เอ็กซ์คลูซีฟเผย 2 บทบาทสำคัญในชีวิต..เป็นทั้ง แพทย์ และ ครู ของ ‘ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ’
ความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีในปัจจุบันพาให้โลกทั้งใบพัฒนาไปอย่างไม่หยุด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของการศึกษาด้านการแพทย์ อย่างไรก็ตาม หากไร้ซึ่งผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญและผลักดันให้เกิดการพัฒนา ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่น ในฐานะคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ‘ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ’ เป็นหนึ่งในผู้ที่มีวิสัยทัศน์และมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มหลักสูตรนานาชาติ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ด้านแพทยศาสตร์ ตลอดจนการจัดตั้ง Chulalongkorn School of Global Health สถาบันสุขภาพสำหรับการบริหารจัดการหลักสูตรบัณฑิตศึกษานานาชาติ และขับเคลื่อนงานวิจัยคุณภาพระดับสากล ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนแพทย์ ก้าวสู่การเป็นแพทย์เต็มตัว จนได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในส่วนงานบริหาร
โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ไม่เคยหยุดความมุ่งมั่นในการพัฒนา แม้ในวาระที่จะเกษียณอายุราชการในปี 2564 นี้ ก็ยังพร้อมถ่ายทอดอุดมการณ์ที่ดีสำหรับแพทย์รุ่นต่อไป

จุดเริ่มต้นของวิชาชีพแพทย์
ความตั้งใจที่อยากประกอบวิชาชีพแพทย์ของศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ชั้นมัธยม ด้วยความคิดที่ว่าการเป็นแพทย์นั้นเป็นอาชีพที่มั่นคง ทั้งยังสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคม และช่วยเหลือผู้คนได้ เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์สุทธิพงศ์จึงทำเต็มที่ และเลือกศึกษาในสาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ด้วยความมุ่งมั่น “การเป็นหมอเด็กเป็นสิ่งที่ผมสนใจ เนื่องจากพื้นฐานเป็นคนชอบเด็ก และมีความสุขกับการได้ดูแลคนที่กำลังพัฒนา”
หลังสำเร็จการศึกษาและใช้ทุนเรียบร้อย อาจารย์สุทธิพงศ์จึงไปเรียนต่อที่ The Royal College of Physicians of the United Kingdom ประเทศอังกฤษ โดยมุ่งศึกษาเกี่ยวกับโรคทางกุมารเวชศาสตร์ และกุมารเวชศาสตร์ต่อมไร้ท่อ
“จุดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นโลกกว้างมากขึ้นและยังเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดความคิดว่าอยากให้ประเทศไทยเป็น Education Hub ด้านการแพทย์ ช่วงที่เรียนผมไปทำงานที่ Great Ormond Street Hospital ในนั้นจะมีสถาบันสุขภาพเด็ก Institute of Child Health ที่มีแพทย์จากต่างประเทศ เช่น จากตะวันออกกลาง เอเชีย หรือประเทศในเครือสหราชอาณาจักร เข้ามาศึกษาหลักสูตรต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมากมาย ผมมองว่าหากสามารถทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย น่าจะดึงดูดให้แพทย์ในภูมิภาคเข้ามาเรียนได้มาก” อาจารย์สุทธิพงศ์กล่าว
หลังจากที่กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ที่จุฬาฯ ในปี 2540 นอกเหนือจากการสอนและการรักษาผู้ป่วย อาจารย์สุทธิพงศ์ ยังเป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้งสมาคมต่อมไร้ท่อเด็กในภาคพื้นแปซิฟิก มีการติดต่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และวิทยาการจากต่างประเทศ รวมทั้งการเดินทางไปสอนหลักสูตรสั้นๆ ให้กับนักเรียนแพทย์ในประเทศ
เมียนมา ปากีสถาน ฯลฯ
มุ่งมั่นสู่ความเป็นนานาชาติ
แรงบันดาลใจของการสร้างความเป็นนานาชาติให้เกิดกับการเรียนการสอนด้านแพทยศาสตร์ ถูกทำให้เห็นเป็นรูปธรรมเมื่อ อาจารย์สุทธิพงศ์ ได้รับตำแหน่งเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึง 2 เทอม
“เริ่มต้นเราพยายามพัฒนาความเป็นนานาชาติของหลักสูตร โดยการดึงเด็กนักเรียนที่มีศักยภาพด้านภาษาและวิชาการเข้ามาเรียนในหลักสูตรแพทย์ จากนั้นจึงวางกลยุทธ์ด้วยการเปิดหลักสูตร International Program ที่รู้จักกันในชื่อ CU-MEDI เปิดโอกาสให้คนที่เรียนจบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้เข้ามาเรียนแพทย์ 4 ปี ลักษณะเดียวกับโรงเรียนแพทย์ในสหรัฐอเมริกา แต่มีข้อแม้ว่าต้องสอบผ่าน MCAT ข้อสอบที่รับนักเรียนแพทย์ในอเมริกา” ปัจจุบันหลักสูตรดังกล่าวเปิดสอนไปแล้วหนึ่งรุ่น ผู้เรียนมีทั้งที่จบในด้านวิศวกรรมศาสตร์ ทันตแพทย์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ในอนาคตมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย ตอบโจทย์เรื่องการเรียนรู้แบบข้ามศาสตร์ที่จะเป็นที่ต้องการในอนาคต

“นอกจากหลักสูตรนานาชาติ เรายังมองว่าในโรงพยาบาลจุฬาฯ เรามีอาจารย์แพทย์ที่เก่งมากมาย แต่ยังไม่มีแพลตฟอร์มที่จะรวบรวมอาจารย์มาอยู่ร่วมกันได้ เหตุนี้จึงเป็นที่มาของ Chulalongkorn School of Global Health เพื่อสนับสนุนการศึกษาในหลักสูตรหลังปริญญาตรี ไม่ว่าจะเป็นปริญญาโท ปริญญาเอก หรือ Non-degree Course อื่นๆ รวมถึงพัฒนางานวิจัยให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น โดยรวมแล้วจะเป็นทั้งการสร้างคนและสร้างองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการแพทย์ของไทยให้ก้าวสู่ความเป็นนานาชาติได้เป็นอย่างดี”
คุณสมบัติของแพทย์ยุคใหม่
ในโลกของงานวิชาการ การแพทย์มีการพัฒนาไปอย่างกว้างไกล โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการการเรียนรู้ ตลอดจนการเรียนในรูปแบบของการข้ามศาสตร์ที่ช่วยเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ๆ อาจารย์สุทธิพงศ์ให้ทัศนะว่าการทำงานในวิชาชีพแพทย์ในปัจจุบัน นอกจากต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยี ยังต้องเปิดใจกว้างในการเปิดรับศาสตร์ด้านอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้ในทางการแพทย์
“ส่วนสำคัญที่แพทย์รุ่นใหม่ควรมีคือความเป็น Leadership ในการนำองค์กร รวมถึงต้องมี Global Concern ไม่ได้มองแค่เฉพาะศาสตร์ของเรา และต้องคิดว่าการพัฒนาด้านการแพทย์นี้เพื่อมุ่งหวังให้คนทั่วโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่แค่เฉพาะคนไทยเท่านั้น อีกเรื่องที่น่าสนใจคือความหลากหลายทางความคิดของคนในปัจจุบัน ที่รวมถึงช่องว่างในช่วงวัย ผมคิดว่าคนเราถ้าจะทำงานไปด้วยกันได้ ต้องพยายามเข้าใจกัน แม้จะมีความหลากหลายแต่ต้องก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ หรือ Constructive Diversity ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความเคารพในความคิดซึ่งกันและกัน เปิดใจรับในสิ่งที่คนอื่นคิด เพื่อจะทำให้ผลที่ออกมาเกิดความสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่รุ่นสิ่งนี้ยังใช้ได้เสมอ”

วาระหลังเกษียณ
แม้การทำหน้าที่ผู้บริหารมากว่า 6 ปี จะครบวาระในปีนี้ แต่ภารกิจของการเป็นแพทย์และครูนั้นยังคงอยู่เสมอ อาจารย์สุทธิพงศ์กล่าวว่า “การเป็นผู้บริหารเป็นเพียงแค่การสวมหัวโขน แต่ก็มีข้อดีคือเราสามารถผลักดันให้องค์กรก้าวไปในทิศทางที่เรามุ่งมั่นอยากให้เกิดได้ เมื่อวันหนึ่งทำสำเร็จ เราก็ต้องวางมือให้คนที่มีแนวความคิดใหม่ๆ ได้ขับเคลื่อนต่อ การทำงานในวิชาชีพนี้ สุดท้ายสิ่งที่เราชอบมากที่สุดคือความเป็นแพทย์และความเป็นครู ผมเองพอหมดหน้าที่ตรงนี้ ก็จะกลับไปช่วยงานสมาคมต่อมไร้ท่อเด็ก สอนหนังสือที่ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ด้านต่อมไร้ท่อ รวมถึงช่วยผลักดันให้ School of Global Health ในช่วงเริ่มต้นนี้ให้ไปต่อได้ นอกจากนี้ผมเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเลขานุการ สภากาชาดไทย ก็จะเป็นโอกาสให้ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีช่วยงานของสภากาชาดไทยได้อีกแรงหนึ่ง”