Home > Education > Interviews > Talent > แช็ทสนุกกับ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เจ้าของรางวัลศิลปาธรประจำปี 2566

เป็นเรื่องน่าสนใจที่ผู้ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2566 นี้ จะเป็นเจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปี 2560 รางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด รางวัลพระยาอนุมานราชธน และเป็นนักเขียนหญิงรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท หรือที่คนรู้จักเรียกเธอว่า ลี้ น้องนุชสุดท้องของครอบครัวสี่ใบเถาที่มีประวัติเรียนดีกันทุกคน

“ลี้เกิดที่ปากน้ำ สมุทรปราการ มีพี่สาว 3 คน และเรียนที่โรงเรียนโยเซฟทิพวัลย์ สมุทรปราการ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถม 6 ครูจะจำได้ว่าลูกบ้านนี้มักจะเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันวิชาการทุกอย่างมาโดยตลอด แต่หลังจากเรียนป.6 ไปได้ครึ่งปี ก็ย้ายไปอยู่บ้านเกิดของคุณแม่ลี้ที่เชียงราย และเรียนที่โรงเรียนคริสต์ พอขึ้นม.1 ก็ไปสอบเข้าสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเรียนที่นั่นจนจบม.6”

จิดานันท์​ เหลืองเพียรสมุท
คุณ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท กับรางวัลศิลปาธร สาขารรรณศิลป์ ประจำปี 2566

คุณ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท บอกเราว่า อ่านวรรณกรรมเยาวชนที่ไม่มีภาพประกอบมาตั้งแต่เรียนป.1 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชาร์ล็อต แมงมุมเพื่อนรัก หรือบ้านเล็กในป่าใหญ่ เพราะ“ตอนนั้นทีวีไม่มีรายการสำหรับเด็กตลอดเวลา และในเมื่อบ้านเรามีหนังสือให้อ่านก็อ่านไป ไม่มีอะไรอย่างอื่นทำ ซึ่งถ้าลี้เกิดมาในยุคนี้ที่ทุกคนมีมือถือ ก็อาจจะไม่ชอบอ่านหนังสือก็เป็นได้ และเป็นเรื่องเก๋ที่จะคุยอวดกันว่า เธอซื้อหนังสือเล่มนี้หรือยัง ฉันซื้อแล้วนะ เพื่อนก็จะขิงว่าฉันอ่านจบภายในสามวัน คนเก่งจะอ่านหนังสือเร็ว ไม่ว่าจะหยิบเล่มไหนขึ้นมาก็บอกว่าฉันเคยอ่านแล้ว เพราะไม่มีอะไรอย่างอื่นให้ทำไง

“ลี้ชอบอ่านการ์ตูน ในจำนวนนี้มีการ์ตูนรัสเซีย และช่วงนั้นหนังสือท่องเที่ยวอย่างดาวหางเหนือทางรถไฟของทรงกลด บางยี่ขัน กำลังดัง อ่านแล้วรู้สึกว่ารัสเซียเป็นประเทศที่เก๋จังเลย มีเสน่ห์น่าค้นหา เพื่อนก็บอกว่าภาษารัสเซียเป็นภาษาที่ยากที่สุดในโลกนะ ทำให้อยากเรียนขึ้นมาทันที แต่เราเรียนวิทย์-คณิต ซึ่งการจะทำคะแนนสูงเป็นเรื่องยาก ต้องใช้ความพยายามอย่างมากแม้ว่าลี้จะได้เกรดเฉลี่ย 4.00 นะ

ขึ้นเวทีทอล์กเมื่อครั้งได้รับรางวัลซีไรต์​จากงานรวมเรื่องสั้น ‘สิงโตนอกคอก’

“พอม.6 ก็เลยย้ายไปเรียนศิลป์-คำนวณ เพื่อจะทำเกรดง่ายขึ้น และเรียนสบายขึ้น มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษารัสเซียมีอยู่ 2 แห่งคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยรามคำแหง”

สู่รั้วยูงทอง

คุณ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท สามารถเข้าเรียนคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ดังหวัง ซึ่งมีให้เลือกสองโปรแกรม โปรแกรมแรกคือรัสเซียศึกษา กับโปรแกรมที่สองคือ ภาษารัสเซีย นักเขียนซีไรต์สาวเลือกเรียนภาษารัสเซีย

แจกลายเซ็นต์ให้แก่นักอ่าน ด้วยนามปากก ร เรือในมหาสมุท ที่เธอใช้ในการเขียนนิยายวาย

“ด้วยความที่หลักสูตรแค่ 4 ปี ทำให้ไม่อาจเรียนวรรณคดีรัสเซียของนักเขียนรัสเซียผู้ยิ่งยงอย่างลีโอ ตอลสตอย แต่จะได้เรียนเรื่องสั้นความยาวสองถึงสามหน้าที่อาจารย์นำมาสอน เป็นการเรียนที่สนุกมากค่ะ รู้สึกว่าเป็นมหาลัยที่บ้าบอมากเลย เพราะช่วงนั้นสถานการณ์การเมืองกำลังเข้มข้น วันดีคืนดีก็มีรถทหารมาจอดหน้ามหาลัย”

คุณ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท สามารถจบด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับ 1 และเข้าทำงาน HR ที่ AGODA “เขาถามว่าเป็นคนมีระเบียบไหม เพราะมีตำแหน่งทำเงินเดือนว่างอยู่ ถ้าไม่มีระเบียบจะทำไม่ได้ ก็บอกไปว่ามีระเบียบ เลยได้ทำอยู่ครึ่งปี บรรณาธิการสำนักพิมพ์สองแห่งชักชวนให้ออกมาเป็นนักเขียนเต็มตัว ลี้ก็เลยไปขอลาออก บอกผู้จัดการว่าถ้าหากหนังสือของลี้ขายไม่ได้ จะกลับมาสมัครใหม่ เขาบอกว่ากลับได้นะ เพราะยังสอนเรื่องภาษีไม่หมดเลย” นักเขียนคนเก่งพูดพลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

เข้าสู่แวดวงน้ำหมึก

อันที่จริงคุณ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท เขียนหนังสือเล่นๆอย่างจริงจังตั้งแต่วัยเพียง 12 ขวบ ตอนที่เธอย้ายตามครอบครัวไปอยู่เชียงราย โดยเขียนลงในเว็บไซต์เป็นงานอดิเรก ซึ่งเธอคิดว่าไม่มีใครอ่านงานเธอหรอก เพราะมีคนเขียนออนไลน์เป็นหมื่นเป็นแสนเรื่อง

คุณ จิดานันท์ กับหนังสือที่ทำให้เธอได้เป็นนักเขียนซีไรต์

“เริ่มจากเขียนนิยายวายก่อน เกิดจากอ่านการ์ตูนตาหวานก็เลยชินกับวัฒนธรรมวาย เล่มแรกที่ได้ตีพิมพ์เป็นนิยายผีชื่อ บนบานศาลผี กับสำนักพิมพ์โซฟา ตอนเรียนมหาลัยก็เริ่มส่งงานประกวดตามที่ต่างๆ จนปี 4 ก็ได้รางวัลนายอินทร์อวอร์ด และบรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ อาตุ๊ (จตุพล บุญพรัด) กับพี่นิวัต พุทธประสาท บรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ชวนเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว”

คุณ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท บอกเราว่า จนบัดนี้เธอมีผลงานหนังสือรวม 26 เล่ม เป็นเรื่องวายเสียหนึ่งในสาม จนมาถึงเรื่องที่ทำให้เธอชนะซีไรต์ในปี  2560 และเป็นผู้ชนะที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์รางวัลนี้  (ตอนนั้นเธออายุ 25 ปีพอดี)

“รวมเล่มเรื่องสั้นชื่อ สิงโตนอกคอก ซึ่งหลายคนบอกว่ามันมีความไซไฟกึ่งแฟนตาซี แต่เรื่องไซไฟในท้องตลาดจะมียานอวกาศ มีปืนเลเซอร์ มีเอเลี่ยน ซึ่งมีความเป็นผู้ช้าย…ผู้ชาย!?! ลี้ไม่ชอบ ไม่รู้สึกสนุก ทำไมไม่มีใครเขียนว่าทำอาหารหรือเย็บปักถักร้อยบนยานอวกาศบ้าง (หัวเราะ) ก็เลยเขียนเรื่องที่มีกลิ่นอายไซไฟแต่ผสานความเป็น femininity ความเป็นผู้หญิงความเป็นแม่เข้าไป กลายเป็นส่วนผสมที่แปลกดี  

“แต่ที่สำคัญคือ หนังสือเล่มนี้เล่นกับแนวคิดทางจริยธรรม ลี้สร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อถามปัญหาบางอย่างที่ท้าทายศีลธรรม อย่างเรื่องสั้น ‘จะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว’ ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงตอนนาซีล้อมรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่สอง คนรัสเซียไม่มีอะไรกิน ต้องประทังชีวิตด้วยการกินดินใต้ร้านเหล้า แต่ไม่แน่ใจว่ากินคนด้วยหรือเปล่า ครูชาวรัสเซียของลี้เล่าว่าย่าเขาอยู่ที่นั่นตอนเด็กๆ ซึ่งไม่ได้กินเนื้อสัตว์มานานมาก แล้ววันหนึ่งก็ได้เนื้อมาชิ้นหนึ่ง

“ย่าเขากินอย่างมีความสุข แต่พอถามพ่อแม่ว่าเนื้ออะไร เขาไม่ตอบ ครูเลยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสัตว์ที่ปกติคนไม่กิน ต้องลองไปหาหนังสือชื่อ ‘เหตุการณ์ปิดล้อมเลนินกราด’ มาอ่านดู ทุกครอบครัวเจอประสบการณ์โหด แต่ถึงจะไม่มีอะไรกินก็ยังร้องโอเปร่า และยิงเสือในสวนสัตว์ทิ้งหมดเลย เพราะกลัวว่าถ้าระเบิดลงแล้วเสือหลุดออกไปจะเป็นอันตราย”

กับบรรณาธิการจตุพล บุญพรัด

คุณ จิดานันท์ บอกว่า เวลาว่างชอบอ่านงานแปล ส่วนนักเขียนไทยคนโปรดก็คือ ปราบดา หยุ่น นักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ประจำปี 2545 “รู้สึกว่างานเขาจะมีความเป็นฝรั่งนิดๆ มีความไซไฟใหม่ๆหน่อยหนึ่ง กวนๆ เท่ๆ ไม่มีการพร่ำพรรณนา ไม่ฟูมฟาย ถ้าชอบงานอารมณ์เชิงอารมณ์ ก็ต้องอ่านงานของคนอื่น ส่วนนักเขียนต่างชาติที่ลี้ชอบ เป็นนักเขียนญี่ปุ่นที่เขียนเรื่องราโชมอน ชื่อ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ ซึ่งงานของเขาให้ความรู้สึกเดียวกับงานของปราบดา”

เขียน…เขียน…และเขียน

“นักเขียนที่จะยืนระยะได้นานๆ ทุกคนต้องทำงานเขียนแบบเดียวกับงานประจำ” นักเขียนสาววัย 31 บอกกับ HELLO! Education “อาจจะตื่นเช้ามาชงกาแฟ ทำงานบ้าน เสร็จแล้วเปิดคอมพิวเตอร์เขียนงานทุกวัน ส่วนเรื่องเขียนไม่ออกมีหลายสาเหตุ เขียนไม่ออกเพราะไม่ได้วางแผนไว้ ฉันเขียนแค่ว่าตัวเอกเจอกันแล้วรู้สึกดีต่อกัน แต่ฉันไม่ได้คิดล่วงหน้าว่ารู้สึกดีต่อกันจากนั้นเป็นยังไง พระเอกช่วยแมวไหม ก็ต้องคิดให้ออกก่อน แต่บางทีคิดไว้หมดแล้ว ทว่าเขียนไม่ไหว ก็ต้องไปนอน

“แต่ถ้าเป็นนักเขียนที่ต้องรอองค์มาประทับละก็ เธอจะทำงานไม่ทันเดดไลน์ แล้วรายได้ก็จะไม่พอเลี้ยงตัว ถ้าต้องรอ mood ก็ต้องทำงานอื่นเผื่อไว้ด้วยก็แล้วกัน ลี้ชอบเขียนเรื่องสั้น เพราะเขียนแบบปังๆ รู้ตัวอีกทีเสร็จแล้ว”

ทุกวันนี้เธอยังให้เวลาบางส่วน กับการสอนน้องๆ นิสิตนักศึกษาทั้งที่จุฬาฯและมธ. รวมทั้งสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทางออนไลน์ ซึ่งเธอบอกว่า เวลาเจอเด็กๆแล้วรู้สึกชื่นใจ

กับคุณนุชชี่ (อนุชา บุญยสรรธนะ) ผู้กำกับมากฝีมือ

นอกจากนี้เธอยังเขียนบทร่วมกับคุณนุชชี่ (อนุชา บุญยวรรธนะ) ผู้กำกับมือรางวัล ซึ่งอยู่ในขั้นตอนพิจารณาอยู่ และในอนาคตอันใกล้เราอาจเห็นบทกวีของเธอบนแผงหนังสือ “หนูกับพี่นุชชี่ช่วยกันเขียนเรื่องย่อเสนอค่ายหนังต่างๆอยู่ ถ้ามีคนซื้อก็จะได้เขียนบท เป็นงานที่สนุกมากเลยค่ะ และกำลังรวบรวมบทกวีอยู่ นี่ก็เพิ่งคุยกับพี่ซะการีย์ยา อมตยา กวีซีไรต์  ซึ่งอ่านแล้วบอกว่าดูเข้าท่าเข้าทางอยู่นะ ก็เลยมีกำลังใจ (หัวเราะ) ในการฝึกมือต่อไป”

ในฐานะที่เป็นนักเขียน เราถามเธอว่าการได้ทำตามแพสชั่นนั้นดีอย่างไร คำตอบของเธอทำให้เราต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ “ลี้ไม่รู้ว่าควรแนะนำไหม เพราะความชอบกับความถนัดไม่เหมือนกัน บางคนอาจค้นพบความชอบของตัวเองแต่ไม่ถนัด เขาอาจชอบวาดรูปมาก แต่ไม่สวย ซึ่งต่อให้ฝึกหนักมากเท่าไร บางครั้งมันสร้างความเจ็บปวดให้ตัวเองเสียมากกว่า สมมติลี้ชอบร้องเพลงมากเลย แต่ทุกคนไม่ชอบให้ลี้ร้องเพลงเลย (หัวเราะ) สุดท้ายความชอบของเราถูกปฏิเสธ มันเจ็บปวดนะที่ต้องยอมรับความจริงว่าเราร้องเพลงห่วย มากยิ่งกว่าเราไม่รู้ตัวเองเลยว่าชอบร้องเพลง แล้วดำเนินชีวิตไป”        

 Photo: จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.