Home > Celebrity > Exclusive Interviews > The Young Achievers : เทคนิคการทำธุรกิจจากนักธุรกิจสาวสวยรุ่นทายาท ‘คุณฟา เบเนเดทตี้’

ยิ่งธุรกิจด้านการบริการอย่าการโรงแรมเติบโดตมากแค่ไหน คุณลองคิดเล่นดูสิว่า… ‘ธุรกิจที่เป็นฝ่ายสนับสนุน’ หรือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังจะต้องเติบโตมากยิ่งกว่า แต่มากแค่ไหนนั้นวันนี้ HELLO! ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘คุณฟา เบเนเดทตี้’ ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งอาณาจักร Italasia หนึ่งในนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ได้รับการคัดเลือกให้มาแชร์ประสบการณ์กว่าจะประสบความสำเร็จในโปรเจกต์พิเศษอย่าง HELLO! Young Achievers

ยอมรับเลยค่ะว่า ทุกครั้งที่ไปเลือกซื้อสินค้าแบรนด์ใดแล้วเห็นป้านติดว่า ‘Made in Italy’ คนทั่วโลกเชื่อมั่นได้ในทันทีว่าเป็นของดีมีคุณภาพ ความเชื่อมั่นนี้สั่งสมมานานหลายศตวรรษ ทว่าคนไทยเพิ่งได้สัมผัสคุณภาพและความละเมียดละไมของสินค้าสัญชาติอิตาลีก็เมื่อ 57 ปีก่อนนี้เอง จากการเลือกสรรของชายชาวอิตาเลียนและภริยาชาวไทย ทำให้คลอดบริษัทในนาม Italasia ที่เพิ่มคำต่อท้ายว่า Since 1962 บ่งบอกประวัติความเป็นมาอันยาวนาน  

‘คุณฟา เบเนเดทตี้’ ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งอาณาจักร Italasia

และเมื่อถึงยุคของทายาทรุ่นที่ 3 อย่างคุณฟา เบเนเดทตี้ กล่าวว่า “อิตาเลเซียแทรกซึมไปในการใช้ชีวิตของคนไทยอย่างแยกไม่ออก อิตาเลเซียอยู่ทั้งในไวน์ที่คุณดื่ม เก้าอี้ในโรงแรมที่คุณมีนัดประชุม จานกระเบื้องในร้านอาหารที่คุณพาครอบครัวไปกินข้าว กระทั่งเฟรนช์ฟรายส์จากฟาสต์ฟู้ดเจ้าดังที่คุณแอบกินขณะพยายามลดน้ำหนัก “เราจัดส่งสินค้าให้โรงแรม ร้านอาหาร โรงเรียน สินค้าที่เรานำเข้ามามีวางขายในห้างใหญ่ๆ ทุกแห่ง ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เจอสินค้าของอิตาเลเซีย” 

ในห้องประชุมบนชั้น 30 ของอิตาเลเซีย กรุ๊ปซึ่งมองเห็นวิวถนนอโศกได้ทั้งสาย สิ่งแรกที่สะดุดสายตาคือใบประกาศที่รัฐบาลอิตาลีมอบยศชั้นอัศวินให้แก่ ซินญอร์โอเทลโล เบเนเดทตี้ คุณปู่ของคุณฟาซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งอิตาเลเซีย ในฐานะผู้เผยแผ่วัฒนธรรมอิตาลีให้ขจรขจายในประเทศไทย ใกล้กันคือรูปเขียนคุณปู่และคุณย่า-จาตร โทณวณิก เบเนเดทตี้ และรูปปั้นครึ่งตัวของคุณอโดโฟ เบเนเดทตี้ ทายาทรุ่นสอง และเมื่อมองเลยไปถึงหญิงสาวที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสายผลิตภัณฑ์อุปกรณ์โรงแรม / ร้านอาหารแห่งอิตาเลเซีย ไม่แปลกใจที่เธอมีเค้าโครงหน้าแบบสาวไทยผสมอิตาเลียนอย่างชัดเจน 

“ความเป็นอิตาเลียนอยู่ในสายเลือดมาตลอดค่ะ” หญิงสาวชื่อสั้นๆ ว่า ฟา เกริ่น “คุณปู่ฟาเป็นชาวอิตาเลียนแท้ๆ คุณย่าเป็นคนไทย พอท่านก่อตั้งบริษัทเลยใช้ชื่อว่าอิตาเลเซีย” คุณปู่ของเธอเป็นชาวเมืองซานเรโม เมืองตากอากาศชื่อดังแถบริเวียราในประเทศอิตาลีซึ่งมีเหตุให้
เดินทางมาเยี่ยมพี่ชายที่เมืองไทย จึงได้พบรักกับสาวไทยที่หัวหิน “ความเป็นอิตาลีที่ฟาสัมผัสมาคือการให้คุณค่ากับงานฝีมือและการให้ความสำคัญกับครอบครัว ยกตัวอย่างไวน์ สำหรับคนอิตาเลียนไม่ใช่แค่การดื่มกิน แต่เป็นช่วงเวลาที่ใช้ร่วมกับคนในครอบครัว เป็นการแสดงความอบอุ่นและความรัก เพราะคนอิตาเลียนปลูกได้ที่หลังบ้านด้วยซ้ำ อากาศที่นั่นก็เหมาะจะกินอาหารกับไวน์ค่ะ

“ฟาเห็นอิตาเลเซียมาตั้งแต่เด็ก เห็นคุณปู่ คุณย่า คุณพ่อไปดูไร่ไวน์ เราก็ไปด้วย คิดในใจว่าน่าเบื่อจัง (หัวเราะ) ตอนนั้นฟาอายุแค่ 13 คุณพ่อพาไปเที่ยวเมืองนอกกันก็ไป แต่จำได้ว่าทุกทริปจะต้องมีหนึ่งวันที่ต้องไปดูไร่ไวน์ ไปดูโรงงานต่างๆ สำหรับเด็กคนหนึ่งก็จดจำได้ว่าการไปดูงานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราโตขึ้นมา” เธอพูดถึงวันวานเมื่อครั้งตัวเองยังเด็ก

“ความเป็นอิตาลีที่เห็นในเมืองไทยในวันนี้บางส่วนน่าจะมาจากวิสัยทัศน์ของคุณปู่ อิตาเลเซียเป็นบริษัทแรกที่ทำธุรกิจนำเข้าสินค้าจากอิตาลีเข้ามาเมืองไทย เริ่มจากเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งวันแรกที่คุณปู่ทำธุรกิจนี้ เรายังไม่มีคู่แข่งหรือตลาดด้วยซ้ำ เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว สินค้าที่ทำภายในประเทศไทยและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศแตกต่างกันมากนะคะในเรื่องคุณภาพและดีไซน์ สินค้าที่คุณปู่นำเข้ามาเป็นของแปลกใหม่มาก โรงแรมทุกแห่งก็ไว้ใจเลือกใช้สินค้าที่เรานำเข้ามา ลองถามคนรุ่นพ่อแม่จะรู้จักบริษัทเราดี เพราะเราทำธุรกิจนำเข้ามาตั้งแต่ยุค 1960s แล้วค่ะ”

สมัยผู้ก่อตั้งคือการบุกเบิก ยุคทายาทรุ่นที่ 2 คือการสานต่อและขยายอาณาจักร ยุคที่ 3 นี้เองที่คนทำธุรกิจบอกว่าเป็นจุดล่อแหลมที่สุดว่าทายาทรุ่นที่ 3 นี้จะประคับประคองอาณาจักรที่คนรุ่นพ่อแม่ทำมาได้อย่างไร ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มาไวไปไว และผู้บริโภคที่เปลี่ยนใจเร็วเพราะมีตัวเลือกล้นหลาม “ยุคของฟาเป็นเรื่องของการทำให้อิตาเลเซียสอดคล้องไปกับเทรนด์ในปัจจุบัน สินค้าที่แต่ก่อนเราเคยมี เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว วันนี้เราไม่มีแล้ว แต่เรามีแผนก Fast Food Commercial ที่เราจัดหาอุปกรณ์ในครัวให้กับแบรนด์อาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างเบอร์เกอร์คิงและแมคโดนัลด์ คุณพ่อเป็นคนแรกๆ ที่นำไวน์อิตาเลียน พาสต้า และซอสเข้ามาขาย แต่วันนี้เราไม่มีสินค้าที่มีวันหมดอายุ เพราะวิถีชีวิตคนเปลี่ยนไป คนยุคนี้ทำพาสต้ากินเอง ไม่ซื้อพาสต้าสำเร็จรูป เขาชอบทุกอย่างที่เป็นงานฝีมือและต้องรู้ที่มาของทุกๆ อย่าง ไข่มาจากฟาร์มที่เลี้ยงไก่แบบปล่อยตามทุ่ง ไวน์ต้องมาจากไร่องุ่นออร์แกนิก ชอบอ่านฉลากที่มีสารพัดคำศัพท์ใหม่ๆ 

บรรยากาศงานเปิดร้านที่สาขา สยามพาราก้อน

“ยุคคุณปู่และคุณพ่อ สมัยก่อนคนดื่มวิสกี้กัน คนที่ดื่มไวน์มีแค่กลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่วันนี้มองไปทางไหนก็เห็นคนถือแก้วไวน์ แม้แต่ร้านอาหารง่ายๆ ก็ยังมี ร้านอาหารหลายแห่งจัดไวน์แพริ่งกับขนม เดี๋ยวนี้มีแบบที่จับคู่ไวน์กับกลิ่นดอกไม้ ด้วยพื้นฐานในการทําธุรกิจเรื่องการกินดื่มและการใช้ชีวิตของคนมาตั้งแต่ยุคคุณปู่ เราเลยอยู่กับเทรนด์ต่างๆมาได้โดยตลอด” 

ทุกคนรับรู้ว่าเธอเป็นลูกเจ้าของ ซึ่งในหลายๆ องค์กรก็โดนลองของกันมามิใช่น้อย แต่ละคนล้วนต้องงัดกลยุทธ์เด็ดมาพิสูจน์ตัวเอง ทายาทสาวแห่งอิตาเลเซียกลับทำหน้าไม่คุ้นว่าเคยผ่านช่วงเวลานั้น “ฟาไม่ได้เข้ามาในวิถีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไร ฟาเคารพทุกคนที่อยู่มาก่อนเพราะเขาก็มีความรู้ที่ฟาเองก็ไม่รู้ พนักงานเก่าแก่ของเราบางคนเดินเข้าประตูหลังที่โรงแรมบางแห่งได้สบาย เพราะไปเยี่ยมเยียนกันมานาน เขารู้จักกันดี พนักงานที่นั่นทุกคนเรียกเขาป๋า คนในวงการนี้ให้เกียรติคนที่ทำงานร่วมกันมานาน อย่างคนที่อยู่แผนกฟาและทำงานที่นี่มา 40 ปี เขาสามารถโทร.สายตรงถึงผู้บริหารใหญ่ของโรงแรมระดับ 5 ดาวว่าสะดวกวันไหน ผมจะเข้าไปสวัสดี ทางนั้นตอบมาทันทีว่าเข้ามาวันไหนก็ได้ ฟาเลยมองว่าเราพึ่งพากัน เราเรียนรู้จากเขา เขาก็พยายามทำความเข้าใจกับเรา

“การเป็นผู้นำที่ดีฟาคิดว่าคือการใส่ใจ ความเข้าใจและต้องแน่ใจด้วยว่าคนที่ทำงานกับเรา เขามาทำงานในทุกๆ วันอย่างมีความสุข เขาต้องรักนะคะ ไม่ใช่ทำไปอย่างนั้น นั่งมองนาฬิกาว่าเมื่อไหร่จะเลิกงาน วิชาที่ฟาเรียนจบมาคือจิตวิทยาองค์กร Social and Industrial Psychology จาก Northeastern University สอนให้มองบุคลากรเป็นทรัพย์สินมีค่า มองคนในทีมว่าเราต้องพึ่งพาเขา บางครั้งต้องส่งงานลูกค้าถึงตี 1 ตี 2 ก็จะเหนื่อยกันกว่าปกติ แต่เมื่อเรายึดในเป้าหมายและรักในสิ่งที่ทำ ความเหน็ดเหนื่อยก็จะหายไปเยอะ ทุกคนในทีมช่วยเหลือกันเต็มที่ เหมือนออกไปรบนะคะเวลาไปนำเสนองานกับลูกค้า เราทำงานกันเป็นทีม ไม่ใช่ปล่อยเป็นภาระให้ใครต้องทำคนเดียว 

“ทุกคนในบริษัทมาคุยกับฟาได้ เพราะเราเป็นบริษัทครอบครัว สมัยก่อนคุณย่ามาตั้งแต่ 8 โมง ตอนเที่ยงก็นั่งคุยกับพนักงาน ถามไถ่ไปถึงลูกหลานว่าเป็นยังไงบ้าง เราเพิ่งจัดงานเลี้ยงพนักงาน มอบรางวัลให้คนที่อยู่กับอิตาเลเซียมา 40 ปี มีอยู่หลายท่าน หนึ่งในนั้นอยู่แผนกฟา มีพนักงานที่เคยขับรถให้คุณพ่อ เคยมารับฟาตอนเรียนมาแตร์เดอี มีคนจากแผนกช่าง บางคนอายุน่าจะ 78 ปีได้แล้ว แต่ยังรักที่จะทำงานอยู่ น่ายินดีนะคะ” 

เธอบอกเสียงหนักแน่นว่าการทำธุรกิจของคนรุ่นทายาท บางครั้งก็ไม่ใช่การเอาแต่จะขยับขยาย คุณฟาทำงานที่อิตาเลเซียมาตั้งแต่ปี 2003 ไม่ไถ่ถามถึงอายุแต่ถามว่า 16 ปีที่ผ่านมา ความ
ทรงจำแต่หนใดที่เธอประทับใจที่สุด “วันก่อนมีคนเขียนอีเมลมาหาฟาจากลักเซมเบิร์ก บอกว่าคน
ที่ทำโรงแรมในฝรั่งเศสแนะนำมาว่าถ้าอยากทำโปรเจกต์โรงแรม ให้ติดต่อคนชื่อฟาที่อิตาเลเซีย หรือตอนที่เราไปงานเทรดแฟร์ด้าน hospitality ระดับใหญ่ที่สุดของเยอรมนี เขาก็ให้เกียรติเรามาก ด้วยประสบการณ์ ด้วย reference ของแบรนด์ต่างๆ ที่อยู่กับเรา จากที่แผนกนี้เคยมีสินค้าแค่ 2 – 3 แบรนด์ จนมาถึงวันนี้ที่เรากลายเป็นชื่อแรกๆ ที่เจ้าของธุรกิจให้ความไว้วางใจ อยากร่วมงานด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นความภูมิใจซึ่งเราได้พิสูจน์ตัวเองมาเป็นเวลานานแล้ว

‘คุณฟา เบเนเดทตี้’ กับบรรยากาศการรับมอบประกาศนียบัตร HELLO! Young Achievers จากนิตยสารเฮลโล

“ย้อนกลับไปวันแรกที่ฟาเข้ามาทำงานที่อิตาเลเซีย คนจากแผนกต่างๆ มาแนะนำตัวว่าแผนกนั้นๆ ทำอะไรบ้าง ลุ้นกันว่าคุณฟาจะไปลงแผนกไหน ฟาบอกว่าจะทำแผนกนั้นที่มีผู้ชายที่ค่อนข้างมีอายุนั่งอยู่คนเดียว และนี่ก็คือแผนกที่ฟาทำงานอยู่ ณ วันนี้ เป็นความสำเร็จที่ฟาภูมิใจที่สุดด้วยนะคะ ฟาเลือกเข้ามาทำงานในแผนก Hospitality หรือแต่ก่อนเราเรียกว่า Hotel Supply ซึ่งเป็นแผนกที่เล็กที่สุด มีคนทำงานแค่คนเดียว ฟาขอเป็นคนที่ 2 เพราะฟามองว่าประเทศไทยยังมีความท้าทายในเรื่อง hospitality ซึ่งเป็นแวดวงที่สนุก ฟามองว่าอาหารทำให้คนมาเจอกัน ไม่ว่าคุณจะมาจากธุรกิจไหน ทำอาชีพอะไร ทุกคนมาเจอกันที่โต๊ะอาหาร ฟารู้สึกดีมากที่เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาพน่าจดจำและความรู้สึกดีๆ ในชีวิตของผู้คนค่ะ” 

 

ติดตามได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 14 ฉบับที่ 13  ประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2562

หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่  www.ookbee.com www.shop.burdathailand.com

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.