ไม่นานมานี้คนไทยตื่นเต้นกับข่าวเชิงสร้างสรรค์ที่นานๆจะมีสักครั้งว่า เด็กไทยวัย 13 (ในเวลานั้น) ฮับ-เหมวิช วาฤทธิ์ หอบเครื่องช่วยฟังเพื่อผู้พิการทางการได้ยินที่เขาคิดค้นและประดิษฐ์เอง บินไปพรีเซนต์ต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งล้วนเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับโลกถึงสำนักงานใหญ่ Google ที่ซิลิคอนวัลเลย์ในอเมริกา
ความเท่ของฮับยังมีมากกว่านั้น เขาเป็นนักปฏิบัติธรรมที่เอาจริงเอาจัง เป็นนักดนตรีที่ถนัดกีตาร์ เป็นนักร้องที่ถนัดแนวแจ๊ซ และเป็นนักยิงธนูอายุน้อยที่สุดที่เคยลงแข่ง World Archery ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับโลก เขาไม่เคยต้องเลือกว่าจะเดินสายศิลป์ วิทย์หรือทางธรรม ฮับบอกว่าเขาอยากเป็นทุกๆอย่างและอยากเรียนรู้ทุกสิ่งที่สนใจ
“วิชาที่ชอบคือวิทยาศาสตร์หรือ Computer Science ครับ” ฮับวัย 14 และขณะนี้ศึกษาอยู่ Year 9 หรือเทียบเท่าชั้นม.2 ที่โรงเรียนวารีเชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล จังหวัดเชียงใหม่ ให้คำตอบที่ไม่ผิดความคาดหมาย

นอกจากจะรักเรียนแล้ว น้องฮับยังชอบเสียงเพลง “ผมเรียนร้องเพลงตั้งแต่ 3 ขวบ ถนัดที่สุดคือร้องเพลงแจ๊ซ แต่จริงๆแล้วร้องได้ทุกแนวเลยครับ ที่ชอบเสียงเพลงเพราะตอนผมอยู่โรงเรียนเตรียมอนุบาล มีครูฝรั่งอยู่คนหนึ่งชอบร้องเพลงและเล่นกีตาร์มาก ผมซึมซับจากตรงนั้น พอกลับมาบ้านผมก็ร้องเพลงไปเรื่อย เคาะเป็นจังหวะ ทำท่าดีดกีตาร์ จนคุณแม่ (นิชาพร วาฤทธิ์) ต้องซื้อกีตาร์พลาสติกมาให้ดีดเล่น ผมเรียนอูคูเลเล่ตอน 7 ขวบและเรียนกีตาร์ตอน 9 ขวบ ตอนนี้ผมกำลังเรียนทฤษฎีดนตรี หลักสูตรของ Berklee College of Music ที่บอสตันกับอาจารย์อิทธินันท์ อินทรนันท์ ครับ”
ถ้ายังจำกันได้ฮับในวัย 8 ขวบเคยเข้าประกวด The Voice Kids Season 2 ซึ่งในรอบ Blind Audition เขาโชว์พลังเสียงร้องเพลง Raindrops Keep Falling on My Head จนกรรมการ 3 คนหันมาแย่งตัว สุดท้ายเขาเลือกอยู่ในทีมสุเมธ แอนด์ เดอะ ปั๋ง แล้วเข้ารอบไปร้องเพลงรักไม่ต้องการเวลาในรอบแบตเทิล ก่อนจะร่ายประวัติวิชานอกห้องเรียนที่ยังมีอีกว่า
“ตอนอายุ 10 ขวบผมเรียนยิงธนูด้วยครับ เพราะดูหนังแล้วรู้สึกว่าเท่ดี เลยได้ไปลองยิงที่ร้าน The Arrow Rest เป็นคาเฟ่บวกสนามยิงธนูในเชียงใหม่ มีโค้ชช่วยฝึกสอน ผมเรียนกับครูอานนท์ อึ้งอภินันท์ ที่เคยติดทีมชาติ ผมชอบเวลาดึงคันธนูแล้วปล่อยออกไป มันทำให้เรามีสติกับสิ่งที่เราทำอยู่

“ผมเคยแข่งแมตช์ของ World Archery ที่มาจัดที่กรุงเทพฯตอนเดือนธันวาคมปี 2017 เป็นการยิงในร่มรอบโอเพ่นซึ่งไม่จำกัดอายุ มีนักยิงธนูระดับโลกลงแข่งด้วย ไม่ได้รางวัลก็ไม่เป็นไร แต่ผมเป็นนักกีฬายิงธนูที่อายุน้อยที่สุดในการแข่งขันระดับโลก อีกแมตช์ผมลงแข่งยิง 50 เมตร ตอนนั้นผมอายุ 12 เป็นเด็กคนแรกที่กล้าออกมายิงไกลขนาดนั้นครับ”
ฮับยังเล่าถึงแพสชั่นของโปรเจ็กต์ ที่ไปๆมาๆสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยว่า
“ตอนอายุ 11 ผมนั่งเล่นกีตาร์แต่ไม่ได้ต่อกับแอมป์ เสียงก็เลยเบา แล้วบังเอิญคางผมไปแตะที่ตัวกีตาร์ กลับได้ยินเสียงดังขึ้นมา ผมเลยได้ไอเดียว่าถ้าเอาปรากฏการณ์นี้ไปต่อยอดเป็นเครื่องช่วยฟังได้จะเป็นสิ่งที่ดีมาก”
และจากโปรเจ็กต์์เล็กๆ ก็เริ่มก้าวหน้าไปไกล “ก่อนที่ผมจะทำโปรเจ็กต์นี้ ครูบอกว่ามี Google Science Fair เป็นโครงการวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กอายุ 13-18 ปีที่สามารถส่งโครงงานวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีเข้าไปได้ ผ่านไปเป็นปีจนผมทดสอบเครื่องช่วยฟังเสร็จก็นึกถึง Google Science Fair ขึ้นมา ผมเลยอยากส่งโครงงานนี้ไปให้กูเกิ้ลเขาเห็นว่ามันเจ๋งขนาดไหน ผมเลยออกแบบการทดสอบอย่างเป็นทางการขึ้นมาใหม่ ผมสังเกตว่าเวลาที่ผู้พิการทางการได้ยินพูดหรือเปล่งเสียงออกมา เขามีพลังเสียงน้อยหรือบางคนควบคุมเสียงไม่ได้เลย เพราะเขาไม่ได้ยินเสียงตัวเอง บางคนพูดเบามาก เช่น สวัสดีค่ะ เขาก็พูดออกมาเหมือนเสียงกระซิบ
“ผมเรียนร้องเพลงมาเลยเกิดไอเดียว่า ถ้าเราทำหลักสูตรที่ผู้พิการทางการได้ยินเรียนรู้การใช้กระบังลมเพื่อใช้ควบคุมเสียง จะได้มีพลังเสียงพูดเหมือนคนปกติได้ แล้วเราเอาหลักสูตรนั้นใส่ในซอฟต์แวร์น่าจะดี ผมยังเขียนโค้ดดิ้งไม่เป็น ก็ได้อาจารย์นนท์ ปิ่นเงิน เพื่อนของคุณพ่อที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาช่วยเขียนให้ตามที่ผมออกแบบ พอได้ซอฟต์แวร์มาเราก็ทดสอบกับผู้พิการทางการได้ยินอีกรอบ ครั้งนี้กลายเป็นว่าเขาเพิ่มพลังเสียงได้ถึง 24.5% เดิมทีเขาออกเสียงไม่ชัด เช่น คำว่า พ่อ เขาจะออกเสียงเป็น ป้อ คำว่า แม่ เป็น แบ้ เป็นต้น ผมเลยพัฒนาทั้งเครื่องช่วยฟังและซอฟต์แวร์ไปด้วยครับ”

ความท้าทายอีกอย่างที่เขาต้งเผชิญก็คือ “การเขียน proposal ถึงกูเกิ้ลไม่ได้ง่าย เป็นเหมือน Thesis ย่อยๆ ก็ว่าได้ ผมคิดสมมติฐานขึ้นมาได้ 2 เรื่อง ทั้งตัวเครื่องช่วยฟังและซอฟต์แวร์ โดยที่ต้องจำกัดคำที่เขียนใน Proposal ด้วย เป็นจุดที่ผมทำให้ผมท้อมาก เครียดไปหมดว่า กรรมการจะรับงานที่มีสมมติฐาน 2 เรื่องหรือเปล่า ปกติเขารับงานที่มีสมมติฐานเดียว แต่ครอบครัวให้กำลังใจมาก คุณแม่สอนให้ผมกล้าเสี่ยงแต่ไม่ใช่เสี่ยงในทางบ้าบิ่น ถ้ากรรมการเห็นว่าโปรเจ็กต์ของเรามีความเป็นไปได้และน่าสนใจจริงๆ เขาก็คงรับ ผมต้องเรียนโปรแกรม Excel ต้องเรียนรู้ว่าสมมติฐานคืออะไร เขียนยังไง คุณพ่อช่วยไกด์แต่ให้ผมลงมือเขียนเอง มีครั้งหนึ่งคุณแม่แอบร้องไห้สงสารผม เพราะมันหนักมากสำหรับเด็กอายุ 13”
ฮับเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2562 อย่างไม่คลายความประทับใจว่า “ผมได้ไปพรีเซนต์โปรเจ็กต์ต่อหน้าคณะกรรมการของกูเกิ้ล มีทั้ง CTO ของกูเกิ้ล คุณหมอจาก NASA ที่ Google Science Fair ไม่มีบรรยากาศของการแข่งขันกันเลย ทั้ง 20 คนที่ได้ไปแข่งที่กูเกิ้ลจะชื่นชมกันและกัน ไม่มีใครดูถูกงานกัน กรรมการเองก็ไม่กดดันผู้แข่งขัน เวลาพรีเซนต์เขาจะถามว่าโปรเจ็กต์ของเราจะส่งผลยังไงกับโลกบ้าง กระบวนการทำเป็นยังไงบ้าง แล้วพนักงานกูเกิ้ลก็บอกว่า ยินดีด้วย คุณเป็นผู้ชนะแล้ว ซึ่งทางกูเกิ้ลไม่ได้จัดอันดับที่ 1 2 3 แต่มีรางวัลให้ 5 รางวัล เช่น รางวัลของกูเกิ้ล รางวัลจาก Virgin Galactic”
แม้จะไม่ได้รางวัล แต่ในจำนวนเด็กไทยที่เข้าแข่งขันจนถึงรอบ 100 คนสุดท้ายมีเพียง 2 คนที่เป็นคนไทย ซึ่งฮับเป็นหนึ่งในนั้น และเป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยเข้าแข่งขัน เขายังเป็นเด็กไทยคนแรกที่เข้าถึงรอบ 20 คนสุดท้าย หลังจากนั้นฮับนำกำลังใจและประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต มาเดินหน้าพัฒนาเครื่องช่วยฟังและซอฟต์แวร์ ซึ่งในวัย 14 ปีฮับตั้งเป้าไว้แล้วว่าอยากก่อตั้งสตาร์ทอัพเพื่อช่วยเหลือผู้พิการ “ผมอยากให้ฝันของผู้พิการเป็นจริง ถ้าผมทำได้คงรู้สึกภูมิใจสุดๆครับ”
หลังจากโปรเจกต์ของกูเกิลผ่านไปแล้ว จากนี้อนาคตของน้องฮับมีที่หมายคือที่ใด
ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ใน HELLO! Education 2020 สั่งซื้อได้ที่โทร.084-079-5678,089-921-1174 หรือ shop.burdathailand.com จัดส่งฟรีทั่วประเทศ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 เมษายน 2563