Home > Celebrity > Exclusive Interviews > หาเงินล้านได้ตั้งแต่เรียนมหา’ลัย เปิดชีวิต ‘จุ๋ม – วชิรา จิตศักดานนท์’

แม้ ‘คุณจุ๋ม – วชิรา จิตศักดานนท์’ จะเป็นทายาทเจเนอเรชั่นที่ 2 แห่งบริษัท ยูเนี่ยน แพน เอ็กซิบิชั่นส์ จำกัด ผู้จัดงานแสดงสินค้าระดับประเทศ แต่เธอก็ไม่ได้ถูกคุณพ่อคุณแม่สปอยย์อย่างที่ใครคิด 

“ปกติคุณพ่อให้เงินเป็นรายเดือน และสอนให้รู้ค่าของเงินด้วยการให้แค่พอใช้ ถ้าอยากเก็บออม ต้องไม่กินไม่ใช้ฉะนั้น การอยากได้กระเป๋า รองเท้า หรือเสื้อผ้า เลยเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บเงินซื้อได้ ตอนนั้นจุ๋มอยากได้กระเป๋าสะพาย Louis Vuitton สีเหลือง ข้างในสีม่วง ใบละหมื่นห้า ในขณะที่
ได้เงินเดือนละ 5,000”

นักฝันใหญ่เล่าถึงไอเดียการหาเงินก้อนแรกในชีวิตว่าเห็นอาคารแสดงสินค้าชั่วคราวของคุณพ่อในแต่ละเดือนใช้จัดงานแค่ 9 วัน อีก 21 วันปล่อยว่างทิ้งไว้เฉยๆ จึงคิดเปิดการาจเซลส์ขึ้น หลังปรึกษาคุณพ่อและขออนุญาตใช้พื้นที่แล้ว คุณจุ๋มผู้ไขว่คว้าหาโอกาสก็ไม่ปล่อยให้หลุดลอยไป

“แค่คุณพ่อให้ใช้พื้นที่ฟรีแล้ว จุ๋มเลยต้องทำเองให้ได้งานนี้มีต้นทุนอย่างเดียวคือค่าเช่าหม้อแปลงไฟรายเดือนต้องวางแผนให้รายรับพอจ่ายค่าเช่านี้ให้ได้ก่อน เหลือเท่าไหร่
ถึงเป็นกำไร” 

“ครั้งแรกมีรถมาเปิดท้าย 30 คัน ลูกค้ายังไม่เยอะเพราะคนยังไม่ค่อยรู้ว่ามีตลาดเปิดท้ายขายของที่นี่ เลยไปชวนเพื่อนๆ ให้มาขายฟรีจะได้ดูคึกคัก แล้วจุ๋มเองก็เอาของมาขายด้วยเหมือนกัน”


ถามกันตรงๆ ว่าเผื่อใจไว้ไหม คุณจุ๋มยิ้มกว้างก่อนตอบอย่างมั่นใจว่า “เห็นปัญหาจากงานที่คุณพ่อจัดมาตั้งแต่เด็ก จุ๋มคิดไว้หมดแล้วว่า ถ้าไม่มีรถมาเช่า ฝนตกคนไม่มาเดิน แม่ค้าขายของไม่ได้ เราต้องทำยังไง”

ไม่ถึงปีจำนวนรถที่มาจองพื้นที่ขยับเพิ่มเป็น 200 – 300 คัน แม่ค้าจำเป็นอย่างเธอเก็บเงินได้หลายแสนบาทแต่เมื่อกิจการรุ่งเรืองย่อมมีคนทำตาม ไม่นานย่านพระราม 4 ก็เต็มไปด้วยตลาดเปิดท้ายขายของผุดขึ้นกันพึ่บพั่บ แล้วจู่ๆ โอกาสก็มาหาเธออีกครั้ง

“จุ๋มไปเที่ยวสิงคโปร์กับครอบครัว แวะช็อปปิ้งในอิเกียที่ตอนนั้นยังไม่มาเปิดในบ้านเรา” จากที่เห็นแก่ของถูกและตั้งใจซื้อมาใช้เอง ปรากฏว่าของมากเกินความจำเป็นไปเยอะ จึงตั้งโต๊ะเอาสินค้าอิเกียมาวางขายในงานของคุณพ่อที่สวนอัมพร

“จุ๋มเองยังตกใจเลยค่ะคิดมาวางขายเล่นๆ ไหนๆ บูธก็ว่างอยู่ ครั้งนั้นขายได้ 30,000 กำไรสองเท่าเห็นๆ” เธอจึงหันมาทำเป็นกิจจะลักษณะ ฝากเขาหิ้วมาบ้าง บินไปซื้อเองบ้างหลังๆ เริ่มมีแคตตาล็อกให้ลูกค้าพรีออร์เดอร์ ซื้อมาขายไปอยู่ปีกว่า ได้กำไรมาอีกหลายแสนบาท

คุณจุ๋มถ่อมตัวเมื่อได้รับคำชมถึงการคิดหาเงินด้วยตัวเองแม้จะเป็นทายาทนักธุรกิจที่ฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างสบาย

“ความทะเยอทะยานอยากมีเงินไปซื้อของที่ตัวเองอยากได้ต่างหากค่ะที่นำพาจุ๋มไป (หัวเราะ)
จากกระเป๋า Louis Vuitton ไป Gucci แล้วค่อยขยับไปที่นาฬิกา Chopard และ Cartier ที่บ้านไม่สนับสนุนให้ใช้ของแพงอยู่แล้ว การหวังจะขอให้ท่านซื้อให้เลยเป็นไปไม่ได้ แต่จะไม่ว่าถ้าเราหาเงินมาซื้อเอง จุ๋มเลยเห็นโอกาสในสิ่งที่ทุกคนก็เห็นแต่อาจมองข้ามไป

“จุ๋มหาเงินได้เป็นล้านตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัยภูมิใจที่เงินทุกบาทมาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ใช้ซื้อของที่อยากได้ แต่ยังไงจุ๋มก็ยังชอบเห็นตัวเลขเยอะๆ ในสมุดบัญชีธนาคารอยู่ดีค่ะ”

นักแก้ปัญหา

แม้จะมีแผนสำรอง มีประสบการณ์การจัดงานมาไม่น้อย แต่ใช่ว่าทุกครั้งจะได้เรียนรู้จากความสำเร็จเสมอไป ดั่งเช่นครั้งแรกที่คุณจุ๋มคิดริเริ่มจัดงานแสดงอาหารเพราะเห็นโอกาสความเป็นไปได้ที่ทุกงานมีการขายอาหารและเครื่องดื่มกระจายตามมุมต่างๆ บริการผู้เข้าชมงานอยู่แล้ว ถ้าเอาของอร่อยมารวมกันในที่เดียว คนน่าจะสนใจ แต่ผลตอบรับกลับไม่ดีเท่าที่คาดไว้

“สิ่งแรกที่ต้องทำคือวิเคราะห์หาสาเหตุให้ได้เราพบว่าพาวิเลียนที่จัดงานอยู่ไกลจากงานอื่น
ไม่ใช่ทางที่คนจะเดินผ่านไปมาแล้วพบเห็นได้ส่วนใหญ่ผู้เข้าชมจะมุ่งไปงานที่ตั้งใจมา
กลับออกมาก็ขึ้นรถเลย ไม่ได้แวะมาเดินชมงานอื่นต่อ พอขายได้น้อยลง อาหารที่เตรียมมา
ก็ขายไม่หมด มีการบูดเสีย นี่คือสาเหตุและปัญหา จุ๋มคิดหาทางแก้ที่มากกว่า 1 แล้วค่อย
ไปปรึกษาคุณพ่อ จุ๋มเสนอวิธีที่ตัวเอง มั่นใจที่สุดไป คือการเติมกลิ่นอายคอนเทนต์ของ
งานเข้าไปให้ชัดเจน ฟังชื่องานแล้วนึกคอนเซปต์ออก รวมถึงการปรับรูปแบบการจัดงานให้แตกต่าง
จากคนอื่น แล้วให้ท่านใช้ประสบการณ์ชีวิตฟันธงให้แต่ถ้าท่านยังไม่เห็นด้วย จุ๋มก็สำรองวิธีอื่นเผื่อไปด้วยแล้ว จะไม่มีการกลับมาคิดหาวิธีใหม่อีกแล้วค่อยกลับไปพบคุณพ่ออีกที”

วิกฤติครั้งนั้นทำให้เกิดงานตลาดน้ำตำนานอร่อย งานที่มีคอนเซปต์ความเป็นไทย อาหารโบราณที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ให้พ่อค้าแม่ขายใส่ชุดไทยพาผู้เข้าชมงานย้อนกลับไปในอดีตด้วยกัน งานนี้ประสบความสำเร็จมากและกลายเป็นโมเดลต้นแบบให้อีกหลายๆ งานที่จัดคล้ายกัน

“หลักการแก้ปัญหาของจุ๋มตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของคนอื่นเสมอ คิดถึงใจลูกค้าเป็นหลัก
ความรู้สึกที่เราทำงานผิดพลาดแล้วกระทบกับลูกค้าที่เชื่อมั่นในตัวเรา ความผิดหวังเสียใจมันมากกว่าตอนสอบเข้าเอแบคครั้งแรกไม่ได้เลยทั้งที่ตอนนั้นจุ๋มผิดหวังกับตัวเองมาก รู้สึกเหมือน
โลกถล่มฟ้าทลาย แต่ความทุกข์ของคนที่ตั้งใจมาขายของ เงินก้อนนี้สำคัญกับครอบครัวเขา ถ้าเขา
ขายไม่ได้ อีกกี่ชีวิตที่ต้องลำบาก”

บรรยากาศการบุกเบิกการจัดงานแสดงสินค้าในภูมิภาคที่หาดใหญ่่ จ.สงขลา เป็นครั้งแรกของบริษัท ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมากจากผู้เข้าชมงาน

“งานแสดงสินค้ามีเวลาจัดงานแค่ 9 วัน ใช้เวลาเตรียมการเสนอขายลูกค้า 2 เดือนล่วงหน้า สร้างบูธอีก 10 – 15 วัน แต่ประสบการณ์ยาวนานก็ทำให้เรารู้ใจและอ่านลูกค้าออก”

“บางคนสั่งของแล้วติดต่อคนขายไม่ได้ เราก็เข้าไปช่วย” แค่ลงไปแก้ปัญหาให้คนขายเป็นรายบูธ
ก็ว่ายุ่งแล้ว นี่ยังอาสาเข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยเจรจาให้ เท่ากับเป็นการเพิ่มความยุ่งยากจากปัญหาจุกจิกอีกทบเท่าทวี อีกครั้งที่ถามกันตรงๆ ว่าจำเป็นแค่ไหนที่ต้องทำขนาดนี้


“เพราะเรามั่นใจว่า เราอยากให้ยูเนี่ยนแพนฯ อยู่ไปถึง 100 ปี อยากเป็นโปรเฟสชั่นนอล เอ็กซิบิเตอร์ ออร์แกไนเซอร์ จากที่จัดแสดงเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว เราจัดงานหลากหลายขึ้น และจัดงานกระจายในทุกภูมิภาคของประเทศไทยได้แล้ว”

หากมีเวลาว่าง คุณจุ๋มมักชวนครอบครัวหรือเพื่อนๆ ไปล่องเรือยอชต์ไปพัทยาบ้าง ภูเก็ตบ้าง เพื่อไปชาร์จแบตเติมพลังชีวิตให้ตัวเองกลับมาพร้อมลุยงาน
คุณจุ๋มและครอบครัว คุณเอกชัย (สามี) และลูกๆ เอเจ-เอกวิชญ์, จาจ้า-อรินดา, เอริ-เอริชา โชติยานนท์
คุณจุ๋มและครอบครัว คุณเอกชัย (สามี) และลูกๆ เอเจ-เอกวิชญ์, จาจ้า-อรินดา, เอริ-เอริชา โชติยานนท์

เห็นคุณจุ๋มทำงานเยอะขนาดนี้ แต่บทบาทความเป็นแม่ก็ไม่ได้ขาดตกบกพร่องเลย ทุกวันเธอตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปส่งลูก 3 คนไปโรงเรียนนานาชาติ 3 แห่ง เพราะสามพี่น้องแฮปปี้กับสิ่งที่แต่ละคนเลือกจึงเรียนคนละโรงเรียนจากนั้นก็ออกกำลังกายจะพิลาทีสสลับกับการมีเทรนเนอร์ แล้วถึงเข้าออฟฟิศทำงานยาวตั้งแต่ 9 โมงเช้ายัน 1 ทุ่มถ้าไม่มีงานสังคมใด เธอก็ขับรถตรงกลับบ้านเพื่อไปสอนการบ้านลูกๆ กินข้าวเย็นด้วยกัน พูดคุยกัน และส่งลูกเข้านอน

“นี่แหละรางวัลชีวิตของจุ๋มคือการได้อยู่กับครอบครัว”

ติดตามเรื่องราวของเส้นทางสู่ความสำเร็จที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ของ The Achievers ทั้ง 10 ท่าน ได้ใน  THE YOUNG ACHIEVERS  

 

 

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.