Home > Celebrity > Exclusive Interviews > นพ. วีระพันธ์ ควรทรงธรรม จากศัลยแพทย์สมองสู่หมอผ่าตัดกระดูกสันหลัง ผู้เปลี่ยนชีวิตคนไข้ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกครั้ง  

กว่า 20 ปี ที่นายแพทย์วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ประสาทศัลยแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันกระดูกสันหลัง (Spine Institute) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อดีตศัลยแพทย์สมองมือต้นของประเทศ เริ่มให้ความสนใจกับเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป จนกลายเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ที่ช่วยคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไข้ได้อีกครั้ง และยังเป็นผู้เผยแพร่ความรู้ดังกล่าวออกไปในวงกว้าง จากการเป็นผู้ฝึกอบรมแพทย์ทั่วโลกเกี่ยวกับการผ่าตัดแบบส่องกล้อง

วันนี้ HELLO! จะพาทุกคนมานั่งพูดคุยไปกับ นายแพทย์วีระพันธ์ หรือคุณหมอเอ กับการทุ่มเทในเส้นทางวิชาชีพแพทย์ที่ตั้งใจช่วยเหลือผู้คนอย่างเต็มความสามารถ ไปพร้อมกับเส้นทางชีวิตที่เต็มไปด้วยกำลังใจดีๆ จากครอบครัว ทั้งภรรยา คุณแณฑ – อมรดา และลูกชายคนเดียว น้องนับ – ภูริษฐ์ ควรทรงธรรม  

นายแพทย์วีระพันธ์

เลือกงานยากมากกว่างานสบาย 

คุณหมอเอเริ่มต้นเล่าประวัติของตนเองให้ฟังว่า ถึงแม้จะเป็นลูกคนโตในครอบครัวไทย-จีน แต่เพราะเป็นคนมีผลการเรียนดี คุณพ่อคุณแม่จึงอยากให้เรียนแพทย์เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งในยามป่วยไข้ เมื่อย้อนกลับไปสมัยตอนสอบเอนทรานซ์ คุณหมอเอเลือกคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเพียงอันดับเดียว แต่ก็สามารถสอบเข้าได้สมความตั้งใจ 

“พอเรียนจบแล้วผมเลือกเทรนเป็นหมอผ่าตัดสมองที่โรงพยาบาลรามาธิบดี กับท่านอาจารย์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิระ บุณยะรัตเวช และศาสตราจารย์นายแพทย์ ธนิต เธียรธนู ทั้งสองท่านถือว่าเป็นปรมาจารย์อาวุโสของเมืองไทย ทางด้านผ่าตัดสมอง และถือเป็น Role Model สำหรับผม ประกอบการการเป็นศัลยแพทย์สมองนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แต่ก็เป็นความท้าทายของผมเช่นกัน”  

นายแพทย์วีระพันธ์

หลังจากเรียนจบคุณหมอเอเข้าเป็นอาจารย์แพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีราวปีเศษ ก่อนจะเลือกเดินทางยากยิ่งขึ้นด้วยการไปเทรนด้านการผ่าสมองชั้นลึก หรือ Skull Base Surgery ที่ประเทศเยอรมันและสหรัฐอเมริกา “การผ่าตัดฐานสมองที่อยู่ด้านใน สมัยก่อนเขาจะเรียกว่าเป็น No Man’s Land คือเป็นส่วนที่ลึกและเข้าถึงยาก มีโอกาสที่ผ่าตัดแล้วคนไข้จะไม่ฟื้นขึ้นมา ผมเลือกไปเทรนกับโปรเฟสเซอร์ที่เก่งในแต่ละประเทศ ซึ่งผมเคยได้ติดตามผลงาน หรือมีอาจารย์ผู้ใหญ่แนะนำ แต่ละที่เราอยู่กับเขา 4-6 เดือน ถ้าเป็นสมัยนี้เขาจะเรียกว่าเป็น Clinical Fellow”  

เปลี่ยนบทบาทสู่แพทย์ทหาร 

เกือบสองปีที่ไปศึกษาต่อในต่างแดน คุณหมอเอเดินทางกลับมาประเทศไทย ก่อนที่เส้นทางชีวิตจะเปลี่ยนไปอีกครั้ง “ตอนที่เรียนแพทย์จบ อาจารย์ให้ผมเริ่มเทรนผ่าสมองเลย จึงไม่ได้ออกไปประจำที่ต่างจังหวัดเหมือนแพทย์ท่านอื่น พอกลับจากอเมริกาก็มาเป็นอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลรามาฯ ช่วงนั้นเพื่อนสนิทคุณพ่อคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปริญญา สากิยลักษณ์ ศัลยแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลศิริราช และพลเอกนายแพทย์ ชูฉัตร กำภู ณ อยุธยา เจ้ากรมแพทย์ทหารบกในตอนนั้น ทั้งสองท่านเป็นแพทย์ตามเสด็จฯ ท่านมาชวนให้ผมผ่านทางคุณพ่อ ให้ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลพระมงกุฎ และเป็นแพทย์ตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

นายแพทย์วีระพันธ์

สุดท้ายผมก็ตอบตกลง และได้ทำงานรับใช้พระองค์ท่าน การได้ออกต่างจังหวัดทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่าง สมัยนั้นหมอผ่าสมองยังขาดแคลน หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเราก็สามารถช่วยเหลือได้ทันที แต่ถึงเราจะเป็นหมอผ่าสมอง เมื่อตามเสด็จฯจริง หน้าที่ส่วนใหญ่ของผมคือการออกตรวจประชาชนในเวลาที่ท่านเสด็จเยี่ยมราษฎร ได้เห็นพระองค์ท่านทรงงานต่อเนื่องกัน 4-5 ชั่วโมงโดยไม่เสด็จไปไหน การทำงานในช่วงนั้นก็ยังเป็นความประทับใจจนถึงตอนนี้” 

ถึงคราวได้พบรัก 

คุณหมอเอรับราชการในฐานะแพทย์ทหารอยู่ราว 3-4 ปี ในช่วงนี้เองที่คุณหมอหนุ่มได้พบรักและเริ่มสร้างครอบครัวของตนเองกับที่ปรึกษากฏหมายสาว ซึ่งกามเทพไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคุณพ่อคุณแม่ของทั้งสองฝ่ายนั่นเอง  

“เราเจอกันในงานแต่งงานของลูกเพื่อนคุณพ่อ ต่างคนต่างตามคุณพ่อคุณแม่ของตัวเองมาทั้งคู่” คุณหมอเอเล่า ถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนซึ่งอยู่คนละสายอาชีพได้มาพบกัน ในตอนนั้นคุณแณฑ – อมรดา เพิ่งเดินทางกลับมาทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกฏหมายที่ Clifford Chance Thailand หลังจากที่ทำงานใน Clifford Chance London มาได้พักใหญ่”

“ตอนที่เจอกันผมคิดว่าเขาเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะเขาดูเด็กมาก” คุณแณฑนั้นเด็กกว่าคุณหมอเอถึง 8 ปี แต่ถึงกระนั้นตอนที่ได้เจอกันเธอก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทมาแล้วด้วยดีกรีปริญญาถึงสองใบ และเข้าทำงานในสำนักงานกฏหมายระดับประเทศได้หลายปีแล้ว

“แณฑค่อนข้างเรียนเร็ว เพราะสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่ชั้น ม.4 พอเรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านกฏหมายที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใช้เวลาเรียนแค่ปีเดียว เลยตัดสินใจไปต่อโทด้านกฏหมายอีกใบที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา” คุณแณฑเล่า 

หลังจากทำความรู้จักกันครั้งแรก ต่างฝ่ายต่างประทับใจในกันและกัน เริ่มจากคนรู้จักที่นัดกินข้าวกันเดือนละครั้ง ก็ค่อยๆพัฒนาความสัมพันธ์ไปนับแต่นั้น “จริงๆก่อนแต่งงานเรารู้จักกันได้ประมาณสองปี แต่ช่วงเวลาที่เราคบกันจริงๆนั้นน้อยมาก เพราะเรางานยุ่งกันทั้งคู่ เวลาก็ไม่ค่อยตรงกัน แต่บังเอิญมีช่วงจังหวะหนึ่งที่งานเราเริ่มว่าง ทำให้ได้เจอกันมากขึ้น ทำความรู้จักกันมากขึ้น จนคลิกและตกลงปลงใจแต่งงานกันในที่สุด” 

ปัจจุบันคุณหมอและคุณแณฑ มีลูกชายหนึ่งคนคือน้องนับ หรือนับบี้ ที่คุณพ่อ คุณแม่ใช้เรียกลูกชายตั้งแต่เล็กจนเข้าสู่วัยทีน น้องนับเติบโตมาด้วยการเป็นที่รักของคุณพ่อคุณแม่ รวมทั้งคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย ซึ่งเห็นแบบนี้ต้องบอกว่าน้องนับคือลูกไม้ที่หลนไม่ไกลต้นจริงๆ เพราะเพียงในวัย 16 ปี น้องนับก็สามารถกลายเป็นหนึ่งในผู้ถูกคัดตัวเข้าชิงแชมป์ประเทศไทย และยังลงแข่งขันเทนนิสรายการระดับประเทศอีกด้วย

เริ่มโฟกัสที่กระดูกสันหลัง 

การมีครอบครัวเป็นแรงสนับสนุนและกำลังใจที่ดีในการทำงาน ในขณะเดียวกันเส้นทางชีวิตก็ผันแปรไปตามครอบครัวเช่นกัน ตอนนั้นคุณหมอเอเริ่มเข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แล้ว และเริ่มเข้ามาดูแลคนไข้ที่มีการเจ็บป่วยด้านกระดูกสันหลัง 

“ช่วงที่ย้ายมาบำรุงราษฎร์ที่โรงพยาบาลอยากให้ผมมา Set up สถาบันกระดูกสันหลัง เนื่องจากเคสคนไข้ที่เข้ามาเรื่องกระดูกสันหลังมีมากขึ้น ที่ผ่านมาหมอที่ผ่าตัดส่วนนี้ได้มีแค่สองแผนกคือหมอผ่าตัดสมอง และหมอผ่าตัดกระดูก 

เพิ่งจะมีแค่ 10 กว่าปีให้หลังมานี้ ที่เริ่มมีการเรียนเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังมากขึ้น แต่คนที่เรียนได้ก็ยังต้องเป็นหมอสมอง หรือไม่ก็หมอกระดูก แล้วค่อยมาต่อยอดเป็นหมอกระดูกสันหลังอีกที ตอนนั้นผมน่าจะเป็นหมอสมองคนแรก ๆ ที่ไม่ผ่าสมอง แต่เปลี่ยนมาทำการผ่าตัดกระดูกสันหลังอย่างเดียว จนหมอกระดูกหลาย ๆ คนนึกว่าผมเป็นหมอกระดูก” คุณหมอเอกล่าว 

แม้จะเป็นเรื่องของกระดูก แต่เพราะการผ่าตัดกระดูกสันก็หลังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเส้นประสาทที่ต่อเนื่องลงมาจากสมองเช่นกัน การผ่าตัดกระดูกสันหลังที่คุณหมอเอเริ่มเข้ามาวางระบบในโรงพยาบาล จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศัลยแพทย์ประสาท และศัลยแพทย์กระดูก รวมถึงวิสัญญีแพทย์ที่ได้รับการเทรนด้านการระงับความเจ็บปวดมาโดยเฉพาะ  

คุณหมอเอกล่าวว่า โรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังที่พบมากที่สุดคือความเสื่อมที่มาตามอายุ การมีหินปูนเกาะหรือทับเส้นประสาท ซึ่งส่วนมากจะพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ถ้าอายุต่ำกว่า 40 โรคที่เจอส่วนใหญ่คือหมอนรองกระดูกปลิ้นสาเหตุเกิดจากการยกของหนัก หรืออาจมีความผิดปกติมาแต่กำเนิดตั้งแต่เด็ก แต่ไม่มีอาการ 

“โรคเหล่านี้สามารถชะลอการเกิดได้ โดยการดูแลเรื่องน้ำหนักตัวของตนเอง และน้ำหนักสิ่งของที่เรายก หรืออุ้ม เช่น อุ้มลูก อุ้มสัตว์เลี้ยง หรือยกกระเป๋าเดินทางที่มีน้ำหนักเกิน สิ่งที่ป้องกันได้นั้น คงต้องบอกว่าเราทำให้กระดูกสันหลังใหญ่ขึ้นเพื่อรับน้ำหนักไม่ได้ แต่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่อยู่โดยรอบได้ ด้วยการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี เช่น Core Muscle Exercise” 

การเจ็บป่วยของโรคที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง หากเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ด้วยการรักษาโดยการให้ยากิน ฉีดยา หรือทำกายภาพบำบัด ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่หากเป็นอาการที่เรื้อรัง สุดท้ายก็ต้องอาศัยวิธีการผ่าตัดเพื่อแก้ไขอาการให้กลับมาดีดังเดิม  

นายแพทย์วีระพันธ์

“เทคโนโลยีที่ใช้ในการผ่าตัดปัจจุบัน จะเน้นในหลักการที่ว่า เมื่อผ่าตัดแล้วต้องฟื้นตัวได้เร็ว มีความชอกช้ำน้อย แผลเล็ก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาย ไม่ใช่ผ่าเสร็จแล้วอีก 2-3 เดือนต้องกลับมาทำใหม่” หนึ่งในเทคโนโลยีที่คุณหมอเอได้รับการฝึกอบรมจนเชี่ยวชาญคือการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยใช้กล้องเอ็นโดสโคป โดยได้ไปฝึกอบรม โดยตรงจากศาสตราจารย์ นายแพทย์เซบัสเตียน รุทเทน แพทย์ชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเทคนิคดังกล่าว ในภายหลังคุณหมอยังเดินทางไปถ่ายทอดประสบการณ์ และอบรมให้ความรู้ให้กับแพทย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย  

ตอนนี้คุณหมอตั้งลิมิตเคสผ่าตัดของตนเองไว้ 2 รายต่อวันคือเช้าและบ่าย หากเป็นเคสส่องกล้องก็ได้ถึง 3 รายต่อวัน เพราะเวลาที่เหลือต้องใช้สำหรับออกตรวจและดูแลคนไข้ ในขณะที่ทุกวันศุกร์จะถูกกันไว้สำหรับการไปสอนนักเรียนแพทย์และทำเคสผ่าตัดให้กับคนไข้ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือโรงพยาบาลราชวิถี   

“ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ผมมีเคสผ่าตัดตอน 6 โมงเช้า หลังจากนั้นออกตรวจจนถึง 6 โมงเย็น ช่วงเที่ยงก็ประชุมไป กินข้าวไป ทุกวันศุกร์ถูกกันไว้เป็น Academic day ให้กับโรงพยาบาลรัฐ ส่วนเสาร์ อาทิตย์ ผมขอใช้เวลาอยู่กับครอบครัว” 

ความตั้งใจในอนาคต 

หลังจากริเริ่มสถาบันกระดูกสันหลัง และทำงานคลุกคลีกับศาสตร์การรักษาอย่างเชี่ยวชาญ ความฝันของคุณหมอเอในอนาคตคือการตั้งโรงพยาบาลที่รักษาโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ เพื่อการดูแลแบบองค์รวม ที่จะช่วยรักษาได้อย่างเห็นผลและยั่งยืนกว่า 

“การไปโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ดูแลโรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลังโดยเฉพาะ คนไข้ที่มาจะได้รับความสะดวกสบายมากกว่า จะได้รับการดูแลแบบเฉพาะคน มีความคล่องตัวในการดูแลมากกว่า แต่การจะทำจริงนั้นไม่ง่าย ต้องอาศัยเงินทุนพอสมควร ตรงนี้จึงเป็นความฝันที่ตั้งไว้ว่าหากอนาคตมีโอกาสก็อยากทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นครับ” นายแพทย์วีระพันธ์ กล่าวปิดท้าย 

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.