เยือนคฤหาสน์หินอ่อนสไตล์หลุยส์ Petite Versailles ของ ‘วัฒน์ – ภัทรา จิราธิวัฒน์’ และครอบครัว
ทันทีที่ก้าวเข้าสู่คฤหาสน์สไตล์หลุยส์ Petite Versailles ผู้มาเยือนจะตกตะลึงกับเฟอร์นิเจอร์สไตล์หลุยส์ซึ่งขอบเป็นไม้สลักเสลาเป็นเครือเถาสีทองอร่ามจากสเปนและอิตาลีจัดวางเรียงรายรองรับแขกที่เข้ามา แต่ที่น่าสะดุดตาก็คือโคมระย้าขนาดใหญ่จากยุโรปที่ ภัทรา จิราธิวัฒน์ หรือ ‘คุณจูหลิง’ บัญชาการการติดตั้งด้วยตัวเอง บนเพดานที่สูงพอ ๆ กับตึกสองชั้น แสงไฟอันมลังเมลืองขับให้ผนังหินอ่อนที่สั่งทำจากต่างประเทศดูงดงาม โดยมีคู่ชีวิตคือ ‘คุณวัฒน์’ ลูกชายคนโตของคุณวันชัย ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลจิราธิวัฒน์คอยเคียงข้าง

สีครีมอ่อนทำให้คฤหาสน์ดูอบอุ่น ด้วยลวดลายดอกไม้และแพตเทิร์นลายพื้นที่คุณจูหลิงได้ออกแบบเอง โดยนำประสบการณ์ในวงการหิน 30 กว่าปีมาร่วมทำงานกับทีมงานทุกขั้นตอน ลวดลายที่ไม่ซ้ำใครที่เห็นในคฤหาสน์หลังนี้ ได้มีการปรับแก้อยู่หลายครั้ง จนทุกอย่างลงตัว ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดสีและลายหินอ่อน จนถึงการวางลายหินอ่อนทั้งหมดที่หน้างาน
“ด้วยความที่ตอนทำบ้านตรงกับช่วงโควิดพอดีทำให้การสื่อสารกับทางต่างประเทศ และการทำงานหน้างานยากลำบากมากขึ้น และเป็นบ้านหลังแรกที่ใช้หินอ่อนธรรมชาติและหินลวดลายแทนไม้ รายละเอียดการตกแต่งแต่ละจุดเยอะพอสมควร จึงทำให้ใช้เวลานานกว่าปกติ แต่จูหลิงถือคติสู้ ไม่ท้อถอย ปัญหาทุกอย่างแก้ได้เสมอ และที่ขาดไม่ได้ต้องขอบคุณทีมช่างที่ร่วมงานและร่วมสามัคคีกับทางเรา ทำให้บ้านหลังนี้สำเร็จสวยงาม หรูหรา และเตะตา เชื่อว่าทางทีมงานต่างก็ภาคภูมิใจในผลงานที่ออกมาเช่นกัน หลังจากที่ได้รับคำ ชมจากภรรยาท่านทูตฝรั่งเศสว่า คฤหาสน์นี้เปรียบเหมือนพระราชวังที่ฝรั่งเศส ยิ่งทำให้จูหลิงรู้สึกหายเหนื่อย” คุณจูหลิงเล่า

เปียโนสีขาวขลิบทองที่มีเพียงชิ้นเดียวในโลกหลังย่อมถูกจัดวางไว้ใต้บันไดสู่ชั้นบน และยามว่างจะเปิดเปียโนให้เล่นเพลงแบบอัตโนมัติ เดินต่อไปในแนวราบอีกหน่อยก็จะพบกับโต๊ะรับประทานอาหารขนาดใหญ่ ซึ่งแน่ละว่าต้องเป็นสไตล์หลุยส์ แพนทรีและครัวถูกจัดไว้ในส่วนที่เป็นของเจ้าบ้าน ผนังหินอ่อนที่สั่งแกะสลักลวดลายพิเศษและโคมไฟระย้าที่สั่งตรงจากประเทศอิตาลี และประดับโต๊ะด้วยชุดจานชาม แจกันพอร์ซเลนใบใหญ่จาก Meissen ประเทศเยอรมนี Royal Copenhagen จากเดนมาร์ก และชุดเครื่องเงินจากประเทศฝรั่งเศส เปรียบเสมือนกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ในพิพิธภัณฑ์

คุณจูหลิงยังบอกเราอีกว่า บ้านหลังนี้มีพลังชี่ดีมาก ทำให้รู้สึกดียามก้าวเข้ามา แม้จะใช้เวลากับการทำบ้านมานานกว่าสามปี แต่กลับไม่มีความรู้สึกเบื่อเลย และยามลมพัดโชยมาจะรู้สึกเหมือนได้รับพร และบ้านหลังนี้ยังเป็นที่รับรองผู้ใหญ่และแขกพิเศษอีกหลายท่าน ตรุษจีนที่ผ่านมาท่านทูตรัสเซียและครอบครัวก็มาฉลองที่นี่ ท่านทูตที่หมดวาระแล้วกลับมาเที่ยวเมืองไทย อย่างเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้อดีตท่านทูตเดนมาร์กก็มาเยี่ยมเธอและครอบครัวที่บ้านหลังนี้ด้วยเช่นกัน

คุณจูหลิงนำเราเข้าสู่ไฮไลต์ของคฤหาสน์ท่ามกลางบรรยากาศอันเงียบสงบทาบทาด้วยสีเขียวเจิดจ้า ปรากฏนกยูงรำแพนหางและกำลังร่ายรำให้คู่ของมันเชยชม นกกระเรียนสองตัวโผบินเกาะกิ่งท้อ นกแก้วคู่สีสันสดใสอ้าปากส่งเสียงร้องที่หากฟังเสียงได้น่าจะไพเราะ ดอกโบตั๋นหลากหลายสีสันเบ่งบานแข่งกับดอกท้อสีขาว ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังนั่งอยู่ในสวนที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลทั้งสี่ของจีนในจินตนาการ บางคราคล้ายเราจะได้ยินเสียงนกร้องเพรียกหาคู่ของมัน เป็นเสียงที่เราจะลืมไม่ได้ แม้ว่าในความเป็นจริงเรากลับได้ยินเพียงเสียงนกกระจิบนกกระจอก และขณะนี้เรากำลังชื่นชมภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามบนผนังทั้งสี่ของห้องชา
“ห้องชานี้จูหลิงได้แรงบันดาลใจการตกแต่งจากวัฒนธรรมอีสเทิร์นกับเวสเทิร์น เลยตั้งชื่อว่า French Oriental Tea Room จูหลิงจบโทภาษาฝรั่งเศสและมีสายเลือดจีน-ไต้หวัน และรักในวัฒนธรรมของฝรั่งเศสและจีน จึงเกิดความคิดที่จะผสมผสานสองสิ่งนี้ ธีมห้องถูกเซ็ตไว้เป็นสีเขียว เพราะความชอบส่วนตัว และสีประจำปีนักษัตรเถาะของจูหลิงก็คือสีเขียวเช่นกัน ส่วนคุณวัฒน์ซึ่งเรียนปริญญาโทด้านศิลปะ จาก University of Berkeley ก็จะมีไอเดียสร้างสรรค์อยู่เสมอ ทำให้คฤหาสน์หินอ่อนหลังนี้ยูนีกและสวยงาม“

เราตั้งชื่อบ้านหลังนี้ว่า ‘พลังแห่งความสุข’ เพื่อให้ครอบครัวได้อยู่เย็นเป็นสุข ยามเช้าเราจะตื่นมาพร้อมกับเสียงนกที่โบยบินมาเล่นในสวนหน้าบ้านกระรอกที่กระโดดโลดเต้นตามต้นไม้ จูหลิงและคุณวัฒน์จะชอบใช้เวลาในห้องชาหลังตื่นนอน ทุกเย็นเราจะนั่งชงชาชมภาพวาดบนผนัง”
จูหลิง – ภัทรา จิราธิวัฒน์
เธอเล่าถึงห้องชาอย่างสนุกสนานด้วยภาษาไทยปนอังกฤษต่อว่า “ตามความเชื่อของชาวจีน นกยูงเป็นสัตว์มงคลชั้นสูงสุด และจะอยู่เป็นคู่ เปรียบได้กับสัญลักษณ์แห่งความรักของครอบครัวเรา นกกระเรียนหมายความถึงการมีอายุยืน และนกแก้วก็เป็นสัตว์มงคลเช่นเดียวกัน จูหลิงให้โจทย์นี้กับศิลปินที่มาเพนต์ให้”
มุมหนึ่งของผนังมีลายพระหัตถ์เจ้าหญิงเลอาแห่งเบลเยียม ลงไว้เป็นที่ระลึกในวันเปิดห้องชาแห่งนี้ และได้ต้อนรับ Count Gerald van der Straten Ponthoz ราชวงศ์แห่งเบลเยียม และราชวงศ์แห่งภูฏาน รวมถึงเอกอัครราชทูตและภรรยาเอกอัครราชทูตกว่า 50 ประเทศ พร้อมแขกกิตติมศักดิ์อีกมากมาย เพื่อสังสรรค์ ดื่มด่ำกับบรรยากาศ French Oriental Tea Room จิบชาและเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชาจาก tea ceremony ที่จูหลิงจัดอยู่บ่อยครั้ง

ประตูไม้แกะสลักบานใหญ่จากเมืองจีนเรียงกันเป็นรูปของแปดเซียน มีค้างคาวนำโชค ห้องนี้อยู่ติดกับสวนอันร่มรื่น ซึ่งคุณวัฒน์จะออกไปเดินเล่นบนพื้นหญ้าเป็นประจำทุกเช้า และมุมหนึ่งของสวนใกล้กับรั้วด้านหน้านั้นก็เป็นหลังคารูปโดมครึ่งวงที่ทำจาก wrought iron ซึ่งมาจากความชอบส่วนตัวของคุณจูหลิง มีใบไม้และดอกไม้เลื้อยตามเสาและหลังคา สีทั้งโดมยังคงเป็นสีเขียว และถูกแต้มด้วยสีทอง เมื่อโดนแสงสะท้อนเข้าใส่จะทำให้เกิดความระยิบระยับ
ทั้งคุณวัฒน์และคุณจูหลิงชื่นชอบในวัฒนธรรมการชงชา และเป็นนักสะสมใบชา ภายในตู้ติดผนังของห้องชามีใบชาที่มีอายุหลายร้อยปีสะสมไว้ การชงชาเปรียบเสมือนการฝึกสมาธิ ต้องตั้งจิตให้สงบ ถึงจะได้ลิ้มรสชาติที่มีกลิ่นหอมและชุ่มคอ ซึ่งการดื่มชาเปรียบเสมือนดื่มยาวิเศษ ที่สามารถทำให้สุขภาพแข็งแรง หายจากโรคร้ายต่าง ๆ

คุณจูหลิงได้แชร์ความรู้ของใบชาแต่ละชนิด ชาจีนมีมากกว่าพันชนิด มีทั้งหมดห้าประเภท ชาแดง รักษากระเพาะ ชาดำ (ผู่เอ๋อ) รักษาหัวใจและเส้นเลือด ชาเขียว ช่วยในเรื่องการขับถ่าย ชาขาว ช่วยลดความดันและน้ำตาล นอกเหนือจากคอลเลกชั่นใบชาแล้ว ยังมีชุดน้ำชาของ Meissen ลิมิเต็ดเอดิชั่นที่ทั้งโลกมีอยู่เพียงไม่กี่ชุด มูลค่าสูง ซึ่งคุณวัฒน์และคุณจูหลิงสะสมมานานกว่า 20 ปีแล้ว ได้ถูกนำมาผลัดเปลี่ยนเวียนใช้ทั้งหมด “เราไม่เก็บไว้เฉย ๆ ค่ะ ต้องเอนจอย แต่เวลาล้างคุณวัฒน์ล้างเอง (หัวเราะ) เขาชงชาดื่มที่ห้องนี้ทุกวันค่ะ” คุณจูหลิงกล่าว

ทั้งห้องชายังถูกประดับไปด้วยชุดชาจีนอีกหลายร้อยชิ้น “ผมชอบเก็บกาน้ำชารูปสัตว์กับนักษัตร จนแทบไม่มีที่จะเก็บ เพราะถ้าโชว์เป็นกลุ่มจะสวย มีทั้งปลาหนู เสือ ลิง ฯลฯ ไม่ได้มาพร้อมกัน แต่เป็นคอลเลกชั่นของศิลปินคนเดียวกัน เที่ยงผมจะดื่มกาแฟ แล้วพอช่วงบ่ายถึงชงชาดื่ม ใช้เวลาในห้องนี้ประมาณชั่วโมงครึ่งเป็นประจำทุกวัน” คุณวัฒน์กล่าว
นอกจากเปิดคฤหาสถ์สวย ๆ ให้ HELLO! ได้ไปเยือน คุณจูหลิง – ภัทรา จิราธิวัฒน์ ยังเล่าถึงเส้นทางชีวิตตั้งแต่เกิดและโตในไต้หวัน กระทั่งมาทำธุรกิจที่ประเทศไทย และได้พบรักกับคุณวัฒน์ รวมถึงแนวทางการเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้ง 3 คน ซึ่งปัจจุบันสำเร็จการศึกษาและเจริญเติบโตในเส้นทางอาชีพของตัวเอง สามารถติดตามได้ทางนิตยสาร HELLO! VOL. 18 NO. 6 วางแผงแล้ววันนี้!