Power Of Giving พลังแห่งการให้จากหัวใจของ ‘ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา’ คณบดีแห่งคณะแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ถึงจะอยากเป็นวิศวกร ณ จุดเริ่มต้น แต่เมื่อได้เป็นแพทย์ในที่สุด ก็มองว่าอาชีพนี้มีข้อดีที่เปิดโอกาสให้ได้ช่วยเหลือผู้คน
ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา ย้อนเล่าเส้นทางชีวิตและการทำงานที่ผ่านมาแล้วหลากหลายบทบาท ทั้ง ‘แพทย์’ ‘อาจารย์’ และ ‘นักบริหาร’ พร้อมเผยถึงสิ่งที่จะทำต่อไปหลังการอำลาตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
แพทย์ผู้หลงใหลในเครื่องยนต์กลไก
ศ. นพ.ปิยะมิตร เริ่มเล่าย้อนถึงช่วงวัยเด็กว่าเคยฝันอยากเป็นวิศวกร แต่สุดท้ายเส้นทางชีวิตได้ขีดให้นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ชื่นชอบเรื่องราวของเครื่องยนต์กลไก ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
“ตั้งแต่เป็นเด็กจนโตมาถึงช่วงเรียนม.ปลาย ไม่เคยมีความคิดจะเรียนแพทย์มาก่อน ส่วนตัวชอบการเรียนและการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์หรือคอมพิวเตอร์ ทำให้อยากเป็นวิศวกรมากกว่า แต่พอได้ทราบว่าที่คณะแพทย์ของรามาธิบดีมีส่วนผสมของความเป็นหมอ และความเป็นนักวิทยาศาสตร์เลยเกิดความสนใจ จาก 6 อันดับในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย อันดับ 1 เป็นแพทย์รามาธิบดี ส่วนอีก 5 อันดับเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั้งหมด ผลออกมาว่าสอบติดในอันดับแรก ชีวิตเลยผกผันมาทำอาชีพนี้จนถึงปัจจุบัน”
เส้นทางสู่คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ก่อนจะเดินทางมาถึงตำแหน่งแพทย์นักบริหารในปัจจุบัน ศ. นพ.ปิยะมิตร ได้ผ่านหลากหลายประสบการณ์ทั้งในแง่การทำงานและการใช้ชีวิต
“เมื่อจบเป็นแพทยศาสตรบัณฑิตที่รามาธิบดี ได้เลือกไปเป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีอยู่ 2 ปี เป็นประสบการณ์ที่ดีและสนุกมาก เป็นสถานที่ที่บ่มเพาะให้เราทำทุกอย่าง ด้วยจำนวนแพทย์ที่มีอยู่เพียง 4 คน บวกกับการเดินทางระหว่างตัวเกาะกับฝั่งค่อนข้างลำบากในช่วงเวลานั้น เคสฉุกเฉินต้องช่วยกันทำเองทั้งหมด ทำให้ได้สั่งสมความรู้และประสบการณ์ และในขณะเดียวกันก็ได้ใช้ชีวิตในแบบที่ชอบ นั่นคือการอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และได้ดำน้ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เลือกทำในเวลาว่างมามากกว่า 30 ปี”
หลังจากใช้ทุนได้กลับมาเป็นแพทย์ประจำบ้านเพื่อฝึกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์หัวใจที่รามาธิบดี จากนั้นหัวหน้าภาควิชาและคณบดีในสมัยนั้นได้ชักชวนให้มาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษา โดยได้รับการบรรจุตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
และต่อมาได้รับทุนของ British Council ไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอายุรศาสตร์หัวใจที่โรงพยาบาลแฮมเมอร์สมิธ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะกลับมาสอนหนังสือ ทำงานมาจนถึงช่วงอายุ 40 ต้นๆ ได้มีโอกาสทำหน้าที่ในฝ่ายบริหาร เริ่มจากรองคณบดีด้านสารสนเทศ และมาถึงปัจจุบันกับตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรม
ตลอดระยะเวลา 8 ปีในฐานะคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สิ่งที่ ศ. นพ.ปิยะมิตร ยึดถือเป็นแกนหลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลงคือ การใช้นวัตกรรม
“สิ่งที่เราทำมาโดยตลอด คือการสร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องกับ 3 พันธกิจหลักของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งประกอบด้วย 1. การวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อนำมาช่วยเหลือประชาชน สำหรับงานวิจัยใหญ่ๆ ที่เราได้ผลักดันเกิดขึ้น อาทิ การผลิตเม็ดเลือดขาวเพื่อรักษาโรคมะเร็ง โดยหลังจากที่การวิจัยประสบความสำเร็จจะมีการจดสิทธิบัตร และต่อยอดไปสู่การผลิตใช้จริง
2. การศึกษา นวัตกรรมด้านการศึกษาที่โดดเด่นของเรา คือการริเริ่มหลักสูตรร่วมระหว่างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้ชื่อว่า ชีววิศวกรรมทางการแพทย์ (Biomedical Engineering) โดยผู้ที่จบหลักสูตรนี้จะเป็นแพทย์ที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเราหมายมั่นให้แพทย์กลุ่มนี้ทำงานเป็นนวัตกรที่จะมาสร้างสิ่งประดิษฐ์และเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ๆ ให้กับคนไทย นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรแพทย์นักบริหารที่เราร่วมมือกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเพิ่มทักษะการบริหารให้กับแพทย์ที่อาจจะมีโอกาสเติบโตไปทำงานในฝ่ายบริหารในอนาคต
และ 3. การให้บริการรักษาพยาบาล ความที่เป็นสถานพยาบาลระดับ Super Tertiary Care เมื่อโรงพยาบาลหรือศูนย์ใดไม่สามารถรักษาได้ ก็จะส่งคนไข้มาที่เรา สิ่งที่รามาธิบดีทำคือการใช้นวัตกรรมที่มีทั้งหมดอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาโรคหายาก โรคที่มีความซับซ้อน รวมไปถึงการดูแลผู้ป่วยขั้นวิกฤติ ทั้งนี้เรายังให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกต้องและทันเวลาเพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพได้ด้วยตัวเองผ่านทาง Rama Channel”
มูลนิธิรามาธิบดีร่วมสาน 3 พันธกิจหลัก
อีกหนึ่งหน้าที่ที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับ ศ. นพ.ปิยะมิตร คือการเป็นหนึ่งกำลังสำคัญในการระดมทุนให้กับมูลนิธิรามาธิบดี
“จุดประสงค์ของการก่อตั้งมูลนิธิรามาธิบดี ส่วนหลักคือเพื่อช่วยสนับสนุนทั้ง 3 พันธกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีปลายทางเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่มีความขาดแคลน เนื่องจากในบางกรณีของการเจ็บป่วย จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์หรือการรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และไม่ครอบคลุมสำหรับผู้ที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนไต ซึ่งเป็นสิ่งที่เร่งด่วนและรอไม่ได้ โดยเราได้ทำการเปลี่ยนไตให้กับคนไทยไปมากกว่า 3,000 รายตลอดระยะเวลาราว 20 ปีที่ผ่านมา และนอกจากการดูแลผู้ป่วย ทางมูลนิธิยังจัดสรรเงินทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับญาติผู้ป่วยที่เดินทางมาเฝ้าไข้อีกด้วย”
“ขณะเดียวกันในเชิงของการวิจัย มูลนิธิให้การสนับสนุนเงินทุนสำหรับงานวิจัยมากมาย ทำให้เราได้องค์ความรู้ใหม่ ซึ่งสร้างประโยชน์ให้ทั้งในแง่ของการศึกษา การพัฒนาขีดความสามารถให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในแขนงต่างๆ รวมไปถึงการยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาล”

สะพานแห่งการให้ของคนไทยทั้งประเทศ
ด้วยปณิธาน “คำว่าให้ไม่สิ้นสุด” มูลนิธิรามาธิบดีจึงพร้อมเสมอที่จะเป็นสะพานให้บุคคลจากทุกวงการและภาคส่วน รวมถึงประชาชนได้มีส่วนใน ‘การให้’ ร่วมกัน
“มูลนิธิรามาธิบดีเป็นองค์กรที่ทำงานแบบเชิงรุก ส่วนหนึ่งเราทำการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้การระดมทุนในโปรเจกต์ต่างๆ ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการเชิญนักแสดง ศิลปินมาร่วมงานอีเวนต์ การจัดประมูลภาพเขียนของศิลปินแห่งชาติ การจัดละครเวทีรอบการกุศล อย่างเช่น สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล พิษสวาท เดอะมิวสิคัล ที่เราร่วมมือกับ คุณบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ“
“จากกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มูลนิธิเป็นที่รู้จัก และแน่นอนว่าเป็นที่มาของการสนับสนุนที่เพิ่มและมากขึ้นในแต่ละปี อย่างสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นอีกโปรเจกต์ใหญ่ที่สำเร็จได้จากเงินบริจาคจากประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการผลิตแพทย์และพยาบาลรุ่นใหม่ ซึ่งพวกเขาจะใช้ความรู้ ความสามารถไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศ”
พลังแห่งการให้ที่ไม่สิ้นสุด
แม้จะอำลาตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในเดือนธันวาคมที่จะมาถึง ศ. นพ. ปิยะมิตร จะยังคงเป็นกำลังสำคัญของมูลนิธิรามาธิบดี ในการสานต่อ 2 โปรเจกต์สำคัญอย่างศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา และโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี
“หลังจากนี้ผมจะยังทำงานกับมูลนิธิรามาธิบดีต่อไป พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดัน 2 โปรเจกต์ใหญ่ที่ยังต้องการเงินทุนอีกมาก หนึ่งคือศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยาที่จะเป็นตัวช่วยในการลดความแออัดของโรงพยาบาลรามาธิบดีพญาไท เป็นตึก 29 ชั้นที่เชื่อมกับบีทีเอสพญาไท งบประมาณการสร้างประมาณ 4,000 ล้านบาท เน้นการให้บริการโอพีดีในด้านต่างๆ โดยจะเริ่มเปิดให้บริการช่วงปลายปีนี้ใน 8 ชั้นแรกก่อน”
“อีกโปรเจกต์คือโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี โดยเราได้ที่ดินขนาด 16 ไร่ขององค์การเภสัชกรรมมา เนื่องจากมีการย้ายส่วนการผลิตไปอยู่ที่รังสิตคลอง 4 เราจึงขอใช้พื้นที่เพื่อสร้างเป็นตึกขนาดประมาณ 270,000 ตร.ม. สูง 25 ชั้น จะเปิดบริการให้กับประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ นอกจากนี้ยังจะใช้เป็นแหล่งรวมของการศึกษาวิจัยขององค์กรทางการแพทย์ต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในย่านนี้ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินทุนโดยประมาณ 20,000 ล้านบาท”
ปัจจุบันเริ่มมีการบริจาคเข้ามาแล้ว แต่เรายังคงต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมอีกมาก ส่วนตัวเชื่อว่านี่จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราจะได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากผู้บริจาคทั่วประเทศ ด้วยทุนสังคมและทุนปัญญาที่เราสั่งสมตลอดระยะเวลา 54 ปี”
