แม้จะเติบโตมาในครอบครัวที่มีความเป็นไทยเต็มร้อย คุ้นเคยและเห็นผ้าไทยมาตั้งแต่เด็กๆ ทว่า กว่าเวิร์กกิ้งวูแมนคาแรกเตอร์สุดมั่นใจในตัวเองอย่าง ‘คุณแหวนแหวน-ปวริศา เพ็ญชาติ’ จะกล้าสวมใส่ชุดผ้าไทยเฉิดฉายไปยังสถานที่ต่างๆ เช่นในทุกวันนี้ เธอผ่านจุดแห่งความกังวลใจในค่านิยมที่หลายคนมีต่อผ้าไทยมาแล้ว
“ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นผ้าไทยแล้วค่ะ มองไปทางไหน ผู้ใหญ่ในบ้านก็ใส่ผ้าไทยกันทั้งนั้น ทุกสุดสัปดาห์คุณแม่ (คุณปัญญชลี เพ็ญชาติ) ส่งแหวนไปฝึกมารยาทที่เรือนไทยของคุณทวด ได้เห็นผ้าไหมพับเป็นตั้งๆ อยู่ในบ้าน แต่ที่จำได้แม่นเลยคือวันลอยกระทง นอกจากคุณย่าสอนทำกระทงใบตองแล้ว ยังจับหลานแต่งตัวเป็นนางนพมาศน้อย จำได้ว่าชอบและมีความสุขมากที่ได้นุ่งผ้าถุงแม้ต้องพับหลายทบหน่อย เพราะยังตัวเล็กนิดเดียว”
แล้วความสุขจากการได้นุ่งผ้าไทยก็หวนกลับมาหาเจ้าตัวอีกครั้งสมัยเป็นนิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ภาคอินเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความสวยบาดตาของนางนพมาศประจำคณะในลุคสาวไทยผิวสีน้ำผึ้ง คิ้วเข้มตาคมทำให้คุณแหวนได้รับฉายาว่า “มะหมี่อินเตอร์”

“ตอนนั้นหนังเรื่องแม่เบี้ยกำลังดัง หลายคนบอกว่าแหวนคล้ายกับคุณมะหมี่ นภคปภา นาคประสิทธิ์ ส่วนตัวรู้สึกว่าใส่ผ้าไทยแล้วเราดูเอ็กโซติกขึ้น แล้วผ้าไหมก็ดูเข้ากับเรา รู้สึกสวยเก๋โดดเด่นและมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง” แต่เมื่อเทศกาลลอยกระทงมีเพียงปีละครั้ง แม้จะรู้สึกสวยมั่นใจในชุดไทยแต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้ใส่บ่อยไปกว่านั้น กระทั่งเธอได้ไปศึกษาต่อในหลักสูตร Program for Leadership Development ที่ Harvard Business School
“ตอนเรียนที่อเมริกา แหวนซื้อผ้าไทยไปใช้ที่โน่น จากผืนเล็กๆ พันเป็นผ้าพันคอบ้าง คล้องกระเป๋าบ้าง พันตัวเป็นเสื้อบ้าง เพื่อนๆ เห็นก็กรี๊ดกร๊าด ชมว่าผ้าไหมไทยสวยมาก เทกซ์เจอร์ผ้าเวลาต้องแสงยิ่งสวยขึ้นไปอีก ยิ่งตอนมีงานที่ทุกคนใส่ชุดประจำชาติ แหวนก็ชุดไทยแต่ก็ประยุกต์ให้เข้ากับคาแรกเตอร์เราที่เป็นคนกระฉับกระเฉง ยิ่งคนชมว่าเราสวยเก๋โดดเด่นและยูนีกมาก ก็ยิ่งรู้สึกถึงคุณค่าของความเป็นไทย และทำให้มั่นใจที่จะใส่ผ้าไทยมากขึ้นไปด้วย”
เมื่อกลับมาเมืองไทยนอกจากความสำเร็จทางการศึกษาหาความรู้แล้ว คุณแหวนยังนำพาความมั่นใจในการสวมใส่ผ้าไทยกลับมาเต็มตัว เธอจึงเริ่มตัดชุดไทยเก๋ๆ ไว้ใส่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น คุณแหวนหัวเราะนิดนึงเมื่อนึกถึงความรู้สึกตัวเองที่เคยคิดเหมือนใครหลายคนว่าใส่ผ้าไทยแล้วแก่และเชย
“คิดแล้วก็ตลกดีว่าค่านิยมนี้มักเกิดกับคนที่ยังไม่เคยใส่ผ้าไทยจริงๆ แต่เมื่อแหวนได้ใช้ผ้าไทยบ่อยขึ้นเลยได้รู้ว่านั่นเป็นสิ่งที่คิดกันไปเอง คำว่าใส่ผ้าไทยแล้วดูแก่ แหวนยืนยันเลยว่าไม่จริง ถ้าคุณเลือกดีไซน์ชุดให้เหมาะกับคาแรกเตอร์ตัวเองและรู้จักการมิกซ์แอนด์แมตช์ ใส่ยังไงก็ไม่แก่ แต่กลับดูเก๋มีสไตล์และเท่ไม่เหมือนใคร
“คำแนะนำของแหวนคือต้องปรับจูนความคิดตัวเองก่อน จากนั้นให้ค่อยๆ นำผ้าไทยมาอยู่ในชีวิตประจำวันเราให้เคยชินเสียก่อน อาจจะใช้เป็นผ้าพันคอ ผ้าผูกผม หรือจะเป็นต่างหู กระเป๋า รองเท้าที่มีการใช้ผ้าไทยในการตกแต่ง”
การก้าวผ่านความเคอะเขินและไม่กล้าใส่ผ้าไทยของคุณแหวน เป็นแรงบันดาลใจให้ปัจจุบันเธอทำธุรกิจกระเป๋าที่ตกแต่งด้วยผ้าไหมทอมือแบรนด์ PAVAนอกจากส่งเสริมและต่อยอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมผ่านผ้าไทยแล้ว ยังเป็นความตั้งใจส่วนตัวที่อยากให้ผ้าไหมไทยเป็นส่วนหนึงในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่ ในการหยิบผ้าไทยมาใช้ได้อย่างมั่นใจที่จะสวยในสไตล์ของตัวเอง
คุณแหวนยังมีเทคนิคการนำผ้าไทยมาใช้ให้คุ้มค่าสมราคาในแบบของเธอว่า “อย่างที่ทราบกันว่าผ้าไหมมีราคา การนำผ้ามาใช้ให้คุ้มมูลค่ามีหลายวิธี ตั้งแต่การนำผ้าไทยมาประยุกต์กับผ้าชนิดอื่น เช่น แขนเสื้อข้างหนึ่งใช้ผ้าไหม อีกข้างเป็นผ้าชีฟอง ทำให้เรามีชุดผ้าไทยหลายชุดจากผ้าผืนหนึ่ง การผสมผสานผ้าแบบนี้ยังทำให้เราใส่ผ้าไทยได้ง่ายขึ้นด้วย แต่ถ้าเป็นผ้าไทยที่ทอลวดลายวิจิตร ก็ไม่ควรนำไปตัดชุด แหวนจะใส่เป็นผ้านุ่งเพื่อโชว์ลวดลายที่ประณีต หรืออย่างมากก็แค่เย็บเนากลัดผ้าสำหรับใส่เป็นครั้งคราวไป”
ส่วนใครที่เป็นกังวลว่าผ้าไทยจะดูแลรักษายากนั้น คุณแหวนยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่าด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผ้าไทยสมัยนี้แทบทุกผืนแม้จะเป็นการทอจากชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ที่ห่างไกลต่างก็มีการเคลือบนาโนเพื่อช่วยป้องกันสีซีด สีตก กันความชื้น ทำให้ใช้และดูแลง่ายขึ้น “เก็บใส่ในตู้เสื้อผ้าปกติได้เลย”
สำหรับมือใหม่หัดใส่ผ้าไทยที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนอย่างไรดี คุณแหวนบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่เริ่มต้นศึกษาหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและหนังสือต่างๆ จากนั้นเมื่อเริ่มซื้อหาผ้าไทยก็ได้วิชาความรู้จากพ่อค้าแม่ขายย่านดิโอลด์สยามบ้าง ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรฯ งาน OTOPบ้าง และแหล่งความรู้ด้านผ้าไทยอย่างดีที่ไม่ควรมองข้ามก็คือเหล่าดีไซเนอร์ผู้คุ้นเคยกับผ้าไทยนั่นเอง รวมถึงกูรูเรื่องผ้าไทยอย่าง อ.เผ่าทอง ทองเจือ ที่หากใครมีโอกาสได้สนทนาก็จะได้รับความรู้มากมาย นอกจากนี้ ความรู้เรื่องผ้าไทยที่เพิ่มพูนขึ้นของคุณแหวนนั้น เธอขอบคุณโอกาสดีๆ จากรายการ ‘ว้าว แหวนแหวน’ของตัวเอง
“แหวนโชคดีที่มีผู้สนับสนุนทั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กรมอุตสาหกรรม และหน่วยงานต่างๆ ทำให้มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปเห็นถึงกรรมวิธีการทอผ้าตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้รู้เลยว่ากว่าจะทอได้ผ้าสักผืนนั้นยากลำบากเพียงใด ความสวยงามที่ตาเราเห็นนั้น ผ่านหงาดเหงื่อแรงกายแรงใจที่ชาวบ้านทุ่มเทลงไป แหวนเลยยิ่งอินและรักผ้าไทยและเข้าใจว่าทำไมผ้าไทยถึงมีราคา หลายคนชอบพูดว่าผ้าไทยแพง แต่รับรองว่าถ้าได้เห็นอย่างที่แหวนเห็น นี่คือสมราคาแล้ว และจริงๆ น่าจะแพงได้กว่านี้อีกด้วยซ้ำ เพราะนี่คืองานศิลปะที่มีชิ้นเดียวในโลก เป็น one of a kind อย่างแท้จริง”
เสียงร่ำลือว่าคุณแหวนเป็นหนึ่งในผู้ที่ซื้อหาผ้าไทยสวยๆ เก็บสะสมไว้ไม่น้อย จึงอยากรู้ถึงผ้าผืนโปรดของเธอ ซึ่งเจ้าตัวก็ตอบฉะฉานทันใด “แหวนชอบผ้าไหมมัดหมี่มากกก ชอบเทกเจอร์และลวดลายของผ้าที่สวยงามและมีเรื่องราวจากจินตนาการของคนทอ อย่างที่บอกแหวนรู้สึกว่าผ้าทอคืองานศิลปะที่เรานำมาสวมใส่ได้ ในความคิดแหวนผ้าไหมนับวันมูลค่าและคุณค่าจะยิ่งเพิ่มขึ้น ไม่ต่างจากของแบรนด์เนมที่เป็นแรร์ไอเท็มหรือรุ่นลิมิเต็ดเลย ที่สำคัญยิ่งนานไป เหล่าแม่ๆ ป้าๆ ที่ทอผ้าก็จะทอได้น้อยลงตามแรงกำลัง ฉะนั้น เมื่อไหร่ที่เจอผ้าผืนที่สวยถูกใจ แหวนจะไม่ลังเลที่จะซื้อหามาครอบครองเลยค่ะ”

“ถ้าให้เลือกผืนที่ชอบเป็นพิเศษก็คงต้องเป็นผ้าที่มีเรื่องราวความเป็นมา ผืนแรกคือผ้าไหมมัดหมี่จาก ต.หนองเข้ จ.สกลนคร ที่ชาวบ้านตั้งใจทอเลียนแบบหนังของจระเข้ที่เป็นสัตว์ประจำถิ่น ความพิเศษตั้งแต่เป็นหม่อนที่ให้ไหมสีเงินในตัวเอง ซึ่งเลี้ยงยากและให้ไหมเส้นสั้นกว่าหม่อนปกติ การทำจึงทวีความลำบากขึ้นจากเดิม จากนั้นนำไปย้อมครามเป็นสีฟ้าที่มีเอกลักษณ์ เพราะว่ากันว่าน้ำในสกลนครคือน้ำที่ย้อมครามได้ดีที่สุด ที่สำคัญไปกว่านั้นผ้าผืนนี้คือผืนต้นแบบที่แหวนไปอ้อนวอนขอซื้อมาเพื่อเป็นของขวัญวันแม่ให้คุณแม่ของแหวน”
“ส่วนอีกผืนคือผ้าไหมทอลายพญานาคจาก จ.สุรินทร์ แหวนได้ฟังตำนานพญานาคจากชาวบ้านแล้วได้ทราบว่ากว่าจะมัดลายให้เป็นเกล็ดพญานาคและนำไปย้อมสีจากเปลือกไม้ธรรมชาติให้เป็นสีแดงชาดสวยอย่างที่เห็นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” คุณแหวนเล่าติดตลกอีกว่า “ตอนซื้อผ้าผืนนี้ชาวบ้านที่ทอเข้ามาบอกแหวนว่า ‘อย่านำไปตัดเสื้อหรือทำกระเป๋านะ เขาทำใจไม่ได้’แหวนเองก็ทำใจไม่ได้เหมือนกัน ทุกวันนี้ผ้าสองผืนนี้จึงยังขึ้นหิ้งไว้อยู่เลยค่ะ”
สุดท้ายคุณแหวนฝากย้ำถึงใครที่ชื่นชอบผ้าไทยแต่ยังลังเลไม่กล้าใส่ หรือใครที่ยังไม่เปิดใจรับผ้าไทย ให้กลับมาเห็นคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของคนไทย “ผ้าไทยนี่แหละที่ทำให้เราโดดเด่น มีคาแรกเตอร์ไม่ซ้ำใคร สำหรรับแหวนนี่คือความฮิป เท่ อินเทรนด์ และยูนีกสุดๆ แล้วค่ะ”