เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของความฉลาดทางปัญญาเท่านั้นที่ครูอาจารย์และพ่อแม่ต้องช่วยกันปลูกฝัง หากแต่ความฉลาดทางอารมณ์นับวันยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคาดเดาได้ HELLO! Education วันนี้จึงขอมาแนะนำ 4 แนวคิดเพื่อให้ คุณพ่อคุณแม่มีวิธีสอนลูกๆ ให้รู้จัก และ รับมือกับความสูญเสีย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเด็กแต่ละช่วงวัยนั้นมีการรับรู้ ความคิดความเข้าใจที่แตกต่างกันไป

-เด็กอายุไม่เกิน 2 ปี ยังไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่า ตาย ความคิดเกี่ยวข้องกับความตายในวัยนี้เป็นเพียงการหายไปเท่านั้น
-เด็กวัยอนุบาล (2-6 ปี) เด็กส่วนใหญ่คิดว่าความตายเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่เข้าใจว่าตายแล้วจะไม่ฟื้น ไม่เข้าใจว่าทำไมคนเราต้องตาย และไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นกับทุกคน เด็กวัยนี้กลัวถูกแยกจากพ่อแม่ หรือกลัวว่าคนสำคัญจะตายแล้วทิ้งไป
-เด็กวัยประถม (7-12 ปี) เด็กในวัยนี้จะเข้าใจได้ว่าความตายคือการไม่กลับมาอีก และค่อยๆพัฒนาความเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งต้องล้มหายตายจากในวันหนึ่ง
-เด็กวัยรุ่น (อายุ 12 ปีขึ้นไป) วัยรุ่นจะเข้าใจความตายได้ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ เห็นถึงธรรมชาติของคนที่เปราะบางต่อความตาย และอาจเริ่มคิดเกี่ยวกับความหมายของชีวิต

ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่จะต้องสอนให้ลูกเข้าในเกี่ยวกับเรื่องของการสูญเสียหรือความตายนั้น อาจนำ 4 แนวคิดนี้มาเป็นแกนหลักในการอธิบายได้
1. Irreversibility ความตายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถย้อนคืนหรือฟื้นมาเหมือนเดิมได้ สำหรับบางครอบครัวที่อาจจะอธิบายลูกที่ยังเล็กว่าคุณตาหรือคุณยายหลับไปไม่ตื่นนั้นอาจต้องระมัดระวัง เพราะลูกอาจเข้าใจผิดหรือกลัวว่าการนอนไปนานๆจะทำให้ไม่สามารถตื่นขึ้นมาอีกได้
2. Finality/ Non-functionality ความตายเป็นวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งการใช้ชีวิตและการทำงานต่างๆจะสิ้นสุดลงอย่างถาวร ต่างจากของเล่น ของใช้ ซึ่งเมื่อผุพังเรายังอาจซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้
3. Inevitability/ Universality ความตายเป็นเรื่องสากล เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เมื่อเกิดการสูญเสียไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือบุคคลต่างๆที่เห็นในข่าว คุณพ่อคุณแม่อาจใช้โอกาสนี้ในการอธิบายลูกไปในตัวเพื่อให้รู้สึกว่าเรื่องนี้นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงได้และไม่ใช่เรื่องต้องห้าม
4. Causality ความตายมีสาเหตุการก่อให้เกิดและที่มาที่ไปเสมอ เมื่อเกิดการสูญเสียขึ้นคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่แสดงท่าทีปกปิดที่ทำให้ลูกเกิดความขับข้องใจเพราะเด็กจะยิ่งเกิดความสงสัย และคิดว่าตัวเองอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ใหญ่เป็นเช่นนั้น จึงควรอธิบายในสิ่งที่ลูกพอจะรับรู้ได้ให้เขาได้ฟังด้วย
สิ่งสำคัญคือการสอนให้ลูกเข้าใจตามความจริง ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาสเด็กตั้งคำถามและพูดคุยได้ และควรตอบคำถามอย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา และใช้คำง่ายๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยของเด็กนั่นเอง
Cr. ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย (story.motherhood.co.th)