ร่วมพัฒนาโครงการ Batik Model จาก 7 กลุ่มผ้าบาติกแนวหน้าของภาคใต้ตามแนว Fashion Sustainable ในพระดำริฯ
เป็นอีกเรื่องดีๆ ของประเทศไทยเรา ที่ HELLO! ขอมาแชร์ให้ทุกคนฟัง เมื่อคุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมด้วยคุณ กีต้า ซับบระวาล (Mrs. Gita Sabharwal, UN Resident Coordinator in Thailand) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย และแขกคนสำคัญอีกมากมาย ลงพื้นที่ติดตาม การดำเนินงานโครงการ พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “Batik Model” (บาติกโมเดล) สู่ตลาดสากล และโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่น้อมนำแนวพระดำริ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพื่อการพัฒนาแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable Fashion)

กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยาริง บาติก เป็นแหล่งผลิตผ้าบาติกในชุมชน โดยกลุ่มสตรี กลุ่มแม่บ้าน นักเรียน นักศึกษาที่สนใจ สามารถเข้ามาทำงานพิเศษได้ ตามความถนัด และความสะดวก กระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้ดี และเป็นศูนย์การเรียนรู้ ที่พร้อมแบ่งปันความรู้ แก่ชุมชน และผู้ที่สนใจ ซึ่งผ้าบาติกของกลุ่มเป็นผ้าบาติก ที่ใช้ฝีมือ ในการวาดเขียนลวดลายต่าง ๆ จากความคิดจินตนาการ หรือเอกลักษณ์ วัฒนธรรมของพื้นถิ่น
หลังจากที่ผ้าบาติก เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ทำให้มีความหลากหลาย ด้วยเทคนิคการพัฒนาอย่างต่อเนี่อง โดยการพิมพ์ผ้าด้วยบล็อกไม้ ผสมผสานเทคนิค การแคร๊กเทียน สะบัดเทียน โรยเกลือ เป็นต้น ประกอบกับการนำลายผ้าพระราชทาน มาประยุกต์ให้เกิดการพัฒนาลวดลายใหม่ ที่สวยงาม และทันสมัยมากยิ่งขึ้น จนเป็นที่ต้องการ ของตลาดหลายระดับ

และที่สำคัญ ด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทาน แนวพระดำริด้าน Sustainable Fashion ด้วยการใช้สีธรรมชาติ จึงได้น้อมนำพระดำริดังกล่าว เรียนรู้และปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้สีย้อมผ้า โดยสกัดสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น โดยคุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ได้กล่าวว่า
“ภายหลังจากได้รับ พระกรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนกัญญา พระราชทานแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนวทางการพัฒนา ช่องทางการตลาด ส่งผลทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ยของกลุ่มเดือนละ 40,000-60,000 บาทต่อเดือน””
ในด้านของดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ยังได้เสริมด้วยว่า “สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิตที่ถือว่ามีส่วนสำคัญมาก เพราะการผลิตผ้าบาติกสามารถทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ทำให้ชุมชนมีความอบอุ่นใจและแสดงให้เห็นว่าการมีโรงเรือนผลิตผ้าบาติกในเขตครัวเรือนที่อยู่อาศัยจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนนั้นๆ”
ซึ่งการผลิตผ้าทำมือ ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมแต่โบราณประเภทนี้ เป็นกระบวนการผลิต ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก มี “วัตถุดิบ” ที่ใช้ผลิตเริ่มตั้งแต่ผ้า เป็นผ้าจากใยธรรมชาติ เช่น ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน และมีการนำ วัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่น มาสกัดสี ได้แก่ ครามปัตตานี ใบยูคาลิปตัส กาบมะพร้าว ใบหูกวาง เป็นต้น รวมถึงเทียนและขี้ผึ้ง ที่ต้มเพื่อเขียนผ้า ก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เมื่อต้มเทียนออกจากผ้า รอให้เทียนเย็น เป็นแผ่นสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมไปถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ Packaging โดยใช้วัสดุ ธรรมชาติในท้องถิ่น นั่นคือ กล่องผลิตจากกาบกล้วยตานี

ด้านคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า “จากการลงพื้นที่เยี่ยมชม Batik Model ในวันนี้ ทำให้ได้เห็น ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย รวมถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ที่ได้เป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน”
“อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพของสตรี ในการลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษมาทำให้มีอาชีพที่มั่นคง มีงานศิลปะที่สวยงาม และมีรายได้ในการนำไปจุนเจือครอบครัว โดยทางสำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย พร้อมที่จะได้ร่วมสนับสนุนมิติการพัฒนาด้านต่าง ๆ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำให้ประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย มีอากาศที่บริสุทธิ์ อันจะยังประโยชน์ให้คนรุ่นต่อไปได้อยู่บนโลกใบเดียวนี้ด้วยความสุขอย่างยั่งยืน”
อ่านเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ ทั้งไทย และ ต่างประเทศ เซเลบริตี้ ข่าวสารใหม่ ๆ และ เรื่องราวเกี่ยวกับ แฟชั่น สุขภาพ และความงามได้ที่ HELLO!
· ยกระดับไลฟ์สไตล์ไปกับ ‘Amatara Residences Rayong’ ด้วยการเป็น ที่พักอาศัยด้านสุขภาพระดับเวิลด์คลาส