Inside Story | ‘ดร.ศศมณฑ์ สงวนสิน’ ย้อนความทรงจำในรั้วโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
ห่างหายจากแวดวงสังคมไปนานหลายปีทีเดียวสำหรับ ‘คุณหญิง – ดร.ศศมณฑ์ สงวนสิน’ ที่ก่อนหน้านี้วางมือจากงานด้านสังคมมากมายเพื่อให้เวลากับลูก ๆ และดูแลธุรกิจมากมาย รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งในประเทศไทย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ล่าสุดคุณหญิงกลับมาแวะเวียนให้เห็นค่าตาบ่อยขึ้นอีกครั้ง เหตุผลหนึ่งเนื่องจากลูก ๆ เริ่มโตกันหมดแล้ว โดยลูกคนโต ‘คุณลี – สิริน สงวนสิน’ กลับมาช่วยงานที่บริษัท ฮอนด้า พระราม 9 จำกัด รวมถึงทำงานด้านการเมืองในฐานะสมาชิกพรรคก้าวไกล ขณะที่ลูกชายคนรอง ‘คุณคาท – ชยกร สงวนสิน’ กำลังเป็นดีเจและโปรดิวเซอร์ดาวรุ่งที่มีชื่อในวงการว่า KARTYPARTYY ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือคุณหญิงเพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์ เซนต์ฟรัง ซีสซาเวียร์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

“เข้าเรียนตอนประถมศึกษาปีที่ 5 ซ้ำชั้นด้วยนะ เหมือนตอนนั้นอายุไม่ผ่านเกณฑ์ ท่านอธิการขณะนั้นที่ชื่อว่าไมเคิลเลยต้องคุยกับคุณพ่อ” คุณหญิงเริ่มเล่าถึงความผูกพันในรั้วโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น แม้กาลเวลาจะผ่านมานานหลายสิบปี แต่ทุกความทรงจำยังถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างแจ่มชัด ซึ่งนอกจากคุณหญิงแล้ว ยังมีน้อง ๆ เข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังฯ ตามหลังอีกรวม 4 คน โดยเล่าถึงสาเหตุที่ย้ายเข้าโรงเรียนเซนต์ฟรังฯ กลางคันตอนป. 5 ว่า นอกจากเพราะคุณพ่อหวงลูกสาวเลยให้เปลี่ยนจากโรงเรียนสหศึกษาไปเรียนในโรงเรียนหญิงล้วน ยังเกิดจากวิสัยทัศน์อันยาวไกลที่อยากให้ลูกได้ภาษา บวกกับชื่อเสียงอันเลื่องลือของโรงเรียนเซนต์ฟรังฯ คุณหญิงจึงได้เข้าเป็นศิษย์ของโรงเรียนในรุ่นที่ 62 นับตามปีก่อตั้งของโรงเรียน ซึ่งต่อมาคุณหญิงและเพื่อน ๆ ได้ร่วมกันตั้งชื่อรุ่นว่า ‘ฮาโมเนียส’ (Harmonious) ที่หมายถึงความสามัคคีกลมเกลียว
หนึ่งในวีรกรรมในสมัยเด็กที่นายกศิษย์เซนต์ฟรัง ฯ หยิบยกมาเล่าเป็นเรื่องแรกคือ “มาโรงเรียนสาย จนร้องเพลงชาติแทบไม่เป็น” เนื่องด้วยบ้านอยู่ไกล อีกทั้งเป็นบุตรสาวคนโตของเจ้าพ่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยมีบ้านเป็นโรงเหล็กที่คราคร่ำไปด้วยคนงาน ซึ่งนอกจากทำให้นิสัยค่อนไปทางห้าว คุณหญิงยังมักหยิบจับช่วยงานที่บ้านทั้งงานใช้แรงอย่างการเชื่อมเหล็ก ไปจนถึงงานเอกสารอย่างการทำบัญชี ฯลฯ แถมยังถูกคุณพ่อหอบหิ้วไปกินข้าวกับเพื่อนฝูงถึงดึกดื่นอยู่เป็นประจำ ล้วนเป็นเหตุให้ด.ญ.ศศมณฑ์ มักไปถึงโรงเรียนไม่ทันเวลาเคารพธงชาติ จนถึงกับร้องเพลงชาติไม่ค่อยเป็นตั้งแต่สมัยอนุบาล กระทั่งครูจับไปอบรมให้ฝึกรองเพลงชาติคนเดียว

จวบจนเข้าศึกษาที่โรงเรียนเซนต์ฟรังฯ ก็ยังไปสายจนถูกทำโทษบ่อยครั้ง “พอไปถึงโรงเรียนโดนให้ไปยกแขนยืนกระต่ายขาเดียวหน้าห้อง คาบไม้บรรทัดก็มี เพราะเวลาไปโรงเรียนสายครูจะไม่ให้เดินขึ้นห้องก่อน ต้องถูกยืนทำโทษ แล้วครูก็จะมาตรวจระเบียบผม ซึ่งด้วยความที่ตอนเด็ก ๆ หน้าเหมือนตุ๊กตา คุณแม่ก็จะจับไปดัดผม ซอยผม จนโรงเรียนต้องทำหนังสือเชิญผู้ปกครองไปพบ” คุณหญิงย้อนเล่าความทรงจำคลุกเคล้าไปกับเสียงหัวเราะ แต่นอกเหนือจากวีรกรรมทั้งมาสาย และตัดผมผิดระเบียบ วีรกรรมด้านดีของนายกสมาคมฯ ก็มีไม่น้อยเช่นกัน
“เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง เรียนดี แต่ไม่เคยอ่านหนังสือเลย หนังสือทุกเล่มจะเรียบร้อยมาก แต่เป็นคนตั้งใจเรียนมาก แม้ว่าโดนจับไปนั่งหลังห้องประจำ ใจจริงชอบนั่งหน้าห้อง แต่ความที่ตัวสูง คุณครูเลยชอบให้ไปนั่งข้างหลัง” คุณหญิงเล่าด้วยความภาคภูมิใจ และนอกจากเรียนดี กิจกรรมยังเด่นไม่แพ้กันไม่ว่าจะเป็นด้านกีฬา ดนตรี หรือแม้กระทั่งเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ดรัมเมเยอร์ สาวเก่งคนนี้ก็ผ่านมาหมดแล้ว
“ตอนเข้ามาป.5 มีแต่ความแปลกใหม่ วิ่งก็วิ่งเร็ว กระโดดสูงก็ได้ วอลเลย์บอลก็ชอบ เคยแข่งได้เหรียญมาด้วย แต่พอเกิดอุบัติเหตุนิ้วซ้นระหว่างเล่นบาสเก็ตบอล คุณพ่อจึงสั่งห้ามเล่นกีฬาเด็ดขาด จำได้เลยว่าตอนนั้นร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร จนเรื่องถึงท่านอธิการ ท่านไปคุยกับคุณพ่อให้ก็ไม่ยอม” หลังจากถูกสั่งห้ามเล่นกีฬาโดยเด็ดขาด คุณหญิงจึงหันไปเล่นดนตรีอย่างเมโลเดี้ยนในวงดุริยางค์ของโรงเรียน ซึ่งคุณหญิงได้รับการสนับสนุนด้านดนตรีทั้งจากโรงเรียนและคุณพ่อที่พอเห็นแววก็จ้างครูมาสอนอิเล็กโทนให้กับลูกสาวถึงที่บ้าน จนคว้ารางวัลในการประกวดของสยามกลการมาครอง และยังเพิ่มทักษะจนเล่นเครื่องดนตรีได้หลายชนิด และเมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษาจึงได้รับการทาบทามจากคุณครูให้เป็นดรัมเมเยอร์ รวมถึงเชียร์ลีดเดอร์ในงานกีฬาสีด้วย

ไม่เพียงเรื่องการเรียนและกิจกรรมต่าง ๆ เท่านั้น แต่คุณหญิงยังเล่าว่าโรงเรียนเซนต์ฟรังฯ เป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมอุปนิสัยต่าง ๆ ให้นักเรียนเติบโตขึ้นมาเป็นกุลสตรี และแม้เป็นโรงเรียนคริสต์ทว่าให้ความสำคัญกับวันสำคัญและหลักคำสอนทั้งทางศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ เมื่อถามถึงความประทับใจในรั้วโรงเรียน นายกสมาคมศิษย์เซนต์ฟรังฯ จึงยอมรับว่ายากที่จะหยิบมาเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพราะตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษ โรงเรียนล้วนมีส่วนในความเป็นอยู่และวิถีชีวิต แต่เรื่องหนึ่งที่เจ้าตัวยกมาเป็นความประทับใจคือความเข้าถึงง่ายของครู อาจารย์ ตลอดจนผู้บริหารโรงเรียนทุกท่าน “แน่นอนว่าต้องเริ่มที่ครู อาจารย์ ตั้งแต่ท่านอธิการลงมา ตอนนั้นไม่แน่ใจว่าโครงสร้างบริหารโรงเรียนเป็นยังไงเพราะยังเด็ก แต่รู้สึกได้ว่านักเรียนสามารถเข้าถึงครูได้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นระดับบริหารหรือคุณครูก็ตาม”
คุณหญิงเล่าเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังก์ฯ จวบจนสำเร็จการศึกษาสายวิทย์ฯ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีให้สนับสนุนทั้งด้านกิจกรรมและการเรียนจากการนำครูจากมหาวิทยาลัยชั้นนำมาสอนพิเศษ จนสามารถสอบเอนทรานซ์ติดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่เรียนได้เพียงเทอมเดียว ต้องเปลี่ยนไปเรียนคณะบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญตามที่คุณพ่อขอร้อง

แม้ชีวิตในโรงเรียนผ่านไปนานหลายสิบปี แต่คุณหญิงเล่าว่ายังไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนทุกครั้งที่มีโอกาส หรือผ่านไปธุระใกล้ ๆ เพราะในใจอัดแน่นไปด้วยความผูกพันมากมาย กระทั่งโรงเรียนจัดงานนวติพรรษ เซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ฉลองครบรอบ 90 ปีแห่งการก่อตั้ง คุณหญิงเป็นศิษย์หนึ่งในสามท่านที่ได้รับรางวัลศิษย์ดีเด่น ร่วมกับ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล และ ศิษย์ที่เป็นผู้ชายอีกหนึ่งท่านคือ ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลด้วยพระองค์ ซึ่งถือเป็นความปลื้มปีติของคุณหญิงและครู-อาจารย์ทุกท่านเป็นอย่างยิ่งที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นศิษย์เกียรติยศ ที่เคยศึกษาชั้นประถมและมัธยมที่โรงเรียนฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2483 – 2489
หลังจากได้รับพระราชทานรางวัลศิษย์ดีเด่น คุณหญิงได้รับการทาบทามให้ลงสมัครเป็นนายกสมาคมศิษย์เซนต์ฟรังฯ หลายครั้ง แต่เนื่องภารกิจส่วนตัวที่ต้องดูแลลูก ๆ และธุรกิจ ตลอดจนงานในองค์กรและสมาคมต่าง ๆ คุณหญิงจึงผลัดเรื่อยมา กระทั่งรับเลือกตั้งจากคณะกรรมการสมาคมฯ ให้เป็นดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งตลอดขวบปีที่ผ่านมาคุณหญิงเดินหน้าจัดกิจกรรมหลายอย่างเพื่อประชาสัมพันธ์เกียรติภูมิของโรงเรียนให้เป็นที่รู้จัก ปูทางสู่การเฉลิมฉลองครบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งในปี 2568 ที่จะถึงนี้ ภายใต้พันธกิจ “Empowering Together”
“เราเป็นโรงเรียนผู้หญิงล้วน คำว่า “กุลสตรี” เป็นคำที่ทรงพลังมาก แสดงถึงทุกสิ่งทุกอย่างของความเป็นผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นความนอบน้อม กตัญญู อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักเคารพผู้ที่อาวุโสกว่า จึงดึงคำว่า “Gratitude” ขึ้นมาก่อน เพราะคนเราถ้าไม่มีความกตัญญู จะไม่มีวันเจริญแน่นอน ซึ่งมาคู่กับคำว่า “Respect” จากนั้นคุณต้อง “Inspiring” และ “Sharing” ซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้เราเป็นเน็ตเวิร์กที่ Empowering กันอย่างสมบูรณ์”

นายกสมาคมศษย์เซนต์ฟรังฯ เผยถึงทิศทางหลังเข้ามาดำรงตำแหน่ง เป็นเหตุผลให้เกิดหลาย ๆ กิจกรรมของสมาคมฯ ตลอดปีที่ผ่านมาเริ่มด้วยการบริจาคโลหิตซึ่งขาดแคลนอย่างหนักในปีที่แล้ว นอกจากนี้คุณหญิงยังเล็งจะทำแอพพลิเคชั่นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ให้ศิษย์แต่ละรุ่นรู้จักกันมากขึ้น รวมถึงจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นคนดีของสังคม อย่างการจัดอบรมพื้นฐานการช่วยชีวิต (ซีพีอาร์) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้เด็ก ๆ สามารถนำไปใช้ช่วยชีวิตผู้อื่นในยามฉุกเฉิน เป็นต้น
“เราต้องยอมรับว่าการศึกษาของไทยต้องพัฒนาให้มากขึ้น และต้องสอนให้เด็ก ๆ รู้จักรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมด้วย ถ้าเด็กเล็ก ๆ รู้จักความรับผิดชอบ รู้จักระเบียบวินัย รู้จักความกตัญญูรู้คุณ ไม่เอาผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง ก็ประเทศชาติของเราก็จะเจริญ ไม่ล้าหลังเหมือนที่ผ่าน ๆ มา”

ก่อนจากไปในฐานะศิษย์เก่าผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายปี ยังงฝากถึงน้อง ๆ เซนต์ฟรังฯ รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ทุกคนว่า “ถ้าเป็นรุ่นเด็ก ๆ เลยขอแค่ให้เชื่อฟังครูบาอาจารย์ เชื่อฟังพ่อแม่ ตั้งใจเรียนหนังสือ หน้าที่น้องมีแค่นั้นจริง ๆ และครูพูดสั่งสอนอะไรก็ขอให้ทำตาม แม้ว่าบางเรื่องอาจดูจู้จี้น่ารำคาญไปบ้าง แต่เมื่อโตขึ้นจะรู้ได้เองว่ามันดี ส่วนคนที่โตขึ้นมาหน่อย เราก็ขอแค่ให้รับผิดชอบต่อตนเอง รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร มีระเบียบวินัยต่อตนเองและสังคม และรับผิดชอบต่อสังคมที่ตัวเองอยู่อย่างการ เก็บขยะเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถทำได้ หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเวลาเห็นใครที่ทำผิดทำไม่ดี เป็นต้น ซึ่งก็คือการเป็นพลเมืองดี และถ้ามีโอกาสได้อยู่ตำแหน่ง องค์กร หรือบริษัท ก็ต้องขอให้แชริ่งสิ่งดี ๆ เล่านี้ให้แก่คนในองค์กร พอเราสามารถสร้างหน่วยงานหรือคอมมูนิตี้ที่เราอยู่ให้รู้จักแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มันก็จะเป็นคอมมูนิตี้ที่ดีขึ้น น่าอยู่ขึ้น มีความสุขขึ้น ทุกคนก็จะอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน”.
READ MORE: