ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสมาร์ทโฟน ไม่เพียงแต่เป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตของผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กๆในยุค 5G นี้ สมาร์ทโฟนก็เป็นไอเทมลำดับต้นๆที่ ลูกๆต่างรีเควส สมาร์ทโฟน เช่นกัน
แล้วคุณพ่อคุณแม่ ควรซื้อสมาร์ทโฟนให้ลูกหรือไม่? หรือ เมื่อไหร่จึงควรซื้อ? คำตอบเหล่านี้อาจขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณพ่อคุณแม่แต่ละบ้านว่าจะเล็งเห็นถึงประโยชน์หรือโทษของสมาร์ทโฟนมากน้อยแค่ไหน แต่หากใครยังไม่มีแนวทาง วันนี้ HELLO! Education ก็มีคำแนะนำดีๆสำหรับ ‘4 กฎเหล็กควรรู้ ก่อนซื้อสมาร์ทโฟนให้ลูก’ มาฝากเหล่าผู้ปกครองกัน

1. ชัดเจนในเหตุผลของการซื้อ
ไม่ใช่เพราะตามเพื่อนหรือตามเทรนด์ แต่การซื้อสมาร์ทโฟนคุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ชัดถึงเหตุผลที่อนุญาตให้ลูกมีสมาร์ทโฟนได้ เช่น อนุญาตให้มีสมาร์ทโฟนเพื่อติดต่อคุณพ่อคุณแม่ได้ง่ายขึ้น หรือเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคุณพ่อคุณแม่มักจะอนุญาตให้ลูกๆมีสมาร์ทโฟนได้ในช่วงวัยประถม เพราะถือเป็นวัยที่เด็กเริ่มมีความรับผิดชอบแล้ว และมักเลือกระบบเติมเงินเพื่อป้องกันการโทรออกที่มากเกินความจำเป็น

2. มีข้อตกลงในการใช้โทรศัพท์มือถือ
เพื่อป้องกันปัญหาการติดโทรศัพท์จนคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถควบคุมการใช้งานสมาร์ทโฟนของลูกได้ จึงควรทำสัญญาการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือ Cell phone contract ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้กันมาก ไม่ว่าจะเป็นการระบุเวลาใช้ เช่น ใช้ได้ 5 ชั่วโมงต่อวัน หรือการตกลงว่าผู้ปกครองต้องสามารถเข้าไปเช็กสมาร์ทโฟนของลูกได้ทุกเมื่อหากเกิดปัญหา เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันในใช้สมาร์ทโฟนอย่างเหมาะสม เพราะหากไม่ทำสัญญาไว้แต่เนิ่นๆลูกอาจจะติดสมาร์ทโฟน ดูคลิป เล่นเกม แชทคุยกับเพื่อนจนนอนไม่เป็นเวลา ซึ่งจะมีผลต่อการหลั่ง Growth hormone ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก แถมมีผลกับสมาธิและสุขภาพจิตด้วย

3.สอนให้ลูกระมัดระวังในการใช้
ไม่ปิดกั้นแต่สอนให้ลูกรู้เท่าทันข้อเสียของสมาร์ทโฟนอย่างตรงไปตรงมา เช่น ไม่ควรแชร์ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อจริง ที่อยู่ วันเกิด โรงเรียน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือ ลงบนสื่อออนไลน์ เพราะอาจทำให้ผู้อื่นรู้ข้อมูลส่วนตัวของเราซึ่งอาจกลายเป็นอันตรายที่ตามมาภายหลังได้ หรือสอนว่าไม่ควรดาวน์โหลดรูป หรือคลิกลิงก์ที่มาจากแหล่งสารที่ไม่รู้จัก และที่สำคัญอย่าไว้ใจคนแปลกหน้าบนโลกออนไลน์

4.ไม่แสดงอารมณ์แต่ใช้เหตุผลอธิบาย เมื่อลูกทำผิดจากกฎเกณฑ์ที่กำหนด
เป็นธรรมดาที่เด็กๆจะหลงลืมกฎกติกาเพราะโลกกว้างที่อยู่ในสมาร์ทนั้นแสนยั่วยวนใจ ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ไม่แสดงท่าทีโกรธหรือใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ทางที่ดีหากลูกใช้สมาร์ทเกินโควต้าที่กำหนดควรอธิบายด้วยเหตุผล เพื่อให้ลูกเห็นว่าผู้ปกครองไม่ได้กีดกันเพียงทำตามข้อตกลงเท่านั้นเอง
เพราะสมาร์ทโฟนนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากรู้จักเลือกใช้ก็ให้คุณอนันต์แต่หากผู้ปกครองไม่ใส่ใจดูแล ทิ้งให้ลูกเผชิญอยู่กับหน้าจอมือถือเป็นเวลานานเกินไปก็อาจเกิดโทษมหันต์เช่นกัน