Home > Celebrity > Exclusive Interviews > เอ็กซ์คลูซีฟเปิดพระตำหนักใหญ่แห่งวังเทเวศร์ ของ ‘พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา’

อาคารทรงสี่เหลี่ยมสองชั้นสีขาวงดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ตกแต่งหน้าต่างชั้นบนเป็นซุ้มโค้งกลมประดับกระจกเป็นรัศมีพระอาทิตย์ครึ่งดวง ผนังประกอบด้วยเสาอิงแบบดอริกและไอโอนิก บริเวณสนามด้านหน้าตั้งตุ๊กตาปูนปั้นแบบกรีกและกระถางประดับลายปูนปั้น ซ่อนตัวท่ามกลางหมู่ไม้ภายในรั้วสูง รอต้อนรับผู้ชื่นชอบเสน่ห์ของวัดและวังเก่าให้ได้เป็นจุดหมายใหม่ในการสัมผัสความงามของอดีตชนิดเพลินสายตา ที่แห่งนี้ก็คือ ‘พระตำหนักใหญ่ แห่งวังเทเวศร์’ ที่อายุอานามในวันนี้คือ 124 ปี 

‘พระตำหนักใหญ่ แห่งวังเทเวศร์’ ที่อายุอานามในวันนี้คือ 124 ปี

ในอาณาบริเวณพื้นที่ 18 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ตรงปากคลองผดุงกรุงเกษมที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานวังเทเวศร์แก่พระราชโอรสลำดับที่ 12 ซึ่งประสูติจากเจ้าจอมมารดาอ่วม ธิดาของพระยา
พิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์​ ประสูติเมื่อวันจันทร์ เดือน 7 ปีจอ ในพระบรมมหาราชวัง พระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากร วรลักษณ์​ เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระองค์มักจะถูกล้อเลียนเป็นประจำว่า ‘วันจันทร์ เดือนเจ็ด ลูกเจ้า หลานเจ๊ก’ เนื่องจากพระองค์ประสูติ ‘วันจันทร์ เดือนเจ็ด ปีจอ ลูกพระจุลฯ หลานพระจอมฯ ตัวเป็นเจ้า ตาเป็นเจ๊ก’ 

“น้อยคนนักที่จะมีครบ 7 จ. เหมือนพระองค์ท่าน นอกจากนี้ยังทรงเป็น 1 ใน 4 พระโอรสคณะแรกที่ถูกส่งไปทรงศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ เรียกว่าเป็นยุคบุกเบิกเลย และระหว่างที่พระองค์ยังประทับอยู่ในอังกฤษ พระชนกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักแห่งนี้พระราชทานแก่พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2439 ทรงเป็นพระองค์เจ้าเพียงพระองค์เดียวที่ได้รับพระราชทานพระตำหนักใหญ่ขนาดนี้” พ.อ. เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา หรือผู้พันแซม ผู้ดูแลพระตำหนักใหญ่แห่งนี้บอกกับเรา ตระกูลอนิรุทธเทวาดูแลพระตำหนักมาสองชั่วอายุคนแล้ว ตั้งแต่พระยาอนิรุทธเทวายังมีชีวิตอยู่ 

 

ผู้ดูแล

เจ้าคุณอนิรุทธเทวาย้ายครอบครัวพร้อมทั้งเครื่องเรือนจากบ้านนารายณ์บรรทมสินธุ์ มายังพระตำหนักใหญ่ต่อจากเสด็จในกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ กระทั่ง พ.ศ. 2494 เมื่อเจ้าคุณอนิรุทธเทวาถึงแก่กรรม ผู้พันแซมผู้ดูแลรุ่นที่ 3 ย้อนอดีตไปยังช่วงเวลาก่อนที่เขาจะถือกำเนิดว่า

“หลังจากนั้นครอบครัวของเจ้าคุณปู่ก็ปิดพระตำหนักใหญ่ แล้วย้ายไปอยู่ตามตำหนักบริวารต่างๆ โดยรอบ ซึ่งผมก็ไม่ทราบเหตุผลว่าเพราะอะไร กระทั่งคุณย่า (คุณหญิงเฉลา อนิรุทธเทวา) เสีย คุณพ่อผม (พล.อ. เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา) เสีย พินัยกรรมเริ่มคลาย แต่ก็ไม่น่าจะตกมาถึงผมอยู่ดี เพราะผมเป็นหลานคนสุดท้อง พี่ๆ ผมย้ายเข้ามาก่อน แต่อาจจะเป็นอย่างที่เขาพูดกันว่า ‘บ้านเลือกคนอยู่’ พี่ผมเข้ามานอนอยู่ๆ ได้ยินเสียงทุบประตูห้องดังปังๆๆๆ ทุกสองชั่วโมง จากนั้นได้ยินเสียงกวาดลานรอบพระตำหนักยันเช้า ทำให้เขาต้องย้ายออกแทบไม่ทัน เหลือผมเป็นคนสุดท้าย 

พ.อ. เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา หรือผู้พันแซม

“ตอนที่ผมย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ๆ ผมก็ไม่ค่อยกล้า เพราะได้ยินคำร่ำลือโน่นนี่นั่น ผมเลือกที่จะนอนในห้องเล็กๆ และอยู่แบบหัวถึงหมอนหลับและพอตื่นก็ไปเลย เพราะยังไม่รู้ว่าอยู่ได้หรือไม่ได้ เป็นแบบนี้อยู่นานหนึ่งปี ถึงเริ่มชินว่าไม่มีอะไร จนขึ้นปีที่สอง ราวๆ พ.ศ. 2550 – 51 วันหนึ่งก็มีนิมิต ระหว่างที่ผมหลับอยู่ตอนตีสอง รู้สึกว่าท่านทรงเครื่องยกกระบัติดิ้นทองเสด็จมาเลย แต่ผมไม่กล้าเงยหน้าขึ้นไปมอง ผมจำได้ว่าท่านรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษกับผมว่า ‘If possible, can you bring life back to this house?’ ข้อที่น่าตกใจมากที่สุดก็คือผมดันตอบว่า Yes โอ้โห…พอตื่นเช้ามา เหงื่อผมแตกทั้งตัวเลย 

“เนื่องจากวันแรกที่เข้ามา ผมมีพระรูปท่านไว้กราบไหว้บูชามาตลอดอยู่แล้ว ผมก็เลยจุดธูปไหว้และกราบทูลท่านว่า ‘If this is the case, please lead me the way.’ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินที่ไหนมาซ่อมแซม แม้ว่าผมจะตกปากรับคำท่านไปแล้ว วันนี้ผมเจอลูกหลานท่านไม่ว่าจะเป็นราชสกุลกิติยากร หรือวรวรรณ ทุกท่านก็ยืนยันว่าเสด็จทวดโปรดที่จะตรัสภาษาอังกฤษ เพราะทรงใช้ชีวิตในอังกฤษเป็นสิบปี ผมจึงถึงบางอ้อว่าเพราะอะไรท่านถึงรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ และแน่ใจว่าต้องเป็นท่านแน่ๆ”

นับจากวันที่เจ้าคุณปู่สิ้นจนถึงวันที่ผู้พันแซมย้ายเข้ามานั้น พระตำหนักใหญ่ได้ถูกปิดตายไป 50 ปี เขาใช้เวลานาน 12 ปีในการซ่อมแซมและวางระบบน้ำไฟภายในพระตำหนัก ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความพยายามทุ่มเทชนิดถวายหัวใจให้เลย โดยเริ่มจากชั้นบนลงชั้นล่าง จากภายในสู่ภายนอกพระตำหนัก

“ที่ต้องใช้เวลานานก็ด้วยเหตุว่า ปีไหนสตางค์ผมเหลือเยอะก็ทำเยอะ ปีไหนสตางค์ผมเหลือน้อยก็ทำน้อย กับอีกข้อคือ การจะบูรณะวังเก่าให้สมพระเกียรติ ต้องใช้เวลา รีบไม่ได้ คนที่มาช่วยผมปรับปรุง เคยทำบ้านหลังอื่นให้ผมมาก่อน ก็จะมาดีเบตกันว่าตรงนี้ควรทำยังไง ตรงไหนผมคิดไม่ออกก็หยุดไว้ก่อน แต่ผมพูดได้เลยว่า นโยบายผมคือห้ามเปลี่ยน ยกเว้นสภาพไม่ได้จริงๆ แปดสิบเปอร์เซ็นต์ของพระตำหนักใหญ่จึงเป็นไม้สักทองของเก่าโดยที่ผมพยายามทำให้ใกล้เคียงกับตอนที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานให้เสด็จในกรมพระจันทบุรีนฤนาทเมื่อ พ.ศ. 2439”

 

กามเทพแผลงศร รักแรกพบของผู้พันแซม

อดีตเลขาธิการสมาคมขี่ม้าแห่งประเทศไทย และเจ้าของเหรียญทองเอเชียนเกมส์และซีเกมส์ผู้เคยสร้างชื่อให้กับวงการกีฬาขี่ม้าของประเทศไทย ขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมขี่ม้าอาเซียน ไม่เสียแรงที่ผู้พันแซมเป็นหลานปู่ของพระยาอนิรุทธเทวา ผู้เป็นนายม้าต้นสังกัดกรมพระอัศวราชในรัชกาลที่ 6 ด้วยความที่เจ้าคุณปู่มีความเก่งกาจเรื่องม้า ผู้พันแซมจึงขี่ม้าเป็นตั้งแต่ยังเล็ก จนพาตัวเองไปแข่งขันและได้เหรียญทองมาเชยชม 

และในการแข่งขันเอเชียนเกมส์เมื่อ พ.ศ. 2541 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนี่เอง ระหว่างที่เขากำลังรอรับเหรียญทองอยู่บนแท่นมอบรางวัล ผู้พันแซมก็เหลือบเห็นเด็กสาวหน้าตาสวยสะเชิญเหรียญรางวัลมา กามเทพแผลงศรเข้าใส่เขาทันที หลังจากรับรางวัลเสร็จบรรดานักข่าวต่างก็รุมล้อมนักกีฬาเหรียญทอง และก่อนที่เขาจะคลาดกับ คุณตอง-สุวัฒนา ชินวัตร ภรรยาคนงามของเขา ผู้พันแซมตัดสินใจตะโกนถามคนใกล้ชิดว่ามีใครรู้จักเด็กสาวคนนั้นบ้าง 

คุณตอง-สุวัฒนา ชินวัตร ภรรยาคนงาม และ พ.อ. เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา หรือผู้พันแซม

“บังเอิญมีลูกศิษย์ผมคนหนึ่งบอกว่า เป็นพี่สาวเขาเอง ผมถึงได้วางใจว่าติดต่อได้แล้ว สรุปว่าโดน (หัวเราะ) ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นพรหมลิขิต เพราะเราห่างกัน 16 ปี ถ้าเขาชอบคนรุ่นเดียวกัน ผมคงหมดสิทธิ์ ก็คบกันนานครับกว่าจะแต่งงาน เพราะผมเป็นคนที่หวงแหนอิสรภาพมาก จนอายุ 48 ปี ที่ผมคิดว่าเราคงต้องมีผู้สืบสันดานแล้ว และผมเข้าใจว่าตองน่าจะเป็นกองหลังที่ดีได้ เพราะการที่คนสองคนซึ่งไม่ได้มาจากพื้นฐานเดียวกันมาอยู่ร่วมชีวิตกันไม่ใช่เรื่องง่าย จะรักแรกพบหรือไม่ก็ไม่ต่างกัน เพราะสุดท้ายเราไม่ได้อยู่กันแบบคู่สิเน่หา แต่ต้องอยู่กันเหมือนเพื่อน เพราะชีวิตคู่สำหรับผมแล้วไม่เหมือนการเล่นไพ่นะ ที่เล่นผิดเล่นใหม่ได้”

ความเป็นกองหลังที่ดีสังเกตได้จากบทบาทที่สามีภรรยาคู่นี้ต่างก็จะไม่ก้าวก่ายกัน แต่จะสอดประสานกันอย่างลงตัว 

ตามเส้นทางชีวิตทั่วๆ ไปนับว่าวัยเกือบ 60 ปีคือวัยใกล้เกษียณ “ผมเชื่อว่าผมควรตายที่วัย 60 ปี ซึ่งวันนี้ผม 58 ปี ผมมีเวลาเหลืออยู่บนโลกนี้ 700 กว่าวันเอง ขอให้ผมได้นั่งไขว่ห้างบ้างเถอะ (หัวเราะ) ผมเชื่อว่าจังหวะชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ชีวิตผมตอนนี้คือการดูแลพระตำหนักใหญ่ให้สมพระเกียรติอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่ให้พระตำหนักช้ำ และถวายพระเกียรติอย่างเหมาะสม เท่านี้ผมถึอว่าจบภารกิจของตัวเองแล้ว

“ตอนนี้ผมขออยู่แบบกลางๆ ไม่หนาวเกินไปและไม่ร้อนเกินไป ผมไม่ต้องไปอิจฉาใคร ได้เท่านี้ก็พอแล้วแซม ผมตอบโจทย์คุณพ่อผมแล้วว่าเป็นทหารมา 25 ปี ไม่ใช่เป็นแค่ 3 ปีแล้วลาออก ผมบวชครบพรรษาในฐานะนาคหลวงในรัชกาลที่ 9 ผมรับใช้แผ่นดิน ผมรับใช้พระเจ้าอยู่หัวในฐานะ
ราชองครักษ์ ผมทำตามขนบประเพณีของครอบครัวทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเวลาในชีวิตผมที่เหลือผมขอใช้อย่างที่ตัวเองต้องการ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า พรุ่งนี้เราจะยังมีลมหายใจอยู่ไหม” 


สามารถติดตามได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 16 ฉบับที่ 01

ประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2564

หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่  www.ookbee.com www.shop.burdathailand.com

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.