Home > Education > Universities > รู้จัก ธีระพล ผดุงชีวิต ลิม ลูกครึ่งไทย-สิงคโปร์ ที่ผ่านการเรียนใน 4 ประเทศ 4 ทวีป

เด็กหนุ่มที่กำลังนั่งอยู่ตรงหน้าเราเป็นลูกครึ่งไทย-สิงคโปร์ มีชื่อเล่นว่า แอล หรือ ธีระพล ผดุงชีวิต ลิม คุณพ่อของเขาเป็นนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ที่พบรักกับสาวไทย ระหว่างเรียนปริญญาเอกวิศวกรรมเคมีด้วยกัน เขามีพี่สาววัยห่างกัน 6 ปีหนึ่งคน

คุณแอลเกิดและร่ำเรียนที่สิงคโปร์จนถึง Grade 6 และลงแข่งว่ายน้ำกับเล่นฟุตบอลมาโดยตลอด ตอนที่เขาจบชั้นประถมศึกษา

“ตอนนั้นถ้าอยู่สิงคโปร์ต่อและว่ายน้ำก็สามารถเข้าทีมชาติได้ เพื่อนผมเป็นทีมชาติสิงคโปร์หมดเลย แล้วก็คงเข้าเรียนที่ ACS (Anglo-Chinese School) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ดีมากของสิงคโปร์ หรือไม่ก็เข้าโรงเรียนกีฬา แต่เผอิญคุณแม่ต้องไปทำงานที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ผมก็เลยต้องย้ายตามไปเรียนที่นั่น ซึ่งอยู่แถวชานเมือง ทำให้ผมโดนบุลลี่เยอะมาก

“เราเพิ่งย้ายไปก็มักจะเจอคำพูดแรงๆ จนเราสงสัยว่าพูดแบบนี้ได้ด้วยหรือ แต่หลังจากนั้นก็ชิน อยากว่าอะไรก็ว่าไปเถอะ ถามว่าชอบหรือไม่ชอบ ก็ต้องบอกว่าไม่ค่อยชอบ แต่ที่เราต้องย้ายไปก็เพราะงานของคุณแม่”

อยู่ซิดนีย์ได้ 2 ปี คุณพ่อของเขาก็ย้ายไปทำธุรกิจที่อเมริกา เขาจึงย้ายไปเรียนไฮสคูลที่โรงเรียนรัฐบาล Fort Mill School ในเซาธ์แคโรไลนา ซึ่งมีเด็กเอเชียนอเมริกัน 3-4 คนต่อนักเรียนพันกว่าคน แต่น่าแปลกที่เขาไม่ค่อยโดนบุลลี่ ทั้งที่มีเด็กเอเชียนเรียนอยู่น้อยมากก็ตาม

นักกีฬาว่ายน้ำตัวกลั่น

คุณแอล ธีระพล ผดุงชีวิต ลิม เป็นนักกีฬาว่ายน้ำตัวกลั่นทั้งที่ออสเตรเลียกับอเมริกา ซึ่งเขาสามารถคว้ารางวัลทั้งในระดับรัฐ และระดับประเทศ ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจเล็กๆให้กับเขาและครอบครัว แต่ยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งเรียนยากขึ้นและหนักขึ้น ขณะที่การซ้อมก็หนักเหมือนกัน

“รอบเช้าซ้อมว่ายน้ำตั้งแต่ตีห้าครึ่งจนถึงเจ็ดโมงครึ่ง เข้าเรียนแปดโมงครึ่งถึงสามโมงครึ่ง กลับถึงบ้านสี่โมงครึ่ง ว่ายน้ำอีกรอบตั้งแต่ห้าโมงครึ่งถึงสองทุ่มครึ่ง กลับถึงบ้านสามทุ่มกินข้าวทำการบ้าน เข้านอนเที่ยงคืนตีหนึ่ง ตื่นตีสี่ตีห้าทุกวัน ซึ่งโหดมาก ไม่ชอบเลย (หัวเราะ)

“พอเรียน Grade 11 ผมคิดว่าถ้าเรายังคงว่ายน้ำต่อไป เส้นทางต่อไปก็คือเป็นโค้ช แต่ก็ไม่รู้ว่าเราจะไปต่อทางด้านนี้ดีไหม หรือเราจะเรียนหนักขึ้น ในที่สุดก็เลือกได้ว่าเราจะไม่ลงแข่งเยอะเหมือนเมื่อก่อน แล้วเอาเวลาว่างไปทำชมรมที่โรงเรียนมากถึง 13 ชมรม แต่ปีสุดท้ายเลือกทำชมรมเฉพาะที่เราลีด เพราะตอนนั้นคุณพ่อไม่ค่อยอยู่บ้าน คุณแม่ก็อยู่ไทยดูแลคุณตาคุณยาย ผมอยู่คนเดียวไม่มีอะไรทำ ก็เลยทำชมรม”

เขาจบไฮสคูลเดือนพฤษภาคมปี 2012 และกลับสิงคโปร์ ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ Yale University ร่วมกับ National University of Singapore เปิดมหาวิทยาลัยร่วมกันในชื่อ Yale-NUS และเปิดรับสมัครนักศึกษา แต่ยังไม่เปิดสอน ซึ่งคนที่สมัครในปีนั้นจะต้องรออีก 1 ปี เขาเลยเรียกปีนั้นๆว่า Round Zero เพราะมหาวิทยาลัยยังไม่เปิด มาเปิดในปี 2013 ซึ่งคุณแอลต้องไปเกณฑ์ทหารพอดี

“เขาให้ฝึกพื้นฐานก่อน 3 เดือน แล้วจากนั้นผมเลือกไปเรียนโรงเรียนจ่าอีก 6 เดือน ผมได้เป็นสห. แล้วก็เป็นครูสอนคนที่ต้องกลับไปฝึกทุกปีเป็นเวลา 10 ปีก่อนอายุ 40 ว่า หากมีสงครามต้องทำอย่างไร ซึ่งนักเรียนแก่กว่าเราหมดเลย เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้เจอคนที่ตามปกติเราไม่เจอในมหาวิทยาลัย”

นักเรียน Yale-NUS รุ่นที่ 3

คุณแอลเข้าเรียนเมเจอร์ทางด้าน Urban Studies และไมเนอร์ทางด้าน Arts &Humanities ซึ่งเริ่มจากการเรียนวิชา Liberal Arts ก่อน ซึ่งจะเรียนพื้นฐานอย่างกว้างแล้วค่อยๆลงลึก โดยที่สองปีแรกเลือกเรียนอะไรก็ได้

“ตอนนั้นผมอยากเรียน Global Affairs เพราะอยากเรียนด้านการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่หลังจากนั้นพบว่าเราสนใจ Urban Studies ชอบอาจารย์ที่สอนเมเจอร์นั้น และยิ่งได้เรียนก็ยิ่งชอบเพราะว่าต้องลงพื้นที่ไปทำวิจัย คล้ายกับวิชามานุษยวิทยา

“วิทยานิพนธ์ของผมทำวิจัยเรื่อง The production and reproduction of water insecurity in a northern Thai village ต้องไปอยู่กับชาวบ้านที่เชียงใหม่นานเป็นเดือน ไปคุยกับรองประธานเทศบาล เพื่อเก็บข้อมูลว่าเพราะอะไรช่วงแล้งทำไมบางบ้านถึงมีน้ำ บางบ้านไม่มี บางบ้านที่มีน้ำเพราะสร้างคร่อมทางน้ำ หรือบางบ้านมีแทงค์น้ำใหญ่กว่าบ้านอื่น หรือใช้น้ำบาดาล บางบ้านอยู่บนเนินเลยไม่มีน้ำ เราไปค้นประวัติว่าเพราะอะไรถึงสร้างผังเมืองแบบนี้  

“ซัมเมอร์แรกผมได้ fellowship เรียน Creative writing ซัมเมอร์ปีที่ 2 ได้ฝึกงานที่ปรึกษาด้านผังเมืองให้กับบริษัทในสิงคโปร์ ซัมเมอร์ปีที่ 3 ฝึกงานด้านการศึกษากับ Education First (EF) ซึ่งเป็นโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน ก็สมัครไป Harvard University กับ Columbia University ปรากฏว่าได้ที่ Harvard ผมไปเรียน 4 วิชา รวมทั้งวิชาภาษาไทยด้วย

“โดยเรียน Mapping History ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาประวัติศาสตร์ เพราะเขาไม่มี Urban Studies และไม่มีภูมิศาสตร์ด้วย และเรียน Medical Anthropology มานุษยวิทยาในแง่การแพทย์ แล้วก็ Social Studies ที่เขาเรียกว่า concentration ผมชอบมาก เพราะเข้มข้นมาก แต่การบ้านเยอะกว่าวิชาอื่น ต้องอ่านตำราอาทิตย์ละเล่ม เขียน essay และต้องทำวิจัยนอกเหนือจากนั้นด้วย แต่ผมชอบเพราะได้เรียนรู้เยอะมาก

“อาจารย์บอกว่าแปลกมากเลยที่ผมอ่านเยอะ ก็เพราะพื้นฐานผมที่ Yale-NUS ค่อนข้างแข็ง เพราะสิงคโปร์แข่งขันสูงมาก คนก็เครียดมาก พอไป Harvard ก็เลยซีเรียสกว่า แล้วก็เรียนภาษาไทยกับครูวิภา มีผมกับนักเรียนไทยอีกคนที่มาเรียนกฎหมาย ผมพูดได้ แต่อ่านเขียนไม่ได้เลย การบ้านวันแรกก็ต้องเขียน essay ทั้งที่ไม่รู้จักก.ไก่ข.ไข่เลย แล้วก็เรียน Urban Theory ที่ Graduate School of Design ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาโท

“เนื่องจากคนไทยที่เรียนปริญญาตรีที่ Harvard มีน้อยมาก งานของ Thai Society ก็เลยมีคนโหรงเหรง เขาก็เลยให้ผมไปช่วย เพราะคนอื่นยุ่งหมดเลย อากาศก็หนาวมาก แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่ผมชอบมาก และมีเพื่อนสนิทที่นั่น จากนั้นก็กลับไปเรียนต่อที่ Yale-NUS อีกปีครึ่งจนกระทั่งจบ”

ต่อโทที่ London School of Economics และสมัครปริญญาเอกที่ Yale University

หลังจากจบปริญญาตรีที่สิงคโปร์แล้ว คุณแอลย้ายไปเรียนปริญญาโทที่ LSE ประเทศอังกฤษ ในด้าน Urbanization Development โดยเพิ่มเรื่องการพัฒนาประเทศ

“คนละเรื่องกับอเมริกาเลย ที่อเมริกาคิดคะแนน participation 30% การบ้านซึ่งมีทุกอาทิตย์ 10% และมีสอบเก็บคะแนนตลอด ส่วนที่อังกฤษจัดสอบด้วยการให้นักศึกษาเขียน essay แค่ปีละครั้ง ด้วยความที่เรามีพื้นฐานจาก Yale-NUS แล้วทำให้เรียนสบาย

“LSE โดดเด่นเรื่องเศรษฐศาสตร์ก็จริง แต่เรื่องการพัฒนาก็เด่นเหมือนกัน โดยมากเด็กที่จบจากที่นี่จะทำงานยูเอ็น ธนาคารโลก และองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ คืนวันศุกร์จะมีคนดังมาพูดเยอะมากเป็น Talk series เราก็ได้เรียนรู้ แต่ผมไม่ได้ฟังทุกคน เพราะคนล้นฮอลล์เข้าไม่ได้”

ระหว่างนั้นเขาได้สมัครเรียนปริญญาเอกที่ Yale University ที่อเมริกาเอาไว้ด้วย เนื่องจากได้ไปร่วมประชุมงานที่ลอนดอน ทำให้ตัดสินใจว่าจะสมัคร เขาจึงอีเมลไปถามอาจารย์สมัยเรียนปริญญาตรี ว่าควรเรียนเรื่องอะไร อาจารย์เขียนกลับมาว่าน่าจะทำเรื่องนี้ๆนะ แต่ปัญหาคือทุกปีมีคนสมัคร Yale มากถึง 200 กว่าคน แต่รับไม่ถึง 10 คน อาจารย์จึงเตือนเขาว่าลองสมัครหลายแห่งเผื่อไว้ด้วย

“ผมสมัครไป 6 แห่ง พร้อมกับสมัครงานที่อเมริกาและอังกฤษไปด้วย พอดีช่วงโควิดผมเลยหนีกลับสิงคโปร์ ผมเกือบทำงานแล้ว ซึ่งถ้าทำงานก็คงไม่กลับไปเรียนอีกแล้ว แต่เรายังอยากเรียนอยู่ ก็เลยตัดสินใจเรียนปริญญาเอกต่อที่ Yale อเมริกา ตอนนี้ผมเรียนปี 4 ด้านมานุษยวิทยากับการศึกษาสิ่งแวดล้อม เป็นโปรแกรม combine

“เป็นหลักสูตรอย่างน้อย 6 ปี ปีแรกผมเรียนออนไลน์ ปีสองไฮบริด สอนหนึ่งเทอม และเรียนกับสอบหนึ่งเทอม ปี 3 ไป UC Berkeley หนึ่งเทอม ซึ่งผมเข้าร่วม IvyPlus program เป็นโปรแกรมแลกเปลี่ยนสำหรับนักศึกษาปริญญาเอกระหว่าง Ivy League และ UC Berkeley, University of Chicago, กับ MIT ผมเลือกไป Berkeley เพราะอยู่ west coast และจะเรียนวิชาอะไรก็ได้ แต่ต้องครบหน่วยกิต จริงๆผมเรียนวิชาที่ต้องเรียนครบหมดแล้ว

“ผมเลยเลือกเรียนวิชาที่เป็น PhD seminar คือ STS (Science and Technology Studies) , Southeast Asia Studies แล้วก็ประวัติศาสตร์ จริงๆเรียนแค่ 2 วิชา แต่ผมไม่ทราบ ก็เลยต้องอ่านตำราอาทิตย์ละ 6 เล่ม 3 วิชา และวิเคราะห์ตามทฤษฏี สามารถเปรียบเทียบ และสร้างประเด็นถกเถียงว่าเราคิดแบบนี้ๆนะ เขียนออกมาเป็น essay นอกจากนี้ผมยังต้องเขียน research proposal 10,000 คำ ส่งที่ Yale ซึ่งต้องเขียนดีมาก”

เขายังบอกเราอีกว่า แม้การเรียนจะยากเย็นแสนเข็ญเพียงใดก็ตาม เขาพยายามจะเรียนให้จบ เพราะความชอบ เนื่องจากเขาได้แรงบันดาลใจบางส่วนจากความอยากที่จะเชื่อมโยง Thai Studies กับ International Anthropology ให้ได้ HELLO! Education ขอเอาใจช่วยให้เขาสำเร็จดังหวัง

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.