Home > Celebrity > Exclusive Interviews > หนุ่มไฟแรงผู้ปั้น Eatigo แอพฯจองร้านอาหารอันดับ 1 ของเอเชีย ‘ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล’

เชื่อว่าหลายๆท่านคงจะเคยใช้บริการจองร้านอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น Eatigo กันมาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะนาทีนี้บอกได้เลยว่าเป็นแอพพลิเคชั่นฮอตที่ทั้งเหล่าหนุ่มสาววัยทำงานและวัยทีนในกว่า 6 ประเทศทั่วเอเชียต่างก็พากันใช้บริการกันอย่างแพร่หลาย HELLO! จึงพาคุณมาเจาะลึกแนวคิดของหนุ่มไฟแรงคนนี้ที่รับรองว่าจะเติมไฟให้หลายคนที่กำลังจะทำธุรกิจสตาร์ทอัพแน่นอน ! 

คุณหลุยส์-ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล

คุณหลุยส์-ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล เติบโตมาในครอบครัวที่ทุกคนเป็นผู้นำ พี่สาวของเขา คุณมีมี่ (มิลิน ยุวจรัสกุล) คือดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ ‘Milin’ อันโด่งดัง คุณพ่อ (พรเทพ ยุวจรัสกุล) นั้นเป็นเจ้าของธุรกิจสิ่งทอที่ขยันริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ตามความสนใจ เช่นเดียวกับคุณแม่ (มยุรา ยุวจรัสกุล) ซึ่งก็ทำธุรกิจโรงแรมอยู่ในจังหวัดกระบี่ ส่วนคุณหลุยส์เอง ปัจจุบันนี้เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Eatigo แอพพลิเคชั่นที่ให้บริการจองร้านอาหารพร้อมรับส่วนลด ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดใน 6 ประเทศในเอเชีย

“เมื่อก่อนคนก็เรียกผมว่า ‘หลุยส์น้องมิลิน’ ถึงวันหนึ่งเราก็อยากทำอะไรที่เป็นที่จดจำได้บ้าง บ้านเราเป็น Entrepreneur กันทั้งบ้าน มีแต่ผู้นำ ทุกคนอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเบอร์หนึ่งสามารถตัดสินใจได้ทุกอย่าง แต่แค่กินข้าวก็ยังตกลงกันยากเพราะทุกคนเคยชินกับการเป็นคนตัดสินใจเอง บ้านนี้เป็นบ้านที่แต่ละคนไม่ค่อยเก่งเรื่องเป็นผู้ตาม (หัวเราะ)”

ความเป็นผู้นำของครอบครัวนี้ มีส่วนสำคัญที่ได้รับมาจากคุณแม่ ผู้หญิงเก่งและแกร่งที่มองการณ์ไกลตั้งแต่เขายังอยู่ในวัยเรียน

“ตอนเด็กๆ ผมเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เพราะเมื่อก่อนบ้านอยู่ฝั่ั่งธน จนถึงม.1 ก็มีลูกพี่ลูกน้องของผมเรียนจบโทจากอเมริกา เขาบอกแม่ว่าเดี๋ยวนี้เรียนโทมาอย่างเดียวไม่พอ และถ้าจะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศก็ยิ่งเร็วยิ่งดี แม่เลยตัดสินใจว่าจะส่งผมหรือไม่ก็ส่งพี่สาวคือพี่มี่ไป แต่ตอนนั้นพี่มี่ไม่พร้อม ก็เลยมาตกที่ผม อายุสิบเอ็ดเองครับ กำลังเรียนอยู่ม.1

“ไปเรียนที่อังกฤษ ก็ไปอยู่ boarding school ชื่อโรงเรียน Cottesmore สมัยนั้นภาษาอื่นเราไม่ได้เลย แต่เลขกับวิทย์จะได้เปรียบ ตอนอยู่อัสสัมชัญผมก็ไม่ได้เรียนเก่งนะ แต่เลขกับวิทย์เป็นเพียงไม่กี่วิชาที่เราทำได้ แล้วเลขที่สอนในระดับมัธยมของเด็กไทยค่อนข้างไปไกลกว่าที่อังกฤษ ก็เลยเป็นวิชาชูโรงเราเรื่อยมา เกาะเลขเกาะฟิสิกส์พวกนี้ไว้ จากนั้นก็ไปเรียนต่อวิศวกรรมไฟฟ้าที่ยูซีแอล (University College London) เรียนสามปีครึ่งจบโท คือที่ไม่มีตรีเพราะว่าถ้าเรียนได้เกรดดี ก็สามารถจบโทได้เลย”

คุณหลุยส์-ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล
คุณหลุยส์-ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล ที่ออฟฟิศย่านเอกมัย

 

นั่งแท่นผู้บริหารครั้งแรก! 

สิบปีที่เรียนอยู่ต่างประเทศ คุณหลุยส์ยังไม่มีความคิดเรื่องการทำธุรกิจ กระทั่งเรียนจบกลับมาเมืองไทย ประจวบกับคุณพ่อของเขากำลังสนใจทำธุรกิจน้ำดื่ม จึงเปิดโอกาสให้เขามาดูแล ซึ่งนั่นเทียบได้ว่าเป็นโรงเรียนที่สอนวิชาบริหารและการจัดการธุรกิจหลักสูตรแรกของเขา ด้วยการลงมือเพื่อเรียนรู้จากของจริง

“ผมเริ่มทำธุรกิจน้ำดื่มตอนอายุ 21-22 เพิ่งจบมาใหม่ๆ สิ่งที่เรียนรู้ในช่วงนั้นคือวิธีการบริหารบริษัท เราอายุเท่านั้นจะไปสั่งงานคนที่โตกว่าก็ไม่ง่าย ต้องมีวิธีเพื่อขอให้พวกเขาทำงานให้เรา แต่ก็เป็นงานที่ท้าทายดีครับ สิ่งที่แปลกมากที่สุดคือเรียนวิศวะมาแต่อยู่ๆ เรามารู้ตัวว่าเราทำมาร์เก็ตติ้งได้ดี เราพอที่จะเข้าใจในหลักการและตรรกะต่างๆ โดยใช้การวิเคราะห์ด้วยเหตุและผลในการตัดสินใจ เราพยายามคิดว่าต้องทำยังไงให้คนเห็นแบรนด์นี้แล้วมีความรู้สึกแบบนี้ ช่วยคิดแทนเขาว่าทำไมเขาควรจะมาซื้อของเรา”

งานแรกที่เขารับเป็นผู้บริหารไปได้ด้วยดี แพ็กเกจที่เขาให้ความใส่ใจได้รับรางวัลการออกแบบดีเด่น Design Excellent Award หรือ ‘DeMark’ และรางวัล Good Design Award หรือ ‘G-Mark’ ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างที่ธุรกิจน้ำดื่มยังดำเนินไปเรื่อยๆ เขาเริ่มมองหาความท้าทายด้านอื่น ด้วยการเปิดบริษัทเล็กๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

“ประมาณปี 2012-2013 แอพพลิเคชั่นมือถือเริ่มมา เราก็เริ่มมีความคิดว่าความรู้ความสามารถที่เรามีมันได้เปรียบคนอื่นนะเนื่องจากได้เรียนมาทางนี้ด้วย เพราะตอนนั้นเรามีความรู้เรื่องบริหารแล้ว และช่วงนั้นเวลาว่างเราได้เปิดบริษัททำเว็บไซต์ เขียนโปรแกรม แล้วลงเรียนคอร์สอื่นๆ เพิ่มเติมอยู่แล้วด้วย บังเอิญพอดีว่าในช่วงนั้นมีคนมาคุยกับผมว่าอยากทำธุรกิจร้านอาหาร ผมเลยเกิดไอเดียว่า ทำไมเราไม่ทำเป็นคล้ายๆ Agoda สำหรับร้านอาหารล่ะ เราพอมีความรู้เรื่องโรงแรมของที่บ้านอยู่แล้ว ลองเสิร์ชดูก็ยังไม่มีใครทำมาก่อน การจองมีการโทรจองหรือจองผ่านแอพฯเหมือนกัน แต่ไม่มีการจองที่ได้ส่วนลดนะ เราเลยอยากให้คนจองร้านอาหารแล้วได้เบสต์ดีลด้วย

คุณหลุยส์กับหุ้นส่วน คุณไมเคิล คุณสิทธันตา คุณจูดี้
คุณหลุยส์กับหุ้นส่วน คุณไมเคิล คุณสิทธันตา คุณจูดี้

“พอมาคิดตรงนี้ ก็เห็นว่าไอเดียนี้มันมีศักยภาพที่ดี งานนี้มันมีโอกาสที่จะไปถึงต้องระดับเอเชียได้ ผมเลยทำพรีเซนเทชั่นไปคุยกับคนอื่นว่ามีใครจะอยากทำโปรเจ็กต์นี้บ้างมั้ย ก็มีคุณไมเคิล คลูเซลซึ่งเป็นซีอีโอของเทเลคอมที่อยู่แถบแคริบเบียนมาก่อน รายได้เขาเดือนหนึ่งเป็นหลักล้านบาท รายได้บริษัทเขาสองหมื่นกว่าล้านบาท เขาฟังไอเดียเราแล้วก็สนใจ เพราะกำลังอยากมาหางานที่จะทำในภูมิภาคนี้อยู่พอดี”

ที่คุณหลุยส์เล่ามาทั้งหมดนั้น คือจุดเริ่มต้นของ Eatigo ที่ประกอบด้วยผู้ก่อตั้งร่วมกันสี่คนคือไมเคิล ,สิทธันตา, จูดี้ และตัวเขาซึ่งเป็นไอเดียตั้งต้นของธุรกิจสตาร์ตอัพนี้ นำพาธุรกิจผ่านจุดคุ้มทุนในประเทศที่เปิดดำเนินการ และขึ้นเป็นผู้นำด้านบริการจองร้านอาหารผ่านแอพพลิเคชั่นด้วยดีลที่คุ้มค่า ตามที่ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่วันแรกว่าจะต้องเป็นเบอร์หนึ่งของเอเชีย

“ระยะแรกเราทำรูปแบบเว็บและแอพพลิเคชั่นพร้อมกัน ตัวธุรกิจเติบโตด้วยดีนะครับ แต่มีค่าใช้จ่ายเยอะมากเกินกว่าที่เราคิดไว้เท่านั้นเอง แล้วก็ใช้เวลามากกว่าที่เราคิดไว้มาก ข้อดีของเราคือการมีเป้าใหญ่ที่จะ เป็นเบอร์หนึ่งของเอเชียอยู่แล้ว เกิดอะไรขึ้นเราก็ต้องสู้ 26 เดือนแรกที่ทำไป ทีมผู้บริหารก็ไม่ได้รับเงินเดือนกันเลย”

 

สตาร์ทอัพเบอร์หนึ่งแห่งเอเชียอาคเนย์

ตลอด 5 ปีของ Eatigo มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยในช่วงต้นที่เติบโตปีละ 7 เท่า ก่อนจะเป็นปีละ 4 เท่า ซึ่งเป็นลักษณะของธุรกิจสตาร์ตอัพที่นักลงทุนหวังกำไรจากมูลค่ากิจการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“พอเปิดที่ไทยกับสิงคโปร์ เราเริ่มได้ยึดตำแหน่งผู้นำในตลาด TripAdvisor ก็ได้เลือกที่จะลงทุนในบริษัทเราที่ จะเป็นหัวหอกในการทำตลาด Dining ของทวีปใน Asia ตอนนี้เรามีแอพอยู่ใน 6 ประเทศ  คือไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ฮ่องกง ถ้าไม่นับอินเดียตอนนี้เราเป็นเบอร์หนึ่งของทุกประเทศ ตลาดไหนที่เราเข้าไปเราจะมีเป้าในการยึดการเป็นผู้นำตลาดนั้นภายในหกเดือน

คุณหลุยส์และหุ้นส่วนขึ้นรับรางวัล Best Ecommerce แห่งอาเซียน
คุณหลุยส์และทีมขึ้นรับรางวัล Best Ecommerce แห่งอาเซียน

“ที่เราทำแบบนี้ได้เป็นเพราะเรามีจุดขายที่แตกต่างจากคนอื่น บริษัทคู่แข่งเรายังไม่สามารถจองโต๊ะโดยมีส่วนลดได้ แต่เรามีนำหลักการบริหารรายได้ (yield management) มาใช้กับร้านอาหารเรามองว่าร้านอาหารเปิด 11 โมงจนถึงเที่ยงไม่มีลูกค้าสักคน แต่ถ้าเราบอกว่า 11 โมงถึงเที่ยงเราหาลูกค้าให้เขาได้ คุณสนใจหรือเปล่า คอนเซ็ปต์มาแบบนี้ ดังนั้นจะ 30-40 เปอร์เซ็นต์ก็ลดมาเถอะ กำไรน้อยก็จริงแต่ก็ยังดีกว่าศูนย์บาท ส่วนเราก็ได้ค่าคอมมิสชั่นต่อหัวประมาณ 8-13 เปอร์เซ็นต์ แล้วพอทำอย่างนี้มันวินทุกฝ่าย ร้านอาหารได้ลูกค้าเพิ่ม เราได้คอมมิสชั่น ลูกค้าได้ส่วนลด พอ Business Model ถูกต้อง การเติบโตของบริษัทก็เลยเร็ว”

แต่กว่าจะผ่านจุดที่ทำให้โล่งใจมาได้ ก็ผ่านความยากมาร้อยแปดพันเก้า

“อย่าลืมนะครับว่าบริษัทธรรมดานี่โตประมาณปีละ 30-50 เปอร์เซ็นต์ก็ดีแล้ว ลองถ้ายอดขายโตปีละ 300-400 เปอร์เซ็นต์ มันมีความกดดันสูงอยู่แล้ว มันเครียดซะจนชิน (หัวเราะ) สิ่งที่ยากคือคุณมีร้อยอย่างที่ต้องทำ แต่คุณจะรู้ได้ยังไงว่าตอนนี้ต้องทำอะไรก่อน เพราะทุกอย่างสำคัญหมด โปรดักต์ก็ต้องออก ลูกค้าก็สำคัญ เด็กในทีมก็ต้องฉลาด แต่คุณมีเงินแค่นี้แล้วจะทำยังไง

คุณหลุยส์และทีมขึ้นเวทีทอล์กในงาน CAT Network Showcase
คุณหลุยส์และทีมขึ้นเวทีทอล์กในงาน CAT Network Showcase

“ทีมงานก็นานาชาติด้วย เราดูแลพนักงานยังไง เราต้องไม่ดูคนไทยอย่างเดียว การที่มีพนักงานนานาชาติมันสามารถทำให้เราได้ของดีในราคาคู่ควร และเด็กที่เข้ามาก็จะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วย เพราะบริษัทเราไม่ได้สื่อสารภาษาไทยเลย ประชุมก็เป็นภาษาอังกฤษ

“เราทำแอพพลิเคชั่นทุกภาษา เราต้องมีทุกภาษาเพราะว่าเราอยากให้มีฐานลูกค้าใหญ่ที่สุด ตั้งแต่บริษัทเปิดขึ้นมาจนถึงวันนี้เราได้รับเงินทุนสนับสนุนมาประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 830 ล้านบาท ตอนนี้เราไป 6 ประเทศเอง เรายังไม่ได้ไปยุโรปไปอเมริกาเลย แล้วเราต้องรู้ว่าเราสามารถทำอะไรได้มากกว่าแอพจองร้านอาหารอีกหรือเปล่า ซึ่งผมว่ายังมีอะไรเหลืออยู่อีกมาก ตอนนี้เราถือว่าเป็นแค่จุดเริ่มต้นเสียด้วยซ้ำ”

 

Meaning of Life

แม้งานจะเป็นส่วนหลักของชีวิตที่ต้องคอยทุ่มเทเวลาให้ แต่ในมุมหนึ่งของความคิด คุณหลุยส์เริ่มจะมองหาความหมายอีกด้านหนึ่งให้ตัวเองด้วยเช่นกัน

คุณหลุยส์นั่งสบายๆ บนโซฟาที่คอนโด
คุณหลุยส์นั่งสบายๆ บนโซฟาที่คอนโด

“เราไม่ได้เกิดมาในบ้านที่สอนว่าเงินเป็นเป้าหมายของชีวิต ผมคิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการงาน ก็ไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต  แต่ตอนนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าเส้นทางนั้นมันมีหน้าตาเป็นอย่างไร

“ทุกวันนี้ผมอิจฉาคนที่มีครอบครัว ผมอิจฉาพี่สาวผมบ้างตรงที่เขามีครอบครัว มีลูกน่ารักสองคน ดูมีความสุข เป็นชีวิตที่ดี เวลาเล่นกับหลานเรามีความสุข เวลาเห็นคนแก่ที่แต่งงานกันมา 40-50 ปีแล้วไปไหนมาไหนเขายังเดินจูงมือกัน เราอยากใช้ชีวิตแบบนั้นบ้าง  ถ้าจะให้เลือกระหว่างมีชีวิตแบบนั้นกับมีเงินเยอะกว่านี้ 10 เท่า ผมคงต้องถามตัวเองว่าเราวางความสุขไว้ที่ตรงไหน”

ในฐานะผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ตอัพจนประสบความสำเร็จ เมื่อขอให้คุณหลุยส์ให้ข้อแนะนำสักหน่อยต่อผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจอย่างเช่นที่เขาเคยผ่านพบประสบการณ์มา คุณหลุยส์แนะว่า

“อย่าไปกลัวที่จะทำธุรกิจแล้วล้มเหลว จงกลัวที่เราจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมัน”

 

ติดตามเรื่องราวของเส้นทางสู่ความสำเร็จที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ของ The Achievers ทั้ง 10 ท่าน ได้ใน  THE YOUNG ACHIEVERS  

 

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.