เหนื่อยจากการทำงาน ภาวะเครียดสะสม อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บางทีคุณพ่อคุณแม่ เผลอ ใส่อารมณ์ไปกับคำพูดที่สื่อสารกับลูก โดยไม่รู้ตัว ซึ่งสำหรับเด็กๆที่เปรียบเสมือนผ้าขาวแล้ว คำพูดเหล่านั้นส่งผลต่อทั้งความคิดและจิตใจของเขามากว่าที่เราจินตนาการ
วันนี้ HELLO! Education จึงได้รวบรวม ‘10 ประโยคฮิตของพ่อแม่ ที่ทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว’มาไว้ให้เป็นข้อคิดเตือนใจ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบว่าเด็กๆเขาจะรู้สึกอย่างไรบ้างหลังจากได้ยินประโยคเหล่านี้

1. “ถ้าดื้อแบบนี้ จะไม่รักแล้วนะ”
บันไดขั้นที่ 1 ที่จะสร้างความภาคภูมิใจในตนเองให้กับลูกคือความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เด็กมีความเชื่อว่าคนที่ดูแลเขาอยู่จะไม่มีวันทอดทิ้งเขาไปไหน ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่ชอบขู่ลูกบ่อยๆว่า “ถ้าดื้อแบบนี้ จะไม่รัก” “ถ้าซนขนาดนี้ จะส่งไปอยู่กับยาย” แม้ว่าคุณจะไม่เคยทำจริงก็ตาม แต่การพูดบ่อยๆจะทำให้ความรู้สึกมั่นคงของลูกกลายเป็นความรู้สึกไม่แน่ใจ ซึ่งเมื่อถึงวันที่คุณทะเลาะกับเขาด้วยเรื่องอะไรสักอย่าง วันนั้นก็จะเป็นวันที่เขายืนยันกับตัวเองว่า “พ่อ/แม่ไม่รักเราจริงๆด้วย”
2. “ดูพี่เป็นตัวอย่างสิ”
พยายามอย่าเปรียบเทียบหรือให้เขาเอาอย่างใคร เพราะนอกจากเขาจะไม่ทำแล้ว เขาอาจจะยิ่งเกลียดคนที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกับเขาเข้าไปอีก เป็นการปลูกฝังความไม่เท่าเทียม ความอิจฉาในใจเด็กโดยไม่รู้ตัว
3. “ทำไมเป็นคนแบบนี้”
การบอกลูกบ่อยๆว่าเขาเป็นคนที่ ดื้อ โง่ หรือ เกเร ในทางจิตวิทยาจะเรียกสิ่งนี้ว่า “การตีตรา” ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกหมดกำลังใจที่จะปรับปรุงตัว
4. “แค่นี้ใครๆก็ทำได้”
คำๆนี้จะทำให้ลูกหมดกำลังใจและรู้สึกว่าเขานั้นยังดีไม่พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่มีคาดหวังต่อตัวลูกสูง สุดท้ายแล้วลูกก็อาจจะเติบโตไปเป็นคนที่ขาดความภาคภูมิใจในตนเองได้
5. “ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่เลย”
บางสิ่งบางอย่างที่เรามองว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับลูกอาจจะเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเขา เมื่อลูกได้ยินคำนี้จะทำให้รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจเขา ไม่ยอมรับในความรู้สึกของเขา

6. “ไม่เห็นจะต้องกลัวเลย”
พ่อแม่หลายคนพยายามปกป้องลูกโดยการบอกเขาว่าไม่ต้องเศร้าหรือไม่ต้องกลัว แต่จริงแล้วนั่นเป็นการสื่อที่ผิด เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกว่าอารมณ์และความรู้สึกของเขานั้นไม่สำคัญ ควรพยายามบอกลูกว่าไม่เป็นไรที่จะรู้สึกเช่นนั้น และพ่อแม่จะคอยอยู่ข้างๆ เสมอจะดีกว่า
7. “ไม่ต้องมาเถียง พ่อ/แม่ผ่านเหตุการณ์นี้มาก่อน”
เมื่อมีแนวโน้มว่าลูกจะไม่เชื่อฟังตามคำที่พ่อแม่บอก พ่อแม่ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ อย่าให้อยู่เหนือเหตุผล ลองทำใจเปิดโอกาสให้ลูกอธิบายและรับฟังเหตุผลของลูกบ้าง อย่าใช้มาตรฐานชีวิตในห้วงเวลาที่แตกต่างกันมาตัดสินการกระทำของลูกเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ลูกสูญเสียความมั่นใจ และคิดว่าคนในครอบครัวไม่เข้าใจเขา
8. “ออกไปเล่นไกลๆ ก่อน … แม่กำลังยุ่ง”
ยิ่งลูกได้ยินประโยคนี้มากเท่าไหร่ เท่ากับรู้กำลังรู้สึกว่าถูกผลักไสไปจากคุณมากเท่านั้น เพราะเขาจะคิดว่าพ่อแม่ไม่อยากคุยด้วย เมื่อไม่ได้คุยกันบ่อยๆ เรื่องที่จะคุยก็น้อยลง ยิ่งโตขึ้นจะยิ่งห่างกันออกไป เมื่อเวลามีเรื่องอะไรเขาก็จะไม่คิดจะปรึกษาหรือขอความเห็นจากคุณแน่นอน
9. “ไม่เห็นหรือไงว่าแม่กำลังทำอะไรอยู่”
เป็นเรื่องปกติที่ลูกจะมองตัวเองเป็นศูนย์กลาง จึงไม่ได้มองว่าคนรอบตัวทำอะไรอยู่ ดังนั้นจึงควรบอกให้ลูกรู้ “เดี๋ยวก่อนนะ แม่กำลังคุยกับคุณพ่ออยู่จ้ะ” หรือ “รอให้แม่คุยเสร็จก่อนนะ” อย่าใช้อารมณ์หรือพูดตะคอกใส่ลูก
10. “เตือนแล้วใช่มั้ย ว่าอย่าทำแบบนี้”
การซ้ำเติมลูกเป็นการตอกย้ำทำให้ลูกรู้สึกฝังใจ กลัวความผิดพลาดจนกลายเป็นคนขี้ระแวงได้ หรือแย่ไปกว่านั้นอาจทำให้เด็กเกิดความรู้สึกโกรธ และไม่สำนึกมากกว่าเดิม วิธีที่ดีคือการตักเตือนแล้วอธิบายข้อผิดพลาดว่าเกิดจากอะไร มีผลเสียอย่างไรกับทั้งตัวเองและผู้อื่น
เพราะหนึ่งคำแย่ๆที่หลุดไป อาจสร้างแผลในใจให้ลูกไปตลอดชีวิต เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกควบคุมอารมณ์จัดการความโกรธและความหงุดหงิด เวลาที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ไม่พอใจ เห็นอกเห็นใจ เอาใจลูกมาใส่ใจเราให้มากขึ้น และค่อยๆ สอนลูกในเชิงบวกจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
ข้อมูลบางส่วนจาก
https://www.facebook.com/Growingupnormal