เปิดเรื่องราว เจ้าของสโลแกนอร่อยไม่อั้น เที่ยงวันยันเช้า ‘นัทธมน พิศาลกิจวนิช’ ผู้ปลุกปั้นธุรกิจบุฟเฟต์ สุกี้ตี๋น้อย
เชื่อว่าชื่อร้าน ‘ สุกี้ตี๋น้อย ‘ คงต้องเคยผ่านหูใครหลายคนมาแล้ว และคงมีไม่น้อยคนเลยที่เคยลิ้มลองร้านบุฟเฟต์สุกี้ ที่เปิดตั้งแต่เที่ยงวันยันเช้า แต่ใครจะรู้ว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังธุรกิจมูลค่านับพันล้าน ที่มีสาขากว่า 40 สาขาทั่วกรุงเทพ คือ คุณเฟิร์น นัทธมน พิศาลกิจวนิช นักธุรกิจสาวที่พกความตั้งใจมาเกินร้อย ที่ใช้เวลากว่า 5 ปี ในการปั้นสุกี้ตี๋น้อย ให้เติบโตและครองใจลูกค้าเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และผลประกอบการแตะ 1,500 ล้านบาท แซงหน้าผลประกอบการทั้งปีของปีที่แล้วไปเรียบร้อย

ฝันจะเป็นเจ้าของธุรกิจ
ณเฟิร์นเล่าว่าเธอเกิดและเติบโตในครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ทำธุรกิจร้านอาหารมาโดยตลอด แม้จะแทบไม่เคยได้ลงไปคลุกคลีกับงานของที่บ้าน แต่สิ่งหนึ่งที่เธอได้เรียนรู้และถ่ายทอดคือความฝันที่จะมีกิจการเป็นของตนเอง “เฟิร์นไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่อายุ 14 และกลับมาอีกทีตอนเรียนจบปริญญาโท เรารู้ว่าที่บ้านทำธุรกิจร้านอาหาร แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้ให้เราไปช่วยอะไร เน้นให้ลูกๆเรียนหนังสือมากกว่า”
คุณเฟิร์นสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้าน Economics and Finance จาก University of Melbourne ประเทศออสเตรเลีย และปริญญาโท Marketing & Management ด้าน Luxury Brand จาก Emlyon Business School ประเทศฝรั่งเศส
หลังเรียนจบเธอเริ่มทำงานประจำในบริษัทนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมเจ้าใหญ่ ในฐานะ Merchandiser เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ประมาณ 3 ปีจนตัดสินใจลาออก เมื่อพบว่าไม่ใช่ก็ต้องมาหาสิ่งใหม่ ช่วงนั้นร้านสุกี้มีมากมาย ทั้งเจ้าเดิมที่อยู่ในตลาดมานาน รวมทั้งเจ้าใหม่ที่เข้ามาตีตลาด ซึ่งคุณเฟิร์นมองว่าธุรกิจนี้น่าสนใจ

“เริ่มแรกเฟิร์นมองว่าธุรกิจนี้ง่ายดี แค่เราทำน้ำจิ้มให้อร่อย น้ำซุปให้ดี เตรียมวัตถุดิบให้พร้อมก็ครบแล้ว ประกอบกับมีคุณพ่อที่ทำธุรกิจร้านอาหารมาตลอด เป็นที่ปรึกษาสำคัญ ท่านมักจะเล่าให้ฟังถึงปัญหาในอดีตที่ต้องเจอ ทั้งเรื่องที่ต้องพึ่งพาเชฟเป็นหลัก ปัญหาเรื่องการทุจริตต่างๆ การทำร้านสุกี้จึงเป็นตัวเลือกที่ดี แต่ในความง่ายนั้นเราต้องสร้างโปรดักท์ที่ดี และหาจุดแข็งอื่นๆเพิ่มเติมเข้ามา”
สุกี้ตี๋น้อย อิ่มได้ไม่จำกัดเวลาในราคา 199 บาท
เบื้องหลังชื่อของสุกี้ตี๋น้อย ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่เป็นคำที่คล้องจองกัน จำง่าย และเป็นชื่อเรียกที่เข้าปาก จึงตัดสินใจใช้ชื่อนี้ ซึ่งความตั้งใจของการทำร้านอาหารคือจับกลุ่มแมส ตั้งราคาบุฟเฟ่ท์สุกี้ไว้ที่ 199 บาท แต่เปลี่ยนวิธีคิดในการทำร้านใหม่หมด คุณเฟิร์นเล่าว่า
“ร้านสุกี้ หรือร้านปิ้งย่าง ที่คิดราคาบุฟเฟ่ท์ 199 บาท บางส่วนไม่อยู่ในห้องแอร์ บางร้านอาจตั้งอยู่ในตึกแถว ไม่มีที่จอดรถ ไม่ได้มีบริการเสิร์ฟ ให้ลูกตักอาหารเอง ไม่ได้มีการสร้างแบรนด์ เราค่อยๆเก็บรายละเอียดต่างๆมาคิดใหม่ แล้วทำร้านของเราให้ต่างจากทั่วไป หลังจากใช้เวลาวางแผนงาน ทดลองสูตรน้ำจิ้ม น้ำซุปอยู่ราว 3 เดือน สุกี้ตี๋น้อยก็ได้ฤกษ์เปิดสาขาแรกในพื้นที่ของบ้านบางเขน เราติดแอร์ ทำร้านให้ดูน่านั่ง ยังไม่ได้สร้างแบรนด์แบบปัจจุบัน แต่ค่อยๆเริ่มทำ เริ่มดูฟีดแบคลูกค้าว่าเป็นอย่างไร”

ความน่าสนใจของกลยุทธ์ทางการตลาดที่คุณเฟิร์นเลือกใช้ คือการสร้างความรับรู้ของลูกค้า ผ่านกิจกรรมและโปรโมชั่นต่างๆ ที่สำคัญคือแทบจะไม่ยิงแอดโฆษณาเลย
“ช่วง 3 เดือนแรกที่เปิดร้านก็จำเป็นต้องมีการซื้อโฆษณาบ้าง แต่ 3-4 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ทำการตลาดในรูปแบบนั้นเลย เฟิร์นไม่จ้างรีวิว เพราะถ้าลูกค้ามาแล้วเขารู้สึกแฮปปี้ เขาจะบอกต่อกันเอง ส่วนโปรโมชั่นที่ทำเราจะเล่นตอนเปิดสาขาใหม่ เช่นลดราคา 50% ช่วง 2 วันแรกที่เปิดร้าน ก่อนหน้านั้นประมาณ 3-4 วัน เราจะแจ้งในเฟสบุ๊คว่าจะเปิดที่ไหน วันไหน คนจะแชร์กันเยอะมากนับแสนคน แล้วก็จะคอมเมนต์ชวนเพื่อนไปกัน พอถึงวันเปิดเขาจะไปจริงหรือไม่เราไม่รู้ แต่เราได้สร้างการรับรู้ให้ลูกค้าแล้วว่าจะมีสาขาใหม่ เรียกว่าได้สื่อสารกับลูกค้าจริง”
“สิ่งที่ถือเป็นจุดเด่นของสุกี้ตี๋น้อยคือความคุ้มค่าที่ลูกค้ารู้สึกได้ ทั้งด้วยราคา ด้วยคุณภาพของอาหาร ด้วยการบริการและด้วยบรรยากาศในร้าน เฟิร์นเคยเดินๆอยู่แล้วได้ยินคนคุยกันว่า จะไปสุกี้ตี๋น้อยวันนี้ แต่ร้านต้องเต็มแน่เลย หรือบางทีจะเห็นโพสต์ประมาณว่า วันนี้จะมาถล่มตี๋น้อย วันนี้ตี๋น้อยจะต้องขาดทุน เวลาได้ยินแบบนี้เราจะดีใจ เพราะนั่นแสดงว่าลูกค้ารู้สึกว่าสิ่งที่เขาจ่ายไปมันน้อยมากกว่าสิ่งที่เขาได้รับ”
ปัจจุบันด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป สุกี้ตี๋น้อยจำเป็นต้องปรับราคาจาก 199 บาท เป็น 219 บาท แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมลดน้อยลง ปีที่แล้วผลประกอบการทั้งปี อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 140 ล้านบาท แต่ในปีนี้ เพียงแค่เดือนมิถุนายน ยอดขายก็พุ่งสู่ 1,500 ล้านไปเรียบร้อย นับเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นใจ
นิยามความเป็นตัวตนของคุณ
เป้าหมายใหญ่ถัดไปคือการวางแผนธุรกิจเตรียมพาสุกี้ตี๋น้อยเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ต้องวางระบบการทำงานให้มีมาตรฐานมากขึ้น คงต้องรอดูว่า เธอจะพาสุกี้ตี๋น้อยก้าวไปสู่ความสำเร็จอีกขั้นในอนาคตอันใกล้นี้ได้เร็วเพียงใด แต่เชื่อได้ว่าไม่นานเกินรอแน่นอน

“เฟิร์นคิดว่าตัวเองเป็นคนที่กล้าชนกับปัญหา ถ้ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเฟิร์นอยากฟังข้อเท็จจริงเลย เพื่อรู้ว่าปัญหาคืออะไรและต้องแก้ไข ในเรื่องงานเฟิร์นเป็นคนค่อนข้างละเอียด ถ้าไปถามพนักงานเขาจะบอกว่าถ้าเป็นเรื่องเอกสาร เฟิร์นตรวจละเอียดยิบ ไม่ปล่อย เฟิร์นเป็นคนที่เจาะลึกในการทำงาน ไม่ยอมผิวเผิน ถ้าไม่เข้าใจก็จะไม่ทำ จะทำก็ต่อเมื่อเข้าใจแล้ว และขอให้อธิบายจนกว่าเฟิร์นเข้าใจว่าทำอะไร”