‘กวิน ว่องกุศลกิจ’ ชายหนุ่มวัยกลางเลขสาม ทายาทกลุ่มมิตรผลที่เติบโตมาพร้อมธุรกิจในตระกูลหลายอย่างให้บริหาร หากแต่เขามีคำว่า ‘แตกต่าง’ สลักไว้ลึกในจิตวิญญาณ คุณกวิน ว่องกุศลกิจ จึงไม่เคยหยุดอยู่ที่การเป็นลูกไม้ใต้ต้น !
เขาเล่าว่านับจากรุ่นพ่อแม่ขึ้นไปไม่มีใครได้เรียนสูงและไม่มีต้นทุนชีวิต แต่ในความไม่มีนี้เองทำให้ต่อสู้เพื่อความมีในที่สุด
“ครอบครัวสร้างธุรกิจใหม่ๆขึ้นเยอะ ไม่ว่าจะเป็นบ้านปูหรือดิ เอราวัณ กรุ๊ป ซึ่งการทำสิ่งใหม่หมายถึงไม่เคยมีใครทำมาก่อนทำให้เราไม่มีตัวอย่าง ง่ายมากที่จะล้มเหลวและยากมากที่จะทำให้คนเชื่อมั่น ต้องใช้เวลา ความอดทนและความใจเย็น
“ผมเคยอยู่ในบอร์ดบริหารของเอราวัณกรุ๊ปมานาน พอจะรู้วิธีการบริหารโรงแรม แต่วันแรกที่ผมเปิด
โรงแรมแอดลิบ (Ad Lib Hotel) รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว แขกหายหมดเลย ในเมื่อโรงแรมว่างผมเลยจัดปาร์ตี้ให้ทุกคนมาฟรี ดีเจ มิกโซโลจิสต์ ดารา ใครต่างๆไม่มีที่เที่ยว เขาก็มาโรงแรมเราแล้วกลับก่อนเคอร์ฟิว แค่พลิกความคิดนิดเดียวก็แก้ปัญหาได้แล้วครับ”
ประสบการณ์ที่ได้มาจากความสำเร็จนั้นไม่ซาบซึ้งตรึงใจเท่ากับบทเรียนจากความล้มเหลวที่คุณกวินบอกว่า “มันจะทำให้คุณนอนไม่หลับ”
“เราผิดซ้ำซ้อน 2 ครั้ง เสียเวลารวมๆแล้ว 3 ปีในธุรกิจเสื้อผ้าและธุรกิจศูนย์บำบัด (rehab) ตอนนั้นคิดแค่ว่าทำสิ่งนี้แล้วจะได้เงินเพราะเราเคยเห็นคนอื่นทำแล้วดี สุดท้ายเราก็พลาด ผมสงสัยตัวเองมากว่าทำไมล้มเหลว เพื่อนก็พูดตรงๆว่าเพราะยูไม่มีแพสชั่นในสิ่งที่ทำ พูดทุกอย่างเป็นตัวเลขไปหมด ก็ผมเรียนไฟแนนซ์มานี่ครับ”
จุดเริ่มต้นของธุรกิจออฟฟิศให้เช่า
“ช่วงปี 1997 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง คุณตาของผมเป็นคนหนึ่งที่เจอปัญหาแต่ไม่ถึงกับล้ม ท่านยัง
สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้แต่เงินต้นไม่ลดลงเลย และผมมาพบว่าท่านจ่ายดอกเบี้ยมาตลอด 11 ปี ผมเลยไปเจรจากับธนาคารซึ่งอาจจะด้วยเครดิตของครอบครัวที่ทำให้น่าเชื่อถือ คุณพ่อเองก็ให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินทุนมาส่วนหนึ่ง ทำให้ผมสามารถซื้อคืนอาคารอโศกทาวเวอร์ของคุณตามาได้และทำให้ท่านได้รีไทร์ได้เสียที น่าจะเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผมเลยก็ว่าได้ เพราะคุณตาได้พักผ่อน 5 ปีก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต ท่านไม่เคยนอนหลับเพราะกังวลกับหนี้ อายุตั้ง 72 แล้วตอนที่ท่านเจอวิกฤตและในปีเดียวกันนั้นยังเสียภรรยาไปอีก ผมไม่ได้ตั้งใจอยากทำธุรกิจออฟฟิศให้เช่า แต่มันเริ่มจากแพสชั่นที่อยากจะช่วยคุณตาครับ”
วิกฤตที่มีชื่อเป็นอาหารคล้ายว่าเป็นของแสลงสำหรับคุณกวิน เมื่อในจังหวะที่เขากอบกู้ชีวิตของคุณตาที่โดนควันหลงวิกฤตต้มยำกุ้งมาได้ เขาพบว่าตัวเองได้อาคารหลังนี้มาในช่วงที่โลกเจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ลามจากสหรัฐไปทั่วโลก
“ลูกค้าที่อยู่ในตึกนี้ลดเหลือ 40% เท่านั้น คนที่ยังอยู่ก็มาขอลดค่าเช่าหรือขอไม่จ่าย แต่ถ้าทำแบบนั้นเราก็ไม่สามารถผ่อนจ่ายกับธนาคารได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องช่วยกันครับ เลยไปหาธุรกิจเล็กๆมาแชร์พื้นที่กัน เช่น ใน 1 เดือน บริษัทนี้ใช้ห้องประชุม 2 ครั้ง บริษัทนี้ใช้ 6 ครั้ง เราก็ดึงพื้นที่ห้องประชุมมาเป็นส่วนกลางให้หลายๆบริษัทได้แชร์กัน ทำให้เรามีลูกค้าเต็มภายใน6 เดือนจากที่เคยเหลือแค่ 40% และมีลูกค้าเต็มมาตลอดจนถึงตอนนี้ครับ”
นั่นคือตำนานของโค-เวิร์กกิ้งสเปซในนามว่า Glowfish ผู้บุกเบิกออฟฟิศให้เช่าในรูปแบบใหม่ในเมืองไทย ซึ่งคราวนี้เข้ามาถูกจังหวะในขณะที่คนรุ่นใหม่นิยมทำงานอิสระเป็นฟรีแลนซ์และทำธุรกิจสตาร์ทอัพกันมากขึ้น จนถึงกับมีคำกล่าวว่าโกลว์ฟิชคือแนวปะการังของสตาร์ทอัพในเมืองไทย “เราเกิดมาในช่วงเวลาที่เมืองไทยยังไม่รู้จักคำพวกนี้กันเลย” เขาต่อท้าย
เลือกปลุกปั้นธุรกิจใหม่ๆจากอะไร ?
“แต่ก่อนผมต้องวิเคราะห์ก่อนว่าธุรกิจนี้เวิร์กไหมก่อนจะลงมือทำ แต่ตอนนี้ไม่แล้ว ขอแค่รู้ว่า ‘ใครทำ’ แค่นั้นจบเลยครับ ต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้ เป็นคนดี ทำได้จริงและมีจริตตรงกันแล้วค่อยมาคุยกันต่อว่าจะทำอะไร จะทำอย่างไร คนอื่นอาจเริ่มต้นธุรกิจจากคำถามที่ว่า ‘ทำให้ใคร’ แต่เราไม่มีคำถามนั้นเลยเพราะรู้ตั้งแต่วันแรกแล้วว่าจะทำให้เราเอง เพราะตลาดก็คือคนแบบเรานี่แหละ นี่คือวิธีการสร้างธุรกิจแบบเดียวที่ผมทำเป็น กล้าพูดเลยครับว่าวิธีการอื่นผมทำไม่เป็น”
การบริหาร ‘คน’
“เรามีธุรกิจหลายแบบ ในแต่ละธุรกิจก็ต้องใช้วิธีการต่างกัน คนเก่งที่สุดที่เรามีซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิง เราต้องทรีทเขาเหมือนเป็นแฟนเลย เพราะเขาเซนซิทีฟมาก ขี้น้อยใจหมดกำลังใจง่าย แต่ผมชอบทำงานกับผู้หญิงที่มีครอบครัวหรือคนที่เป็นแม่มาแล้ว เขาคือคนที่ต้องดูแลคนอื่น ทำให้เขามีความใส่ใจ รอบคอบ มีต่อมรับรู้ความรู้สึกของคนอื่นได้ ในขณะที่ตัวผมเป็นคนที่ไม่ระวังหลังเลย คนทำงานระดับบริหารใน 3 องค์กรของเราเป็นผู้หญิงทั้ง 3 คน ทั้งที่โรงแรมแอดลิบโกลว์ฟิชและร้านอาหาร Kuppadeli
“เมื่อคุณทำงานกับคนเป็น สิ่งนี้ก็กลายเป็นข้อได้เปรียบของคุณเอง ผมเปลี่ยนสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับ
คนอื่นได้ ไม่อย่างนั้นคนอื่นก็ทำเหมือนเราได้ง่ายๆเลย ยุคนี้รีเทลกำลังจะตาย พื้นที่ศูนย์การค้ากลายมาเป็นร้านอาหาร ซึ่งธุรกิจอาหารก็กำลังจะตายเพราะคู่แข่งเยอะเกิน แล้วจะทำอะไรดีล่ะทีนี้ กลุ่มทุนใหญ่ๆเลยหันมาทำโค-เวิร์กกิ้งสเปซกันหมด แต่ดีไซน์สวยๆ คุณมีเงินไปจ้างอินทีเรียร์มาก็ทำได้ โลเกชั่นของหลายๆเจ้าก็ดีกว่าของเรา แต่ทำไมโกลว์ฟิชยังมีคนต่อคิวจะเข้ามาใช้บริการ ตั้งแต่สมัยที่ผมแก้วิกฤตหนี้สินอาคารของคุณตา ผมได้บทเรียนว่าเราต้องช่วยให้คนอื่นอยู่ได้เพื่อที่เราจะอยู่ได้ด้วย เหมือนประโยคในหนังเรื่อง Jerry Maguire ที่บอกว่า ‘Help me, help you.’ สุดท้ายทำให้เราเข้าใจว่าโค-เวิร์กกิ้งสเปซไม่ใช่เรื่องของการแชร์พื้นที่แต่เป็นการที่คนมาแชร์กันเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ เราอยู่จุดนี้ได้เพราะเรื่องของคน ซึ่งต้องใช้เวลาสร้าง คุณจ้างดีไซเนอร์เก่งๆมาก็สร้างคนไม่ได้ มีพื้นที่ดีๆก็สร้างคนไม่ได้ครับ
“ยิ่งในยุคที่คอมพิวเตอร์ทำได้ดีกว่าคนเกือบทุกอย่าง เหลือสิ่งที่คนยังทำได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์อยู่ไม่กี่อย่าง หนึ่งในนั้นคือความคิดสร้างสรรค์ครับคอมพิวเตอร์คิดได้ดีกว่าคน แต่ยังครีเอทเองไม่ได้ ถ้าคุณคิดว่าการทำงานกับคนเป็นเรื่องยากแล้วหันไปทุ่มเทกับเทคโนโลยี ผมจะบอกว่าเทคโนโลยีแค่ทำให้คุณสู้คนอื่นได้ แต่ทำให้คุณชนะไม่ได้ เพราะใครๆก็มีเทคโนโลยีกันหมดแล้ว ฉะนั้นเรามาเก่งด้านคนน่าจะดีกว่า มาถูกทางแล้ว ถ้าไฮเทคเราไม่ชนะเขา เราไฮทัชก็แล้วกันครับ”
ทั้งชีวิตของชายหนุ่มชื่อกวิน ว่องกุศลกิจเลือกจะอยู่นอกกรอบและกฎเกณฑ์ใดๆ และเขามาอยู่ในจุดที่ฝันไว้ได้ด้วยพลังศรัทธาในแพสชั่นและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ จนกลายเป็นปรัชญาในการทำงานว่าอะไรที่มีคนเคยทำแล้ว จะไม่ขอทำซ้ำ หากการพาตัวเองไปอยู่แนวหน้าเป็นผู้กล้าคิดใหม่ทำใหม่เสมอ หลีกเลี่ยงได้ยากว่าต้องมีผู้ทำซ้ำและลอกเลียนโดยไม่เสียเวลาหยุดคิด คุณกวินมีคอมเม้นต์สั้นๆในประเด็นนี้ว่า “แค่คิดจะทำตามก็ช้าไปแล้วครับ”
ติดตามเรื่องราวของเส้นทางสู่ความสำเร็จที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ของ The Achievers ทั้ง 10 ท่าน ได้ใน THE YOUNG ACHIEVERS