นับเป็นครั้งแรกที่นักธุรกิจจิวเวลรี่หนุ่มใหญ่อย่าง ‘คุณท็อป-ปิยะ อัจฉริยศรีพงศ์’ ประธานบริหารกลุ่มบริษัท เจมส์ พาวิลเลี่ยน จำกัด จะเปิดใจเรื่องบทบาทการเป็นคุณพ่อของลูกๆ ที่กำลังอยู่ในวัยทีนเอจทั้งสองคน และที่สำคัญ หน้าตาดีพอฟัดพอเหวี่ยงกับคุณพ่อด้วยกันทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็น ‘น้องมีมี่-ภาพัชร์ อัจฉริยศรีพงศ์’ ซึ่งขณะนี้เรียนอยู่ชั้นปี 1 คณะนวัตกรรมการบริการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นานาชาติ และ ‘น้องปั้น-ภกร อัจฉริยศรีพงศ์’ นักเรียน Year 11 ที่ Shrewsbury International School Bangkok
“คุณแม่ผม (วลัยศรี อัจฉริยศรีพงศ์) พูดกับผมเสมอว่า ลูกเปรียบเสมือนทรัพย์” คุณพ่อท็อปเอ่ยกับ HELLO! ด้วยสีหน้าอ่อนโยน ก่อนจะพูดต่อว่า “เป็นของมีค่าที่ถ้าหากเราเลี้ยงดูทรัพย์นั้นดีๆ มูลค่าจะเพิ่มขึ้น แล้วทั้งเราและเขาจะมีความสุข เมื่อก่อนผมก็ไม่เข้าใจคำพูดนี้ จนกระทั่งมีลูกแล้วเราถึงรู้ว่าลูกเป็นทรัพย์ที่แท้จริง

“และผมจะคอยบอกเพื่อนๆ เสมอว่า เดี๋ยวนี้ผู้ชายที่มีลูกต้องทำตัวเป็นสองพ. พ.พ่อ กับ พ.เพื่อน ในฐานะที่เราเป็นพ่อก็ทำหน้าที่เลี้ยงดูเขาไป ในยุคที่ทุกคนสามารถรับข่าวสารตลอดเวลา การจะปิดกั้นลูกเป็นเรื่องยาก สิ่งที่เราทำได้ก็คือเป็นเพื่อนกับเขา พยายามเข้ากับเขาให้ได้ทุกมุมทุกมิติ ไม่ใช่ให้เขาคิดว่าคนเป็นพ่อต้องเชย ตามยุคสมัยไม่ทัน ผมจะใช้วิธีเข้าไปใน iTune ดูว่าช่วงนี้เพลงไหนคนโหลดเยอะ แล้วผมก็บอกเขาว่า ฟังคุณพ่อไว้นะ เดี๋ยวอีกไม่เกินสัปดาห์เพลงนี้จะดัง แล้วปรากฏว่าดังจริงๆ เขาก็ทึ่งว่าพ่อทันสมัย ตอนนั้นผมก็ไม่ได้บอกเขาหรอกว่าผมรู้จากที่ไหน เพิ่งมาเฉลยให้เขาฟังเมื่อไม่นานมานี้เอง” คุณท็อปพูดพลางหัวเราะเบาๆ การเข้ากับเพื่อนของลูกก็เป็นอีกสิ่งที่เขาไม่เคยมองข้าม
“ต้องทำตัวให้ reachable ผมเวลคัมเพื่อนเขาทั้งหมด บางทีผมรีวิวร้านอาหารเล่นๆ สนุกๆ ลงกรุ๊ปเพื่อนบ้าง ลงกรุ๊ปลูกๆ แล้วเขาไปแชร์ต่อบ้าง เป็น FC พ่อท็อป ต้องพยายามทำตัวไม่ให้แก่เกินกว่าที่เขาจะ get along กับเรา ผมว่าบางทีคนคิดไปเองว่าตัวเองแก่ ซึ่งไม่แปลกนะที่เราจะไม่รู้ในหลายๆ เรื่อง ให้ยอมรับเลยว่าเราไม่รู้ แต่บางเรื่องเราก็รู้มากกว่าเขา เขาก็จะทึ่งว่าคุณพ่อรู้ได้ยังไง”
จบประโยคคุณท็อปก็หันไปมองลูกสาวคนงามที่กำลังนั่งให้ช่างแต่งหน้าเสริมความงามอยู่อย่างสงบว่าจะได้ยินประโยคนี้ไหม น้องมีมี่ซึ่งนั่งอ่านมือถือยิ้มให้คุณพ่อพลางพยักหน้าเหมือนจะยืนยันเรื่องเล่านี้ ระหว่างที่รอน้องปั้นเลิกเรียนและตามมาสมทบ
คุณพ่อสาย Sentimental
แม้ว่าด้านหนึ่งคุณท็อปจะเป็นนักธุรกิจที่อยู่ในโลกของการแข่งขันและวัตถุ แต่อีกด้านที่สังคมภายนอกไม่รู้จักก็คือการเป็นคุณพ่อผู้มีความอ่อนโยนในหัวใจ “วินาทีที่ผมซาบซึ้งมากๆ ก็คือวินาทีที่พยาบาลมาส่งเขาที่รถ และตอนที่กลับถึงบ้าน ความรู้สึกนั้นคือเราต้องรับผิดชอบเขาไปตลอดในฐานะที่เราเป็นพ่อ ขณะเดียวกันก็รู้สึกหนักใจนิดๆ ว่าจะเลี้ยงเขารอดไหม แต่ตอนหลังก็มานั่งคิดว่าพ่อแม่ยังเลี้ยงเรามาได้ คนอื่นที่ลำบากกว่าเราก็ยังเลี้ยงได้นะ เราก็น่าจะเลี้ยงได้ แล้วพอมาคนที่สอง ตอนแรกก็กลัวว่าจะต้องเหนื่อยคูณสอง แต่จริงๆ ไม่ถึงขนาดนั้น
“ผมเพิ่งมานั่งค้นดูรูปเก่าๆ เจอสายรัดข้อมือลูกตอนแรกคลอด เจอสายสะดือเขาที่แห้งเป็นหินเลย ซึ่งผมอ่านเจอในอินเตอร์เน็ตว่าคนโบราณเวลาที่เด็กไม่สบาย เชื่อว่าถ้าเอาสายสะดือมาฝนผสมน้ำให้เด็กดื่มแล้วจะหาย นอกจากนี้ยังเจอตั๋วเครื่องบินที่เราบินด้วยกันครั้งแรก เก็บตั๋วหนังที่ดูด้วยกันหนแรก แล้วก็คลิปวิดีโอตอนที่เขาสะอึกครั้งแรก เหตุผลที่เก็บไว้เพราะคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไปผมจะยกให้เขา และสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นความทรงจำที่มีค่าสำหรับเขามาก
“แต่ผมเชื่ออยู่อย่างหนึ่งนะว่า เด็กทุกคนไม่ใช่ผ้าขาว แต่เป็นผ้าสีพื้น เขาเกิดมาพร้อมกับการถูกโปรแกรมไว้แล้วว่าเขาจะเป็นแบบนี้ๆ ลูกผมสองคนได้รับการเลี้ยงดูมาเหมือนกัน แต่โตขึ้นมาไม่เหมือนกัน เรามีหน้าที่ต้องดูว่าเขามีแนวโน้มไปทางไหน ควรดึงกลับหรือสนับสนุน”
ถามว่าเขาเปิดตำราเลี้ยงลูกหรือเปล่า “ไม่เลยครับ” เขาตอบทันควัน “เพราะอ่านมากๆ จะกังวล กลัวโน่นกลัวนี่ แล้วในความเป็นจริงเราจะคอยโอบอุ้มลูกทุกเรื่องไม่ได้ ผมมานั่งคิดดู มีหลายคนที่กลัวลูกจะอย่างนี้อย่างนั้น โดยไม่นึกถึงความเป็นจริงว่าเราจะอยู่กับเขาได้ตลอดหรือ
“อย่างมีมี่ บางครั้งเขาก็ขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งผมก็มานั่งชั่งน้ำหนักดู ได้ข้อสรุปว่าถ้าเป็นระยะใกล้เนี่ยโอเค แต่ถ้าไกลมันอันตราย ยอมไปสายเถอะ ส่วนปั้นผมก็มานั่งคิดว่าตอนที่เราวัยเท่าเขามีอะไรเข้ามาบ้าง แล้วจิตใจเราดีดดิ้นประมาณไหน มีเพื่อนประมาณไหน บางทีก็ต้องมาเปิดอกคุยกันตามประสาผู้ชายว่าตอนนี้อย่าดื่มเพราะถ้าดื่มตอนนี้ผิดกฎหมาย และจะลามไปถึงพ่อแม่และคนขาย”
แล้วเขาเชื่อในเรื่อง ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ หรือไม่ คุณท็อปตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า “คนอื่นตีลูกไหม ผมไม่รู้ แต่ผมตีเมื่อจำเป็น และจะตีด้วยมือ ผมไม่เคยใช้ไม้ตี เหตุผลที่ผมตีด้วยมือเนี่ยเพราะเราจะได้รู้ว่าเขาเจ็บหรือเปล่า คุณแม่ผมบอกว่าต้องตีแรงให้เขาเจ็บ ถ้าไม่เจ็บอย่าตี แล้วทำโทษเสร็จให้กอดเขา บอกว่าจริงๆ ไม่อยากทำ แต่จำเป็นต้องทำ”
สอนลูกให้รู้โลก
“ผมไม่เลี้ยงลูกให้เป็นคุณหนูนะ” ระหว่างเบรกการถ่ายภาพ คุณท็อปพูดถึงลูกๆ ที่น่ารักทั้งสอง “ให้เขาดูตามสังคมส่วนใหญ่ว่า ถ้าคนอื่นทำได้ เราก็ควรทำได้” คุณท็อปย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
“ผมให้เขาซักผ้ารีดผ้าเองบ้าง ทำความสะอาดบ้านเองบ้างเพื่อให้เขามีวินัย และด้วยความที่เราไม่ได้อยู่กับเขาตลอดเวลา ก็จะสอนให้เขามีวิจารณญาณว่าอะไรถูกอะไรผิด และพอถึงจุดที่เขาลังเลปุ๊บ เดี๋ยวเขาจะถามเราเอง”

“ส่วนเรื่องการใช้เงิน ผมไม่สปอยล์ลูก ก็จะบอกเขาว่า ขี้เหนียวกับประหยัดต่างกันมากนะ ประหยัดคือการที่เราไม่ใช้ แต่ไม่กระทบคนอื่น ส่วนขี้เหนียวคือการไม่ใช้ แล้วไปกระทบคนอื่น ต้องแยกให้ออก ถ้าคุณจะประหยัดเงินโดยขึ้นรถเมล์ ไม่ใช้รถส่วนตัว โอเค แต่ถ้าเรียกร้องให้คนอื่นมารับเพื่อที่จะประหยัดเงิน แบบนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะเบียดเบียนคนอื่น ผมอยากให้เขาใช้ชีวิตแบบทางสายกลาง ไม่ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป ซึ่งยากเหมือนกันนะ”
ในยุคที่รถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ยุคศตวรรษที่ 21 ไปเสียแล้ว เขาเลือกที่จะซื้อรถให้ลูกหรืออย่างไร เขาไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ แต่ขอดูสถานการณ์ก่อนว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขาหรือเปล่า…น่าจะดีกว่า
“มีหลายคนถามผมว่ามีลูกสาวกังวลไหม ผมบอกผมไม่กังวล เพราะผมคิดว่าเขาพอจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดพอสมควร เขาคบใครก็มาเล่าให้ผมฟังตลอด แม้แต่จะไปเดตกันก็มาบอกผม ให้ผมไปส่ง เขาจะกลับผมไปรับ แล้วผมก็รู้จักผู้ชายคนนั้นด้วย ผมยังบอกลูกเลยว่า ถ้าเขาเป็นผู้ชายที่ดีก็จะเหมือนมีคนมาดูแลเขาเพิ่มอีกคนด้วยซ้ำไป เพราะถ้าผมหัวโบราณก็ต้องห้าม ซึ่งในยุคนี้เราห้ามไม่ได้ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ติดต่อผ่านนกพิราบ จดหมาย หรือโทรศัพท์บ้านกัน พ่อแม่คอยดักฟัง แต่เดี๋ยวนี้เราทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด จนตอนนี้ผมรู้จักถึงคุณพ่อคุณแม่ของผู้ชายคนนั้นแล้วด้วยซ้ำ”

สำหรับการเป็นคุณพ่อลูกสอง เขาคาดหวังอย่างไรจากลูกๆ “เคยมีคนบอกผมว่าการมีลูกก็เหมือนการอมลูกอมสองรสในเม็ดเดียวกัน จะต้องเจอสุขทุกข์สลับกันไป ผมเจอเขาผมมีความสุข แต่แน่นอนเจอเขาแล้วเขากลับบ้านไป ผมทุกข์ สลับกันไปแบบนี้ และผมตั้งปณิธานไว้เลยว่า ผมเลี้ยงลูกไม่ได้ถือว่าเป็นบุญคุณ เพราะถ้าเอาเป็นบุญคุณ พวกเขาก็ต้องตอบแทนผม ทำให้เราคาดหวังถึงผลต่างๆ ที่จะตามมา ซึ่งถ้าไม่เป็นตามที่หวังเราจะเสียใจ ผมกลัวตัวเองเสียใจถ้าต้องมาอยู่ตัวคนเดียวในอนาคตโดยที่ไม่มีพวกเขา แต่ถ้าเราไม่กังวลใจไม่คิดไปล่วงหน้า พอได้คิดแบบนี้ปุ๊บ
ที่เหลือก็คือกำไรแล้ว”
เขาหัวเราะอย่างอารมณ์ดี กับโลกทุกวันนี้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งเดียวที่ทำได้คืออยู่กับปัจจุบัน และอย่าไปกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง นี่คือแนวคิดของคุณพ่อนักธุรกิจแถวหน้าของวงการจิวเวลรี่ไทยผู้นี้
ติดตามได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 14 ฉบับที่ 15 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม 2562
หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่ www.ookbee.com , www.shop.burdathailand.com