The Young Achievers : ความสำเร็จของนายหัวแห่งเมืองกระบี่ กับ 15 ปีแห่งการสร้างธุรกิจหมื่นล้านของ ‘ศรคม กิจประสาน’
ใครหลายคนมักพูดว่าการมีคู่ชีวิตที่ดี ก็ช่วยส่งเสริมไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน การเงิน ความสุข รวมไปถึงการสร้างครอบครัวที่อบอุ่น บางคู่รักกลับมีลักษณะนิสัยต่างกันสุดขั้ว แต่กับผสมผสาน และสร้างความครัวที่มีความสุขได้อย่างลงตัว เช่นเดียวกันกับครอบครัวของ ‘นายหัวแห่งเมืองกระบี่’ หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของ ‘คุณคม-ศรคม กิจประสาน’ และศรีภรรยาคนสวยที่คอยเคียงข้างไม่ห่างอย่าง ‘คุณศรี-ศรีญา ยงสกุล’ ด้วยบุคลิกต่างกัน แต่เสริมกันและกัน ส่งให้ชีวิตแต่งงานของทั้งคู่ยิ่งนานวัน ยิ่งมั่งคั่งมั่นคง
ในระยะเวลาเพียง 15 – 16 ปี นับจากที่เขาเรียนจบปริญญาโท ด้านการค้าระหว่างประเทศกลับมาจากสหรัฐอเมริกา ชื่อของคุณคมนั้นการเป็นที่รู้จักในฐานะ นักลงทุนหนุ่มที่มีผลงานร้อนแรงน่าจับตาเป็นที่สุด เนื่องจากเขาสร้างธุรกิจโรงแรมไปแล้ว 4 แห่ง ธุรกิจท่าเทียบเรือยอชต์ 1 แห่ง มีธุรกิจครอบคลุมทั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน บริษัทขนส่งสินค้า และยังมี คอมมูนิตี้มอลล์ กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ อีก มีบริษัทที่ต้องดูแลทั้งหมด 16 บริษัท มูลค่าธุรกิจรวมๆ นับหมื่นล้านบาท
“ผมเป็นคนสุดโต่ง ไม่มีตรงกลาง ถ้าคิดว่าวันนี้ ผมต้องทำเพื่อพ่อ เพื่อแม่ เพื่อลูก เพื่อภรรยา ผมต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะเหนื่อยแค่ไหน มันเหมือน ‘เดินพันด้วยชีวิต’” เขายอมรับว่าในความสำเร็จ ภรรยาของเขามีส่วนเกื้อหนุนอยู่ข้างๆ “ผมเป็นคนอารมณ์ร้อนเหมือนน้ำที่เดือดปุดๆ ดีที่ภรรยาผมเหมือนน้ำเย็น เราสองคนมาเจอกัน ผ่านไป 3 ปี 5 ปี น้ำที่เดือดปุดๆ ก็ได้น้ำเย็นค่อยๆ หล่อให้เป็นน้ำอุ่น
“ในการบริหารธุรกิจ ถ้าเป็นเรื่องบริหารจัดการทั่วไป จะเรื่องก่อสร้างโรงแรม ดูพิมพ์เขียว คุยกับธนาคาร ดูการตลาด นี่ผมจัดการเอง คุณศรีจะมองอยู่ห่างๆ ไม่เข้ามายุ่ง เธอบอก ‘วุ่นวาย’ แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เธอจะต้องนั่งด้านซ้ายมือของผมตลอด”

ลูกนายหัวขับ Porsche Convertible เสิร์ฟอาหาร
ตระกูล ‘กิจประสาน’ เป็นครอบครัวใหญ่ บิดาของคุณคม (คุณอุดม กิจประสาน) มีพี่น้องท้องเดียวกัน 13 คน พี่ๆ น้องๆ แยกกันทำธุรกิจหลายด้าน และเป็นหุ้นส่วนกันไปมา ครอบครัวมีทั้งธุรกิจเหมืองแร่ดีบุก สัมปทานรังนก สัมปทานป่าไม้ ธุรกิจขนส่ง สวนยาง ฯลฯ คุณอาเขาเคยได้ชื่อว่า ‘เจ้าพ่ออันดามัน’ ด้วยเป็นเจ้าของสัมปทานเหมือนแร่ ส่วนคุณพ่อเขาเอง ถือสัมปทานป่าไม้ในเขตพื้นที่สีแดง คนกระบี่ต่างเรียกนายหัว ธุรกิจหลักของท่านเป็นโรงเลื่อยหลายแห่ง ท่านคุมงานอยู่ในป่าท่ามกลางคอมมิวนิสต์เต็มป่าและกลุ่มอิทธิพลหลายกลุ่ม ซึ่งยากจะแยกว่าใครเป็นใคร คุณพ่อคุณแม่เขาได้ตัดสินใจส่งลูกๆ ทั้ง 4 คนเข้าโรงเรียนประจำในกรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ทั้งในเรื่องการจับตัวเรียกค่าไถ่ หรือใช้คนในครอบครัวเป็นเกมต่อรองผลประโยชน์
“ยังจำได้ ช่วงที่ผลประโยชน์ภาคใต้ขัดแย้งกันรุนแรง ไม่รู้กลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหน ผมอายุ 13 – 14 ปี นั่งเรียนหนังสือที่โรงเรียน มีตำรวจกองปราบยืนรักษาความปลอดภัยอยู่หน้าห้องเรียน ตัวผมเองช่วงนั้นได้เจอคุณพ่อคุณแม่ปีละครั้ง เวลาคุณพ่อมาเยี่ยม ความรู้สึกเรา ‘ไม่รู้จะได้เจอพ่ออีกหรือเปล่า’ เพราะเดี๋ยวๆ ก็มีข่าวลูกน้องพ่อโดนคอมมิวนิสต์ยิงตาย เดี๋ยวคนนั้นเสีย เดี๋ยวคนนี้ตาย ความรู้สึกที่ ‘ไม่รู้จะได้เจอพ่ออีกหรือเปล่า’ ฝังใจผมมาถึงทุกวันนี้ คุณพ่อเองไปไหนมีลูกน้องประกบตลอด บางช่วงมีตำรวจคุ้มกัน ถึงเดี๋ยวนี้ พ่อผมเกษียณแล้ว โลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่คุณพ่อจะไปไหน ยังต้องมีลูกน้องตาม ท่านฝังใจไปแล้ว นั่งรถไปด้วยกัน จะคอยดูมีใครตามมาไหม มีใครพยายามแซง ขับรถนี่ห้ามใครแซง เพราะช่วงจังหวะแซง ช่วงนั้นอันตราย เราไม่ได้ไปทำธุรกิจผิดกฎหมาย ทำธุรกิจถูกกฎหมายนี่แหละ แต่ด้วยลักษณะธุรกิจที่มีผลประโยชน์เยอะ ย่อมมีคนพยายามล้วงพยายามตอด ต้องดูแลตนเองให้ได้”
ช่วงที่คุณคมกำลังเรียนนั่นเอง ธุรกิจโรงเลื่อยของครอบครัวเริ่มประสบอุปสรรค เนื่องจากรัฐบาลประกาศปิดป่า คุณพ่อของเขาได้ตัดสินใจย้ายฐานธุรกิจไปทำสัมปทานป่าไม้ที่พม่า ก็ต้องเจอปัญหาอิทธิพลของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มกองโจร สุดท้ายธุรกิจต้องปิดตัวด้วยไม่อาจสู้กับปัญหาอิทธิพลนอกระบบ
ช่วงที่คุณแม่ส่งเงินให้คุณคมไปเรียนต่อต่างประเทศ เขาทำงานสองกะช่วงเสาร์อาทิตย์ ส่วนวันธรรมดา กลางวันเรียน กลางคืนทำงาน ด้วยเหตุผลที่ว่า “คุณแม่ส่งให้เท่าไร ก็ไม่พอหรอกครับ ผมเอาเงินไปเที่ยว ผมอยู่นิวซีแลนด์ 1 ปี ซานฟรานซิสโก 1 ปีครึ่ง แอลเอ 2 ปีครึ่ง ส่วนใหญ่ที่ย้าย ก็มองหาความท้าทายและชอบความแปลกใหม่ในชีวิต”
ช่วงอยู่สหรัฐอเมริกา คุณคมไปสมัครงานที่ร้านอาหาร ‘สนามหลวง’ ซึ่งเจ้าของเป็นสตรีไทย เธอแต่งงานกับอภิมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินโบอิ้ง 747 คุณคมแต่งตัวเรียบร้อยไปกรอกใบสมัคร ชายเสื้อใส่เข้าในกางเกง พูดจา ‘ครับ’ ทุกคำ แต่กัดผมสีทองอร่ามทั้งศีรษะ แถมเป็นหนุ่มใส่ต่างหู ขับรถสปอร์ตเปิดประทุนสายพันธุ์นักแข่งรถ Porsche Convertible เข้ามาสมัครงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ เจ้าของร้านให้ทำงานล้างห้องน้ำและหั่นผักในครัว
“ทำอยู่ 6 เดือน พี่หนุ่ย (เจ้าของร้าน) ถึงให้ผมเสิร์ฟอาหาร นั่นเป็นคนเดียวที่ผมเรียกว่าเจ้านาย ทุกวันนี้ยังติดต่อกันอยู่ครับ ทำงานครั้งนั้น มันได้อะไรนอกจากทำงาน อยู่เมืองไทยมีแต่เที่ยวเล่นและใช้เงิน แต่การทำงาน คุณได้วินัย ได้รู้จักคุณค่าของเงิน ได้รู้จักการเป็นลูกน้องคนอื่น สัมผัสถึงความเมตตากรุณาจากท่าน ทุกวันนี้ยังระลึกถึงท่านเสมอ”

จีบสาวขายบ้าน
แม้คุณคมจะใช้ชีวิตสุดๆ เรียนรู้ชีวิตอย่างลูกผู้ชายที่พึงจะรู้จักโลก แต่ “หน้าที่ผม ผมไม่เคยทิ้ง” เขาถือปริญญาโทด้านการค้าระหว่างประเทศกลับบ้านพร้อมเงินเหลือติดเอทีเอ็มไม่มาก กลับมาเห็นสภาพที่สึนามิถล่มภาคใต้ เขาโอนเงินแทบจะหมดตัว เทหน้าตักช่วยผู้ประสบภัย และเริ่มสร้างตัวโดยเข้าไปจับธุรกิจสัมปทานรังนกที่ครอบครัวเขาทำกันมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ (แต่ต้องประมูลใหม่ทุก 5 ปี) ขณะเดียวกันก็เข้าหุ้นกับเพื่อนนำอุปกรณ์ต่อพ่วงซิมจากเชกโกสโลวาเกียเข้ามาติดตั้งให้กับบริษัทใหญ่ๆ เพื่อลดค่าโทรศัพท์ภายในสำนักงานได้ราว 80% (ธุรกิจนี้ภายหลังได้เลิกไป)
ช่วงไล่ๆ กันนั้นเอง ผู้หญิงเก่งที่คบหากันมานานปี (เกียรตินิยมพ่วงปริญญาโท) ก็ได้เลิกรากันไป คุณคมจึงกลับมาโสดอีกครั้ง เขาตัดสินใจบวช และไปจำวัดที่สวนโมกข์คุณคมโสดอยู่ไม่นาน ก็สะดุดตาผู้หญิงเก่งคนหนึ่งเข้าจังๆ
“ผมเจอภรรยาครั้งแรกตอนไปเรียนหลักสูตรพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้บริหาร เห็นคุณศรี ผมก็ถามเพื่อนที่นั่งข้างๆ ว่า ‘ผู้หญิงคนนี้ใคร’ เพื่อนคนนี้ก็ไม่ได้สนิทกัน เจอกันที่โต๊ะเรียนนั่นแหละ บอกว่า ‘เธอขายบ้าน’ คำว่า ‘ขายบ้าน’ ผมไม่รู้หรอกเป็นเซลหรือเป็นเจ้าของ ก็ขอเบอร์เธอและส่ง message หาเธอว่า ‘อยากซื้อบ้าน’ ไม่ได้จะซื้อหรอกครับ จะจีบ เธอก็ขับรถกระป๋องของเธอพาผมไปดูบ้าน คบกันปีครึ่ง ผมยังไม่รู้ว่า สถานที่ผมไปครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตนั่นของคุณพ่อเธอ เพราะผมคนกระบี่ เธอคนภูเก็ต คบกันมาสักปี คุณพ่อเขา (คุณคณิต ยงสกุล) ไม่แฮปปี้กับผม คุณพ่อบอกว่า ‘ไปเรียกเพื่อนหนูมาพบหน่อย’ บอกวันศุกร์ วันอาทิตย์ผมไปเลย ผมคนกล้าเผชิญหน้า คุณพ่อเธอมีบ้านหลายหลัง วันนั้น คุณศรีพาผมไปบ้านที่ไม่เปิดรับแขก เรียกว่า เซฟเฮาส์แล้วกัน อยู่ติดทะเล มีที่จอดเรือยอชต์ ผมก็คิด ‘บ้านอะไรหลายสิบไร่ อยู่บนชายหาด’ แต่ให้นั่งกินข้าวในสวน ไม่ให้เข้าบ้านด้วย คุณพ่อถามผมทำอะไร และคิดยังไง
“กลับออกจากบ้านครั้งนั้น คุณพ่อบอกคุณศรีว่า ‘ขอให้เลิกเถิด ถ้าเขาไม่คิดจะแต่งงาน’ คราวนี้ผมขอนัดคุณพ่อเอง ท่านให้ไปพบที่บ้านอีกหลังที่ภูเก็ต ซึ่งผมกับคุณศรีภายหลังได้ปลูกเรือนหออยู่ในบริเวณเดียวกันกับท่าน ผมไปขอคุณศรีด้วยตนเอง ไม่ได้มีผู้ใหญ่ บอก
คุณพ่อตรงๆ สั้นๆ ว่าผมมีข้อดีข้อเสียยังไง และเรียนท่านว่า ‘ถ้าศรีให้โอกาสและวางใจผม คุณพ่อไม่ขัดข้อง เราอยากมีอนาคตร่วมกัน’ ท่านพูดยาวเป็นชั่วโมงเลยครับว่า ลูกท่านดียังไง เสร็จปุ๊บ เราก็แต่งงานกัน”
เดิมพันในวันที่ทุกสิ่งสิ้นหวัง
“ช่วงที่จะแต่งงานกับคุณศรี ผมตัดสินใจวางมือจากธุรกิจสัมปทานรังนก ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาลให้กับตระกูลผมมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ พอมาถึงรุ่นผม ในครอบครัวผมไม่มีใครทำ มีผมคนเดียวที่ลงมาทำ ผมก็ดิ้นจนได้สัมปทานคืนมา และไปนั่งนอนอยู่บนเกาะ ธุรกิจนี้ คุณต้องเลี้ยงลูกน้องดุๆ ไว้เฝ้าเกาะ เพราะธุรกิจที่โตมาคู่กันเลย คือธุรกิจขโมยรังนก ผมเกิดคำถามกับตนเองว่าทำไมผมต้องมาอยู่จุดนี้ บางครั้ง เงินก็ไม่ใช่คำตอบ ที่พูดนี่ไม่ใช่ว่าเรามีตังค์ หรือเราไม่มีตังค์ แต่เราต้องนึกถึงคนที่เราจะแต่งงานด้วย นึกถึงแม่ ถ้าไม่มีเรา ใครจะพาท่านไปโรงพยาบาล ใครจะพาท่านไปเที่ยว”
คุณคมเอาเวลาคุมลูกน้องเฝ้าเกาะรังนก ไปลุยธุรกิจโรงแรมริมทะเลระดับ 5 ดาวขนาดเล็กค่อนข้างเอ็กซ์คลูซีฟนามว่า ‘ศาลาทะเล’ มีเพียง 55 ห้อง ที่นี่เขาขอที่ดินบนอ่าวนางของครอบครัวมาสร้าง ที่ดินผืนนี้คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจะแบ่งให้ลูกๆ อยู่แล้วตามพินัยกรรม
“ช่วงที่ผมเปิดศาลาทะเล ลูกสาวผมเกิดพอดี (น้องยิ้ม-ศรญา กิจประสาน) แต่ดับเจอปัญหาการเมืองเข้าเล่นงาน การปิดสนามบิน ทำให้ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวประเทศไทยลดลง พูดได้ว่าช่วงนั้นทุกคนหนักหมด ธุรกิจลงหมด ผมเองก็เหนื่อยจนสิ้นหวัง ผมถอยกลับมาถามตนเอง เราจะเอายังไงต่อกับชีวิต ผมแย่วันนี้ ถ้าผมอยู่เฉยๆ ผมก็ยังแย่อยู่เหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น เลิกก็เลิกไม่ได้

“สุดท้าย ผมตัดสินใจจะเดิมพันกับชีวิตอีกครั้งหนึ่ง โอกาสที่แย่ที่สุดนี่แหละ ผมควรจะต้องรีบลงทุนสร้างโรงแรมแห่งใหม่ ก็คือฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท กระบี่ ในปัจจุบัน เอาให้ใหญ่ที่สุดในกระบี่เลย เพราะลงทุนตอนนี้ ขณะที่ทุกคนถอยหมด ไม่มีใครกล้าลงทุน ผู้รับเหมากำลังจะตาย ผมจะได้ของที่ถูกที่สุด ค่าก่อสร้างถูกที่สุด การขอแบบ ขอใบอนุญาตถูกที่สุด ซื้อของก็ซื้อได้ถูก ผมจะได้โรงแรมใหญ่ในต้นทุนที่ต่ำกว่าคนอื่นและถ้าผมเลือกทุ่มลงทุนในช่วงที่ทุกคนสิ้นหวังกับเศรษฐกิจประเทศไทย วันที่ผมเปิดมา ทุกคนเพิ่งคิดจะเริ่มทำงาน ผมในวันนั้นไปก่อนเขาหลายก้าวแล้วครับ
“ปรากฏว่า ตั้งแต่วันแรกที่ผมเปิดมาจนทุกวันนี้ โรงแรมผมไม่เคยมียอดเข้าพักต่ำกว่า 85% ในภาคใต้ ผมติด Top Five ของโรงแรมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในด้านผลกำไร เชนช่วยเรื่องการหาตลาดจริง แต่ไม่มาก ผมเลือกที่จะบินไปพบเอเจนต์ทั่วโลกเอง ผมออกตลาดเอง ไม่ใช่มีแขกมาพักจากทั่วโลกเพราะเชนอย่างเดียวนะครับ”
คุณคมและภรรยาไม่ได้สร้างแค่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เขายังสร้างพลาซ่าในลักษณะคอมมูนิตี้มอลล์ในบริเวณนั้นด้วย มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นทันที ภายหลังทางเชนได้ขอให้นำ ‘ศาลาทะเล’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของฮอลิเดย์ อินน์ รีสอร์ท กระบี่
ก้าวสู่ธุรกิจหมื่นล้าน
หลังจากนั้น เขารุกเพิ่ม จัดสร้างโรงแรมแห่งที่ 3 คือฮอลิเดย์ อินน์ เอ็กซ์เพรส กระบี่ ขนาด 220 ห้องบนพื้นที่ 12 ไร่ “ผมใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่คุยกับทีมงาน ขออนุญาต ออกแบบ ตอกเสาเข็มจนกระทั่งวันเปิด ทั้งหมด 14 เดือน ในวงการเคลมกันว่า เป็นโรงแรมที่มีคุณภาพและการก่อสร้างเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยครับ คุมเวลาได้ คุมเงินได้ คุมคุณภาพได้ คุมตลาดได้ เป็น 4 กุญแจไขความสำเร็จ ทุกโครงการเดี๋ยวนี้ครึ่งหนึ่งช้ากว่ากำหนด พูดกันในแง่ธุรกิจ คุณพลาดช้าไปแค่เดือนเดียว แต่สมมุติคุณลงทุน 300 ล้าน ดอกเบี้ยเท่าไรในแต่ละเดือน คุณต้อง ‘เร็ว’ ครับ”
แต่ที่คุณคมเร่งทุกอย่างแบบดับเครื่องชน มีเหตุผลอีกอย่าง นอกเหนือจากเหตุผลทางธุรกิจ “ช่วงที่ผมตัดสินใจจะทำหรือไม่ทำ คุณแม่ผมอยู่ห้อง ICU ท่านติดเชื้อในกระแสเลือด อาการดีขึ้นแล้วครับ แต่ยังไม่รู้จะอะไรยังไง ผมนั่งเฝ้าท่าน คิดอยู่ว่า โรงแรมนี้ถ้าสร้างให้เสร็จใน 1 ปี และคุณแม่ได้เห็น ผมจะมีความสุขที่สุดไปตลอดชีวิต เอาจริงๆ ผมคิดเท่านั้นครับ ผมไม่ได้มีอะไรคิดซับซ้อน ผมเป็นคนไม่ได้ซับซ้อนขนาดนั้น”
และแรงบันดาลใจที่อยากสร้างตัวให้คุณแม่เห็นอีกอย่าง ก็คือ “ผมเห็นแม่ผมที่เคยเป็นคหบดีที่รวยที่สุดของจังหวัดกระบี่ สมัยก่อนไม่เคยต้องเหยียบธนาคารเอง พนักงานธนาคารมาหาถึงบ้าน เวลาเข้ามาหาแม่ผม หลังเขาจะโค้งเป็นรูปตัวยูเข้ามาเลย แต่วันที่ผมกลับจากเมืองนอก แม่ผมต้องนั่งรถกระบะไปธนาคารเองและยืนรอที่เคาน์เตอร์ธนาคารเป็นชั่วโมงเพื่อเบิกเงิน ผมรับไม่ได้”
“สิ่งที่ผมภูมิใจกับการสร้างธุรกิจมาจนทุกวันนี้ นอกเหนือจากที่ได้ทำให้คุณแม่ผมภูมิใจแล้ว ผมได้สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนจำนวนหนึ่ง ผมมองเห็นคนกว่าหนึ่งพันชีวิตที่เขาได้รับเงินเดือนจากผม ไปจ่ายค่าเทอมลูก ไปให้พ่อแม่เขา นี่คือที่สุดของชีวิตแล้ว เราได้สร้างงานให้กับคนเป็นพันชีวิต”
ไม่ง่ายที่จะสร้างธุรกิจมูลค่าร่วมหมื่นล้านได้ภายในระยะเวลาเพียง 14 – 15 ปี แต่คุณศรคมและคุณศรีญาทำให้เห็นแล้ว ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า คนเราทำได้
ติดตามได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 14 ฉบับที่ 12 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2562
หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่ www.ookbee.com , www.shop.burdathailand.com