Home > Celebrity > Exclusive Interviews > The Young Achievers : นักธุรกิจสาวสวยสุดมั่น ‘คุณแนท-นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ’ กับการนั่งแท่นผู้บริหารตั้งแต่วัย 21 ปี!!!

ถ้าพูดถึงเมนูอาหารจีนสไตล์กวางตุ้งแล้วล่ะก็ ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าเรื่องรสชาติที่จัดจ้าน ความร้อนที่ซูซ่า คงเรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของอาหารจีนสไตล์กวางตุ้งไปแล้วล่ะค่ะ ทำให้อดคิดถึงร้าoอาหารสไตล์กวางตุ้งชื่อดังอย่าง “โคคา สุกี้” ไม่ได้เลยจริงๆ ร้านอาหารระดับตำนานที่ใครๆก็ต่างเคยได้ลิ้มรสชาติความอร่อย ซึ่งตอนนี้ธุรกิจได้เข้ามาอยู่ในการบริหารดูแลของนักธุรกิจสาวสวย ‘คุณแนท-นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ’ ที่นับได้ว่าเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูลเลยก็ว่าได้

การก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารตั้งแต่อายุ 21 ปีด้วยความมั่นใจเพราะรักและผูกพันกับคุณย่า อยากสานต่อในสิ่งที่คุณย่าได้ก่อร่างสร้างมากับมือและต่อยอดความสำเร็จที่คุณพ่อพัฒนาไว้ให้คงอยู่ต่อไป หากนับจากวันนั้นถึงวันที่คุณแนทก้าวเข้ามารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โคคา โฮลดิ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อย่างเต็มตัวเมื่อ 3 ปีก่อน เธอได้มีเวลาเตรียมตัว สะสมความรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตอยู่ร่วม 10 ปีทีเดียว

ทว่า เจ้าตัวกลับยิ้มมุมปากแล้วบอกว่า ที่จริงเธอเตรียมตัวรับหน้าที่นี้มาตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัวต่างหาก!

‘คุณแนท-นัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ’

คุณแนทเล่าว่า “เมื่อครั้งที่คุณพ่อ (คุณพิทยา พันธุ์เพ็ญโสภณ) เข้ามาช่วยดูแลกิจการร้านอาหารสไตล์กวางตุ้ง “โคคา สุกี้” ร่วมกับคุณย่าปัทมานั้น ท่านต้องยอมสละความฝันอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ของตัวเอง เพราะคุณปู่ศรีชัยเสียชีวิตกะทันหัน ความเป็นลูกทำให้ไม่อาจปล่อยให้บุพการีทำงานหนักคนเดียวได้ จึงรู้ซึ้งว่าการทำธุรกิจอาหารต้องอาศัยความทุ่มเทและความรักในงานนี้เพียงใด ครั้นสิ้นคุณย่าจึงตัดสินใจถามความสมัครใจของลูกสาวคนโต (คุณแนท-นัฐธารี) ให้แน่ใจเสียก่อน เพราะไม่อยากยัดเยียดธุรกิจครอบครัวให้หากลูกไม่มีใจรักที่จะทำ”

 

บ่มเพาะรักในศาสตร์อาหาร

คุณแนทย้อนเล่าถึงชีวิตวัยเยาว์ก่อนที่เธอและน้องๆ อีก 3 คนจะทยอยถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำที่อังกฤษเมื่ออายุครบ 12 ปี เธอจำได้ดีถึงบรรยากาศบนโต๊ะอาหาร ที่นอกจากได้อิ่มอร่อยกับฝีมือคุณย่าแล้ว ห้วงเวลาแห่งมื้ออาหารนั้นก็ยังอยู่ในความทรงจำเสมอ “ครอบครัวเราถือว่าการกินอาหารคือเวลาครอบครัวที่สำคัญ เพราะทุกคนได้อยู่ร่วมกัน ผู้ใหญ่ได้อบรมสั่งสอนลูกหลาน ทุกคนได้แบ่งปันเรื่องราวชีวิตในแต่ละวันเล่าสู่กันฟังในครอบครัว จึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบ้านเราว่ามื้อเช้าและมื้อเย็นต้องกินข้าวกันพร้อมหน้า”

ความที่คุณแนทโตมากับคุณย่าผู้ชื่นชอบ และมีฝีมือในการปรุงอาหาร เธอจึงได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ด้านอาหารมาจากความใกล้ชิด นอกจากความใกล้ชิดสนิทสนมและคลุกคลีกับคุณย่าแล้ว ความเป็นคนไม่ชอบให้ตัวเองอยู่เฉยๆ ทุกปิดเทอมที่กลับจากอังกฤษมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย คุณแนทต้องหากิจกรรมทำตลอด

คุณแนทคิดว่าคงเป็นเพราะคุณย่าได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรักและความหลงใหลในอาหารไว้ในตัวเธอ และโดยไม่รู้ตัว เธอก็นำพาตัวเองเข้าใกล้ศาสตร์นี้มากขึ้นทุกทีๆ “แนทมีเป้าหมายในใจมาตลอดว่า เราต้องรู้ให้ได้ว่าการบริหารจัดการในร้านมีอะไรบ้าง และต้องเรียนรู้ให้หมด ให้ครบทุกตำแหน่งก่อนจะถึงวันที่เราได้เป็นหัวหน้าคนอื่น” 

 

ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้

คุณแนทจบปริญญาตรีและโทสาขา Nutrition & Food Science จาก King’s College ประเทศอังกฤษ แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอสำหรับเธอ หลังเรียนจบคุณแนทได้ทำงานในครัวร้านอาหารมิชลินระดับ 3 ดาวร้านดังที่ลอนดอน The Fat Duck ได้ทำงานกับเชฟ Heston Blumenthal เซเลบริตี้เชฟคนแรกๆ ที่ปรุงอาหารโมเลกุลโดยนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ที่เรียกกันว่า Molecular Gastronomy หากยังนึกถึงระดับความกดดันของเธอไม่ออก คุณแนทให้เราจินตนาการถึงการทำงานกับชาวต่างชาติที่เป็นเชฟมิชลินทั้งร้านกว่า 30 คน ด้วยมาตรฐานร้านหรูที่ต้องเพอร์เฟกต์ทุกกระเบียดนิ้วในแบบฉบับผู้ดีอังกฤษ ในขณะที่เธอเป็นเพียงเด็กจบใหม่ที่หั่นแครอตยังไม่คล่อง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนสนใจ

ประสบการณ์ชีวิตสำคัญ ในครัวร้านอาหารมิชลินระดับ 3 ดาว The Fat Duck ที่ลอนดอน

“แนททำงานในส่วน Development Kitchen เป็นแล็บที่ช่วยคิดค้นอาหารในร้านและอาหารที่จะนำไปออกรายการทีวี ทำงานได้ 4 วัน หัวหน้าเชฟถามว่าชอบทำอาหารไหม แม้จะชอบทำแต่ก็ไม่ได้ทำบ่อย และทักษะการทำอาหารของเราก็ไม่ใช่เชฟ แต่นาทีนั้นก็ต้องตอบว่า ‘ชอบมากเลยค่ะ’” นั่นจึงเป็นที่มาของภารกิจ “แกงเขียวหวาน” สำหรับสตาฟกว่า 60 คนในวันรุ่งขึ้นด้วยตัวเอง…คนเดียว!!! เธอมีเวลาเพียงชั่วโมงเดียวหลังออกจากห้องประชุมเพื่อเข้าครัว แต่กลับหาเนื้อหมูที่จะนำมาทำไม่เจอ จนต้องไปขอเนื้อสัตว์จากเชฟคนอื่นๆ มาทำ กระทั่งเหลืออีก 15 นาทีสุดท้าย หัวหน้าเชฟเดินเข้าครัวมาพร้อมกับหมูที่เธอตามหา เชฟอีก 3 คนเลยต้องมาช่วยผัดหมู เพื่อให้เธอปรุงรสน้ำแกงเขียวหวานในหม้อใบโต “ตอนนั้นขอให้มีอาหารเสิร์ฟทันเวลาก็พอ”

เธอไม่ได้ดีใจที่ทำเสร็จ แต่กลับรู้สึกพลาดที่หาหมูไม่เจอ ขณะที่เธอทำความสะอาดครัวเพราะกินข้าวไม่ลง หัวหน้าเชฟเดินเข้ามาพูดกับเธอว่า ‘คุณไม่สามารถแสดงออกว่าเครียด หงุดหงิด หรือเสียสมาธิขณะทำงานได้ เพราะเรากำลังฝึกให้คุณไปช่วยงานรายการทีวี ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณเป็นอย่างนั้น งานจะพัง คุณต้องโฟกัสเท่านั้นเพื่อให้งานจบ’ ความรู้สึกต่างๆ ที่อัดอั้นในใจกลายเป็นน้ำตาที่ปริ่มอยู่ขอบตา และได้ระบายออกมาขณะที่เธอเดินกลับที่พักในเย็นวันนั้น ทว่าถึงวันนี้
คุณแนทนึกขอบคุณหัวหน้าเชฟคนนั้นเสมอที่ให้บทเรียนสำคัญที่สุดในชีวิตเธอ ที่ทำให้การเป็นผู้บริหารดูแลพนักงานเกือบ 500 คนของเธออยู่ภายใต้การควบคุมอารมณ์ได้ดีสมกับที่ได้ผ่านการฝึกอย่างหนักมาแล้ว

 

‘โคคา’ ในยุคเจเนอเรชั่นที่ 3

“คุณพ่อไม่ได้บอกทุกคนว่านี่คือลูกสาวผม ทุกคนต้องเคารพและเชื่อฟังเธอนะ ท่านแค่เปิดทางแล้วประกาศกับทุกคนว่า ‘ผมรีไทร์แล้ว’ จากเมื่อก่อนที่ใส่สูทมาทำงาน ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนมาใส่เสื้อฮาวาย กางเกงขาสั้นแวะเข้ามาเซ็นเช็ค ให้ทุกคนเห็นว่าท่านวางมือแล้วจริงๆ โดยปล่อยให้แนทได้เรียนรู้การทำงานจริงและก้าวผ่านอุปสรรคไปให้ได้ด้วยตัวเอง นี่คือการเลี้ยงดูของครอบครัวเราค่ะ” 

คุณแนทพยายามส่งเสริม ‘วัฒนธรรมโคคาแบบใหม่’ ทั้งทัศนคติการทำงาน เป้าหมายของพนักงาน และรูปแบบวิธีการทำงาน แม้เธอประกาศชัดในวันแรกของการทำงานว่า “ขอลองถูกลองผิดไปกับทุกคน” แต่เป็นธรรมดาที่การเปลี่ยนแปลงย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ยิ่งเป็นทายาทเข้ามารับช่วงต่อ ความรู้สึกถึงการเป็นคนใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโน่นนี่ก็ดูจะถูกจับตามากขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

“แนทเริ่มถามพนักงานว่า ‘ทำไมถึงมาทำงานที่นี่’ คำถามที่ฟังดูง่ายแต่หลายคนก็ตอบไม่ได้ แนทให้เขากลับไปคิดแล้วค่อยมาตอบได้ เพราะเชื่อว่าถ้าหาจุดประสงค์เจอ เขาจะมีความสุขในการทำสิ่งนั้นมากขึ้น ถ้าใครรู้เป้าหมายชีวิตแล้ว อยากก้าวหน้าในอาชีพ เดินมาคุยกับแนทได้เลย นโยบายของแนทไม่ใช่การกำหนด KPI เพื่อวัดความสำเร็จของงานว่าคุณต้องทำอะไร บริษัทคาดหวังอะไร แนทมองกลับกัน ทำไมคุณมาทำงานที่นี่ อยากได้อะไร และคุณจะใช้โคคาทำให้
ตัวเองประสบความสำเร็จในจุดนั้นได้ยังไง อยากให้ทุกคนใช้โคคานำพาไปสู่เป้าหมายชีวิตที่วางไว้

“อาหารอาจเป็นปัจจัยในการดำรงชีพก็จริง แต่สไตล์ร้านอาหารของโคคาไม่ใช่การกินเพื่อการมีชีวิตอยู่ แต่นี่คือลักซ์ชัวรีโปรดักต์ เราไม่ใช่แค่ restaurant แต่เราเป็น hospitality โคคาเป็นธุรกิจที่ทำให้คนฟีลกู๊ด” คุณแนทเริ่มต้นด้วยการใส่ใจดูแลพนักงาน เธอนำหมอนวดที่เป็นผู้พิการทางสายตาเข้ามานวดพนักงานตามสาขาหมุนเวียนกันไป ด้วยเชื่อว่าถ้าพนักงานไม่มีความสุขแล้วจะส่งต่อความรู้สึกดีๆ ให้ลูกค้าได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับคนตาบอดด้วย

วันเปิดร้าน French St. ร้านอาหารฝรั่งเศส สไตล์สตรีทฟู้ดย่านบางรัก

‘ช่องว่างระหว่างพนักงานต่างรุ่น’ เป็นสิ่งที่ธุรกิจที่อยู่มานานหลายทศวรรษอย่างโคคาหลีกเลี่ยงไม่ได้ “แนทอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าที่ทำงานคือครอบครัว ทุกคนคือเจ้าของโคคาร่วมกัน เราเคารพประสบการณ์ของพนักงานอาวุโส พยายามให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองด้วยการถ่ายทอดและส่งต่อความเจ๋งของคุณให้รุ่นน้อง ส่วนพนักงานใหม่ทุกคนก็ต้องพิสูจน์ตัวเองและให้เกียรติรุ่นพี่ 

“ส่วนหลักการดูแลลูกน้องของแนท คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมสาขา จะไม่ใช่การเข้าร้านแล้วสั่งกาแฟมานั่งจิบ แต่แนทเข้าถึงในครัว ทักทายพนักงานล้างจาน ถามเขาว่า ‘เหนื่อยไหม’ คือรู้ว่าทุกคนเหนื่อย แต่การใส่ใจถามไถ่ทุกข์สุขกับพนักงานทุกตำแหน่งอย่างทั่วถึงเท่าที่ทำได้ แค่นี้เขาก็ดีใจแล้ว หรือพนักงานออฟฟิศ เราก็ควรทราบและจำชื่อทุกคนให้ได้ แต่แนทจะให้ความสนิทสนมกับพนักงานด้วยความใส่ใจในเรื่องงาน แต่ไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องส่วนตัว”

 

เป้าหมายใหญ่…สุดท้าทาย

สนทนากันมาสักพัก สัมผัสได้ถึงความภูมิใจที่ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวของคุณแนท แต่นั่นยังไม่ใช่สิ่งที่เจ้าตัวภูมิใจที่สุดเท่ากับการได้เห็นคุณพ่อมีความสุข “การที่แนทเข้ามารับช่วงดูแลธุรกิจต่อ ทำให้คุณพ่อได้รีไทร์ ท่านมีเวลาไปล่องครูซที 3 – 4 เดือนอย่างมีความสุข ในการทำงานคุณพ่ออาจไม่เคยชมแนทตรงๆ  แต่การที่ท่านบอกกับใครๆ ว่า ‘ผมรีไทร์แล้วนะ มีอะไรถามลูกสาวผม’ นี่คือความไว้วางใจและความเชื่อมือว่าแนททำได้ ถึงอย่างไรแนทไม่เคยมองว่านี่คือความสำเร็จในบทบาทที่แนทได้รับหรอกนะคะ เพราะเรากำหนดไม่ได้ว่าความสำเร็จคืออะไร 

“สิ่งที่แนททำทุกวันนี้คือการพยายามรักษาและต่อยอดสิ่งที่ครอบครัวทำไว้ คือการให้ความสำคัญกับโภชนาการ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการเปิดตัว ‘โคคา บูทีคฟาร์ม’ แหล่งผลิตสินค้าออร์แกนิกส์ที่ใช้ในธุรกิจของเรา นอกจากนี้แนทให้ความสำคัญในการกลับมาดูแลชุมชนด้วยการใส่ใจเกษตรกรที่ผลิตวัตถุดิบส่งให้เรา โดยเริ่มต้นจากครอบครัวของพนักงานเราที่ทำเกษตรกรรม แนทถือว่าเราได้ใส่ใจสุขภาพของทุกคน ตั้งแต่ต้นน้ำคือผู้ผลิต ยันปลายน้ำคือผู้บริโภค เพราะการทำธุรกิจของโคคาไม่ได้หวังแค่ผลกำไรอย่างเดียว”

คุณพิทยาผู้เป็นพ่อได้มอบวิชั่นไว้ให้ลูกสาวคนนี้ทำให้ ‘โคคา สุกี้’ เจ้าแรกและเจ้าเดียวที่เป็นสูตรต้นตำรับจากกวางตุ้ง เป็นเจ้าของไอเดียการกินสุกี้ที่สั่งวัตถุดิบเป็นจานตามใจชอบ และเป็นเจ้าแรกที่เสิร์ฟสุกี้ร้อนๆ ในห้องแอร์เย็นฉ่ำโดยไม่คิดค่าแอร์ ได้ดำเนินธุรกิจต่อไปอีก 500 ปี 

“นี่คือความท้าทายที่แนทจะต้องทำให้โคคายังอยู่ต่อไปอย่างที่คุณพ่อตั้งใจไว้ให้ได้”

 

ติดตามได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 14 ฉบับที่ 12  ประจำวันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2562

หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่  www.ookbee.com www.shop.burdathailand.com

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.