Home > Celebrity > เปิดประวัติ 6 ‘นามสกุลพระราชทาน’ จากล้นเกล้า ‘รัชกาลที่ 6’

เนื่องในโอกาสครอบรอบ 17 ปี นิตยสาร HELLO! ประเทศไทย ได้รับเกียรติจาก 6 ทายาท นามสกุลพระราชทาน คุณไอ๊ – บุรุษรัฐ พึ่งบุญ ณ อยุธยา, คุณป้ำ – ปวริศร์ โชติกเสถียร, คุณแพรว – พิชามญช์ ชมะนันทน์, คุณลูกหนู – ไพรำ ชุมพล ณ อยุธยา, คุณวริศ สุขุม และ คุณจุนโกะ – สุทธิมา สุจริตกุล ร่วมถ่ายทอดความภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูล ประเดิมด้วยการย้อนประวัติของ 6 นามสกุลพระราชทาน

นามสกุลพระราชทาน
จากบนซ้าย: คุณพิชามญช์ ชมะนันทน์, คุณบุรุษรัฐ พึ่งบุญ ณ อยุธยา, คุณสุทธิมา สุจริตกุล, คุณปวริศร์ โชติกเสถียร, คุณวริศ สุขุม และคุณไพรำ ชุมพล ณ อยุธยา 6 ทายาท นามสกุลพระราชทาน

ความเป็นมา นามสกุลพระราชทาน

ย้อนกลับไปเมื่อ 110 ปีก่อน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประเทศไทยเริ่มมีการกำหนดให้ประชาชนได้ใช้ ‘นามสกุล’ เป็นครั้งแรกตามพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ซึ่งตราขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2456 จากแนวพระราชดำริที่เห็นความสำคัญของนามสกุลมาแต่ครั้งที่ยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

นอกจากนี้ตลอดรัชสมัยยังได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานนามสกุลแก่ข้าราชบริพาร ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และนักเรียน ซึ่งได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานต่อเนื่องกัน จนเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2468 เป็นจำนวนรวม 6,464 นามสกุล  นามสกุลที่พระราชทานนั้น มีทั้งตัวสะกดภาษาไทย ควบคู่ไปกับอักษรโรมัน แต่ละนามสกุลล้วนมีความหมายอันลึกซึ้ง แฝงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติของบรรพบุรุษของผู้ซึ่งได้รับพระราชทานนามสกุล ตลอดจนบอกเล่าเรื่องราวตามชื่อผู้นำของครอบครัวนั้น หรือตามถิ่นที่อยู่อาศัย

แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณทางอักษรศาสตร์ รวมทั้งยังเป็นพระบรมราชวิเทโศบายในการพระราชทานนามสกุลเป็นเครื่องปลูกเพาะความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว อันเป็นรากฐานของความรักชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นอุดมการณ์สูงสุดในการคงความเป็นเอกราชของประเทศชาติ


นามสกุลพระราชทาน พึ่งบุญ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง มีเจ้าพระยารามราฆพ นั่งอยู่เบื้องซ้าย และมี ‘ย่าเหล’ สุนัขทรงเลี้ยงอยู่ในภาพด้วย

พึ่งบุญ

ราชสกุลซึ่งมีที่มาย้อนกลับไปได้ถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 นั้นมีไม่มาก หนึ่งในนั้นคือราชสกุล ‘พึ่งบุญ’ (Phungbun) ซึ่งสืบสายมาจาก ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ’ หรือหม่อมไกรสร พระราชโอรสลำดับที่ 33 ในรัชกาลที่ 1 จากนั้นสืบสกุลมาถึง ‘หม่อมเจ้าอำพล พึ่งบุญ’ และ ‘พระยาประสิทธิ์ศุภการ’ (หม่อมราชวงศ์ละม้าย พึ่งบุญ) ตามลำดับ

‘พลเอก พลเรือเอก เจ้าพระยารามราฆพ’ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ซึ่งเป็นคุณปู่ ของ ‘คุณไอ๊ – บุรุษรัฐ พึ่งบุญ ณ อยุธยา’ เป็นบุตรของ พระยาประสิทธิ์ศุภการ กับ ‘พระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา’ พระนมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ในพ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษเสด็จฯ กลับพระนคร คุณพระนมทัต ซึ่งรับราชการถวายงานในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้นำ ‘หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ’ บุตรชาย อายุ 13 ปี เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับใช้ ตลอดเวลาที่รับราชการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ถวายงานใกล้ชิด โปรดให้เป็นจางวางมหาดเล็กห้องพระบรรทม นั่งร่วมโต๊ะเสวยทั้งมื้อกลางวันและกลางคืนตลอดรัชกาล

ในวัย 31 ปี หม่อมหลวงเฟื้อ ซึ่งขณะนั้นมียศพระยาประสิทธิ์ศุภการ (เช่นเดียวกันกับบิดา) ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งเป็น ‘เจ้าพระยารามราฆพ’ นับเป็นเจ้าพระยาที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การแต่งตั้งของกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งยังได้รับพระราชทาน ‘บ้านนรสิงห์’ ซึ่งปัจจุบันคือทำเนียบรัฐบาล

ในทางราชการท่านเคยดำรงตำแหน่งสำคัญของบ้านเมือง เช่น องคมนตรี สมุหราชองครักษ์ สมุหพระราชวัง ประธานกรรมการพระราชสำนัก นายกเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพฯ รวมทั้งยังเป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ คนแรกของวงการลูกหนังไทย


นามสกุลพระราชทาน
พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน)

โชติกเสถียร

‘โชติกเสถียร’ (Jotikasthira) เป็นนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 320 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ ‘พระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี’ (ทองดี) กรมวังในพระราชสำนัก สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และ ‘พระยาอจิระการประสิทธิ์’ (สาย) อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข โดยได้ทรงผูกคำที่มีความหมาย ทั้งชื่อบิดา ปู่ หรือทวดเข้าไว้ในนามสกุลพระราชทาน

ด้วยเหตุนี้จึงทรงผูกคำว่า ‘เถียน’ ซึ่งเป็นชื่อตัวของ ‘พระยาโชฎึกราชเศรษฐี’ (เถียน หรือเล่าเถียน) บิดาของพระยาธรรมจรรยานุกูลมนตรี (ทองดี) และพระยาอจิระการประสิทธิ์ (สาย) กับคำว่า เสถียร ซึ่งหมายถึง ‘ความยั่งยืน’ ต่อกับคำ โชติกะ ซึ่งหมายถึง ‘สว่าง’ รวมความหมายว่า ‘สว่างหรือรุ่งเรืองเป็นนิรันดร์’

พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (เถียน) เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 พื้นเพเป็นชาวพระนครศรีอยุธยา เมื่อเติบโตได้เริ่มทำการค้าขายโดยมีกิจการค้าสำเภา นำสินค้าต่าง ๆ ไปขายในประเทศจีน เช่น ข้าว ดีบุก พริกไทย ไม้ รังนก แล้วซื้อสินค้าจากเมืองจีน เช่น ถ้วยชามกระเบื้องกังไส ใบชา ผ้าไหม และแพรจีน กลับมาขายในเมืองไทยจนมีฐานะมั่นคง ต่อมาภรรยาของท่าน (คุณหญิงสุ่น) ได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ คุณเถียนจึงได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์เช่นกัน

จากนั้นจึงรับราชการด้วยความจงรักภักดีต่อเนื่องเรื่อยมา จนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่หลวงภาษีวิเศษ เจ้าภาษีอากรในกรมท่าซ้าย (กรมที่ติดต่อด้านการค้าขายกับชาติที่อยู่ทางด้านซ้ายหรือทางตะวันออกของอ่าวไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ต่อมาได้เลื่อนเป็นพระยานรนาถภักดีศรีรัชฎากร ช่วยราชการคลังในหอรัษฎากรพิพัฒน์ด้านภาษีอากร และเงินรายได้ของแผ่นดิน เป็นจางวางกรมสรรพภาษี กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ปรับปรุงระเบียบวิธีการจัดเก็บภาษีอากรให้มีแบบแผนและประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งยังได้ถวายงานตามพระราชดำริอย่างเข้มแข็งเป็นเวลาหลายปี ทำให้การจัดเก็บภาษีก้าวหน้าเพิ่มพูนขึ้นเป็นอันมาก จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาโชฎึกราชเศรษฐี มีตำแหน่งเป็นเจ้ากรมท่าซ้ายและได้เป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการในพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ตามเสด็จในการเสด็จประพาสสิงคโปร์และอินเดีย ทำให้มีโอกาสรับรู้และทำความเข้าใจแบบแผนการบริหารราชการของชาวตะวันตก ซึ่งนำมาปรับปรุงใช้กับแบบธรรมเนียมราชการของไทยในลำดับต่อมา และยังได้ควบคุมดูแลชาวจีนในสังคมไทยให้อยู่อย่างสงบสุขด้วย


นามสกุลพระราชทาน
หลวงชาญจักรกิจ ต้นตระกูล ชมะนันทน์

ชมะนันทน์

เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 6 มีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลให้เหล่าข้าราชบริพาร ‘ว่าที่นายเรือตรีหวาน’ สำรองราชการกรมยุทธโยธา ผู้รับราชการทหารเรือถวายรัชกาลที่ 6 ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่ง ‘หลวงชาญจักรกิจ’ (ชาญ หมายถึง เชี่ยวชาญ ส่วน จักรกิจ คือ จักรกล รวมแล้วหมายถึง วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องจักร) ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุลให้กับวงศ์ตระกูลของตนเอง จึงได้รับพระราชทานนามสกุล ‘ชมะนันทน์’ (Jamanandana) โดยอิงจากชื่อปู่ของท่านซึ่งมีนามว่า ‘ชม’ ซึ่งหลวงชาญจักรกิจท่านนี้ ก็คือบิดาของ ‘คุณหญิงวิรัตน์ ชมะนันทน์’ คุณย่าของคุณ ‘แพรว – พิชามญช์ ชมะนันทน์’

ในขณะที่ ‘คุณแจ่ม’ บิดาของ ‘พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์’ นั้น เป็นเจ้าของอู่ต่อเรือที่มหาชัย ด้วยหน้าที่การงานจึงทำให้รู้จักสนิทสนมดังเครือญาติและทำงานใกล้ชิดกับหลวงชาญจักรกิจมาโดยตลอด เมื่อมีการประกาศใช้นามสกุลคุณแจ่มจึงปรารภขอใช้นามสกุล ชมะนันทน์ ด้วยเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ซึ่งหลวงชาญจักรกิจก็อนุญาต ทำให้พลเอก เกรียงศักดิ์ และคุณหญิงวิรัตน์แม้จะมีนามสกุลเดียวกัน แต่กลับไม่ได้เป็นเครือญาติกันแต่อย่างใด กระทั่งทั้งคู่ได้สมรสและใช้ชีวิตร่วมกัน

หลวงชาญจักรกิจ ต้นตระกูล ชมะนันทน์ ถวายการรับใช้ในงานต่อเรือจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดูแลการต่อเรือพระที่นั่งในรัชกาล หรือแม้แต่การต่อเรือหลวงแม่กลอง หลวงชาญจักรกิจก็เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปคุมการต่อเรือที่อู่เรืออูรางา เมืองโยโกซูกะ ประเทศญี่ปุ่น เรือรบลำนี้ถือเป็นหนึ่งในเรือที่มีความสำคัญกับหน้าประวัติศาสตร์ของไทย มีระยะเวลาประจำการถึง 59 ปี

นับเป็นเรือที่ประจำการยาวนานที่สุดของกองทัพเรือไทย และเป็นเรือรบที่มีความเก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของโลก เคยผ่านการใช้งานในหน้าที่สำคัญหลายครั้ง เช่น เคยใช้เป็นเรือพระที่นั่งในรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพา และใช้เป็นเรือฝึกของทหารเรือ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า บริเวณริมน้ำปากอ่าว แม่น้ำเจ้าพระยาการต่อเรือและงานวิศวกรรมเครื่องจักรกลถือเป็นวิทยาการอันทันสมัยเมื่อร้อยปีก่อน ซึ่งความชื่นชอบในความก้าวหน้าในเทคโนโลยีเหล่านี้ สะท้อนผ่านความชอบที่ส่งต่อมาถึงรุ่นเหลนได้อย่างชัดเจน


นามสกุลพระราชทาน
หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล และหม่อมเจ้าหญิงพวงรัตนประไพ ชุมพล

ชุมพล

ราชสกุล ‘ชุมพล’ (Jumbala) สืบสายสกุลมาจาก ‘พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์’ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช เป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ 37 และเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ 3 ใน เจ้าจอมมารดาพึ่ง (หรือผึ้ง)

เดิมนั้นเสด็จในกรมฯ ทรงรับราชการในตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกาและศาลแพ่ง เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์ เป็นผู้บังคับการกรมทหารหน้า และเป็นข้าหลวงมณฑลลาวกลาง (นครราชสีมา) เพื่อทำการส่งทัพไปปราบฮ่อและปราบปรามโจรผู้ร้ายในเขตจังหวัดนครราชสีมาจนถึงปราจีนบุรี รวมทั้งยังเป็นปลัดทัพบกในกระทรวงยุทธนาธิการ ด้วยความไว้วางพระราชหฤทัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเกียรติยศเป็น ‘พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์’ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์ ไปกำกับดูแลงานราชการที่มณฑลลาวกาว หรือมณฑลอีสาน

พระองค์ทรงปกครองมณฑลอิสานนานกว่า 17 ปี พระกรณียกิจที่สำคัญมีมากมายไม่ว่าจะเป็นด้านการทหาร การปกครอง การคมนาคม การศึกษา การศาสนา โดยเฉพาะการปราบกบฏผีบุญและการรักษาความสงบเรียบร้อยของพื้นที่แถบอีสานในยุคนั้น ครั้นเมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ ทรงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง ทั้งยังทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย

‘คุณลูกหนู – ไพรำ ชุมพล ณ อยุธยา’ นับเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของราชสกุลชุมพล ในสายของ ‘หม่อมเจ้าอุปลีสาณ ชุมพล’ โอรสพระองค์โตในเสด็จในกรมฯ กับ ‘หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา’ เจ้านายสตรีของเมืองอุบลราชธานี ต่อมาหม่อมเจ้าอุปลีสาณ ได้สมรสกับ ‘หม่อมเจ้าหญิงพวงรัตนประไพ’ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ต้นราชสกุล เทวกุล กับ หม่อมพุก จันทรเสน โดยคุณปู่ของคุณลูกหนูคือ ‘ม.ร.ว.จาตุรีสาณ ชุมพล’ ซึ่งเป็นโอรสคนสุดท้อง ในขณะที่คุณพ่อของคุณลูกหนู ‘ม.ล.สุภสิทธิ์’ นั้นเป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว


เจ้าพระยายมราช (ปั้น)

สุขุม

ใน พ.ศ. 2456 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้คนไทยมีนามสกุล จึงได้พระราชทานนามสกุล  ‘สุขุม’ (Sukhum) เป็นนามสกุลแรกให้แก่ ‘เจ้าพระยายมราช’ เสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ผู้ซึ่งรับราชการสนองเบื้องพระยุคลบาทและได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้รับผิดชอบงานสำคัญของบ้านเมือง

เจ้าพระยายมราช (ปั้น) มหาอำมาตย์นายกที่ถวายงานมาถึง 4 รัชกาล นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จวบจนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ผู้เป็นต้นสายสกุล สุขุม นั้นคือคุณเทียดของ ‘คุณวริศ สุขุม’ ในช่วงเริ่มรับราชการท่านได้รับมอบหมายให้ร่วมเดินทางไปเพื่อเป็นพระอาจารย์และพระอภิบาล พระเจ้าลูกเธอ 4 พระองค์ในรัชกาลที่ 5 ซึ่งเสด็จไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ได้แก่ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ (กรมพระจันทบุรีนฤนาถ), พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์), พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม (กรมหลวงปราจิณกิติบดี) และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช (กรมหลวงนครชัยศรีสุรเดช)

เมื่อกลับมา ยังได้รับผิดชอบงานราชการสำคัญต่างๆ อีกหลายด้าน เป็นแม่กองการก่อสร้างสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคมและพระที่นั่งอัมพรสถาน ดูแลการจัดตั้งกิจการสาธาณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ กิจการประปา กิจการไฟฟ้า รวมถึงการก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทย อันที่จะนำความทันสมัยมาสู่ประเทศไทยให้ทัดเทียมกับอารยประเทศ

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคแห่งการล่าอาณานิคมตลอดการรับราชการในช่วง 4 รัชกาล ท่านได้รับพระราชทานตำแหน่งสำคัญ ตั้งแต่เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงนครบาล เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จนท้ายที่สุดดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ รัชกาลที่ 8

ส่วนคุณทวดของคุณวริศคือ ‘พระพิศาลสุขุมวิท’ (ประสบ สุขุม) อดีตอธิบดีกรมโยธาเทศบาล กรมชลประทาน และกรมทางหลวง ซึ่งต่อมาในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ตั้งชื่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 กรุงเทพฯ – ตราด ว่าถนนสุขุมวิท เพื่อเป็นเกียรติตามราชทินนามของท่าน ในขณะที่คุณปู่ คือ ‘คุณประสงค์ สุขุม’ นั้นเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และอดีตเลขาธิการคนแรกของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (ร.พ.ช.) และผู้เขียนหนังสือ‘จากยมราชถึงสุขุมวิท เหตุการณ์ใน ๔ รัชกาล’ ที่รวบรวมเหตุการณ์สำคัญในแต่ละรัชสมัยมาถ่ายทอดไว้ผ่านเรื่องราวของตระกูลสุขุม


ท้าวสุจริตธำรง (นาค)

สุจริตกุล

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสกุล ‘สุจริตกุล’ (Sucharitakul) ให้กับ ‘เจ้าพระยาศิริรัตนมนตรี’ (หงส์) สำหรับใช้เป็นนามสกุลบุตรหลานแห่ง ‘ท้าวสุจริตธำรง’ (นาค) กับหลวงอาสาสำแดง (แตง) ซึ่งมีอยู่ 2 สาขา คือ บุตรหลานเจ้าพระยาศิริรัตนมนตรี (หงส์) และบุตรหลาน ‘พระยาราชภักดี’ (โค)

‘ท้าวสุจริตธำรง’ (นาค) ผู้เป็นต้นสกุลสุจริตกุลนั้นเป็นมารดาของสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมในรัชกาลที่ 4) และเป็นขรัวยายของพระมเหสีในรัชกาลที่ 5 ทั้งสามพระองค์คือ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

จึงกล่าวได้ว่าตระกูลสุจริตกุลนั้น เป็นนามสกุลในสาย ‘ราชินิกุล’ หากเรียงลำดับในสายตระกูล ‘คุณจุนโกะ – สุทธิมา สุจริตกุล’  ที่สืบเชื้อสายบ้านมนังคศิลา มีเทียดคือ ‘พระยาราชภักดี’ (โค สุจริตกุล) ซึ่งเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม) มีคุณทวดคือ ‘พระยาอุดมราชภักดี’ (โถ สุจริตกุล) ซึ่งสมรสกับ คุณหญิงเชิดสกุลเดิม ไกรฤกษ์ สืบทอดมาจนถึงรุ่นคุณปู่คือ ‘คุณเตียบ สุจริตกุล’ ซึ่งสมรสกับ ‘คุณงามเฉิด อนิรุธเทวา’ บุตรีพระยาอนิรุธเทวา มีลูกชายคือ ‘คุณติรวัฒน์ สุจริตกุล’ บิดาของคุณจุนโกะ

ตระกูลสุจริตกุลนั้น ตั้งแต่บรรพบุรุษได้ถวายงานรับใช้พระเจ้าแผ่นดินมาหลายรัชกาล การที่ครอบครัวเรียกสายตระกูลของตนว่า ‘สายบ้านมนังคศิลา’ สืบเนื่องจากบ้านมนังคศิลา เป็นบ้านที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชทานแก่พระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) อดีตอธิบดีกรมชาวที่ ผู้มีหน้าที่ดูแลพระราชฐานที่ประทับทั้งหมด และพระราชทานชื่อบ้านนี้ว่า ‘มนังคศิลา’ อันหมายถึงที่ประทับ.

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.