เมื่อคุณเริ่มสังเกตเห็นว่าลูกกำลังหน้าดำคร่ำเครียดทำการบ้านอย่างไม่มีวันจบ หรือลูกอาจบ่นออกมาให้คุณได้ยินบ่อยครั้งขึ้น บางทีก็ถึงเวลาที่ต้องสืบหาต้นตอของปัญหาเพื่อช่วยให้ลูกสามารถทำกิจวัตรหรือกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากการทำการบ้านได้

- ใช้ระยะเวลาทำการบ้านต่อวันนานเกินไป
ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎตายตัวว่าเด็กควรใช้เวลากี่นาทีในการทำการบ้าน แต่เรามีวิธีง่ายๆ ที่เอาไว้ใช้ดูเป็นเกณฑ์เบื้องต้น โดยเริ่มจากเด็ก ประถม 1 ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยวันละ 10 นาที และเพิ่มทีละ 10 นาที เมื่อโตขึ้น เช่น ประถม 2 ใช้เวลา 20 นาที, ประถม 3 ใช้เวลา 30 นาที เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บางโรงเรียนอาจมีนโยบายเรื่องการบ้านที่แตกต่างกันออกไป โดยทางโรงเรียนอาจมีจดหมายชี้แจงมาให้ผู้ปกครองทราบตั้งแต่สัปดาห์แรกของการเรียน ดังนั้นถ้าลูกใช้เวลาในการทำการบ้านมากกว่าที่โรงเรียนเสนอแนะ ก็แสดงว่าลูกอาจมีปัญหาอื่นกับตัวการบ้านเอง - ลูกตั้งใจทำการบ้านหรือเปล่า
หากคุณไปเจอว่าลูกกางการบ้าน ขณะเดียวกับส่งข้อความหาเพื่อน หรือดูทีวี นั่นแหละคือปัญหา เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวหักเหความสนใจของลูกที่มีต่อการบ้าน ทำให้ทำเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จซะที ดังนั้น พ่อแม่จึงควรกำหนดอย่างชัดเจนไปเลยว่าการเล่นมือถือ ดูทีวี หรือทำสิ่งอื่นไป จะทำได้หลังจากทำการบ้านเรียบร้อยแล้ว - หามุมทำการบ้านให้ลูก
ไม่ว่าลูกคุณจะเป็นเด็กเล็กหรือเด็กโต การมีมุมทำการบ้านที่สงบ เอื้อให้เกิดสมาธิก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยพื้นที่ทำการบ้านควรเป็นมุมสบายๆ ที่ไม่มีสิ่งรบกวน เช่น ใกล้ห้องครัว บริเวณที่คนอยู่เยอะ หรือห้องรับแขกที่กำลังเปิดทีวี นอกจากนี้ถ้าลูกยังเด็ก อาจจัดบริเวณที่พ่อแม่สามารถสอดส่องได้ - กำหนดเวลาทำการบ้าน
บางครั้งลูกอาจมีการบ้านโปรเจ็คใหญ่ที่ไม่ได้มีกำหนดส่งในเร็ววันนี้ การกำหนดเวลาทำการบ้านในแต่ละวัน จะทำให้ลูกไม่ผัดวันประกันพรุ่ง และไปเร่งทำตอนใกล้จะส่ง โดยการกำหนดนั้น อาจเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างคุณกับลูก เช่น หลังกลับจากโรงเรียน ต้องทำการบ้านก่อน 20 นาที ถึงออกไปเล่นได้ เป็นต้น