางช่วงบางตอนของชีวิตทีี่เจอทางแยก แล้วเราก็หลงเลี้ยวออกไประยะหนึ่ง ก่อนจะกลับมายังเส้นทางหลัก มาวันนี้ผมดีใจและภูมิใจที่ตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ โดยมีผู้สนับสนุนที่ให้กำลังเราเยอะมาก”

แล้วเขาเตรียมการณ์อย่างไรไว้สำหรับอนาคตข้างหน้า “เวลาที่เหลือของผมซึ่งไม่รู้ว่ามากน้อยขนาดไหนผมอยากสร้างสรรค์งานต่อไปให้มากที่สุด และอยากตอบแทนสังคมด้วยการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์กลางน้ำที่วัดแถวบ้าน เพื่อเป็นการตอบแทนที่เราได้ใช้น้ำในสระที่ตั้งโบสถ์เป็นน้ำดื่มน้ำใช้ ยามหน้าร้อนที่น้ำตามธรรมชาติเป็นน้ำเค็มหมด และผมอยากสอนศิลปะเด็กมาก ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการสอนลูก ผมอยากปลูกเมล็ดพันธุ์ความชอบศิลปะให้กับเด็กรุ่นใหม่ ผมเคยคิดอยากทำยูทูบอยู่เหมือนกัน แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ได้ทำเลย (หัวเราะเบาๆ)”
ผมไม่รู้เลยว่าชาติหน้าผมจะได้เกิดอีกหรือเปล่า ถ้าหากเราทำกุศลเรื่องนี้ก็อาจเป็นการสั่งสมบารมีสำหรับภายภาคหน้า เพราะถ้าเกิดใหม่ได้ชาติหน้าผมก็อยากเกิดเป็นศิลปินอีก”
สุรเดช แก้วท่าไม้
ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ใน HELLO! VOL.18 NO.5 วางแผงแล้ววันนี้!