Home > Celebrity > Exclusive Interviews > ‘วริศ สุขุม’ ถ่ายทอดความภาคภูมิใจจากลูกหลาน ‘นามสกุลแรก’ ในแผ่นดินสยาม

พ.ศ. 2456 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้คนไทยมีนามสกุล จึงได้พระราชทานนามสกุล ‘สุขุม’ (Sukhum) เป็นนามสกุลแรกให้แก่ ‘เจ้าพระยายมราช’ เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ผู้ซึ่งรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทและได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้รับผิดชอบงานสำคัญของบ้านเมือง วริศ สุขุม นักวิเคราะห์ ฝ่ายการเงิน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. เป็นทายาทสายตรงของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8 และพระพิศาลสุขุมวิท (ประสบ สุขุม) ผู้ซึ่งราชทินนามเป็นต้นกำเนิดของถนนสุขุมวิท โดยที่เจ้าพระยายมราชมีศักดิ์เป็นคุณเทียด และพระพิศาลสุขุมวิทมีศักดิ์เป็นคุณทวดของคุณวริศ

วริศ สุขุม
วริศ สุขุม

ผมเชื่อว่าการที่ท่านได้อุทิศชีวิตเพื่อรับราชการด้วยความสุจริต บวกกับผลงานของท่านซึ่งรวมไปถึงการวางโครงสร้างต่างๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง การไฟฟ้าและการประปาทั้งหลาย ทำให้ท่านได้รับเกียรติเป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุลแรกของไทย ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวเราทุกคนด้วย”

คุณวริศกล่าว

 “พระพิศาลสุขุมวิท คุณทวดของผมนั้นท่านรับราชการและได้มีผลงานสำคัญในหลาย ๆ ด้าน แต่ผลงานที่ผมคิดว่าน่าตื่นเต้นและสำคัญมากของท่านคือช่วงที่ท่านปฏิบัติภารกิจลับของขบวนการเสรีไทย โดยมีภารกิจหลักคือการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งตอนนั้นประเทศไทยได้ประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรไปแล้ว เพื่อไปโน้มน้าวสหรัฐฯ ให้มองประเทศไทยว่าไม่ได้เป็นผู้แพ้สงคราม คุณทวดต้องลงเรือเล็ดลอดออกนอกประเทศไปขึ้นเครื่องบินกลางทะเลบริเวณเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เนื่องจากชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้นคุมการเข้าออกประเทศไทยทั้งหมด หากถูกจับได้จะเป็นอันตรายถึงชีวิต ซึ่งเป็นการเสียสละที่ผมมองว่าน่ายกย่อง

เมื่อไปถึงด้วยความที่ท่านเรียนที่อเมริกาตั้งแต่เด็กจึงสามารถสื่อสารกับฝรั่งได้เป็นอย่างดีและสามารถนำความสัมพันธ์ที่เคยได้สร้างไว้กับเพื่อน ๆ ชาวอเมริกันมาช่วยเหลือ จนในที่สุดสามารถได้ขึ้นชี้แจงในรัฐสภาสหรัฐฯ ถึงสถานการณ์ที่แท้จริงในไทย ซึ่งในที่สุดผมเชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้พอสงครามยุติแล้ว ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้แพ้สงคราม และยังได้รับการบรรเทาทุกข์ในด้านต่าง ๆ จากฝ่ายพันธมิตรอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ผมได้อ่านจากหนังสือ ‘จดหมายเหตุของเสรีไทย จาก พระพิศาลสุขุมวิท’ ซึ่งท่านได้เขียนขึ้นหลังจากผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นมาหลายทศวรรษต่อมา”

วริศ สุขุม
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พ.ศ. 2478 จากซ้าย ได้แก่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) พระองค์เจ้าทาทิตย์ทิพย์อาภา และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน

READ MORE: เปิดประวัติ 6 ‘นามสกุลพระราชทาน’ จากล้นเกล้า ‘รัชกาลที่ 6’

คุณวริศนับเป็นหนึ่งในลูกหลานของตระกูลสุขุม ที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของบรรพบุรุษได้อย่างละเอียด ชัดเจน ที่เป็นเช่นนี้เขากล่าวว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ที่บ้านปลูกฝังความรับผิดชอบให้เป็นคนไทยที่รักบ้านเมืองของตนเอง อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เขาสนใจใฝ่รู้ และค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเสริมความเข้าใจ “ผมสนใจศึกษาเพิ่มเติมเองด้วยเพราะอยากทราบความเป็นมาของที่บ้าน และเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยสมัยก่อนผ่านมุมมองของครอบครัวผมเอง”

การได้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ นั้นทำให้เกิดความภาคภูมิใจและเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของตัวเขาเองด้วย “ด้วยความที่ผมเป็นหลานคนโตสุดของรุ่น เราจะรู้สึกว่าตัวเองต้องมีความรับผิดชอบระดับหนึ่ง ที่ผ่านมาบรรพบุรุษของเรามีผลงาน หรือเสียสละให้ประเทศมากมาย ผมก็รู้สึกว่าเราไม่อยากเป็นคนที่เลือกทำอะไรเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว อาจเรียกว่าเป็น outward mindset หรือการคิดทำอะไรเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่าแค่การทำเพื่อตัวเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็นับเป็น mindset ที่บ้านเรายึดถือคล้ายๆ กัน”

เจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม) ถ่ายภาพร่วมกับ ท่านผู้หญิงตลับ สุขุม และบุตริดา เมื่อ พ.ศ. 2474

“ครอบครัวสายของผมรับราชการมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นตระกูล คือท่านเจ้าพระยายมราช จนมาถึงรุ่นคุณพ่อของผม นอกจากนี้บ้านเรายังมีประวัติในการศึกษาต่อในต่างประเทศมาโดยตลอด เริ่มจากท่านเจ้าพระยายมราช ซึ่งได้มีโอกาสเดินทางไปใช้ชีวิตในยุโรป และได้จ้างครูสอนภาษาอังกฤษให้ตนเอง จนสามารถทั้งพูด อ่าน เขียนได้ดี เมื่อมาถึงรุ่นคุณทวดท่านก็มีโอกาสได้ไปเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่เด็ก จนถึงระดับมัธยมจึงได้ย้ายไปเรียนที่ Phillips Exeter Academy หนึ่งในโรงเรียนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในอเมริกา หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) และท่านยังเป็นคนไทยคนแรกที่เรียนจบจาก MIT”

คุณวริศเล่า ก่อนเสริมว่า ทั้งสองโรงเรียนที่กล่าวมาล้วนมีความหมายกับครอบครัวของเขา เพราะหลังจากคุณทวดแล้ว ทั้งคุณปู่และตัวเขาเอง ก็สำเร็จการศึกษาจาก Phillips Exeter Academy เช่นเดียวกัน ส่วนคุณวริศนั้นยังสำเร็จการศึกษาด้าน Finance ที่ MIT ด้วย

“บ้านเราจะมีงานรวมญาติสำคัญ ๆ อยู่ 3 งาน งานแรกเป็นงานที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช เป็นโรงพยาบาลที่ต้นตระกูล ท่านเจ้าพระยายมราชได้บริจาคที่ดินและเงินส่วนตัวเพื่อสร้างโรงพยาบาลนี้ขึ้นมา ซึ่งตอนนี้กลายเป็นโรงพยาบาลศูนย์ที่ให้บริการในระดับภูมิภาคตั้งอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อทางโรงพยาบาลจัดงานทำบุญประจำปี ครอบครัวเราก็จะไปร่วมพิธี ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานรวมญาติถึงระดับหนึ่ง บางครั้งหลังพิธีทำบุญเราจะแวะไปที่บ้านยะมะรัชโช ซึ่งเป็นบ้านเดิมของท่านเจ้าพระยายมราชก่อนจะย้ายมาบวชเรียนที่กรุงเทพฯ งานที่สองจะเป็นงานเลี้ยงรวมญาติซึ่งจะจัดกันในวันครบรอบวันเกิดของเจ้าพระยายมราชทุก ๆ ปี สุดท้ายคืองานทำบุญของสกุลสุขุมที่วัดหงส์รัตนาราม ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเจ้าพระยายมราชได้เคยบวชเรียน” คุณวริศกล่าว

วริศ สุขุม
บ้านศาลาแดง บ้านของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

ติดตามบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟของ 6 ทายาท ‘นามสกุลพระราชทาน’ ที่มาร่วมถ่ายทอดความภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูล ได้ใน HELLO! Magazine Thailand Vol. 18 No. 3 ฉบับฉลองครอบรอบ 17 ปี นิตยสาร HELLO! ประเทศไทย วางแผงแล้ววันนี้!

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.