Home > Celebrity > Exclusive Interviews > เปิดแนวคิดเทรนด์การทำงานแบบ Workcation กับ 3 ผู้บริหารคนดัง

หลังจากทั่วโลกประสบกับภัยจากโควิด -19 มาเป็นเวลาร่วม 2 ปีแล้ว ทำให้วิถีชีวิตของคนทั่วโลกเปลี่ยนไป หลายอย่างถูกปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมรวมทั้งวิถีชีวิตของคนทำงาน จนมีการบัญญัติคำศัพท์ใหม่คือ ‘workcation’ มาจากคำว่า work + vacation หมายถึงรูปแบบการทำงานที่ทำงานไปด้วยและเที่ยวไปด้วย เป็นรูปแบบการทำงานที่เลือกได้ว่าจะทำงานที่ไหนก็ได้ HELLO! ได้พูดคุยกับ 3 ผู้บริหารคนดังที่มาเผยแนวคิดที่น่าสนใจต่อเทรนด์การทำงานใหม่นี้

สาระ ล่ำซำ ปรับตัวรับการทำงานรูปแบบใหม่ด้วยกลยุทธ์ของการเปลี่ยน MINDSET

แม้ว่าจะเป็นผู้บริหารธุรกิจที่รักงานเป็นชีวิตจิตใจ แต่เมื่อต้องเริ่มเข้าสู่โหมดการทำงานแบบ Work from Home หรือ Work from Anywhere ‘คุณสาระ ล่ำซำ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กลับรู้สึกดีและผ่อนคลาย โดยก่อนหน้านั้นในช่วงก่อนโควิดเริ่มแพร่ระบาดในไทย ตารางเวลาการทำงานของคุณสาระถึงจะไม่น้อย แต่ยังไม่แน่นมาก หลังจากผ่านมาเกือบสองปี เขาได้ค้นพบว่าตนเองทำงานหนักขึ้นกว่าแต่ก่อน จนต้องศึกษาเทคนิควิธีการบริหารเวลา เพื่อแบ่งเวลาให้กับเรื่องต่าง ๆ และจัดการชีวิตในรูปแบบของ Workcation ให้ลงตัว

“ปกติผมเป็นคนชอบเล่นกีฬาและชอบลงแข่งขันกีฬาด้วย แต่หลังจากที่ช่วงโควิดระบาด การแข่งขันต่าง ๆ จึงได้งดการจัดไป ซึ่งแรก ๆ ก็รู้สึกดีใจ เพราะตนเองไม่ต้องรีบตื่นแต่เช้าเพื่อใช้เวลาฝึกซ้อมกีฬา กลับได้เวลาว่างที่เพิ่มมากขึ้น ใช้เป็นเวลานอนและใช้เวลาไปกับเรื่องส่วนตัวได้มากขึ้น แต่ช่วงหลังๆ ผมกลับรู้สึกว่าทำงานหนักขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะตื่นมาก็เปิดจอเพื่อประชุมออนไลน์ ออกกำลังกายเสร็จก็เปิดจอเพื่อประชุมออนไลน์อีก ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้หยุด” คุณสาระกล่าว

LISBON, PORTUGAL – MAY 18: illustration image taken on race day of the Challenge Lisboa. In Lisbon on 17/05/2019 © Gregory Van Gansen

คิดใหม่แล้วทำทันที

ด้วยหัวใจของการเป็นผู้บริหาร คุณสาระมีนโยบายให้บริษัทฯ มีการวิเคราะห์และประเมินผลเรื่องความรู้สึกของพนักงาน ในการทำงานอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพนักงาน Work from Home ด้วยการทดสอบผ่าน Employee Engagement ของพนักงานอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าผลของ Engagement Score อยู่ในระดับดีในช่วงต้น ๆ แต่ช่วงหลัง ๆ มีช่วงหนึ่งที่ Engagement Score ได้ลดลง จึงได้ศึกษาสาเหตุและได้พบว่า การทำงานแบบที่ไหนก็ได้ (Work from Anywhere) ผ่านไปสักพักจะเริ่มรู้สึกเบื่อและเริ่มจำเจ

ต่อมาจึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการ คือ มีนโยบายให้ทำงานแบบ Work from Home ควบคู่ไปกับการทำงานที่ออฟฟิศในช่วงที่คลายล็อกดาวน์แล้ว มีการจัดรูปแบบออฟฟิศใหม่ เพื่อให้พนักงานกลับมาทำงานแบบ Cooperation มีการยกเลิก Fix Desk แล้วเปลี่ยนเป็น Hot Desk ซึ่งการทำแบบนี้แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าบริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (WiFi) หรือค่าใช้จ่ายที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แต่ทั้งนี้เพื่อให้ทีมงานของบริษัทฯ ได้ทำงานสะดวกสบายมากขึ้น และมีความรู้สึกร่วมกับงานที่ทำมากขึ้น

“ในขณะเดียวกัน แม้จะเป็นวันที่ไม่ได้เข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ไม่ว่าพนักงานจะอยู่หรือกำลังเดินทางไปที่ใดก็แล้วแต่ มีข้อแม้อย่างเดียว นั่นคือ ขอให้สามารถติดต่อเพื่อคุยงานได้ และเมื่อมีการประชุมออนไลน์เพื่อหารือคุยกัน ขอความร่วมมือให้พนักงานทุกคนได้เปิดกล้องเพื่อให้เห็นหน้าเพื่อให้มี Eye Contact ของผู้สนทนา ทั้งนี้อาจจะเปลี่ยนพื้นหลังก็ได้”

คุณสาระกล่าว

ดี-ร้าย อยู่ที่มุมมอง

การเป็นองค์กรใหญ่ในธุรกิจประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก คุณสาระมองว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบัน แม้จะอยู่ท่ามกลางอุปสรรคในการทำงานที่เป็นแบบไม่สามารถพบเจอกันได้ แต่กลับมีบางประเด็นที่ถือเป็นประโยชน์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก “ผมเป็นผู้นำที่มีฝ่ายขายที่ทำงานกับผมจากทั่วประเทศเป็นจำนวนหลักหมื่น การทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ผมได้คุยกับทีมงานทั้งหมดในครั้งเดียว จากนั้นผมในฐานะที่เป็นผู้นำ จะต้องยอมรับฟังและเปิดใจกับทีมงานว่า Pain Point ของเขาเป็นอย่างไร ข้อแนะนำที่จะทำให้ทีมงานทำงานได้ดีขึ้นเป็นอย่างไร นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้สัมผัสและทำงานร่วมกับทีมงาน ไม่ใช่นั่งอยู่แต่บนหอคอยอีกต่อไป อย่างไรก็ตามการ Work from Home ก็มีข้อเสียเช่นเดียวกัน กล่าวคือ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องมีการพบปะเพื่อเจอหน้ากัน นัดกินข้าวด้วยกัน จึงทำให้ผมค้นพบว่า ผมมีความต้องการเปลี่ยนรูปแบบการทำ งานของบริษัททั้งหมดเป็น Work from Home แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถทำทั้งหมดได้”

แม้ว่าการทำงานแบบ Work from Home หรือ Work from Anywhere จะเป็นการทำให้ค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ลดลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ CEO อย่างคุณสาระมีมุมมองที่แตกต่างออกไป “จริงอยู่ที่ค่าใช้จ่ายเรื่องการจัดงานอีเวนต์หรือการจัดงานเนื่องในวาระต่าง ๆ ของบริษัทจะประหยัดได้บ้าง เพราะใช้การจัดกิจกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แทน อย่างไรก็ตาม การจัดงานผ่านออนไลน์บ่อยครั้งในระยะยาวอาจทำให้ไม่ได้อรรถรสหรือกระตุ้นจูงใจพนักงานหรือตัวแทนฝ่ายขายได้มากเท่ากับการจัดงานแบบเดิม ซึ่งทำให้หลังจากผ่านเวลาในช่วงโควิดที่กินเวลานานเกือบ 2 ปี จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมใหม่เป็นรูปแบบผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ โดยคำนึงถึงแนวทางการปฏิบัติตามประกาศมาตรการที่ออกมาจากทางภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ถ้าต่อมากฎเกณฑ์และกฎหมายได้คลายล็อกมาตรการรักษาระยะห่างมากขึ้น การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ก็อาจจะมีคนเข้ามาร่วมกิจกรรมกันได้มากกว่านี้”

ส่วนเรื่องการปรับตัวของบุคลากรในช่วงที่โควิดยังแพร่ระบาด “ผมได้มีนโยบายส่งเสริมให้พนักงานควรมีการ Reskill และ Upskill เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด จำเป็นต้องให้ Reskill ของพนักงาน ควรได้รับการเรียนรู้และหาความรู้ใหม่ๆ คอยปรับและสร้างกระบวนการใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มเติม อีกทั้งทุก ๆ คนควรได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเองและมี Career Path ที่ดีขึ้นคู่ขนานกันไป เพื่อเพิ่ม Productive อย่างต่อเนื่อง ข้อดี คือ ทำให้พนักงานมีทักษะที่หลากหลายมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยในเรื่องการบริหารความเสี่ยงของการหา Successor หรือ Succession Plan เพราะหากพนักงานคนนี้ไม่อยู่ จะได้มีอีกคนที่สามารถทำงานแทนได้”

“ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับ Mindset ของคน ถ้าคนทำงานยังยึดติดแต่กับผลงานที่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา และไม่เคยพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็สามารถทำให้สิ่งที่เคยเรียนรู้นั้นล้าสมัย และใช้ไม่ได้อีกต่อไป”

สิตามนินท์ สุสมาวัตนะกุล เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เน้นการสื่อสารที่ดี เพิ่มประสิทธิภาพในการ WORK FROM ANYWHERE

ถือเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ของผู้บริหารสาวสวยคนเก่งแห่ง เอส อาร์ ที ฟอเร๊กซ์ จำกัด หรือ Superrich สีเขียว บริษัทแลกเปลี่ยนเงินตราอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ‘คุณแพม-สิตามนินท์ สุสมาวัตนะกุล’ กับการเปลี่ยนแปลงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง เหมือนถูกบังคับให้ต้องปรับตัว ทว่าก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหาร ที่จะต้องลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนการทำงานและการบริหารงานเพื่อพาบริษัทก้าวข้ามอุปสรรคนี้ไปให้ได้

คุณแพมเองยอมรับว่า “จากสถานการณ์โรคระบาดนี้ เหมือนเป็นระเบิดเวลาที่เร่งให้เราได้ปรับตัวสู่โลกอนาคตเร็วขึ้น และเป็นช่วงที่ปรับโครงสร้างภายในบริษัท SRT Forex  หรือ Superrich Thailand Forex ได้ไม่นาน ก็เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนักเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว นับว่าเป็นความท้าทายมาก”

สำหรับเรื่องนโยบายการปรับเปลี่ยนการทำงานของพนักงานภายในองค์กร คุณแพมเล่าให้ฟังว่า “บริษัทของเราเริ่มให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from Home ตั้งแต่ปีที่แล้ว ในช่วงที่โควิดระบาดอย่างหนัก เพราะบริษัทของเราได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน เนื่องจากสาขาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยสั่งเปิด-ปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศในวันและเวลาที่กำหนดทำให้สาขาของซุปเปอร์ริชก็ต้องปิดให้บริการตามไปด้วย ส่วนพนักงานออฟฟิศของเราก็มีการปรับเปลี่ยนให้ทำงานจากที่บ้าน เพราะงานบางอย่างสามารถทำได้จากที่บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศก็ได้”

หลังจากที่ต้องรับมือกับมาตรการณ์ล็อกดาวน์ บริษัทจึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น พนักงานสามารถ Work from Anywhere ตอบสนองต่อรูปแบบใหม่ในการทำงานและการใช้ชีวิต อย่างไรก็ตามคุณแพมบอกว่า “บริษัทของเรามีการวัด Productivity เพื่อติดตามผลการทำงานของพนักงาน มีการรายงานผลสำเร็จของงานแต่ละแผนกในแต่ละวัน ตลอดเวลาทำงานอยู่ที่บ้าน ขณะเดียวกันจะมีการประชุมทางออนไลน์กันทุกวัน เหมือนเป็นการเช็กอินเข้างานทุก ๆ วัน ซึ่งก็มีหลายคนบอกว่า ไม่ค่อยอยากทำงานจากที่บ้าน เพราะการทำงานที่ออฟฟิศจะมี Human Connection มากกว่า ได้เจอหน้ากัน ได้คุยแบบเห็นหน้ากันจริง ๆ ทำให้รู้สึกอุ่นใจมากกว่า”

เรียนรู้และปรับตัว

เพราะเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และเชื่อว่าหลายคนไม่ทันได้ตั้งตัว แต่เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว ในมุมมองของคุณแพม เธอบอกว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะการทำงาน Work from Home ตัดโอกาสการพบเจอผู้คนของเราไปโดยปริยาย ทำให้ Human Connection หายไป ความใกล้ชิดสนิทสนมลดลง ส่วนข้อดีสำหรับพนักงานบางคนคงเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมไปถึงการประหยัดเวลา เพราะบางคนทำงานวันละ 8 ชั่วโมงก็จริง แต่ต้องบวกเวลาเดินทางไปกลับบ้านถึงที่ทำงานอีก 2 ชั่วโมงทุกวัน ทำให้ 2 ชั่วโมงในชีวิตแต่ละวันหายไปกับการเดินทาง ยิ่งบางคนไม่ได้เดินทางสะดวกสบายหรือบางวันอาจจะเจอปัญหารถติด ยิ่งเป็นการเพิ่มความเครียดสะสมไปอีก พอไม่มีการเดินทางออกจากบ้าน ทำให้มีเวลามากขึ้น หรือส่วนงานที่จำเป็นต้องใช้สมาธิในการครีเอตสร้างสรรค์งาน เวลาที่ทำงานอยู่ที่บ้าน ก็ช่วยทำให้เขาสามารถโฟกัสกับงานได้ดีกว่าการนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ 

“เอาจริง ๆ ตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด เราก็สามารถทำงานได้ทุก ๆ ที่อยู่แล้ว แค่มีโทรศัพท์เราก็สามารถติดต่องานได้ตลอดเวลา หรือเวลาไปเที่ยวหรือ Workcation เราก็สามารถออนคอลได้เหมือนกัน ใครจะติดต่อเรา ก็สามารถติดต่อได้ เพราะเราไม่ได้หายไปไหน พอเป็นช่วงที่โควิดระบาด ทำให้การ Work from Anywhere มีเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้น และเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศแค่ 1 วันต่อสัปดาห์ บางคนอาจจะเข้ามาเพื่อเคลียร์เอกสาร หรือประชุมต่าง ๆ เท่านั้น”

คนพร้อม อุปกรณ์ก็ต้องพร้อม

เพื่อให้การ Work from Anywhere ราบรื่นและได้ประสิทธิภาพมากที่สุด สิ่งอำนวยความสะดวก หรืออุปกรณ์จึงจำเป็นมากๆ คุณแพมบอกว่า “สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย นั่นก็คือ โน้ตบุ๊ก และเน็ตเวิร์ก ถ้าเรามี 2 อย่างนี้คิดว่างานส่วนใหญ่สามารถทำได้ทุกที่ เพราะปัจจุบันเราสามารถทำงานผ่านระบบออนไลน์ได้แล้ว แต่ทั้งนี้บริษัทต้องมีระบบและโปรแกรมที่รองรับการทำงานของพนักงานแต่ละแผนกด้วย เพื่อให้พนักงานสามารถทำงาน และเชื่อมต่อกับทีมงาน ได้แบบไม่มีอุปสรรค ทำให้ลดปริมาณการใช้งานกระดาษหรือเอกสารต่าง ๆ ไปด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการช่วยลดภาวะโลกร้อนไปในตัว”

“ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการสื่อสารที่ดี เพราะถ้าไม่มีการสื่อสารที่ดีระหว่างทีม หรือองค์กรกับพนักงาน ก็จะทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถดำเนินต่อไปได้จนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้หากเรามีการสื่อสารที่ดีทั้งในเรื่องงาน รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กร ก็จะทำให้บรรยากาศในการทำงานราบรื่น พนักงานมีความสุขในการทำงาน ส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพตามมาด้วยนั่นเอง ไม่ว่าจะประสบกับสถานการณ์หรืออุปสรรคอะไรก็ตาม”

เปลี่ยนแปลงเพื่อค้นหาไอเดียใหม่ ๆ

การ Work from Anywhere จึงกลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบในการทำงานที่หลายองค์กรเริ่มนำไปปรับใช้กับบุคลากรในองค์กร เพราะสามารถสร้างประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ตรงกับความคิดเห็นของผู้บริหารรุ่นใหม่อย่างคุณแพม “การปรับเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ บางเวลาถ้าเราไป Workcation เราอาจจะได้บรรยากาศที่ Relax และเป็นส่วนตัวมากขึ้น ถึงแม้เราจะอยู่ในช่วงของการทำงาน แต่เราจะมีความสนุกมากขึ้นที่ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง และเป็นอิสระมากกว่า ซึ่งคิดว่าการ Work from Anywhere น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับพนักงานหลายๆ คน ยิ่งเป็นพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ น่าจะต้องการแนวทางการทำงานแบบนี้ เพราะตอบโจทย์การทำงานในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ในระยะยาวอาจจะต้องมีการประเมิน Productivity มากขึ้นตามไปด้วย”

ขณะเดียวกันผู้บริหารคนเก่ง เธอเองก็มีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของการทำงานและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในแต่ละวัน “ปกติแพมจะออกกำลังกายตอนเช้าเป็นประจำอยู่แล้ว คือหลังจากตื่นนอนแล้วก็ออกกำลังกายก่อนที่จะเริ่มทำงานอะไรอย่างอื่น เหมือนเราได้จัดการกิจกรรมของเราเสร็จสิ้นไปแล้ว 1 อย่าง นอกจากนั้นถ้าพอมีเวลาว่าง แพมจะทำอาหารกินเอง บางวันก็จะทำขนมบ้าง”

นอกจากนี้คุณแพมยังแบ่งเวลาไปดูแลต้นไม้ รับความสดชื่นจากธรรมชาติ “จริง ๆ แพมไม่ใช่สายปลูกต้นไม้จริงจัง แค่อยากมีกิจกรรมทำในระหว่างที่ทำงานอยู่ที่บ้าน แพมเพิ่งเริ่มต้นปลูกต้นไม้ค่ะ เป็นต้นโอลีฟ ซึ่งแพมค้นพบว่า ต้นไม้ก็ต้องการการดูแลเอาใจใส่ รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ทำให้เราเพลิน ๆ เวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติค่ะ”

คณชัย เบญจรงคกุล เน้นทำงานแบบ ONE MAN SHOW ครบ จบ ในคนคนเดียวตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชีวิต NEW NORMAL

เรียกว่าเป็นเซเลบริตี้หนุ่มที่มีไลฟ์สไตล์โดดเด่นทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน สำหรับ ‘คุณคิด-คณชัย เบญจรงคกุล’ ไม่ว่าจะเป็นงานถ่ายภาพ หรือการบริหารงานที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย (MOCA​ BANGKOK)​ ที่เรามักจะเห็นคุณคิดนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ในการจัดแสดงงานศิลปะให้เหล่าอาร์ตเลิฟเวอร์ได้เสพศิลป์กัน แต่ช่วงที่โควิดระบาดหนัก ก็ทำให้คุณคิดและพิพิธภัณฑ์เจอวิกฤติหนักเช่นกัน กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องมีการปรับตัว และมองหาแนวทางที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตและการทำงานต่าง ๆ ดำเนินต่อไปได้ ไม่สะดุดระหว่างทาง

“ตอนนี้คิดบริหารงานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ MOCA และก็ยังมีงานถ่ายรูปอยู่ รวมไปถึงรับทำ Content ทั่วไป แต่ช่วงที่ผ่านมาก็ต้องปรับตัวเยอะมาก ๆ เพราะการทำงานแต่ละอย่างแตกต่างจากเมื่อก่อนมาก ๆ ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ต้องมีการ Work from Home มากขึ้น แต่ด้วยงานหลักของคิด คือการบริหารพิพิธภัณฑ์ที่เราเปิดให้บริการตลอดทั้งปี ไม่เคยปิดให้บริการนานเหมือนช่วงล็อกดาวน์กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดผลกระทบมากมาย แน่นอนว่า เรื่องรายได้มาเป็นอันดับแรกเลย ต่อด้วยปัญหาการทำงานของพนักงาน เพราะงานส่วนใหญ่ของเราจะอยู่หน้างาน ไม่สามารถ Work from Anywhere ได้มากนัก เราจะเน้นเป็นการประชุมออนไลน์ บางครั้งที่ต้องเข้าไปดูงาน ก็จะมีการสลับกันเข้าไปที่พิพิธภัณฑ์ จะไม่มีการเข้าไปพร้อมกัน เพื่อจำกัดจำนวนให้น้อยที่สุด ซึ่งเป็นการทำงานที่มีความยากง่ายต่างกัน ทำให้แต่ละคนสามารถโฟกัสงานตัวเองได้ แต่งานบางอย่างจะต้องดูที่หน้างานด้วย ยิ่งเราเป็นงานเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะการจัดแสดงงานศิลปะ ต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดหลายอย่าง”

จะว่าไปก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คุณคิดอธิบายต่อว่า “บางครั้งคิดรู้สึกว่าการที่เรานั่งประชุมแบบเห็นหน้ากัน เราจะมีเอนเนอร์จีในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้เราจะมีอายคอนแท็กต่อกัน ซึ่งเป็นบรรยากาศการทำงานที่ดีกว่า แต่ด้วยสถานการณ์ ณ ตอนนี้ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปโดยปริยาย แต่ก็ทำให้เรารู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานอย่างเดียว เพื่อจะทำให้งานประสบความสำเร็จได้”

“อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการแบ่งเวลา ควรมีการจัดตารางเวลาในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเอง เราต้องมีวินัยในการทำงานและการใช้ชีวิตในแต่ละวันสมมติว่า เราไป Workcation อยู่ริมทะเล เราต้องจัดสรรเวลา ว่าวันนี้เรามีมีตติ้งอะไรบ้าง หรือมีเวลาว่างช่วงไหนพอจะไปเล่นน้ำ หรือพักผ่อนได้บ้าง บางครั้งการ Work from Anywhere อาจจะทำให้เราไม่สามารถโฟกัสกับงานได้ เพราะถือเป็นช่วงเวลาของการพักผ่อน ฉะนั้นเราต้องจัดตารางและมีวินัยกับตัวเองด้วย”

“คิดจะพยายามคงตารางงานที่ทำแบบเดิมเวลาทำงานที่ออฟฟิศไว้ ว่าในแต่ละวันเราต้องทำอะไรบ้าง เช่น วันอังคาร มีการประชุมกับทีม เพื่ออัพเดตงานต่าง ๆ ก็ยังคงตารางงานไว้เหมือนเดิม ซึ่งจะช่วยให้เราไม่หลุดออกจากการทำงาน ไป Vacation เต็มๆ เลย พยายามวางแผนการทำงานให้อยู่ในตาราง แล้วก็ค่อยเสริมการพักผ่อนที่เราทำได้ครับ”

ทุกสถานการณ์ยากลำบาก มักมี ‘โอกาส’ ซ่อนอยู่

จะเห็นว่าช่วงที่ผ่านมา คุณคิดเป็นหนึ่งในผู้บริหารรุ่นใหม่ที่ปรับตัวในการทำงานในสถานการณ์โรคระบาดที่บีบบังคับให้ทุกคนใช้ชีวิตแบบ New Normal และเว้นระยะห่างทางสังคม “ล่าสุดคิดไปทริปพักผ่อนที่ทะเล และมีลูกค้าจ้างให้ทำถ่ายวิดีโอทำ Content คิดก็เลยเน้นเป็นการทำงานเองทั้งหมดทุกกระบวนการ เพื่อลดจำนวนทีมงาน จากเมื่อก่อนที่จะต้องมีการจัดทีมช่างภาพ Creative เพื่อทำงานร่วมกัน แต่ตอนนี้เหมือนเป็นการทำงานแบบ One Man Show คือต้องถ่ายเอง ตัดต่อเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราต้องฝึกฝนและอัพสกิลของตัวเองมากขึ้น อีกอย่างทำให้เราขยันมากขึ้นและทำให้เรารู้ว่า เราก็สามารถทำงานจบในคนเดียวได้”

แม้จะดูเหมือนเป็นการเพิ่มงานให้กับตัวเอง เพราะอย่างที่ทราบว่า การทำงานคนเดียว ทั้งการถ่ายทำ การตัดต่อ และการประสานงานต่าง ๆ แต่เซเลบริตี้หนุ่มกลับมองว่า เป็นการเพิ่มทักษะในการทำงานที่หลากหลาย “ปัจจุบันการขนส่งต่าง ๆ สะดวกสบายด้วยครับ ทำให้สามารถส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ข้ามจังหวัด ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ทำให้เราได้ค้นพบสกิลใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้ตัวว่า ตัวเองทำได้เพิ่มขึ้น อีกอย่างส่วนตัวเป็นคนชอบธรรมชาติมาก ๆ เวลาที่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ทะเล ภูเขา น้ำตก จะยิ่งรู้สึกว่าสมองปลอดโปร่งและครีเอตงานได้ดีมาก ๆ เลยครับ”

สำหรับงาน Creative คุณคิดบอกด้วยว่า “อยู่ที่สภาพจิตใจของเราด้วย เพราะบางทีที่เราเครียดหรือนั่งทำงานในออฟฟิศบรรยากาศเดิม ๆ หรือแม้กระทั่งการ Work from Home กักตัวเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจจะทำให้คิดงานไม่ออก แต่พอเราได้ไปนั่งอยู่ริมทะเล อยู่กลางป่า ท่ามกลางธรรมชาติ ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ตื่นเช้าขึ้นมาเห็นวิวสวย ๆ ยิ่งทำให้สมองเฟรช พร้อมที่จะสร้างสรรค์งานและลุยงานต่อ แถมยังได้เอ็นเนอร์จีกลับคืนมา บวกกับได้ไอเดียใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย”

คลายล็อกดาวน์แล้ว ก็ต้อง ‘คลายเครียด’ ด้วย

ณ ตอนนี้ แม้ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะคลี่คลายลงไปบ้าง และหลายๆ บริษัทก็กลับไปทำงานที่บริษัทเหมือนเดิมแล้ว แต่อาจจะมีการผ่อนปรนบางกรณี หลังได้เรียนรู้การปรับตัวกับสถานการณ์ดังกล่าว เช่นเดียวกับผู้บริหารหนุ่มแห่งพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัยที่บอกว่า เราสามารถกระจายงานให้ทุกคนได้ โดยที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวันก็ได้ และบริหารจัดการทั้งงานที่รับผิดชอบและการใช้ชีวิตได้ พร้อมกันนี้คุณคิดยังได้แชร์วิธีการที่จะช่วยให้บริหารจัดการงานและการใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นวิธีการที่คุณคิดใช้กับตัวเองและได้ผลมาบอกต่อว่า

“อย่างแรกที่ทุกคนควรมี คือเวลาที่เราต้อง Work from Anywhere หรือ Work from Home นั่นก็คือการมีวินัย อย่างที่บอกว่า เราสามารถจัดตารางการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา อีกอย่างทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะบริหารเวลายังไง บางคนอาจจะบอกว่าตอนกลางวันไม่ว่างเลย และจะทำงานตอนกลางคืน ก็ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนในการจัดตารางชีวิต แต่ทั้งนี้ก็ต้อง Work Life Balance ให้ดีด้วย”

“นอกจากนั้นสิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้าม คือการให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพจิตใจ โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ทั้งปัญหาของเศรษฐกิจย่ำแย่หลายๆ ธุรกิจต้องปิดตัวลง ทำให้เจ้าของธุรกิจและผู้บริหารต่างเกิดความเครียด ซึ่งถ้าเราไม่ทำความเข้าใจหรือใส่ใจกับปัญหาตรงนี้ และไม่ปรับตัว หรือแม้กระทั่งการหาวิธีผ่อนคลายความเครียดให้ตัวเอง ก็จะทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้ชีวิตบนความเครียดตลอดเวลา ถ้าจิตใจเราแย่ เราจะไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรเลย แม้แต่จะใช้ชีวิตต่อไปในวันพรุ่งนี้ ไม่รู้สึกหิวข้าว ไม่รู้แม้กระทั่งจะกินอะไรด้วยซ้ำ”

ผู้บริหารหนุ่มกแชร์วิธีการคลายเครียดให้กับเหล่าพนักงานโดยการฝึกลมหายใจ กึ่ง ๆ การนั่งสมาธิ แต่เน้นการฝึกลมหายใจ คล้ายกับการฝึกลมปราณ หรือที่เรียกว่า (Pranayama) เป็นศาสตร์ของอินเดีย “วิธีการฝึกลมหายใจแบบนี้ ช่วยสร้างความผ่อนคลายให้คิดได้เยอะมาก ๆ และมีหลากหลายรูปแบบให้ฝึกด้วย เช่น เวลาที่เราเจอปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ จะมีการหายใจ แล้วนับ 1 2 3 เพื่อให้ได้การหายใจที่ยาวขึ้น หรือก่อนนอนคิดจะนั่งสมาธิฝึกลมหายใจ รวมไปถึงเวลาตื่นนอน คิดจะฝึกลมหายใจก่อน เตรียมความพร้อมที่จะเริ่มทำอะไรในวันใหม่ ทุก ๆ ครั้งเวลาที่คิดเจอปัญหา คิดจะพยายามฝึกลมหายใจ ตั้งสติและอยู่กับตัวเอง จากที่เมื่อก่อนทุกเช้าเวลาตื่นนอนคิดจะรีบเปิดโทรศัพท์ทันที เช็กอีเมล เช็กไลน์ และข้อความต่างๆ ซึ่งทำให้เรารับรู้เรื่องราวต่างๆ เร็วเกินไป ในขณะที่เรายังไม่ทันได้ Refresh สมอง และเตรียมความพร้อมที่จะเจอปัญหาต่างๆ เลย จึงทำให้เราเกิดความเครียดตั้งแต่เช้าและมีความกังวลในการแก้ไขปัญหา ถือเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่ไม่ดีเลย”

ในมุมกลับกัน คุณคิดบอกว่า ถ้าเราตื่นและได้ฝึกสมาธิ ตั้งสติเพื่อตั้งรับกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันนั้น ๆ จะทำให้สมองโล่ง คิดอะไรออกได้ง่าย และสามารถจัดการกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการจัดระเบียบความคิดเพื่อเริ่มต้นวันใหม่ที่ดี “ทุก ๆ เช้าคิดจะใช้เวลาครึ่งชั่วโมงในการฝึกลมหายใจ ตื่นขึ้นมาเปิดบ้านรับแสงและนั่งนิ่งๆ อยู่ในห้องนอน โดยไม่คิดอะไรเลยใน 10 นาทีแรก ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ถ้าสามารถนั่งสมาธิได้ก็จะดีเลย ให้เวลากับตัวเองหลังจากนั้นค่อยคิดว่าวันนี้จะเริ่มทำอะไรและต้องทำอะไร ตามลำดับ 1 2 3 ที่วางแผนไว้นั่นเองครับ”

ถือเป็นวิธีขจัดความเครียดได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใด ๆ แถมยังใช้เวลาไม่นาน และไม่ว่าทุกคนจะ Work from Anywhere ก็สามารถทำตามได้ง่าย ๆ เลย

ติดตามสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่นิตยสาร HELLO! ‘ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564′ วางแผงแล้ววันนี้ สั่งซื้อออนไลน์ที่ shop.burdathailand.com หรือ Line ID: @hellomagazineth

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.