เจาะเบื้องหลังความสำเร็จของ ‘คุณอุ้ม-วรนล สามโกเศศ’ เจ้าของสนามกอล์ฟที่ดีที่สุดติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชีย
ถ้าพูดถึงสนามกอล์ฟที่ได้รับการยอมรับระดับท็อปของเอเชียแล้วนั้น HELLO! ขอบอกเลยว่า ‘เชียงใหม่ ไฮแลนด์ส กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท’ สนามกอล์ฟที่ดีที่สุดติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชียที่ได้รับการยอมรับจากนิตยสารกอล์ฟหลายฉบับ รวมถึงยังเป็นสนามโปรดของซูเปอร์สตาร์ตาน้ำข้าว และสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซียอีกด้วย และวันนี้ก็เราก็มีโอกาสได้มาพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟกับ ‘ คุณ อุ้ม-วรนล สามโกเศศ ‘ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันสวยงามนี้

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งคนที่เราไม่ค่อยได้เห็นออกงานสังคม เพราะคุณอุ้มคุ้นชินกับการใช้ชีวิตเงียบสงบซึ่งสงัดจากแวดวงสังคมไฮโซและโซเชียล ด้วยไลฟ์สไตล์ของเขาออกจะเรียบง่าย แต่ดีกรีไม่ธรรมดา เพราะคุณอุ้มเลือกเรียน ‘เลอ กอร์ดอง เบลอ’ เพราะชอบชิมของอร่อย เป็นเจ้าของสุนัข 50 ตัว เป็นสามีผู้ตามใจภรรยา (คุณเปิ้ล-พลอยเพตราร์ สามโกเศศ) อย่างน่าอิจฉา ในอนาคตใฝ่ฝันจะเป็นเจ้าของสวนผัก และปัจจุบันรู้สึกเติมเต็มที่ได้เป็นเจ้าของร้านอาหารเล็กๆ และสงบในใจทุกครั้งที่ได้มาเยือนบ้านพักบนเนื้อที่ 40 ไร่ในโอบล้อมขุนเขาเมืองเหนือ
ทว่าชีวิตอันเรียบง่ายของเขาพลิกผันไปนับแต่ถูกบิดามารดาเรียกตัวกลับเมืองไทย ซึ่งยังตราตรึงในใจอย่างแม่นยำว่าเป็นวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2547 ก่อนที่ในวันถัดมา 1 พฤษภาคม เขาขึ้นดำรงเป็นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการสนามกอล์ฟเมืองแก้ว สนามกอล์ฟเอกชนอันดับต้นๆ ของเมืองไทยบนถนนบางนา-ตราด ธุรกิจเก่าแก่ 3 ชั่วอายุคนของตระกูล และนั่นก็เป็นวันที่เขากลายเป็น ‘ทายาทหมื่นล้านแห่งเมืองแก้ว’ สมญานามที่สื่อตั้งให้ซึ่งจะติดตัวเขาไปจนตลอดชีวิต

โชคชะตาไม่เคยละทิ้งความประหลาดใจใหม่ๆ เมื่อทั้งทศวรรษที่ผ่านมา บิดามารดาของเขาถูกชะตากับที่ดินผืนงามราว 1400 ไร่ ไม่ไกลจากบ่อน้ำพุร้อนสันกำแพง จึงเป็นหน้าที่ของบุตรชายอย่างคุณอุ้ม ที่ต้องขึ้นเหนือไปบุกเบิก ‘เชียงใหม่ ไฮแลนด์ส กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท’ สนามกอล์ฟ 27 หลุมที่ได้รับการกล่าวถึงระดับนานาชาติเลยทีเดียว
เกิดมากับหญ้า โตมาเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟ
บนกรีนกว้างขวางสุดลูกหูลูกตาของสนามกอล์ฟ เชียงใหม่ ไฮแลนด์ส กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท ซึ่งส่วนที่เป็นลานหญ้าก็เขียวราบโล่ง ส่วนที่เป็นร่มไม้ก็ครึ้มเงาไม้ เงานก กระรอก กระแต ณ ที่แห่งนี้คุณอุ้มลากจุดย้อนหลังให้เห็นเส้นทางชีวิตที่ทำให้เขากลายมาเป็นผู้บริหารสนามกอล์ฟอันดับต้นๆ ของเอเชียถึง 2 แห่งว่า

“ผมถูกส่งไปโรงเรียนประจำที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 13 โรงเรียนชื่อ Gresham’s School อยู่ในเมืองโฮลต์ มณฑลนอร์ฟอล์ก ผมเป็นคนไทยคนที่ 2 หรือ 3 ที่ไปเรียนที่นั่น ต่อมาเข้าเรียนที่ Imperial College London สาขา Information Systems Engineering แต่ผมเลือกผิดสายครับ ดันไปเลือกของยาก (ยิ้ม) สุดท้ายผมย้ายหน่วยกิตไปเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ที่ Thompson Rivers University ที่แคนาดา จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ (คุณวิชัยและคุณจันทร์จรัส สามโกเศศ) เรียกตัวกลับเมืองไทยให้มาดูแลสนามเมืองแก้ว โดยผมขอเรียนปริญญาโทที่ศศินทร์เพราะผมไปอังกฤษตั้งแต่เด็กเลยอยากรู้จักเพื่อนในเมืองไทยเพิ่ม และได้เรียนทำอาหารที่เลอ กอร์ดอง เบลอเพราะใจรักครับ” คุณอุ้มเล่าชีวิตอันพลิกผันอย่างตรงไปตรงมา ก่อนจะสรุปว่าตำราวิชาสนามกอล์ฟที่ไม่มีมหาวิทยาลัยใดๆ สอนได้ก็คือคลังประสบการณ์ของบิดามารดาที่เขาติดสอยห้อยตามไปดูงานตั้งแต่จำความได้
“เรียกว่าผมโตมากับสนามกอล์ฟก็ว่าได้” ลูกชายคนเดียวและลูกคนสุดท้องซึ่งรับช่วงธุรกิจของครอบครัวกล่าว งานแรกในชีวิตของผู้บริหารหนุ่มวัยแค่ 23 ปีเมื่อ 15 ปีก่อนคือรับช่วงดูแล ‘สนามกอล์ฟเมืองแก้ว’ สนามกอล์ฟแห่งแรกของตระกูลฝ่ายมารดา “สมัยเมื่อ 60 – 70 ปีก่อน
คุณตา (อดีตวุฒิสมาชิก สุขุม ถิระวัฒน์) ทราบว่าจะมีการตัดถนนบางนา-ตราด จึงซื้อที่ย่านบางนาไว้พอสมควรครับ ยุคนั้นท่านต้องพายเรือเข้าไปดูที่ท้องนา ถนนแถบนั้นมีแค่ถนนสุขุมวิท คุณน้าน้องชายของคุณแม่เป็นคนริเริ่มสร้างสนามกอล์ฟเมืองแก้ว ต่อมาคุณตาเข้ามาช่วยดูแล” ที่ดินที่ ‘มีอยู่พอสมควร’ ตามคำของคุณอุ้มว่านั้น ในวันนี้บางส่วนถูกพัฒนาเป็นโครงการหมู่บ้านจัดสรรหลักหมื่นครัวเรือน โรงเรียนนานาชาติคอนคอเดียน ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าเมกาบางนา เพื่อพัฒนาทำเลย่านนี้ให้เกิดศักยภาพ และที่ดินอีกส่วนถูกบริหารจัดการโดยครอบครัวไว้ส่งต่อรุ่นลูกรุ่นหลาน

เมื่อพอจะหายใจคล่องจากงานบริหารเมืองแก้วและโครงการพัฒนาที่ดิน เมื่อ 10 ปีก่อนบิดามารดาที่แค่แวะไปเที่ยวเชียงใหม่เฉยๆ ก็แจ้งให้ทราบว่าจะสร้างสนามกอล์ฟแห่งใหม่แถวอำเภอแม่ออน เลยทางเข้าน้ำพุร้อนสันกำแพงไปเพียง 1 กิโลเมตร คุณอุ้มรู้ดีว่าคงต้องเป็นเขาที่ต้องนำทัพบุกเบิกอาณาจักรใหม่นี้ เขาเดินย่ำไปตามคันนา บ้างก็ปีนข้ามอ่างเก็บน้ำไปดูที่ดินซึ่งในเวลานั้นไม่มีถนนตัดผ่านด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นข้อดีเมื่อ ‘เชียงใหม่ ไฮแลนด์ส กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท’ ซึ่งออกแบบสนามโดย Schmidt-Curley Golf Design ที่มีผลงานไปทั่วโลก วางตัวอยู่บนที่ดิน 1400 ไร่ซึ่งไม่มีสิ่งใดบดบังสายตาและเป็นสนามกอล์ฟที่มีมากถึง 27 หลุม มีทั้งส่วนที่เป็นคอนโดมิเนียมและบ้านพักตากอากาศ “เราอยู่เชิงดอยเลยตั้งชื่อว่าไฮแลนด์ส ซึ่งคนเลือกชื่อคือคุณแม่ครับ ต้องยอมเขาหน่อย” เขาบอกยิ้มๆ
“นิตยสาร Asian Golf Monthly ยกให้เราเป็นหนึ่งในสนามกอล์ฟแห่งใหม่ที่ดีที่สุดในเอเชียและเราได้รางวัลคุ้มค่าที่สุดในเอเชีย เราพิสูจน์ตัวเองมาแต่แรกว่าทุกรางวัลเราได้มาเอง บางแห่งเขาให้รางวัลแต่เราต้องจ่าย เราก็ไม่ทำครับ เรารู้จักลูกค้าของเราดีพอและรู้ว่าเราต้องไปในทิศทางไหน เพราะเราอยู่กับธุรกิจนี้มานาน”
การหาของกินอร่อยๆ อีกหนึ่งไลฟ์สไตล์สุดโปรดของ ‘บ้านสามโกเศศ’
ย้อนกลับไปตอนเพิ่งมาถึงเมืองไทยได้ไม่นาน คุณอุ้มใช้เวลาว่างจากงานบริหารสนามกอล์ฟไปเรียนเพิ่มเติม ไม่ใช่หลักสูตรผู้บริหารที่ไหน แต่เป็นคอร์สทำอาหารที่เลอ กอร์ดอง เบลอ “ถ้าไปถามคุณแม่ท่านจะบอกว่าผมดูรายการทำอาหารมากกว่าดูการ์ตูน” เขาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ “ผมสอนวิชาอาหารที่ ม.กรุงเทพด้วย โดยพี่ที่เป็นอาจารย์เขาเลยดึงตัวไปเป็นอาจารย์พิเศษ เพราะเห็นผมมีความรู้ด้านนี้และผมภาษาอังกฤษดี เขาเลยดึงไปสอนภาคอินเตอร์ด้วยครับ”
“แต่อยู่บ้านเขาไม่ค่อยทำอาหารนะคะ ถ้ามีโอกาสพิเศษค่อยทำ” ศรีภรรยาแอบแซว “เขาชอบชิมร้านนั้นร้านนี้มากกว่า ร้านโปรดมีหลายร้าน แต่ร้านที่เราพยายามหลีกเลี่ยงคือร้านคิวยาวค่ะ” คุณเปิ้ลเป็นฝ่ายตอบแทนสามีซึ่งกำลังนึกว่าร้านที่อยากบอกต่อมีร้านใดบ้างในโลก

“ล่าสุดที่เราชอบคือสถานีโตเกียวครับ” เขาโพล่งคำตอบไม่คาดฝันมาให้ “ด้านล่างสถานีมีร้านอาหารดีๆ เยอะ กินแค่ตรงนั้นอย่างเดียวก็ชิมกันไม่หมดแล้ว” ภรรยาที่เป็นคู่หูคู่ชิมไปด้วยทุกที่เสริมว่า “เราทั้งคู่ไม่ได้เน้นว่าต้องทานร้านที่ได้มิชลินสตาร์นะค่ะ” คุณอุ้มพูดต่อประโยคของภรรยาอย่างรู้ใจกันว่า “ผมคิดว่าร้านอร่อยที่ไม่มีมิชลินสตาร์ยังมีอีกเยอะครับ เพื่อนชวนไปกินร้านชื่อ St.John ที่อังกฤษ ไม่มีดาวแต่คนแห่กันไปกิน คอนเซปต์คืออาหารอังกฤษที่ใช้ Head to Tail คือใช้ทุกส่วนมาปรุง มีเมนูแปลกๆ อย่างคือซอเต้หัวใจเป็ด ขนาดอยู่เมืองไทยยังไม่เจอเลย นี่ไปเจอที่อังกฤษและอร่อยด้วย ปกติคนนี้ (ชี้ที่คุณเปิ้ล) ไม่ค่อยร้องขอว่าอยากกินร้านไหนเป็นพิเศษ แต่เขาชอบร้านนี้มาก”
จากเพื่อนเป็นคู่ชีวิต
แม้จะงานรัดตัวอยู่เป็นนิจและมักทุ่มเทกับงานบริหารอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว จนสามีเป็นห่วงอยู่ห่างๆ แต่สังเกตได้ถึงความรู้ใจกันของคุณเปิ้ลและคุณ อุ้ม-วรนล สามโกเศศ ซึ่งพูดต่อประโยคกันตลอดยิ่งกว่าฝาแฝด ไปจนถึงท่าทีเอ็นดูและตามใจภรรยาอย่างเห็นได้ชัดของคุณอุ้ม ซึ่งเจ้าตัวยอมรับโดยดุษฎี “พอเจอเปิ้ลแล้วชีวิตลงตัวจริงๆ ครับ เขาเป็นคนสบายๆ แต่เฉียบขาด เปิ้ลเข้าใจผมทุกเรื่อง ผมเลยพยายามเป็นฝ่ายให้เขามากกว่า ก็ค่อนข้างตามใจเขาครับ” คุณเปิ้ลยิ้มรับ
ขอบคุณเพื่อนของทั้งคู่ที่เป็นครูสอนดำน้ำ ซึ่งรับบทกามเทพแบบไม่ตั้งใจ จับให้สองหนุ่มสาวอยู่กลุ่มดำน้ำเดียวกันเมื่อเกือบ 10 ปีก่อนและกลายเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกันในชีวิตจริงไปโดยปริยาย แต่ไม่เกิดการสานต่อใดๆ กระทั่งเมื่อ 3 ปีก่อน คุณอุ้มเห็นคุณเปิ้ลไปเที่ยวแคนาดา เขาจึงทักทายไปเนื่องจากเป็นประเทศที่เขาคุ้นเคย แต่นั่นกลายเป็นจุดที่ทำให้เพื่อนร่วมกลุ่มเริ่มคุยกันนอกรอบสองคนบ่อยขึ้นเรื่อยๆ และในระยะเวลาหลังจากนั้นไม่นาน ฝ่ายชายก็เอ่ยขออนุญาตแต่งงานกับครอบครัวฝ่ายหญิงด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า คนนี้คือคนที่ใช่
คุณเปิ้ลกล่าวว่า“พอมาเจอเขาอีกครั้ง เขาทำให้เปิ้ลสัมผัสได้ว่าความรู้สึกนี้แหละที่ทำให้นึกถึงคำว่าครอบครัว ทุกอย่างเป็นไปอย่างธรรมชาติ เราคุยกันทุกเรื่อง เขาไม่ใช่คนโรแมนติกแต่เอาใจใส่ตลอด เขาจะแอบสังเกตว่าเราสนใจอะไร กลับมาบ้านก็จะเจอสิ่งนั้น และพี่อุ้มเป็นคนเสียสละเพื่อครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเขาไม่รู้ตัวหรอกค่ะ (ยิ้ม) เขารักและเสียสละให้ครอบครัวมาก”
“เคยมีคนชวนผมไปทำสนามกอล์ฟที่พม่าและลาว แต่ผมไม่เอา เราต้องเลือกครับว่าจะมีชีวิตแบบไหน จะอยู่ที่นี่หรือมีชีวิตที่ต้องบินไปบินมาตลอดเวลา สุดท้ายผมเลือกใช้ชีวิตกับครอบครัวที่เมืองไทยดีกว่าครับ”
“ที่นี่สำหรับผมอยู่แล้วสบายใจ เหมือนได้พักผ่อนเต็มที่ ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามามีความรู้สึกว่าเป็นที่ที่ร่มเย็นและมีพลังบางอย่าง มาอยู่แล้วรู้สึกผูกพัน” เขาลูบหัวสุนัขตัวใหญ่เหมือนหมีสีทอง ขณะที่ภรรยานั่งอยู่ข้างกาย สายตาทุกคู่ประสานไปยังทิศทางเดียวกัน นั่นคือทิวเขาที่โอบกอดที่ดินผืนงามนี้เอาไว้ “ผมชอบบ้านที่เชียงใหม่ ที่นี่ไม่มีรถติด ไม่หนวกหูและมีบรรยากาศสงบร่มเย็นมาก บ้านนี้เลยมีทุกอย่างที่กรุงเทพฯ มีและมีบางอย่างที่กรุงเทพฯ ไม่มี ซึ่งก็คือธรรมชาติครับ”
ผู้บริหารสนามกอล์ฟ 2 แห่งที่มีเนื้อที่รวมกันหลายพันไร่ แต่กลับชอบใช้ชีวิตอยู่ใต้ร่มไม้และนั่งมองภูเขา “ที่นี่สบายครับ แค่นั่งใต้ต้นไม้ก็เย็นแล้ว”
ติดตามเรื่องราวแง่มุมอื่นๆของ ‘ครอบครัว สามโกเศศ’
ได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 15 ฉบับที่ 02 ประจำวันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563
หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่ www.ookbee.com , www.shop.burdathailand.com