มีวันนี้เพราะพ่อไม่ให้’ อาจเป็นประโยคที่สรุป ความสำเร็จระดับพันล้านของผู้บริหารอายุน้อยที่สุดที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ตั้งแต่อายุแค่ 29 ปี ‘คุณเก็ท-ณัฐนัย อนันตรัมพร’ คนหนุ่มไฟแรงในแวดวงธุรกิจเทเลคอมผู้ให้บริการวงจรสื่อสารความเร็วสูงทั่วประเทศไทย
ลูกชายคนเดียวในครอบครัวที่สร้างฐานะขึ้นมาจากการทำธุรกิจ เขาเกิดปีเดียวกับบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ได้เป็นบริษัทมหาชน หากก็ถือว่าธุรกิจไปได้ดี ชนิดที่มีคนขับรถไปรับส่งลูกๆ ไปโรงเรียนได้ทุกวัน ยกเว้นลูกชายคนเดียวคนนี้ที่รถไปส่ง แต่ไม่รับกลับ

“พ่ออยากสร้างให้ผมเป็นนักธุรกิจ อยากให้ผมเข้มแข็งอดทนและไม่อยากให้เป็นคนจมไม่ลง ผมได้เงินไปโรงเรียนวันละ 35บาท ตอนเช้านั่งรถของที่บ้านไปเรียนที่สตรีวิทยา 2 พร้อมพี่สาว แต่ตอนเย็นผมเป็นคนเดียวที่ต้องนั่งรถเมล์แล้วต่อรถสองแถวเข้าบ้าน พอม.ปลายสอบเข้าเตรียมอุดมฯ ได้ เสียค่ารถไฟฟ้า 32 บาท ต่อรถปอ.อีก 10 บาท ซึ่งเงินที่ได้ไปโรงเรียนก็เท่าค่ารถเป๊ะ”
เสียงเขาขมขื่นไม่น้อยและบอกตรงๆ ว่าน้อยใจพ่อเสมอมา ความรู้สึกนี้ผสมกับความอยากเข้าสังคมใหม่ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทำให้ลูกชายที่เกรงพ่อมากชักเริ่มออกอาการเกเร “สังคมที่เตรียมฯ มีตั้งแต่คนที่มาจากต่ำสุดไปถึงสูงสุด เราอยู่ตรงกลางแต่อยากขยับไปชั้นบน ทำให้ผมเริ่มหาเงินใช้เอง” เซียนเกมแร็กนาร็อกอย่างคุณเก็ทจึงใช้ทักษะนี้หาเงินได้เป็นกอบเป็นกำ มีรายได้เหยียบแสนต่อเดือน”

ความเฮี้ยวสมัยวัยรุ่นของเขามาถึงจุดหักเลี้ยวในวันที่ผลคะแนนสอบกลางภาคออกมา เขาถึงกับเสียน้ำตาลูกผู้ชายก็เพราะอาย “สมัยเรียนที่สตรีวิทยา 2 ผมถือว่าเรียนดี สอบได้ 1 ใน 9 อันดับของโรงเรียนที่มีนักเรียนเป็นพันคน ได้เกรด 3 กว่าตลอด แต่ตอนไปเรียนเตรียมฯ ตอนสอบเข้าเขารับ 760 คน ผมสอบได้ที่ 757 เกรดเหลือ 2.8 และพอสอบปลายภาคก็ตกอีก เป็นโมเมนต์กระชากใจที่สุด ร้องไห้เลยครับ”
คุณเก็ทออกตัวว่าไม่ใช่คนเรียนเก่ง แต่เด็กเรียนคาบเส้นคนนี้เอ็นท์ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอิสระของคุณเก็ทนั้นก็เริ่มมาในรูปของการเหินฟ้าไปเรียนต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจที่บอสตันสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาพบว่าการเดินตามเส้นที่บิดาขีดให้ครั้งนี้สร้างชีวิตให้เขาในปัจจุบัน

“ยังน้อยใจคุณพ่ออยู่ เพราะท่านให้เงินผมใช้เดือนละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดนค่าห้องไป 1,500 เหลือใช้ทั้ง เดือนแค่ 500 ผมเลยโตมากับแม่ประนอมครับ คือกินไก่กับน้ำจิ้มแม่ประนอมแทบทุกวัน ไก่ 30 – 40ชิ้นอยู่ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ แต่สังคมบอสตันมีค่าครองชีพสูง ผมเลยไปสมัครเป็นโปรเจกต์แมเนเจอร์ของมหาวิทยาลัย เขาสัมภาษณ์ผมว่าสกิลล์หลักในการทำตำแหน่งนี้คืออะไร ผมตอบว่าผมไม่รู้เรื่องงานด้านซอฟต์แวร์ แต่ผมสามารถหาคนเก่งในแต่ละด้านมาสร้างผลงานออกมาได้ตามเป้าหมายผมเลยได้งานครับ ค่าจ้าง 14,000 ดอลลาร์สหรัฐฯทำงาน 8 เดือน ผมต่อรองอีกว่าถ้าทำงานเสร็จภายใน 5 เดือน ผมขอเงินเพิ่มอีก 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้างานเสร็จเร็วขึ้น เงินค่าจ้างคนทำงานก็จะลดลง ผมและเพื่อนในทีมก็ได้เงินเพิ่ม win-winกันทุกฝ่าย”
คุณเก็ทกำเงินก้อนแรกที่หาได้ในสหรัฐอเมริกาไปซื้อหุ้นฟิวเจอร์สในตลาดดัชนีดาวโจนส์โดยไม่มีความรู้ใดๆ เรื่องการลงทุน
“คิดแค่ว่าซื้อหุ้นหนึ่งตัวถ้ามันขึ้นก็ได้เงินเยอะขึ้น”
ผลกลายเป็นว่าฟิวเจอร์สบวกขึ้นมา 300 จุด เงิน 50 ล้านบาทกองที่หน้าตักผู้ชายวัย 23 ในทันที ดังนั้นในวันที่คว้าปริญญาโทมากอดได้ เขาใช้เงินส่วนตัวออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งครอบครัวมาร่วมงานรับปริญญาที่อเมริกา ก่อนจะต่อรองกับคุณพ่อว่าจะขอหางานทำในอเมริกาให้ได้
“ผมหว่านใบสมัครงานไป 700 แห่งภายใน6 เดือน ยิ่งเราทำมาก โอกาสก็ยิ่งกลับมามากขึ้นเท่านั้น” จาก 700 ได้มา 1 ที่

ชายหนุ่มวัยไม่ถึง 30 ที่หอบเงิน 30 ล้านกลับจากอเมริกามาพร้อมความฝันจะพาบริษัทเข้าตลาดหุ้นตอนที่อายุยังน้อย และเขาก็ทำได้สำเร็จเสียด้วยจนสร้างประวัติศาสตร์ในวัย 29 ปี แต่ก่อนอื่นทายาทของบริษัทซึ่งได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่ง General Manager ต้องทำภารกิจแรกที่ท่านประธานสั่งการให้สำเร็จให้จงได้
“คุณพ่อบอกให้ผมสร้างธุรกิจใหม่ ท่านพูดแค่นี้เลยครับ” แรกๆ เขามืดแปดด้าน พยายามโดดไปจับธุรกิจที่ ‘คิดว่า’ น่าจะดี แต่ผู้ใหญ่ที่หวังดีมาเตือนสติก่อนว่า “ทำอะไรที่ถนัดจะดีกว่า” ทำให้คุณเก็ทถอยกลับมาตั้งหลักใหม่และไตร่ตรองทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ
“บริษัทของคุณพ่อขายสายส่งสัญญาณแต่บริษัทใหม่ของผมเป็นธุรกิจให้บริการเชื่อมต่อและเก็บข้อมูล เหมือนเป็นดาต้าเซ็นเตอร์”

ในช่วงบุกเบิกเรียกว่าคุณเก็ทต้องรับทั้งศึกในและศึกนอกไม่เว้นแต่ละวัน
“ข้อดีคือเราเป็นลูกเถ้าแก่ เดินเข้ามาปุ๊บ คนก็หมั่นไส้ครับ คุณพ่อส่งลูกน้องมาให้ผม 5 คน ขอข้อมูลไปก็ไม่ให้ บางทีก็ให้ข้อมูลผิดๆ กลับมาลูกค้ายกเลิกนัดแล้วแต่ลูกน้องไม่บอกผม ปล่อยให้ผมขับรถไปเก้อ 4 – 5 ครั้งก็มี” เขาหัวเราะอย่างเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเวลาผ่านไป “แต่มีครั้งหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนให้ผมได้ใจลูกน้อง ครั้งนั้นทีมงานลากสายสัญญาณเข้าไปติดตั้งให้ลูกค้าในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งไม่ได้ ลูกน้องโทร.หาผมตอน 5 ทุ่ม ปรึกษาว่าจะทำยังไงดี ผมบึ่งรถไปที่ห้าง พอเจอรปภ.ก็คุกเข่าลงแล้วก้มลงกราบเขาต่อหน้าลูกน้องทุกคน บอกรปภ.ว่าผมสัญญากับลูกค้าไว้แล้ว ถ้าลากสายเข้าไม่ได้ ผมซวยแน่คุยไปคุยมา รปภ.ก็ให้เข้า วันรุ่งขึ้นสถานการณ์ในบริษัทระหว่างผมกับลูกน้องดีขึ้นทันตา ลูกน้องคงเล่าสู่กันฟังว่า นายก้มลงไปกราบรปภ.เลย นาทีนั้นผมรู้สึกแค่ว่า ถ้ามัวมาวัดอีโก้กันว่าเราเป็นนาย เขาเป็นลูกน้อง แล้วอีกคนเป็นแค่ยาม งานก็ไม่เสร็จ ลูกน้องเลยเห็นว่าผมไม่ใช่เจ้านายที่นั่งบนหอคอยแล้วชี้นิ้วสั่ง”
ศึกในใช้ใจวัดใจได้สำเร็จ ขณะที่ศึกนอกต้องเรียกว่าเป็นศึกมดชนช้าง
“ธุรกิจที่ผมสร้างใหม่ ในตลาดเดิมมีแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เราเลยเจอวิกฤติการณ์ขายอย่างเลี่ยงไม่ได้ ด้วยความที่เป็นหน้าใหม่ในตลาด ประกอบกับผมอายุยังน้อย เดินไปคุยกับใครเขาก็ไม่รู้จักและไม่เชื่อถือว่าเราจะทำได้
“สิ่งที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นในผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างผมคือ commitment ผมบอกลูกค้าว่าถ้าผิดพลาดหรือไม่เป็นอย่างที่พูด ไม่ต้องจ่ายเงิน ทำให้เรายิ่งต้องดูแลหลังบ้านให้ดี เพราะเอาชื่อเสียงไปค้ำประกันตอนแรกที่เข้าไปติดต่อทรูซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ ผมให้เขาทดลองใช้งานก่อน 3 เดือน ถ้าไม่ดีจริงอย่างผมว่าผมไม่ขอรับเงิน จากเดิมที่สายส่งสัญญาณของเขาขาดอาทิตย์ละหลายวัน เราแก้ปัญหาให้ได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง โทร.หาผมตี 2 ตี 3 ผมรับสายหมดครับทำให้เขาเห็นว่าเรารับผิดชอบ
“ผมบอกลูกน้องเสมอว่าหลักในการทำธุรกิจคือความจริง อย่าโกหก เพราะปิดยังไงก็ไม่มิด ถ้าเสียก็บอกว่าเสีย รายงานเขาไปว่ากำลังซ่อมอยู่ ซ่อมถึงไหนแล้วและใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ผมอยากโตอย่างยั่งยืนซึ่งต้องเริ่มจากการที่ลูกค้ารักในความจริงใจของเรา เมื่อเกิดสิ่งนี้แล้วเขาจะไม่มองหาผู้ค้ารายอื่นอีก”
“ถ้าเทียบกับคนวัยเดียวกัน ผมถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง วันนี้เราสำเร็จพันล้าน แต่มีคนที่สำเร็จหมื่นล้าน แสนล้าน ผมอยากไปถึงระดับนั้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และผมอยากจะแน่ใจว่าเมื่อไปถึงจุดนั้นแล้ว ผมจะมีทั้งเงินและความสุข ผมเคยเห็นในเฟสบุ๊กลูกน้องว่าพาครอบครัวไปเที่ยวพม่าด้วยสายการบินโลว์คอสต์แต่ท่าทางเขาสนุกและมีความสุขมากกว่าผมที่นั่งบิสิเนสคลาสไปญี่ปุ่นซะอีก วันนี้เลยกลับมาบอกตัวเองว่าชีวิตอีกด้านของเราว่างเปล่ามาก เพราะเราบริหารความสุขไม่เป็น ตอนบวชผมยังเอาคอมพิวเตอร์ไปด้วย เรียกพนักงานไปประชุมที่วัดตอบอีเมล Dear โยม (หัวเราะ) เคยบิน 14 ชั่วโมงไปประชุมที่ฝรั่งเศสแล้วบินกลับทันที ผมเป็นคนทำทุกอย่างตามเป้าหมายแต่สุดท้ายมันตึงเกินไปและผมก็รู้ตัวแล้ว
“ความสำเร็จถัดไปของผมคือการหาบาลานซ์ให้เจอ ผมเชื่อว่างานอย่างเดียวไม่ทำให้คนสำเร็จแต่ต้องมีทั้งงาน ครอบครัวและชีวิตส่วนตัว สามอย่างในชีวิตนี้ต้องบาลานซ์กันจึงจะเรียกว่าเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง”
ติดตามเรื่องราวของเส้นทางสู่ความสำเร็จที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ของ The Achievers ทั้ง 10 ท่าน ได้ใน THE YOUNG ACHIEVERS