Home > Education > Universities > ระริน ธรรมวัฒนะ และนที จรัสสุริยงค์

จากที่บังเอิญนั่งเรียนด้วยกันที่ Babson College ในบอสตัน ทำให้คุณ ระริน ธรรมวัฒนะ และคุณนที จรัสสุริยงค์ กลายเป็นเพื่อนสนิทที่ช่วยกันปั่นไอศกรีมสไตล์บอสตันขายในไทย ซึ่งอร่อยดื่มด่ำจนใครได้กินเป็นต้องเผลออุทานว่า ‘Guss Damn Good’

สาวบัญชีหัวครีเอทีฟ หนุ่มวิศวะผู้รักตัวเลข

หุ้นส่วนที่ยาวนานจนถึงปีที่ 7 ของ Guss Damn Good ไม่มีแบ็คกราวนด์ใดๆ ด้านการทำอาหารมาก่อน เมื่อคุณ ระริน ธรรมวัฒนะ ศิษย์เก่ามาแตร์เดอีที่เลือกเรียนต่อคณะพาณิชยศาสต์และการบัญชี จุฬาฯ ซึ่งหลังจากทำงานในองค์กรใหญ่ได้สักพัก ก็เจาะจงไปเรียน MBA ที่ Babson College ซึ่งโด่งดังด้าน Entrepreneurship 

ส่วนคุณนที จรัสสุริยงค์ อดีตนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ก็เพิ่งได้รู้ว่าน่าจะเรียนสายธุรกิจ ตอนศึกษาวิศวะนาโน ภาคอินเตอร์ที่จุฬาฯ ว่าไม่ถนัดสายเทคโนโลยี ครั้นเข้าทำงานได้สักพัก ก็ยิ่งรู้ชัดว่าตนเองยังรู้น้อยนักด้านธุรกิจ ประกอบกับครอบครัวมีธุรกิจอยู่แล้ว สิ่งเดียวที่เขารู้ชัดเจนก็คือ ต้องไปเรียน MBA ที่ Babson College เพราะเป็นที่หนึ่งในด้าน Entrepreneur และ Family Business

ระริน ธรรมวัฒนะ
คุณระริน ธรรมวัฒนะ และคุณนที จรัสสุริยงค์ ในวันแรกที่ขายไอศกรีม

“ผมว่า Babson College ต่างจากที่อื่น เพราะที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยที่สอนด้าน Entrepreneur แต่ไม่มีเมเจอร์ Entrepreneur เขาถือว่าทุกวิชาเป็น Entrepreneur อยู่แล้ว และเคสที่สอนก็ไม่ได้ใหญ่จนเกินไป จะเป็นเคสของแบรนด์ขนาดย่อมปนกับแบรนด์ใหญ่ เขาไม่ได้จะบ่มเพาะให้เราออกไปทำงานองค์กร แต่ถ้าใครจะไปทางนั้นเขาก็มีวิชาสอน แต่วิชาอย่าง Family Business ก็จะมีเคสของบริษัทที่ทำธุรกิจครอบครัว 

“ตัวอย่างที่เอามาสอนจะตรงจุดกับสิ่งที่เราต้องการมากกว่า ตอนเรียนใกล้จบ เขาให้นักเรียนไปทำ consult ให้กับบริษัท สิ่งที่เจอก็จะเป็นการทำงานจริง ก็จะโดนเจ้าของบริษัทวิจารณ์งานเองเลย เจอด่าจริง สนุกดีครับ” 

คุณนทีเล่าถึงความประทับใจและเป็นจุดที่ทำให้ได้เจอกับเพื่อนนักเรียนชาวไทยนามว่าระริน ระหว่างที่เรียนอยู่ เพื่อนสองคนนี้มีกิจกรรมยามว่างเป็นการตระเวนชิมไอศกรีมตามร้านต่างๆ ทั่วบอสตัน จนปักธงร่วมกันว่าจะกลับไปทำร้านไอศกรีมสไตล์บอสตัน เพราะที่เมืองไทยยังไม่มีใครทำ 

“มีวิชาปี 2 ชื่อ Entrepreneurship Intensity Track (EIT) เป็นวิชาที่เหมาะกับคนที่มีไอเดียทำธุรกิจและอยากทำจริงหลังเรียนจบ คนที่จะเรียนวิชานี้ได้ต้องผ่านการทำ rocket pitch ที่จะเชิญนักลงทุนและนักเรียนจากมหาวิทยาลัยอื่น เช่น Harvard University หรือ MIT มาร่วมงานให้เราพูดไอเดียธุรกิจ 3-5 นาที หรือ 3 นาที 3 สไลด์ เลยนำโปรเจกต์ Guss ไปพิตช์ไอเดีย ผ่านได้เข้าเรียนวิชานี้ 

“ตอนพิตช์ไอเดียก็บอกว่าทำไมถึงอยากทำ ชอบอะไร เน้นช่องว่างอะไรในการขายไอศกรีมในเมืองไทย ไอศกรีมในเมืองไทยไม่สนุกยังไง พอไ้ด้เข้าเรียนก็จะมี Mentor มาดูแล ซึ่งเขาไม่ตัดสินเราเลยด้วยว่าสิ่งที่เราคิดมันดีหรือไม่ดี จะเวิร์กหรือเปล่า เขาแค่แนะนำและให้เราลองทำเองค่ะ” คุณระรินเล่าบ้าง

ทาง Babson College จะเจาะจงเชิญนักธุรกิจมากประสบการณ์ตัวจริงมาสอนเท่านั้น ดังนั้นทั้งสองจึงได้ร่ำเรียนกับมาสเตอร์เก่งๆ อย่าง Dr.Julian Lange นักลงทุนรุ่นแรกๆ ของอเมริกา และเป็นซีอีโอบริษัท Software Arts คู่กับ Dan Bricklin ผู้คิดค้น spreadsheet ในโปรแกรม Excel ที่ใช้กันทั่วโลกจนทุกวันนี้ 

ระริน ธรรมวัฒนะ
ในวันรับปริญญา MBA จาก Babson College

ส่วนอาจารย์อีกคนคือ Craig Benson ผู้ว่าการรัฐนิวแฮมป์เชอร์ในปี 2002 และเป็นนักลงทุนที่ถือลิขสิทธิ์ Dunkin Donuts ทั่วนิวยอร์ก ซึ่งพาลูกศิษย์ไฟแรงสองคนนี้ไปดูขั้นตอนการดำเนินงานของร้านโดนัทชื่อดังด้วย 

“เขาคงอยากให้เราเห็นทุกอย่าง และอยากให้ทุกอย่างกับเราจริงๆ ค่ะ ซึ่งโปรเจกต์ร้านไอศกรีมของเราเป็น 1 ใน 2 ไอเดียที่ได้ทำจริง คนอื่นในคลาสส่วนใหญ่จะกลับไปทำงานองค์กรกันหมดค่ะ” คุณระรินเล่า

แด่เธอผู้ไม่ยอมแพ้

“ไอศกรีมแต่ละชาติจะต่างกันที่ปริมาณไขมัน น้ำตาล และเท็กซ์เจอร์ค่ะ” คุณระรินแจกแจงความต่าง “ไอศกรีมอิตาเลียนจะใช้ช้อนตักและปาด เรียกว่า เจลาโต้ ส่วนไอศกรีมอเมริกันจะหวานเลี่ยนมาก เพราะปริมาณไขมันสูง และเขาจะตักเป็นสกู๊ป 

“ไอศกรีมที่เราชอบจะอยู่ระหว่างไอศกรีมแบบอเมริกัน ค่อนไปทางเจลาโต้ มีร้านหนึ่งที่บอสตันชื่อ Toscanini’s เป็นคราฟต์ไอศกรีมที่เบาลง ไม่เลี่ยน เราชอบมาก และใช้เป็นตัวอย่างในการอธิบายไอศกรีมของเราว่าเป็น Boston Texture เนียน นุ่ม เหนียว แต่ไม่หนักจนเกินไปค่ะ”

แม้จะชื่นชอบไอศกรีมร้านนี้เอามากๆ และเจ้าของร้านปฏิเสธไม่สอนสูตรให้ แต่ก็ยังอารีแนะนำตำราให้ลูกค้าเอเชียนแพสชั่นสูงจนไอศกรีมละลายคู่นี้ไปศึกษากันเอาเอง เมื่อสำเร็จการศึกษากลับถึงเมืองไทยแล้ว ทั้งสองจึงคิดหาหุ้นส่วนอีกคนที่เป็นเชฟ แต่กลับปัดตกไอเดียนี้ไป แม้จะเจอหุ้นส่วนที่ใช่แล้วก็ตาม 

“เขาเป็นโรงงานไอศกรีมขนาดใหญ่ที่มีพร้อมทุกอย่าง แต่…ทำไมจิ๊กซอว์ที่เข้ามาใหม่ตัวนี้รู้สึกว่าไม่ลงล็อก ถ้าลูกค้าถามว่าทำเองหรือเปล่า จะตอบว่าอะไร มันพูดได้ไม่เต็มปาก เสน่ห์ก็ลดลงไป” คุณนทีกล่าว 

ว่าแล้วก็เลยมีหุ้นส่วนสองคนตามเดิม และซื้อเครื่องทำไอศกรีมเล็กๆ ราคาไม่เล้กถึง 4 แสนบาท และใช้ทาวน์เฮาส์ว่างของครอบครัวเป็นห้องทดลอง ปั่นไอศกรีมทั้งวันทั้งคืนอยู่นาน 3 เดือนเต็มๆ

“นึกภาพเด็กสองคนที่วันๆ เอานมกับครีมทุกยี่ห้อที่มีขายในเมืองไทยมาปั่น” ถามว่าหมดนมกับครีมไปกี่ลิตร ทั้งสองประสานเสียงร้องโอ้โฮ! “จำได้แค่ว่าเพื่อนที่มาลองกินสูตรที่ 7,8,9,10 ขับรถอยู่แล้วต้องจอดรถลงไปอาเจียนนะครับ” คุณนทีหัวเราะแห้งในฝีมือ 

“จนครั้งที่ 18 เป็นครั้งที่เท็กซ์เจอร์ในปากเริ่มใช่ แต่รสชาติยังไม่ได้อยู่ดี ที่ได้จริงๆ คือครั้งที่ 33 เลยออกมาเป็นรส Don’t Give Up #18 เราตั้งชื่อนี้เพื่อเป็นการเตือนใจว่าสูตรที่ 18 เป็นตัวจุดประกายเหมือนเป็นแสงส่องทางให้เราครับ” 

ระริน ธรรมวัฒนะ
กับบรรดาเพื่อนๆ นักเรียนด้วยกัน

ความรู้ที่มหาวิทยาลัยสอนและใช้ได้จริง

“ผมใช้วิชาที่เรียนมาทำงานจริงเยอะมากครับ ก่อนหน้านี้ผมไม่ได้เรียนไฟแนนซ์ ตอนนี้ผมเข้าใจมากขึ้นและได้ใช้จริงทุกวันเลย” คุณนทีเล่าอย่างขอบคุณในการศึกษาด้าน MBA “เหมือนสิ่งที่เรียนจะซึมซับอยู่ในหัว พอเจอเหตุการณ์ต่างๆ สมองเราจะดึงความรู้ที่เรียนมาออกไปใช้เอง เหมือนมันอยู่ในจิตใต้สำนึกเราน่ะค่ะ” คุณระรินกล่าวบ้าง 

“พอได้สูตร Don’t Give Up #18 วันพุธ เราก็อภินิหารมาก วันพฤหัสเสกแพคเกจจิ้ง ทำสติ๊กเกอร์ ทำโลโก้ วาดป้ายราคา 49 บาท วันศุกร์ไปออกร้านงานหนึ่งและขายไม่ได้เลย เพราะขายไอศกรีมแต่ไม่มีตู้ไอศกรีม ไม่มีให้ลองชิม มันไม่น่าซื้อเลยนะครับ เละเทะมาก” คุณนทีถอดบทเรียน

“ตอนนั้นเราใช้ชื่อ Guss Ice-cream Guss มาจาก focus และ gut feeling เราอยากให้ร้านเราเป็นที่ที่ฟรีแลนซ์ และ Entrepreneur มาใช้พบปะพูดคุยกัน เพราะสิ่งที่คนกลุ่มนี้มีเสมอก็คือโฟกัสกับสิ่งที่ทำ และเชื่อใน gut feeling มากกว่าเหตุผลร้อยแปดพันเก้า และเราใช้ชื่อ Guss มาตั้งแต่อยู่ Babson College แล้ว” คุณระรินเล่าบ้าง

“หลังจากนั้น พอเราทำไอศกรีมสูตรอื่นๆ เราก็ให้เพื่อนมาเทสต์กัน แล้วมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นหมอชิมแล้วอุทานว่า ‘Guss นี้ damn good นะ’ เราเลยใช้ชื่อนี้ เพราะอยากให้คนรู้สึกดักับทุกอณูที่เราใส่ลงไปค่ะ” 

คุณระรินและคุณนทีจะปลุกปั้น Guss Damn Good ให้โด่งดังในหมู่คนรักไอศกรีมได้อย่างไร ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ทั้งสองฉบับเต็มได้ใน HELLO! Education 2022 ที่วางขายแล้วขณะนี้          

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.