‘หลอดไฟ-นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์’ คนไทยคนเดียวที่ได้รับทุนไปเต้นบนเวทีใหญ่ที่สุดในประโลก
การเต้นอาจะไม่ใช่เรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากนักในประเทศไทย…แต่หากนึกถึงสถาบันสอนเต้นเชื่อเลยว่า ‘สถาบันบางกอกแดนซ์’ จะต้องเป็นรายชื่อลำดับต้นๆที่ถูกกล่าวถึง ดังนั้นวันนี้ HELLO! เลยจะพามารู้จักกับ ‘คุณหลอดไฟ-นวินดา วรรธนะโกวินท์ ปัจฉิมสวัสดิ์’ ลูกสาวของ ‘คุณแม่ต้อย-วัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์’ กับสิ่งที่มากกว่าความสามารถที่ถ่ายทอดทางสายเลือด
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นตั้งแต่อายุ 5 ขวบ จนผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ Soloist รุ่น 1 ที่ทางสถาบันบางกอกแดนซ์จัดขึ้นและคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพด้านการเต้นเข้าร่วมโครงการด้วยหลักสูตรการเรียนที่เข้มข้น เรียนเต้นสัปดาห์ละ 15 ชม. ทำให้การพัฒนาทักษะเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนเป็นคนไทยคนแรกที่คว้ารางวัล Aggregate Cup (คะแนนรวมบุคคลสูงสุด) จากการแข่งขัน Asia Pacific Dance Competition ครั้งที่ 11 และเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้รับทุน Dance Web เพื่อเข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะการเต้นที่ใหญ่ที่สุดในประโลก “Vienna International Dance Festival”
ปัจจุบันสาวสวยหน้าคม ‘คุณหลอดไฟ’ เป็นอาจารย์สอน Creative Movement และ Contemporary Dance (คอนเทมโพรารี แดนซ์) ก็คือสไตล์การเต้นร่วมสมัยที่รวมเทคนิคของโมเดิร์นแดนซ์กับบัลเล่ต์คลาสสิคเข้าด้วยกัน เน้นการแสดงออกของความรู้สึกภายในของผู้แสดง ใช้การหดและคลายของกล้ามเนื้อแกนกลางของร่างกายเป็นหลัก ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบท่าเต้นและการแสดงแบบใหม่ๆ สร้างการเคลื่อนไหวแบบ Abstract ซึ่งไม่จำเป็นต้องสร้างเป็นเรื่องราวก็ได้
บาดแผลของ ‘นักเต้น’
“หลอดไฟเคยข้อเท้าพลิกตอนอายุ 17 ยังเป็นจนถึงทุกวันนี้ คือมันไม่ใช่ 2 วันหาย คือกว่าร่างกายเราจะเจ็บจริงๆ นักเต้นเวลามันเจ็บอะค่ะมันจะแบบเมื่อไหร่จะกลับไปเต้นได้อะไรอย่างนี้แล้วหลอดไฟตอนที่เจ็บหลอดไฟไม่เคยถามเลยว่าเมื่อไหร่หลอดไฟจะหาย หลอดไฟจะถามว่าเมื่อไหร่มันจะกลับไปเต้นได้ คือเราต้องเรียนรู้ที่จะพักให้เป็นถ้าเราเจ็บ ถ้าร่างกายมันยังไม่หายดี แล้วเรากลับมาเต้นต่อบางทีมันไม่มีความรู้สึกเจ็บแต่ข้างในมันไม่ได้ซ่อมแซมตัวเองก็มี เอ็นเรามันเหมือนเชือกที่ผูกกัน พอพลิกแล้วมันขาดไปนิดนึงมันไม่กลับมาเชื่อมกันนะคะ มันต้องสร้างให้ที่เหลือยังแข็งแรงอยู่แล้วพอพลิกซ้ำ มันก็ค่อยๆจนคุณแม่เอ็นขาด และถ้าขาดคือจบเลยคุณเป็นนักเต้นไม่ได้อีกแล้ว จะขึ้นปลายเท้าไม่ได้อีกแล้ว แล้วตอนนั้นคุณแม่ก็โกรธมากว่าทำไมหลอดไฟไม่พัก หลอดไฟฝืนไงคะ ตอนนั้นคุณแม่ไม่ให้แข่งเลยคือซ้อมไว้แล้วแต่ไม่ให้แข่งเลย เราก็โกรธแม่ว่าทำไมไม่ให้แข่ง แม่ก็บอกว่าห้ามแข่งห้ามแข่งจริงๆแต่เราก็ฝืนขอไปแข่งวันนึงจริงๆยังไม่ได้พักดีขนาดนั้น แล้วมันก็ยังจำหลอกหลอนหลอดไฟมาได้เรื่อยๆ 10 กว่าปี”
การดูแลร่างกายของ ‘นักเต้น’
“จริงๆแล้ว ไม่มีค่ะ!!! … คือหลอดไฟก็ได้สอนได้เต้นพอสมควร แต่กิจวัตรประจำวันของหลอดไฟคือ ‘การยืด’ มันเป็นสิ่งจำเป็น ที่ก่อนนอนเราต้องทำ สักชั่วโมงหนึ่ง พยายามทำทุกวันเพราะว่าร่างกายเราใช้ทั้งวัน แล้วกล้ามเนื้อเราก็ใช้เกินกว่าคนปกติ จริงๆก็ต้องพักมากกว่าคนปกติ ก็จะพยายามยืดหลังจากที่มันโดนดึง โดนทำโน่นนี่มาทั้งวัน เพราะบางทีมันกลายเป็นสิ่งที่เรามองข้ามไป”
ผลของความขี้เกียจ ละเลยการยืด คือ…??
“คือการที่ตื่นมาตอนเช้าแล้วลุกไม่ขึ้น เพราะว่าตอนที่เรียนที่ออสเตรเลีย มันเหนื่อยมากก็จะไม่ค่อยยืด เต้นแล้วก็หลับ แล้วกล้ามเนื้อที่มันโดนใช้มันก็จะค้างในความทรมานของมันอยู่อย่างนั้นมันก็จะเก็บไปเรื่อยๆจนวันหนึ่งมันไม่ไหวมันก็ระเบิด ตื่นเช้ามาทำอะไรไม่ได้เลย ลุกขึ้นมาไม่ได้ บิดขวาซ้ายไม่ได้ กล้ามเนื้อมันยึดเลย ก็ต้องไปห้องฉุกเฉินในโรงบาลที่ออสเตรเลีย จำได้ก็ไปที่เมลเบิร์น หมอก็ให้ยาอะไรสักอย่างมากินเพื่อคลายกล้ามเนื้ออย่างหนัก ก็กินแล้วมันก็ดีขึ้นเราก็รู้เลยว่าแบบ ไม่ได้นะถ้าเราจะใช้มันขนาดนี้มันต้องยืดมันต้องดูแลมันหน่อย”
รูปร่าง VS การเต้น
“รูปร่างไม่ได้สำคัญเท่ากับสมองเราเท่าไหร่ เพียงแต่ว่ามันจะมีความช้าความอืดบ้าง แต่หลอดไฟก็เอาที่มันพอดี คือเราไม่จำเป็นต้องผอมขนาดนั้นแต่ว่าเราต้องมีกล้ามเนื้อ คือนักบัลเล่ต์ก็จะน่องใหญ่ ขาใหญ่ แต่เราก็ชอบมันเพราะมันเอาไปใช้ในการแสดง ใช้ในสิ่งที่เราทำได้ประสิทธิภาพมากกว่าเราก็ไม่จำเป็นต้องขาเล็กเหมือนขานางแบบ หลอดไฟไม่ได้แคร์ว่าต้องผอมถึงจะถือว่าดี แต่ว่าร่างกายเราต้องตอบสนองกับสิ่งที่สมองเราอยากจะทำมากกว่า
การเต้นมันสร้างกล้ามเนื้อเยอะมาก ต้องเตะขาถึงจมูก 10 ครั้ง
อยู่แล้วในการ Exercise ในการเรียนคลาสหนึ่ง
ในการเรียนบัลเล่ต์ 1 คลาสมันเหมือนกันมาฟิตเนส
มันหนักหน่วง มันใกล้เคียงกันเลย
ศิลปะการเต้นจากคนที่รักมันทั้งชีวิต จะอยู่กับมันทั้งชีวิต…
จริงๆการเต้นมันเป็นมากกว่าสิ่งที่คุณคิด เสริมสร้างให้คุณโดดเด่นในสังคมได้ หลอดไฟพูดเลยแน่ๆเพราะมันจะไปช่วยให้ระบบการคิดของเราไวขึ้น เร็วขึ้น แน่นขึ้น คือเราไม่จำเป็นต้องเต้นดี แต่ถ้าเราเต้นแล้วก็ใช้มันสม่ำเสมอ มันจะไปช่วยอย่างอื่นได้ในชีวิตแน่นอนแล้วก็บวกกับเด็กที่กำลังพัฒนาอยู่กำลังโตอยู่มันจะใช้การเต้นให้เป็นสิ่งที่ช่วยเขาในการศึกษาได้ อันนี้หลอดไฟให้พูดให้มันเป็นรูปธรรมลำบากเหมือนกัน แต่ว่ามันช่วยได้แน่นอน เพราะว่า น้องเขาต้องที่จะควบคุมสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดเขายังไง คือร่างกายเขา แล้วที่เหลือหลังจากนั้นเขาไปปรับใช้ได้ ต้องรู้ตลอดว่าเราทำอะไรคือจะอยู่กับปัจจุบันมากๆ
‘เพราะ…การเต้นคือชีวิต’