ริชาร์ด ไฟน์แมน นักฟิสิกส์อัจฉริยะ เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้เป็นส่วนหนึ่งของแมนฮัตตันโปรเจคท์ (โครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 นำโดยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา) เมื่ออายุเพียง 20 ปีเท่านั้นเอง เขาเชื่อว่า ความเรียบง่ายเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการเรียนรู้
เขาคว้ารางวัลโนเบลเมื่อปี 1965 จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับควอนตัมอีเลคโทรไดนามิคส์ ร่วมกับจูเลียน ชวิงเกอร์ และซินอิจิโร โทโมนากะ

ไฟน์แมนเชื่อว่า ความจริงแท้นั้นซ่อนอยู่ในความเรียบง่าย สามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจและจดจำได้ง่ายกว่าความรู้ที่เต็มไปด้วยคำอธิบายขยายความที่ยุ่งยากซับซ้อน และเต็มไปด้วยศัพท์แสงยากๆที่ปรากฏในตำรา ซึ่งทำให้ยากแก่การเข้าใจ
มีคำพูดประโยคหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ของไฟน์แมนที่หลายคนยังคงจดจำได้นั่นคือ “คุณต้องไม่หลอกตัวเอง และพึงจำไว้ว่าคุณเป็นคนที่หลอกง่ายที่สุด”
เป้าหมายของการเรียนรู้ก็คือ การทำความเข้าใจโลกได้ดีขึ้น แต่มีบ่อยครั้งที่วิธีการเรียนรู้ของเราไม่ได้ช่วยให้เรียนรู้โลกได้ดีขึ้น เพราะคุณอาจลงเอยด้วยการจดจำข้อความในตำรา หรือไ่ม่ก็จดจำคำพูดของครูได้ทั้งดุ้น แล้วก็ลืมเลือนเนื้อหาที่เป็นแก่นไปเสียหมดสิ้น
แต่ไฟน์แมนมีเทคนิคที่จะช่วยให้เราสามารถเรียนรู้ เข้าใจและจดจำอย่างง่ายๆ โดยใช้แนวคิดที่จะต้องทำให้บทเรียนมีความง่ายต่อการเข้าใจ ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ ก็ต้องมีความเข้าใจเรื่องนั้นๆอย่างลึกซึ้งเสียก่อน โดยมี 4 ขั้นตอนด้วยกัน

- เลือกหัวข้อและเริ่มเรียนรู้ เทคนิคนี้ของไฟน์แมนไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่วิชาเลข หรือฟิสิกส์เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ได้กับทุกวิชา
- สมมติว่าจะต้องอธิบายหัวข้อนั้นๆให้เด็กฟัง ขั้นตอนนี้อนุญาตให้คุณทำความเข้าใจสิ่งที่ตนกำลังเรียนรู้ หรือคิดว่าตัวเองรู้ จากนั้นสมมติว่าตัวเองกำลังอธิบายวิชานั้นๆให้เด็กฟัง โดยที่คุณจะต้องย่อยหัวข้อนั้นให้สามารถเข้าใจง่าย ด้วยคำพูดง่ายๆ ไม่มีศัพท์เทคนิค การอธิบายนี่เองจะพิสูจน์ว่าคุณมีความเข้าใจเรื่องนั้นมากแค่ไหน ทำให้คุณรู้ว่าความเข้าใจของคุณเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆมีช่องโหว่ที่ตรงไหน

- กลับไปศึกษาใหม่หากพบว่าตัวเองติดขัด การอธิบายเรื่องใดก็ตามด้วยภาษาง่ายๆ เป็นการทดสอบว่าคุณเข้าใจเรื่องนั้นมากน้อยแค่ไหน และเมื่อคุณเข้าใจแล้วความรู้นั้นก็จะอยู่กับคุณ ไม่หายไปไหน และคุณจะจดจำได้เองโดยอัตโนมัติ สำหรับจุดไหนที่คุณยังไม่เข้าใจ ก็ให้กลับไปทบทวนเลคเชอร์หรือตำราอีกครั้ง พยายามอธิบายให้ตัวเองเข้าใจด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด ถ้าหากยังยากที่จะทำความเข้าใจ หรือยังคงใช้ศัพท์เทคนิคอยู่ แสดงว่าคุณยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้
- จัดระบบความรู้และวิพากษ์วิจารณ์ อย่าหยุดเรียนรู้จนกว่าคุณจะสามารถอธิบายด้วยคำศัพท์ง่ายๆและมีความเป็นธรรมชาติ กลับไปทำตามขั้นตอนที่ 2 และ 3 ให้มากที่สุดเท่าที่ต้องการ บางทีมันอาจไม่ใช้เวลานานอย่างที่คุณคิดก็ได้
ที่มา : Business Insider Espana