เชื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองล้วนอยากให้ลูกๆมีความเป็นเลิศในด้านต่างๆโดยเฉพาะด้านการเรียนการศึกษาที่จะเป็นพื้นฐานต่อยอดไปสู่การดำเนินชีวิตในอนาคต หากแต่เด็กแต่ละคนนั้นล้วนมีทักษะและพรสวรรค์ที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงยังมีปัจจัยอีกหลายด้านที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของลูกลดลงได้ วันนี้ HELLO! Education จึงอาสาพาคุณพ่อคุณแม่มาสำรวจ 4 ปัจจัยที่อาจส่งผลให้ ลูกเรียนไม่เก่ง เพื่อให้ลูกได้มีความสุขกับการเรียนในแบบฉบับที่เขาถนัด

1. ความพร้อมด้านร่างกาย
เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกอยู่เสมอ เพราะโดยธรรมชาติของเด็กมักจะไม่บอกพ่อแม่ถึงปัญหาความผิดปกติทางร่างกายของตนเอง เพราะอาจด้วยความไม่รู้และไม่เข้าใจว่านี่คือความผิดปกติ ดังนั้น หากเห็นว่าลูกเอามือขยี้ตาบ่อยๆ หรือเวลาทำการบ้านลูกมักก้มหัวลงชิดสมุดการบ้านหรือหนังสือมากกว่าปกติ อาจหมายถึงเขากำลังมีปัญหาเรื่องการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตาเอียง รวมถึงปัญหาการได้ยิน ซึ่งล้วนมีผลต่อการอ่านหรือการเขียนโดยตรงอาจทำให้เด็กเรียนไม่รู้เรื่องได้

2. ความพร้อมด้านอารมณ์
ความฉลาดทางทางอารมณ์จะช่วยส่งเสริมให้ลูกสนุกและเรียนรู้สิ่งที่คุณครูสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากคุณครูสร้างบรรยากาศการเรียนรู้และการทำกิจกรรมต่างๆให้เต็มไปด้วยพลังบวก เช่น ได้รับคำชมเมื่อทำกิจกรรมได้สำเร็จ การได้รับกำลังใจจากเพื่อนๆในห้องเมื่อต้องเผชิญกับโจทย์ยากๆ การที่คุณพ่อคุณแม่ให้เวลาและความอบอุ่นกับลูก โดยการหมั่นพูดคุยกับลูกหรือทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น การอ่านหนังสือด้วยกัน การสอนการบ้านลูก ล้วนส่งผลให้ลูกเกิดความมั่นใจในตัวเอง มองโลกในแง่ดีและมีความสุขมากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้สมองพร้อมเปิดรับการเรียนรู้ใหม่ๆได้มากขึ้นนั่นเอง

3. ความพร้อมด้านสมาธิ
หนึ่งเคล็ดลับในการทำให้ลูกๆเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นคือการฝึกสมาธิให้ลูกๆอย่างสม่ำเสมอ เพราะปัญหาการขาดสมาธิจะส่งผลให้เด็กความจำที่ไม่ดี ปะติดปะต่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้ไม่ต่อเนื่อง วิธีการฝึกสมาธิทำได้หลากหลายวิธี เริ่มจากการฝึกง่ายๆอย่างเช่น การกำหนดให้ทำกิจกรรมให้เสร็จเป็นอย่างๆ ไม่ทำหลายกิจกรรมพร้อมกัน เช่น กินข้าวพร้อมดูโทรทัศน์ เพราะจะทำให้ลูกวอกแว่กและสนใจต่อสิ่งเร้าได้ง่าย จึงไม่มีสมาธิว่ากำลังทำกิจกรรมหลักใดอยู่ ในส่วนต่อมาควรเริ่มให้ลูกทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านการจดจำ เช่น การเล่นเกมจับผิดภาพ หรือการวาดรูประบายสี กิจกรรมเหล่านี้ก็จะค่อยๆช่วยให้เด็กมีจิตใจจดจ่อได้

4. ความพร้อมด้านแรงจูงใจ
เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเด็กๆที่ต้องเรียนวิชาอันหลากหลาย อาจจะมีวิชาที่สนใจมากวิชาที่สนใจน้อยแตกต่างกันไป ยิ่งวิชาที่มีความซับซ้อนเช่นวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ เด็กบางคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่สนุก ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง เมื่อเรียนอ่อนในวิชาใดวิชาหนึ่งเลยพาลรู้สึกว่าไม่อยากเรียนอะไรเลย หากเป็นเช่นนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามกระตุ้นให้เด็กรู้สึกว่าการเรียนเป็นเรื่องสนุกโดยใช้เทคนิคต่างๆเข้ามาช่วยเสริม เช่น การใช้เกมหรือการแข่งขันเข้ามาเพิ่มแรงจูงใจ หรือการให้รางวัลหรือการชื่นชมบางอย่างเมื่อเขาทำได้สำเร็จ หรือในอีกทางหนึ่งเมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกชอบวิชาไหนเป็นพิเศษก็อาจสนับสนุนให้เขาได้เรียนอย่างเต็มที่เพื่อให้ลูกๆได้มีความสุขกับการเรียนด้วย