ถ้าพูดถึงการเป็นเจ้าของรถสักคัน คงเป็นง่ายๆที่ใครก็สามารถเป็นเจ้าของได้ แต่หากพูดว่า ‘เรือยอช์ต’ บอกเลยว่าไม่ง่ายที่ใครจะเป็นเจ้าของ วันนี้ HELLO! จะพามารู้จักกับผู้ชายอบอุ่นที่ขอเรียก “ท้องทะเลสีครามแห่งทะเลอันดามัน” ว่าห้องทำงานส่วนตัว และเรียก “จังหวัดภูเก็ต” ว่าบ้าน ผู้ชายคนนี้คือ ‘คุณวริศ ยงสกุล’ ทายาทรุ่นที่ 2 แห่งภูเก็ต โบ๊ท ลากูน กลุ่มธุรกิจใหญ่ ซึ่งพลิกฟื้นเหมืองแร่ดีบุกริมทะเลใต้ให้เป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกในประเทศไทย กระทั่งมีชื่อเสียงขจรขจายไปไกลในฐานะท่าเทียบเรือระดับโลก ในวันนี้บุตรชายคนที่ 2 ของตระกูลไม่เพียงก้าวเข้ามาสานต่อ แต่ขยายอาณาจักรกว่าพันไร่จากรุ่นบิดาให้เป็นธุรกิจเรือครบวงจรติดอันดับโลก
“เราไม่ได้เป็นแค่ท่าจอดเรือ แต่เราคือ Lifestyle Destination ของคนที่รักการล่องเรือ”
ที่ไหนมีทะเลที่นั่นคุณอาจได้พบชายหนุ่มวัยปลาย 30 ที่บังเอิญว่าทั้งในชุดลำลองหรือแม้อยู่ในชุดสูทเป็นทางการจะต้องมีสีเนวีบลูเข้ามาแซมอยู่เสมอ อาจติดมาจากวิถีชีวิตที่ผูกพันกับท้องทะเลมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย “หลังจากคุณพ่อ (คุณคณิต ยงสกุล) เรียนจบมาจากอังกฤษใหม่ๆ เป็นช่วงที่คุณปู่เริ่มไม่ค่อยสบาย คุณพ่อจึงตัดสินใจกลับมาช่วยธุรกิจของครอบครัวทางภาคใต้ทำเหมืองแร่ดีบุกและอสังหาริมทรัพย์ ผมเลยต้องย้ายตามคุณพ่อมาเรียนที่ภูเก็ตจนจบชั้นประถมครับ”
ความเปลี่ยนแปลงในวัยเด็ก สู่เจ้าของธุรกิจที่แข็งแกร่ง
ในเวลานั้นเด็กชายวริศอำลาทะเลอันดามันแล้วลัดฟ้าไปศึกษาต่อที่อังกฤษตั้งแต่อายุน้อยนักแค่ 10 ขวบนิดๆ “ผมคิดว่าการที่เราต้องไปอยู่ที่แปลกใหม่ตั้งแต่เด็กโดยที่ตัวเรายังพูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก ประกอบกับไม่มีคนคอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ เป็นการสอนให้เราเป็นคนไม่ยอมแพ้และมองหาทางออกอยู่เสมอ” เขามองย้อนกลับไปเห็นข้อดีของชีวิตที่ต้องฝ่าฟันความเหงาเคล้าความหนาวเพียงลำพังในวัยเพียงเท่านั้น เมื่อเริ่มปรับตัวได้ ความรู้สึกของผมเปลี่ยนจากความกลัวเป็นความสนุกที่ไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง เลยกลายเป็นคนไม่กลัวที่จะลงมือทำในสิ่งที่อยากทำ บางครั้งผิดแต่ก็มีโอกาสทำใหม่ได้ การไปเรียนต่างประเทศยังทำให้ผมชอบเล่นกีฬาเพราะบรรจุอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียน ผมคิดว่ากีฬาทำให้เราสร้างมิตรภาพกันได้ง่ายขึ้นและสอนให้เรามีความพยายาม ทุกเช้า ต้องวิ่งก่อนจะได้รับประทานมื้อเช้า ต่อให้อากาศหนาวแค่ไหนก็ต้องวิ่งให้จบ บางครั้งเราวิ่งอยู่ท้ายแถว แต่อย่างน้อยเราได้สุขภาพที่ดีและทำให้เรามุ่งมั่นทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ท้อถอยง่ายๆ ครับ”
จนได้เป็นนักเรียนจากเมืองไทยได้เป็นถึงกัปตันทีมเทนนิสของโรงเรียน ซึ่งหนึ่งในสมาชิกของทีมยังเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขา ซึ่งในเวลานี้ทั่วโลกรู้จักในพระนามแคเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์
“จากการเติบโตมากับธุรกิจของครอบครัวทำให้ผมเห็น ‘การสร้างใหม่’ ของสิ่งต่างๆ นอกจากนี้หลักสูตรวิศวกรรมของที่นี่ถือเป็นท็อป 3 ของอังกฤษและเป็นมหาวิทยาลัยที่คุณพ่อเรียนจบมา ผมชอบมากเวลามี field trip ที่ได้ไปเดินดูถ้ำ สะพาน และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ผมชอบที่ได้เห็นสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ได้รับรู้ที่มาที่ไปและสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างมันขึ้นมาได้ โชคดีที่โปรเฟสเซอร์มีความรู้ด้านวิศวกรรม ศาสตร์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก บางท่านอยู่ในโปรเจกต์บูรณะหอเอนปิซา หรือบางท่านเป็นผู้สร้างสะพานแขวนที่ไม่มีสลิง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ผมทั้งอยากและไม่อยากจะมุ่งมาในสายวิชาชีพนี้ เพราะผมทึ่งและประทับใจฝีมือของเขา แต่ที่สุดแล้วการทำสิ่งซ้ำๆ เดิมๆ อาจไม่ใช่ตัวตนของเรา ผมชอบเจออะไรใหม่ๆ ที่มีการพัฒนาขึ้นได้เรื่อยๆ ชอบพบปะผู้คน ชอบสีสันของชีวิต ซึ่งผู้คนที่ผมพบเจอในแวดวงของคนที่เล่นเรือจะมีเรื่องเล่าสนุกๆ จากการเดินทางมาเล่าสู่กันฟัง บางท่านเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเรือกับเรา 15 ลำภายในระยะเวลา 6 – 7 ปี ซึ่งได้ให้บทเรียนกับผมว่าธุรกิจไม่ใช่การทำโปรดักส์ แต่มันคือไลฟ์สไตล์ มันคือ quality of life ซึ่งการได้ใช้ชีวิตให้เต็มที่เป็นเรื่องสำคัญ”
จุดเริ่มต้นของ ‘มารีน่า ยอช์ตคลับ’
การทำเนื้อที่เกือบพันไร่ให้กลายเป็นท่าเทียบเรือ ‘มารีน่า ยอช์ตคลับ’ ในคอนเซปต์ Lifestyle Destination หากการบุกเบิกทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนนั้นเป็นทั้งความยากลำบากและความท้าทายแล้วแต่จะเลือกมองในมุมใดคุณวริศเล่าสถานการณ์เมื่อแรกก่อตั้งมารีน่าแห่งแรกในประเทศไทยเอาไว้ว่า “การสร้างมารีน่าในประเทศไทยหรือในเอเชียไม่ได้มีกฎเกณฑ์หรือแนวทางให้ยึดตามตั้งแต่การเขียนแบบไปจนถึงการขออนุญาตส่วนใหญ่คุณพ่อจึงใช้คอมมอนเซนส์ในฐานะที่เป็นคนเล่นเรือว่าควรจะต้องมีอะไรต้องใช้พื้นที่เท่าไหร่ระดับน้ำลึกเป็นอย่างไรทิศทางลมมาแบบไหนซึ่งความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์พอจะช่วยได้บ้างคุณพ่อค่อยๆทำไปทีละนิดไปเรื่อยๆและมีความไม่ยอมแพ้อยู่ในสิ่งที่ชอบทำอยู่แล้วแต่ก็มีแรงต้านจากคนที่มองว่าการสร้างมารีน่าในเมืองไทยเป็นไอเดียที่ไม่น่าจะเวิร์กมองว่าทำไมเราคิดแปลกๆคิดผิดกระทั่งว่าเราเสียสติก็มีเราควรจะเอาที่ดินไปทำอย่างอื่นในการก่อสร้างมีปัญหาเรื่องดินถล่มบ้างเพราะบริเวณนั้นเป็นเลนบางครั้งเรือเข้ามาขุดแล้วติดแต่เราไม่ได้ตกใจเพราะเรื่องน้ำขึ้นลงเป็นเรื่องปกติแก้ปัญหาด้วยการขุดให้ช่องทางเดินเรือลึกขึ้นหรือบางทีเรือใหญ่มากจนยกขึ้นไม่ได้เราแก้ด้วยการสร้างเครื่องยกเรือของเราเองซึ่งดัดแปลงจากเครนและอุปกรณ์ต่างๆที่มีอยู่เรียกว่า ‘ทาวเวอร์ลิฟต์’ ซึ่งเรามีเป็นแห่งแรกๆของเมืองไทย”
ท่ามกลางสายตาสงสัยและเฝ้ารอของสาธารณชน มารีน่า ยอช์ต คลับได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดทั้งสำหรับธุรกิจและชื่อเสียงขอประเทศไทยเลยก็ว่าได้ “ลูกค้ากลุ่มแรกที่มาใช้บริการมารีน่าของเราคือกลุ่มคนเล่นเรือใบที่ใหญ่ที่สุดในโลกชื่อ ซันเซล (Sun Sail) เพราะเรามีโอกาสได้รู้จักกับเจ้าของซึ่งชื่นชอบภูเก็ตเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เลยชักชวนให้เขาเดินทางมาที่ภูเก็ต ทำให้เรือของซันเซลย้ายมาจอดที่ท่าเรือของเรา 12 – 14 ลำ มารีน่าของเราและภูเก็ตจึงกลายเป็นจุดท่องเที่ยวหนึ่งของโลกไปโดยปริยายครับ”
ธุรกิจที่มีเรื่องความปลอดภัยเป็นตัวประกัน!!!
นอกจากไลฟ์สไตล์หรูหราของคนรักเรือแล้ว เบื้องหลังธุรกิจแห่งความสำราญนี้คือการทำงานหนักเพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้กับลูกค้า “ตอนเริ่มธุรกิจใหม่ๆ เราวิตกกังวลค่อนข้างเยอะ เพราะเรือเป็นธุรกิจที่มีความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้องสูงและความคาดหวังจากลูกค้าที่สูงมาก แต่เราต้องคิดว่าความผิดพลาดหรืออุบัติเหตุคือบทเรียน Hope for the best and prepare for the worst. อะไรๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ เราจึงต้องระมัดระวังให้ดี เลยฝึกสอนทีมงานเป็นอย่างดี เชิญทีมวิทยากรจากต่างประเทศมาเทรนให้กับคนของเรา และตรวจดูอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำๆ ทรัพยากรเรื่องคนยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในธุรกิจนี้ เราต้องการคนที่มีความรู้และมีทัศนคติที่ดีควบคู่กัน ถ้าใครมีสองสิ่งนี้จะพัฒนาไปได้ไกล วัฒนธรรมองค์กรของเราเปิดกว้างให้คนทำงานเรียนรู้พัฒนาได้อย่างไม่สิ้นสุดทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ทุกคนสามารถคุยกันได้ไม่ว่าจะตำแหน่งไหน ผมว่ามีข้อดีตรงที่เราคุ้นเคยกับระบบของชาวต่างชาติแต่ผสมผสานความเป็นคนไทยของเราเข้าไปด้วย ชาวต่างชาติคิดนอกกรอบได้ดี ซึ่งมีประโยชน์มากในด้านการตลาด ขณะที่คนไทยโดยเฉพาะในฝ่ายคัสตอมเมอร์เซอร์วิสจะดูแลลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่ได้ดี เพราะมีความอ่อนน้อมและมีวิธีการพูดให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่ายครับ”
คงจะจริงอย่างประโยคที่ผ่านหูผ่านตาบ่อยครั้งว่าเมื่อทำงานที่รักก็เหมือนกับไม่ได้ทำงาน ชายหนุ่มที่หายใจเข้าออกเป็นน้ำ ฟ้า และเรือผู้นี้ก็เช่นกัน เขาสนุกกับวิถีชีวิตที่ได้สัมผัสประดิษฐกรรมล้ำทางเทคโนโลยีและศิลปะแห่งการดีไซน์เรือ ไม่เคยเบื่อที่จะได้พบเจอผู้คนใหม่ๆ ซึ่งล้วนถ่ายทอดพลังงานดีๆ ให้แก่กัน และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ก้าวลงไปในเรือ แม้จะเป็นทริปที่มีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้อง “ผมเจอลูกค้าชาวต่างชาติหลายๆ ท่านที่เดินทางไปทั่วโลกด้วยเรือ ชีวิตของเขาอยู่ในนั้น สำหรับคนที่รักเรือแล้ว เรือจึงเปรียบเสมือนเป็นบ้านหลังหนึ่งนั่นเองครับ”
………………………………..
ติดตามเรื่องราวของเส้นทางสู่ความสำเร็จที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ของ The Achievers ทั้ง 10 ท่าน ได้ใน THE YOUNG ACHIEVERS
หรือ ติดตามเรื่องราวได้ในนิตยสาร HELLO! ปีที่ 13 ฉบับที่ 19 ประจำวันที่ 13 กันยายน 2561
หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่ www.ookbee.com , www.shop.burdathailand.com